วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เมื่อผู้ประกันตนประสบภัยจากรถ จะเบิกทั้งจากประกันสังคมและประกันภัยได้หรือไม่

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ ให้ความคุ้มครอง แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ ซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และในกรณีอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ในกรณีผู้ประกันตน จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาล จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาล ตามที่ระบุไว้ ในบัตรรับรองสิทธิ หรือเครือข่ายของโรงพยาบาลนั้น ในกรณีนี้ ผู้ประกันตน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล แต่ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉิน ผู้ประกันตน อาจเข้ารับการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลอื่น อันมิใช่โรงพยาบาล ที่ระบุไว้ในบัตรรับรองสิทธิ ได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง แต่ผู้ประกันตน ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วนำใบเสร็จ มาเบิกคืนจาก สำนักงานประกันสังคมภายหลัง ตามสิทธิที่ได้รับ

ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ ให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ซึ่งได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เนื่องจากรถที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น โดยความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยนั้น ต้องเป็นความเสียหาย ที่เกิดจากรถ เช่น รถชน หรือรถพลิกคว่ำ เป็นต้น

ปัญหาที่จะต้องพิจารณาก็คือ ถ้าผู้ประกันตน ตกเป็นผู้ประสบภัยจากรถ จะเรียกร้องได้ทั้งจาก พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และจากบริษัทประกันภัยหรือไม่ ถ้าผู้ประกันตน ได้รับอันตรายจากรถ ที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นปกติในเวลานี้ก็คือ โรงพยาบาลจะให้ผู้ประกันตน ใช้สิทธิจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ก่อน เพื่อโรงพยาบาล จะได้ไม่ต้องควักกระเป๋าของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาล ได้รับเงินมาจำนวนหนึ่ง เป็นการเหมาจากสำนักงานประกันสังคม ขาดทุนกำไรเป็นเรื่องของโรงพยาบาลเอง เท่ากับว่าโรงพยาบาล เป็นบริษัทประกันภัยบริษัทหนึ่ง ถ้าผู้ประกันตน ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ครบถ้วนแล้ว ก็จบกันไป เพราะถือว่า ได้รับค่าสินไหมทดแทนครบถ้วนแล้ว จะมาเรียกร้องตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 อีกไม่ได้

เมื่อมีผู้ประสบภัยจากรถ มาเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล โรงพยาบาลทั้งหลาย ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ประสบภัย ต้องใช้สิทธิจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ก่อน ถ้าไม่พอ จึงจะเบิกจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้ ซึ่งก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จะเบิกทั้งสองทางไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ตรงไหนเลยว่า ผู้ประกันตน จะต้องเบิกจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ก่อน เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า นายธนวัฒน์ เป็นลูกจ้างของบริษัท วิงเกิ้ล จำกัด และเป็นผู้ประกันตน โดยให้โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เป็นสถานพยาบาล ที่ให้บริการทางการแพทย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2537 นายธนวัฒน์ ได้ขับรถยนต์ประสบอุบัติเหตุ ชนกับรถจักรยานยนต์ เป็นผลทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และหมดสติ มีผู้นำส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิต นายธนวัฒน์ เสียค่าบริการทางการแพทย์ ไปเป็นเงิน 7,905 บาท หลังจากนั้น น้องภริยาของนายธนวัฒน์ ได้นำนายธนวัฒน์ ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสมิติเวช เสียค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์ไปอีก 138,420 บาท รวมสองแห่งเป็นเงินทั้งสิ้น 146,325 บาท นายธนวัฒน์ ได้ใช้สิทธิของภริยา ซึ่งรับราชการเบิกค่ารักษาพยาบาล จากทางราชการเป็นเงินทั้งสิ้น 23,643 บาท และได้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาล จากบริษัทประกันภัย ที่รับประกันภัยรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อีกจำนวน 10,000 บาท

หลังจากนั้น นายธนวัฒน์ ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินผลประโยชน์ทดแทน กรณีเจ็บป่วย จากสำนักงานประกันสังคม แต่สำนักงานประกันสังคม วินิจฉัยว่า นายธนวัฒน์ ไม่มีสิทธิได้รับจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533ในส่วนที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลรังสิต จำนวน 7,905 บาท เพราะนายธนวัฒน์ ได้เบิกจากบริษัทประกันภัย ที่รับประกันภัยรถตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แล้ว จำนวน 10,000 บาท เพราะเป็นการซ้ำซ้อน ถือเป็นการค้ากำไร จากการประกันสังคม ส่วนค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลสมิติเวช มิใช่โรงพยาบาลที่กำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ในส่วนนี้

นายธนวัฒน์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ วินิจฉัยว่า อาการบาดเจ็บของนายธนวัฒน์ ที่เกิดจากอุบัติเหตุ และถูกนำส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ แต่เนื่องจาก นายธนวัฒน์ ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาล ตาม
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จำนวน 10,000 บาทแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้อีก ส่วนการรักษาพยาบาลต่อมา ที่โรงพยาบาลสมิติเวช นายธนวัฒน์ มิได้ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงานประกันสังคม จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ค่าบริการทางการแพทย์ (คำวินิจฉัยที่ 271/2538)

นายธนวัฒน์ จึงฟ้องสำนักงานประกันสังคม เป็นจำเลยต่อศาล สำนักงานประกันสังคม ให้การต่อสู้ว่า กรณีที่นายธนวัฒน์ เข้ารับการรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต เพราะประสบอุบัติเหตุ ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่สามารถไปรับการรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทได้ นายธนวัฒน์ จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าบริการทางการแพทย์ จำนวน 7,905 บาท จากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นการให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง เมื่อประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เป็นการให้ความคุ้มครองด้านสวัสดิการแก่ลูกจ้าง เมื่อได้รับความเดือดร้อนเจ็บป่วย ตามเจตนารมณ์ของ
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แต่เมื่อนายธนวัฒน์ ได้รับสิทธิประโยชน์จากบริษัทผู้รับประกันภัยรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นเงิน 10,000 บาท ซึ่งคุ้มกับจำนวนเงินที่นายธนวัฒน์ ได้เสียค่าบริการทางการแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลแพทย์รังสิตแล้ว นายธนวัฒน์ จึงไม่มีสิทธิเรียกจาก สำนักงานประกันสังคมอีก ส่วนค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลสมิติเวช มิใช่สถานพยาบาล ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด แต่เป็นความประสงค์ของนายธนวัฒน์เอง โดยยังอยู่ในวิสัยที่นายธนวัฒน์ จะมารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท อันเป็นโรงพยาบาลที่กำหนด ให้นายธนวัฒน์เข้ารักษา แต่นายธนวัฒน์ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ในส่วนนี้

ศาลแรงงานกลางพิจารณา แล้วพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของกองประโยชน์ทดแทน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลรังสิต จำนวน 7,905 บาท สำนักงานประกันสังคม อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ ของสำนักงานประกันสังคม เฉพาะที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต จำนวน 7,905 บาท ว่า เมื่อนายธนวัฒน์ ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาล จำนวน 10,000 บาท จากบริษัทผู้รับประกันภัยรถ ตาม
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แล้ว นายธนวัฒน์ จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ จำนวน 7,905 บาท ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 อีกหรือไม่ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมอุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีเจตนารมณ์ ที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์ลูกจ้าง และบุคคลอื่น ที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งการคลอดบุตร ชราภาพ และกรณีว่างงาน ซึ่งให้หลักประกัน เฉพาะลูกจ้างอันเป็นการช่วยเหลือ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ ให้ลูกจ้างมาค้ากำไรจากการประกันสังคมนี้ ฉะนั้น จึงเบิกซ้ำซ้อนไม่ได้ เมื่อเงินในส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายไป เบิกได้จากบริษัทประกันภัย ที่ได้รับประกันภัยรถแล้ว หากให้สิทธิแก่ลูกจ้าง มาเบิกจากสำนักงานประกันสังคมได้อีก ก็เท่ากับลูกจ้าง เบิกได้ซ้ำซ้อนสองทาง จากอุบัติเหตุเดียวกัน

กรณีจะเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ไม่ได้ ต้องใช้หลักกฎหมายทั่วไป ในเรื่องประกันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 870, 871, 872, 873, 874 และมาตรา 877
ประกอบด้วยมาตรา 4 มาบังคับเห็นว่า สิทธิของนายธนวัฒน์ ที่ได้รับเงินทดแทน ค่ารักษาพยาบาล จากบริษัทประกันภัย เป็นสิทธิตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่บังคับให้เจ้าของรถ ซึ่งใช้รถ หรือมีรถไว้ เพื่อใช้ ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหาย สำหรับผู้ประสบภัย โดยประกันภัย กับบริษัทประกันภัย และต้องเสียเบี้ยประกันภัย ส่วนสิทธิของนายธนวัฒน์ที่จะได้รับเงินทดแทน ค่าบริการทางการแพทย์ จากสำนักงานประกันสังคม เป็นสิทธิตาม
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งบังคับให้ลูกจ้าง ต้องเป็นผู้ประกันตน และส่งเงินเข้ากองทุนสมทบ เมื่อเป็นสิทธิของผู้ประกันตน ตามกฎหมายแต่ละฉบับ โดยนายธนวัฒน์ต้องเสียเบี้ยประกันภัย และส่งเงินเข้ากองทุนสมทบแล้วแต่กรณี ตามที่กฎหมายแต่ละฉบับดังกล่าว กำหนดไว้ ซึ่งต้องชำระทั้งสองทาง และเมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิ มิให้ผู้ที่ได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายอื่น แล้วมารับเงินทดแทนอีก สำนักงานประกันสังคม จึงจะยกเอาเหตุที่นายธนวัฒน์ ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาล จากบริษัทประกันภัยแล้ว มาเป็นข้ออ้าง เพื่อไม่จ่ายเงินทดแทน แก่นายธนวัฒน์หาได้ไม่ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นกฎหมายพิเศษ ที่บัญญัติขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง หรือบุคคลอื่น ซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงานรวมทั้งกรณีอื่นอีก จึงจะนำหลักกฎหมายทั่วไป ในเรื่องประกันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ นายธนวัฒน์ มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ จำนวน 7,905 บาท จากสำนักงานประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของสำนักงานประกันสังคมฟังไม่ขึ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 2040/2539)

จากคำพิพากษาฎีกาที่กล่าวข้างต้น จึงสามารถถือเป็นบรรทัดฐานได้ว่า ถ้าผู้ประกันตน ตกเป็นผู้ประสบภัยจากรถ ย่อมจะสามารถเบิกได้ทั้งจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และจากบริษัทประกันภัย ใน
ทำนองเดียวกัน ผู้ประกันตน ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาล และผู้ประกันตน มีการทำประกันภัยสุขภาพ ไว้กับบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย ก็ย่อมจะเบิกทั้งจาก
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และจากการประกันสุขภาพในขณะเดียวกัน

ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าผู้ประกันตน ตกเป็นผู้ประสบภัยจากรถ ที่ฝ่าฝืน ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหาย สำหรับผู้ประสบภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 นอกจากผู้ประกันตน จะเบิกตาม
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้แล้ว สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ของกรมการประกันภัย ยังจะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นผู้ประกันตนอีกหรือไม่ สมมุติว่านายกำปง ขับรถยนต์ของนายกำปั่น ซึ่งฝ่าฝืนไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหาย ไปชนนายกำไรบนท้องถนน และนายกำปั่น ในฐานะเจ้าของรถ ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ให้กับนายกำไร นายกำไร จึงมายื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น จากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรณีเช่นนี้ ไม่ต่างไปจากกรณีของนายธนวัฒน์แต่ประการใด ดังนั้น กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จึงต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ให้กับนายกำไร แล้วไปใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากนายกำปั่น ผู้เป็นเจ้าของรถ โดยอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

เรื่องน่ารู้จากกองทุนประกันสังคม

สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย

การที่ท่านจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกๆ เดือนนั้น ท่านได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน เราลองมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณีกันนะครับ ในฉบับนี้ขอเริ่มจากกรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย เป็นตอนแรกครับ


สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย

ท่านที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ๆ และได้จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน ท่านจะได้รับ “บัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล” ซึ่งระบุชื่อของท่านและชื่อสถานพยาบาลที่เลือกไว้ ท่านสามารถยื่นบัตรนี้คู่กับ “บัตรประจำตัวประชาชน” เมื่อต้องเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลที่มีชื่อในบัตรรับรองสิทธิ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยกเว้นในบางกรณี เช่น ขออยู่ห้องพิเศษ เป็นต้น

สถานพยาบาลที่มีชื่อระบุไว้ในบัตรรับรองสิทธิของท่าน ถือเป็น “สถานพยาบาลหลัก” (Main Contractor) ซึ่งสถานพยาบาลหลักนั้นอาจมี “สถานพยาบาลเครือข่าย” (Sub Contractor) เช่น โรงพยาบาลเล็กๆ หรือคลินิกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับท่าน โดยท่านสามารถเข้าไปรักษาพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ สิ้นปี 2551 กองทุนประกันสังคมมีสถานพยาบาลหลักจำนวน 257 แห่ง และมีสถานพยาบาลเครือข่ายจำนวน 2,530 แห่ง

ในขณะเดียวกัน ในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ซับซ้อนและสถานพยาบาลหลักรักษาไม่ได้ ก็จะถูกส่งตัวไปรักษากับ “โรงพยาบาลระดับสูง” (Supra Contractor) โดยค่ารักษาที่เกิดขึ้น สถานพยาบาลหลักจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ ท่านสามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ปีละ 1 ครั้ง โดยยื่นขอเปลี่ยนได้ในช่วงเดือนมกราคา – มีนาคม ของทุกปี


กรณีเจ็บป่วยปกติ

ท่านจะได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ โรงพยาบาลที่ท่านเลือกตามบัตรรับรองสิทธิ ซึ่งเราใช้วิธีเหมาจ่าย คือสำนักงานประกันสังคมเหมาจ่ายค่ารักษาให้กับโรงพยาบาล ที่ใช้วิธีเหมาจ่ายก็เพื่อลดภาระทางการเงินของท่าน หากไม่ใช่วิธีนี้ท่านจะต้องจ่ายเงินสดไปก่อนแล้วรวบรวมใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกทุกครั้ง


กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ

ท่านสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในกรณีที่ท่านไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้ ก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่จะต้องรีบแจ้งให้โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิทราบโดยด่วนและจะต้องทดรองค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วนำใบเสร็จพร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นไม่เกิน 72 ชั่วโมง (ไม่นับวันหยุดราชการ) และ โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบการให้บริการทางการแพทย์นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งที่สามารถเบิกได้มีดังนี้

กรณีผู้ป่วยนอก – โรงพยาบาลรัฐบาล เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นทั้งหมด

กรณีผู้ป่วยนอก – โรงพยาบาลเอกชน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนที่เกิน 1,000 บาท จะเบิกได้ตามรายการในประกาศของคณะกรรมการการแพทย์

รณีผู้ป่วยใน – โรงพยาบาลรัฐบาล เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น รวมทั้งเบิกค่าห้องและค่าอาหารได้อีกไม่เกินวันละ 700 บาท

กรณีผู้ป่วยใน – โรงพยาบาลเอกชน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 2,000 บาท เบิกค่าห้องและค่าอาหารได้ไม่เกินวันละ 700 บาท กรณีรักษาในห้อง ICU สามารถเบิกค่าห้อง ค่าอาหาร และค่ารักษาพยาบาลรวมกันไม่เกินวันละ 4,500 บาท

กรณีผ่าตัดใหญ่สามารถเบิกค่าผ่าตัดได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 - 16,000 บาท ตามระยะเวลาการผ่าตัด สามารถเบิกค่าทำ CT-Scan ได้ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าทำ MRI ได้ไม่เกิน 8,000 บาท และสามารถเบิกค่ารถพยาบาลได้ด้วย

มีข้อแม้อยู่นิดหนึ่งว่า กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินท่านจะสามารถใช้สิทธิได้ไม่เกินปีละ 4 ครั้ง (ผู้ป่วยนอก 2 ครั้ง ผู้ป่วยใน 2 ครั้ง) ส่วนกรณีอุบัติเหตุท่านสามารถใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง


กรณีทันตกรรม

ท่านสามารถถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน โดยไปรับบริการทันตกรรมที่ใดก็ได้แล้วนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ไม่เกิน 250 บาท/ครั้งหรือไม่เกิน 500 บาท/ปี ส่วนกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก ไม่เกิน 5 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,200 บาท หากเกินกว่า 5 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,400 บาท และฟันปลอมนี้จะต้องใช้งานไป 5 ปีจึงสามารถเบิกชุดใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง


โรคเฉพาะทาง

การบริการทางการแพทย์ของกองทุนประกันสังคมยังรวมถึง โรคเฉพาะทาง ดังนี้
1. การปลูกถ่ายไขกระดูก เบิกได้ไม่เกิน 750,000 บาท
2. การเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา เบิกได้ไม่เกิน 25,000 บาท
3. ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค เช่น เท้าเทียม แขนเทียม ฯลฯ เบิกได้ตามรายการ
4. โรคเอดส์ สามารถรับยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งสูตรพื้นฐาน สูตรทางเลือก และสูตรดื้อยา รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่โรงพยาบาลตามบัตรฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
5. การบำบัดทดแทนไต กรณีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 3 วิธี คือ

- การปลูกถ่ายไต สามารถเบิกค่าใช้จ่ายก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายระหว่างการผ่าตัดได้ไม่เกิน 230,000 บาท และค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัดอีกเดือนละ 10,000 – 30,000 บาท โดยมีตารางกำหนดชัดเจน

- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เบิกได้ครั้งละไม่เกิน 1,500 บาท สัปดาห์ละไม่เกิน 4,500 บาท (ยกเว้นท่านที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก่อนเป็นผู้ประกันตน ตัวเลขจะเป็น 1,000 บาท/ครั้ง และ 3,000 บาท/สัปดาห์) และมีสิทธิเบิกค่าเตรียมเส้นเลือดไม่เกินคนละ 20,000 บาทต่อ 2 ปี

- การล้างไตทางช่องท้อง เบิกค่าน้ำยาล้างช่องท้องได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท


โรคที่ไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์

ได้แก่โรคจิต (ยกเว้นกรณีเฉียบพลัน) โรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติด การกระทำเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง การรักษาภาวะมีบุตรยาก การผสมเทียม การเปลี่ยนเพศ แว่นตา เป็นต้น


เงินทดแทนการขาดรายได้

ในรอบปีปฎิทิน ถ้าลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว ต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ต่อไปอีก กองทุนมีเงินทดแทนการขาดรายได้เท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยตามจำนวนวันที่หยุดจริง สามารถจ่ายให้ติดต่อกันได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นการเจ็บป่วยเรื้อรัง (ได้แก่โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังเป็นเหตุให้อัมพาต และความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน) จ่ายได้ไม่เกิน 365 วัน


หลักฐานในการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01
2. ใบรับรองแพทย์
3. ใบเสร็จรับเงิน
4. สำเนาบัตรประชาชน (กรณีขอรับค่ารักษาพยาบาลและกรณีขอรับค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์)
5. หนังสือรับรองของนายจ้าง (กรณีขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้)


การใช้สิทธิประกันสังคมร่วมกับประกันสุขภาพ

กรณีที่ท่านมิสิทธิทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพที่ท่านซื้อเอง ท่านสามารถเลือกใช้สิทธิใดก่อนก็ได้ หรือจะใช้สิทธิทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้ แต่จะต้องแจ้งให้ทางโรงพยาบาลตามบัตรฯ ทราบก่อน

ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.

จากคอลัมน์ All about Social Security โดย วิน พรหมแพทย์, CFA, win@sso.go.th นิตยสาร M&W พฤษภาคม 2552

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความภาคภูมิใจ..


โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย
ได้รับรางวัล
"ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่น"
ระดับเขต ในปี 2554
ประเภทโรงพยาบาลชุมชน

ผมมีโอกาสไปนำเสนอผลการดำเนินงานของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ที่สำนัำกงานหลักประกันสุขภาพเขต 8 จังหวัดอุดรธานี ซึ่งในการไปนำเสนอครั้งนั้นมีตัวแทนจากโรงพยาบาลต่างๆในเขต8 ทั้งโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายได้รับเกียรติจากคณะกรรมการฯเป็นตัวแทน "ศูนย์หลักประกันสุขภาพดีเด่น ระดับเขต 8 ประจำปี 2554" โดยมีการมอบรางวัลในงาน“มหกรรมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน บริการด้วยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ และรำลึกถึงสามปีที่จากไป นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” วันที่ 28-29 เมษายน2554 ที่ผ่านมา ณ อาคารอิมแพ็ค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ นนทบุรี

หัวข้อที่เลือกไปนำเสนอในครั้งนั้น ผมใช้ชื่อว่า "มากกว่างานหลักประกันสุขภาพ..ที่ด่านซ้าย" โดยนำเรื่องราวของการดูแลคนด่านซ้ายที่มิใช่เพียงแค่งานเรื่องสิทธิประกันสุขภาพ แต่เป็นการดูแลที่พยายามให้ครอบคลุมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยร่วมมือกับภาคีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ วิทยุชุมชน ร้านจรัญโลงเย็น และตัวแทนบริษัทประกันภัยจากรถ และผู้นำชุมชนในอำเภอด่านซ้าย


วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปรับปรุงการออกใบรับรองแพทย์

ผมเคยเสนอเรื่องการออกใบรับรองแพทย์ผ่านโปรแกรม HOSxP แต่ในช่วงนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่พร้อมของบุคลากร และแบบฟอร์มใบรับรองแพทย์เดิมยังมีอยู่ค่อนข้างเยอะ หากจะไม่ใช้ก็น่าเสียดาย จึงยังคงวิธีการออกใบรับรองแพทย์แบบเดิมอยู่ ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีการจัดการออกใบรับรองแพทย์ที่สะดวกและรวดเร็วขึ้นทำให้ผู้รับบริการไม่ต้องรอนาน แต่ถ้าดูในรายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินงานพบว่ายังคงเป็นภาระงานที่พยาบาลยังต้องทำงานซ้ำซ้อน เมื่อบวกกับปริมาณผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในแต่วันการออกใบรับรองแพทย์ยังคงเป็นภาระงานที่เพิ่มเวลาในการให้บริการพอสมควร..

โปรแกรมHOSxP มีฟังก์ชั่นที่สามารถออกใบรับรองแพทย์ที่สะดวก และสามารถลงบันทึกทะเบียนประวัติการขอใบรับรองแพทย์ของผู้ป่วยได้ด้วยว่าเคยมาขอแล้วกี่ครั้ง เมื่อไหร่ ซึ่งหากใช้ระบบนี้จะช่วยลดภาระการเขียนและสามารถออกใบรับรองแพทย์ได้เร็วขึ้น และสามารถเลือกแบบฟอร์มใบรับรองแพทย์ได้ถึง 5 แบบ

วันนี้เลยถือโอกาสเอาแบบเรื่องการออกใบรับรองแพทย์มาปัดฝุ่น และแก้ไขฟอร์มต่างๆในโปรแกรม HOSxP ให้เรียบร้อย ซึ่งพูดคุยกับทีมพยาบาล OPD แล้วตกลงกันว่าวันจันทร์จะเริ่มทดลองใช้งานดู

ในส่วน Open office เริ่มมีการใช้งานกันแล้วครับ ดูได้จากคำถามที่โทรมาตามให้ศูนย์เข้าไปช่วยดูเกี่ยวกับการจัดหน้ากระดาษในการพิมพ์งาน ต้องยอมรับครับว่ายังใหม่สำหรับทุกคน ปัญหายังคงมีบ้างแต่คิดว่าคงไม่ยากสำหรับการปรับตัว..

ส่วน Dropbox เริ่มมีการถ่ายโอนข้อมูลเข้ามาใน Dropbox มากขึ้นแล้วครับ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งของการพัฒนาระบบสารสนเทศ ในก้าวต่อไปจะเป็นการเร่งให้บุคลากรระดับหัวหน้าหน่วยงานมีและใช้ gmail และระบบงานเอกสารของ Gmail

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แรงบันดาลใจ..

ก่อนเลิกงาน ผมแวะไปตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆที่อาคารเชวง-ไน้ เคียงศิริ เห็นปุ๊ นั่งพิมพ์งานเอกสารอะไรซักอย่าง จึงแซวกันตามประสาคนคุ้นเคยว่า "ทำอะไรอยู่..กลับบ้านไปอยู่กับลูกได้แล้ว" ปุ๊ตอบผมว่ากำลังทำเอกสารคุณภาพของโรงพยาบาล และที่ต้องทำงานจนเย็นแบบนี้ก็เพราะผมนี่แหละ.. แม้จะเป็นการพูดคุยแซวกันเล่นๆ แต่ก็เป็นประเด็นให้คุยกันต่อ

ปุ๊ เล่าให้ฟังว่าสาเหตุมาจากระบบคอมพิวเตอร์ที่ปิดล๊อคป้องกันการใช้ usb และอุปกรณ์จำพวก flash drive ทำให้ไม่สามารถก๊อปปี้งานกลับไปทำที่บ้านได้ หรือบางทีต้องส่งไฟล์ไปทางอีเมล์แล้วก็ต้องไปดาวโหลดที่บ้าน ทำงานที่บ้านเสร็จก็ต้องส่งไฟล์มาทางอีเมล์เพื่อมาเปิดที่ทำงาน และรู้สึกยุ่งยากเลยนั่งทำงานต่อที่โรงพยาบาลดีกว่า แต่ปุ๊ก็เข้าใจว่าเป็นระบบรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาล..แม้จะทำให้ยุ่งยากและกลับบ้านช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร

คุณภาพงานกับคุณภาพชีวิต ผมคิดเสมอว่ามันควรจะไปด้วยกัน.. เทคโนโลยีควรช่วยให้เราทำงานได้ง่ายและมีคุณภาพงานที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ควรทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวลดลงไป ปัญหาที่เกิดขึ้นกับปุ๊ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องการวางระบบให้เอื้ออำนวยต่อการทำงานของบุคลากรมากขึ้น และยังคงมาตรฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศได้เช่นเดียวกัน..

ถ้าจะให้เล่าที่มาที่ไปของการนำ Drop box มาใช้ในโรงพยาบาล มาจากปัญหาการทำงานของปุ๊นี่แหละครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมใช้ Dropbox เก็บข้อมูลงานที่บ้านและที่ำทำงานไว้ด้วยกันอยู่แล้ว เพราะผมเองก็ไม่อยากใช้ Flash drive ในการขนย้ายข้อมูลไปมาซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับปุ๊ ผมเลยใช้วิธีการฝากไฟล์ต่างๆไว้ใน Dropbox แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าความสะดวกสบายของผมในการทำงานระหว่างบ้านและที่โรงพยาบาลเท่านั้น และก็ไม่ได้ศึกษาอะไรเพิ่มเติมว่า Dropbox น่าจะทำอะไรได้มากไปกว่านี้หรือเปล่า จนกระทั่งเจอปัญหาของปุ๊ ที่ทำให้ผมฉุกคิดว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆน่าจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน..

ถ้าจะมีการบันทึกประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาลในปี 2554 เรื่องการนำโปรแกรม Dropbox มาใช้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของไฟล์เอกสารต่างๆ ที่กำลังมีปัญหามากขึ้น และเชื่อมโยงระบบข้อมูลเอกสารให้สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามยุทธศาสตร์ของกรรมการสารสนเทศ..ซึ่ง Dropbox สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ค่อนข้างดีทีเดียว..

หลังจากได้ทดลองใช้งาน Dropbox.. ปุ๊ ยกนิ้วโ้ป้ง และขอบคุณที่ทำให้เธอทำงานได้ง่ายขึ้น..

จริงๆต้องเป็นผมต่างหากที่ควรต้องกล่าวขอบคุณ..

ขอบคุณครับ..คุณครู

คาดไม่ถึง..







ปุ๊ คุณารักษ์น้องพยาบาล OPD แวะมาคุยกับผมที่ห้องเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จุดซักประวัติ ซึ่งเมื่อเช้าเครื่องโดนน๊อคไป 1 ตัวสาเหตุมาจากความร้อน ทำให้ผมต้องแวะไป"ดู"และ"รับฟัง"ปัญหาของเพื่อนร่วมงานที่หน่วยงานของผมมีส่วนเกียวข้องโดยตรง..

จุดซักประวัติเป็นเคาเตอร์ที่ไม่ใหญ่มากครับ มีเครื่องคอมพิวเตอร์และพยาบาลนั่งประจำจุดได้ 3 คน ก่อนหน้านี้มีปัญหาในเรื่องขนาดของเคสคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ซึ่งติดตั้งไว้ด้านล่างพร้อมกับเครื่องสำรองไฟ และมีปัญหาว่าเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ค่อนข้างจะเกะกะเวลาทำงาน เท้าคุณพยาบาลมักจะเตะไปโดนเครื่องบ่อยๆโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็อย่างว่าแหละครับพื้นที่มันจำกัด แม้จะพยายามใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุดแล้วแต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอ

บังเอิญประจวบเหมาะ ห้องแพทย์มีการหมุนเวียนเปลี่ยนเครื่องพิวเตอร์ชุดใหม่มาแทนของเดิม ผมเลยถือโอกาสสับเปลี่ยนเครื่องจากห้องตรวจโรคมาไว้ที่จุดซักประวัติ เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ของห้องตรวจแพทย์มีขนาดค่อนข้างเล็กมาก เหมาะสำหรับพื้นที่จำกัดแบบนี้ ซึ่งก็ลงตัวครับ ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องสำรองไฟยัดเข้าช่องได้พอดิบพอดี..

ปัญหาเรื่องเครื่องคอมที่วางเกะกะเท้าพยาบาลหมดไป แต่ปัญหาใหม่กลับเข้ามาแทนที่และดูท่าจะหนักกว่าเดิม เนื่องจากช่องที่ใ่ส่คอมพิวเตอร์ค่อนข้างเล็กพอดีกับเคส และเครืองสำรองไฟ ทำให้การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีและทำให้พยาบาลที่นั่งซักประวัติรู้สึกว่าเหมือนนั่งใกล้เตาอบ พอมีคนเปิดประเด็นทุกคนก็ให้ความเห็นเหมือนกัน ที่ผ่านมาก็พยายามอดทนเอา

ผมลองวัดอุณหภูมิในช่องที่วางคอมพิวเตอร์และเครื่องสำรองไฟตรงจุดที่พยาบาลนั่งทำงาน อุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศา ทำให้ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาด่วน.. ซึ่งคิดว่าจะลองปรับแก้โดยย้ายอุปกรณ์มาติดที่ผนังเพื่อให้มีการระบายอากาศได้ดีขึ้น และจะย้ายจุดวางเครื่องสำรองไฟใหม่ และคงต้องติดตามดูอีกทีว่ายังมีปัญหาอยู่หรือไม่ ..

ต้องขอบคุณน้องปุ๊ คุณารักษ์ ที่มาพูดคุยสื่อสารด้วยความเป็นกัลยาณมิตร หลายๆครั้งที่มีโอกาสพูดคุยกันผมเกิดปิ๊่งไอเดียดีๆจากน้องคนนี้นี่แหละครับ ซึ่งบางเรื่องเป็นสิ่งทำเอาผมเข็มขัดสั้น..เพราะคาดไม่ถึงทีเดียว


ภาพหลังปรับปรุงคอมพิวเตอร์จุดซักประวัติใหม่


วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รายงานการประชุม กก.บริหาร 8/54


รายงานการประชุม กรรมการบริหาร โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย
ครั้งที่ 8/2554
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2554 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมหน่อไม้หวาน


ผู้เข้าร่วมประชุม
  1. นพ.ภักดี สืบนุการณ์
  2. นายอภิชัย อุประ
  3. พญ.ทิพพาวดี สืบนุการณ์
  4. นพ.สันทัด บุญเรือง
  5. ทพ.วัฒนา ทองปัสโณว์
  6. ว่าที่ ร.ต.เดชา สายบุญตั้ง
  7. ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี
  8. นางสุขใจ ช่อรักษ์
  9. นางสาวเยาวพา สิงห์สถิต
  10. นางเปรมศรี สาระทัศนานันท์
  11. นายสมัคร ศรีบุตตา
  12. นางวิมลมาศ พงษ์อำนวยกฤต
  13. นางอรอุมา เนตรผง
  14. ว่าที่ ร.ต.อภิชาติ ดีด่านค้อ
เริ่มประชุมเวลา 14.00 น.

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ
1.1 ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการตอบแบบประเมินตนเอง เพื่อการประเมินระบบคุณภาพ ครั้งที่ 2
1.2 เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย มีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงขอให้หัวหน้าฝ่าย/หัวหน้าหน่วยงานบริหารการประชุมชี้แจงทกับบุคลากรในฝ่ายอย่างสม่ำเสมอและจัดทำระบบคำสั่งให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน
มติที่ประชุม รับทราบ

ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 7/2554 (เอกสารหมายเลข 1)
มติที่ประชุม ที่ประชุมรับรอง

ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบและพิจารณา
3.1 ฝ่ายบริหาร
3.1.1 สถานการณ์การเงิน ประจำเดือน เมษายน 2554 (เอกสารหมายเลข 2)
3.1.2 สรุปสถานการณ์การเงินไตรมาสที่ 2 มีรายการรับมากกว่ารายการจ่าย มีการใช้งบประมาณเกินแผนเงินบำรุง ร้อยละ 10
3.1.3 สรุปสถานการณ์การเงินนอกงบประมาณ (เอกสารหมายเลข 3)
3.1.4 สืบเนื่องจาการประชุมของหน่วยงานซ่อมบำรุง ฝ่ายบริหารงานทั่วไป พบว่ามีภาระงานค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารจึงมีมติให้จ้างบุคลากรเพิ่มให้กับหน่วยงานซ่อมบำรุง 1 อัตรา
3.1.5 โรงพยาบาลจะดำเนินการติดตั้งและใช้ออกซิเจนเหลว จากบริษัท TIG ซึ่งทางบริษัทได้ส่งตรวจแทนมาสำรวจข้อมูลเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทจะลงทุนติดตั้งระบบเองทั้งหมดและจะทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านออกซเจนมีราคาที่ถูกลง


3.2 คณะกรรมการบริหารคุณภาพ
3.2.1 การส่งเอกสารเพื่อขอ Re-accredit โดยแบบประเมินตนเอง รวม 335 หน้า (font 16) เพิ่มขึ้นจากครั้ง ก่อนที่มีจำนวน 183 หน้า (font 14) รอการอ่านและวิเคราะห์จากนักวิชาการของสรพ.แล้วจะแจ้งว่าจะมี กิจกรรมใด เช่น ICV หรือ re-accredit แต่รพร.ด่านซ้าย คงได้ re-accredit การรอคิวมีเหลือประมาณ 50 รพ. ประมาณ 3 เดือน รอดำเนินการเอกสาร เตรียมไว้ที่โรงพยาบาล
  • การจัดทำscore book อยู่ในระหว่างรอดำเนินการ
  • service profile
  • แบบสรุป MRA (กรณีใช้แบบ สปสช.) สรุปผลการประเมินความสมบูรณ์ของการบันทึกเวชระเบียน
  • ตารางแสดงความรุนแรงความคลาดเคลื่อนทางยา

3.3. กลุ่มงานการพยาบาล
3.3.1 การคัดเลือกพยาบาลเข้าอบรมหลักสูตรเฉพาะทางวิสัญญีพยาบาล ซึ่งจากการพิจารณาตามเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สนใจนั้น คณะกรรมการมีมติให้ส่งคุณดาวศิริ มนตรี เข้ารับการอบรม
3.3.2 เนื่องจากในเดือนกันยายน 2554 มีบุคลากรของของโรงพยาบาล คือ คุณรุจิรา อรรคสูรย์ จะเกษียณอายุราชการคณะกรรมการมีมติให้สรรหาบุคลากรมาทดแทน เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานเป็นเวลา 2 เดือน และกำหนดให้มีการจัดงานเลี้ยงเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ที่ศาลาประชาคม
3.3.3 การฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาโรงเรียนอีสานบริบาลและสุรนารายณ์บริบาล วันที่ 2 มิถุนายน 2554- 31 สิงหาคม 2554 จำนวน 3 คน

3.4 ฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัว
3.5.1 สรุปรายงานผู้ป่วยทางระบาดวิทยา
3.5.2 สรุปการบำบัดผู้ติดยาเสพติด มีผู้มารับบำบัด 26 คนทุกวันพุธและวันพฤหัส มีกิจกรรมเพื่อให้พัฒนาจิตสาธารณะ เช่น การไปช่วยงานบำบัดน้ำเสีย, การทำแปลงผักสวนครัวของโรงพยาบาล และนอกจากนี้ยังเข้าอบรมดนตรีบำบัด เปียโน 1 to 5 ในวันที่ครอบครัวมาร่วมบำบัดจะได้รับการอบรมนวดแผนไทยพร้อมกับคนในครอบครัว

3.6 ฝ่ายแผนงานและประเมินผล
3.6.1ด้วยทางกรรมการสารสนเทศ(IM) ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบจัดเก็บเอกสารโดยใช้โปรแกรม Dropbox โดยทางศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ดำเนินการติดตั้งให้กับคอมพิวเตอร์ทุกหน่วยงาน เพื่อให้สามารถเข้าถึงเอกสารและลดการจัดทำเอกสารที่ซ้ำซ้อน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและจะมีการประชุมชี้แจงการใช้งานในการประชุมของทีมประสานต่อไป
3.6.2 ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ดำเนินการการปรับเปลี่ยน software ในหน่วยงานเป็น freeware ตามนโยบาย Open soure โดยมีกำหนดที่จะปรับเปลี่ยนโปรแกรม ms office 2007 เป็น Open office 3.2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2554
3.6.3 สืบเนื่องจากการประชุม ที่มีนโยบายระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามจากไวรัส มัลแวร์ โทรจัน จากอินเตอร์เนต กรรมการสารสนเทศได้เสนอแนวทางการแยกระบบการใช้งาน HOSxP และการใช้อินเตอร์เนตออกจากกัน และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คส่วนตัวในการทำงาน รวมถึงการใช้บริการอินเตอร์เนต ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และนักศึกษา คณะกรรมการจึงมีมติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการติดตั้งระบบ wifi Internet นอกแผนงบประมาณในวงเงิน 40,000 บาท
3.6.3 โรงพยาบาลได้ส่งบุคลากรเข้ารว่มโครงการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้สุขภาพในมิติสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน 2554 ”สร้างหนังสั้น สร้างสรรค์สื่อ เพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า” โดยมีตัวแทนผู้เข้าร่วมอบรมจาก 24 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และจะมีการผลิตหนังสั้นจำนวนทั้งหมด 24 เรื่อง
มติที่ประชุม รับทราบ

ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องอื่นๆ
4.1 ไม่มี
.................................. ........................
( นายเดชา สายบุญตั้ง ) (นายอภิชัย อุประ)
ผู้บันทึกรายงานการประชุม ผู้ตรวจรายงานการประชุม

Full view

หลังเลิกประชุมกรรมการบริหาร หมอสันทัดสอบถามเรื่องการดูผล LAB จากเมนู Patient EMR ว่าทำไมดูรายงานผลที่เป็น img ไม่ได้ ผมได้แต่แอบงงเล็กน้อยถึงปานกลาง เพราะไม่ได้ค่อยเข้ามาใช้ Patient EMR บ่อยนักโดยเฉพาะเรื่องการดูผล LAB .. ความรู้เท่าที่มีอยู่ในคลังสมองผมรู้แต่ว่ารายการ LAB ดูตรงไหน เปรียบเทียบผลอย่าง แต่ผล LAB ที่เป็นภาพสแกนจะดูจาก Patient EMR ได้ยังไงกันละหว่า..

คุยไปคุยมา ผมเลยขอข้อมูลคนไข้สักหนึ่งรายเพื่อที่จะได้ลองดูว่าจะสามารถหาทางออกให้หมอได้หรือไม่ แต่หมอนึกชื่อไม่ได้สักรายจึงพยายามอธิบายเพิ่มเติมว่า หมอกำลังเก็บข้อมูลวิจัย ที่ต้องใช้ผล LAB ซึ่งปกติก็สามารถดูได้จากหน้าต่าง Patient EMR นี่แหละ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าผลพวก Lab out ที่ส่งตอบกลับมาเป็นเอกสารแล้วทางเจ้าหน้าที่ห้อง LAB สแกนเก็บไว้ใน HOSxP ทำไมดูไม่ได้ ถ้าต้องการดูจะดูได้อย่างไร ตรงไหน เพราะไม่งั้นก็ต้องไปขอข้อมูลจาก OPD CARD ผมก็จำได้คลับคล้ายคลับคลาเหมือนเคยอ่านในบอร์ด HOSxP ว่า..มันน่าจะดูได้

ทีแรกคิดว่าจะแก้ปัญหาโดยให้หมอเข้าไปดูในเมนูของห้อง LAB แล้วค้นหาจาก HN และดูการรายงานผลซึ่งจะมี Tab สำหรับดูภาพที่สแกนเอกสารเก็บไว้เลย แต่เป็นขั้นตอนที่คงไม่สะดวกสำหรับหมอแน่ๆ ลองย้อนกลับมาค้นที่ Patient EMR อีกครั้ง สะดุดตากับเจ้าปุ่ม Full view นี่แหละว่ามันจะ Full ยังไง..

สุดท้ายก็เป็นคำตอบที่ใช่เลย.

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความรู้เกี่ยวกับเครื่องพ่นและการพ่นหมอกควัน

เครื่องพ่นสารเคมี


เครื่องพ่นสารเคมีทางสาธารณสุขที่นิยมใช้ในการป้องควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงจำแนกออกได้เป็น ชนิด  ได้แก่

1.เครื่องพ่นเคมีชนิดอัดลม Hand compression sprayer 
เป็นเครื่องพ่นสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันควบคุมไข้มาลาเรีย  เมื่อทำการพ่นสารเคมีออกไปละอองสารเคมี Droplets    จะไปเกาะติดที่พื้นผิววัตถุที่ต้องการ และมีฤทธิ์ตกค้างระยะเวลาหนึ่ง หรือที่เรียกว่า การพ่นสารเคมีชนิดตกค้าง Residual spray )  เมื่อยุงก้นปล่องบินมาเกาะพักที่พื้นผิวทำให้สัมผัสสารเคมี ๆ จะเข้าไปในตัวยุง  และทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ระบบประสาทส่วนกลางของยุง  และตายในที่สุด  สารเคมีมีฤทธิ์ตกค้างนาน 6 เดือน  แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาสารเคมีให้มีฤทธิ์ตกค้างนาน 1 ปี

2. เครื่องพ่นหมอกควัน Fogging machine หรือ Thermal fog generator)
เป็นเครื่องพ่นที่ใช้ความร้อนทำให้น้ำยาเคมีแตกตัวเป็นละออง อุณหภูมิที่ใช้สูงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสารตัวทำละลายที่มีจุดเดือด หรือจุดระเหิด Boiling point หรือ Evaporating point )  ซึ่งมักนิยมใช้สารตัวทำละลายที่มีอุณหภูมิสูง 100 องศาเซลเซียส  เพราะถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะมีผลในการทำลายคุณภาพของสารเคมีซึ่งมักจะมีความเข้มข้นต่ำ สารตัวทำละลายที่นิยมใช้ ได้แก่  น้ำมันดีเซล  เมื่อสารเคมีแตกตัวจะถูกแรงลมเป่าทำให้ฟุ้งกระจายในรูปหมอกควัน ขนาดเม็ดน้ำยาDroplets )มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 10- 60 ไมครอน micron )
            เครื่องพ่นหมอกควันจะใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงในการทำงานของเครื่อง  ความจุของถังน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ 1.4 - 2 ลิตร  อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 – 2 ลิตร / ชั่วโมง  กำลังทำงานเครื่องพ่น 24-25 แรงม้าหรือ15,000 -16,100 กิโลแคลอรี่ / ชั่วโมง  การจุดระเบิดใช้พลังงานจากถ่านไฟฉาย ขนาด 1.5 โวลท์ จำนวน 4 ก้อน ต่อแบบอนุกรม และมีคอยล์จุดระเบิดสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ อัตราการไหลของน้ำยา ตั้งแต่ 8 - 30 ลิตร/ชั่วโมงแล้วแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหัวพ่น  ถังใส่น้ำยาเคมีมีทั้งชนิดที่เป็นโลหะ และพลาสติค  มีความจุ ตั้งแต่ 5 - 6.5 ลิตร  น้ำหนักเครื่องพ่นเปล่า 7- 8 กิโลกรัม  หากรวมน้ำหนักน้ำยาเคมีจะมีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม 

ชนิดเครื่องพ่นหมอกควัน Fogging ) ปัจจุบันเครื่องพ่นหมอกควันที่ใช้ในงานสาธารณสุข แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. เครื่องพ่นหมอกควันชนิดสะพายไหล่  อาทิเช่น
   1.1 เครื่องพ่นหมอกควันสวิงฟ็อก (Swingfog) รุ่น SN -11 SN -50 และ SN -50 N
   1.2 เครื่องพ่นหมอกควันพัลฟ็อก Pulpfog ) รุ่น KP-10 SP
   1.3 เครื่องพ่นหมอกควันไอจีบ้า Igeba ) รุ่น TF -30 และ TF- 35
   1.4 เครื่องพ่นหมอกควันซุปเปอร์ฮอค Superhawk )
   1.5 เครื่องพ่นหมอกควัน เอส เอส ฟ็อก SS fog )
   1.6 เครื่องพ่นหมอกควันโกลเด็นฟ็อก Goldenfog )
2. เครื่องพ่นหมอควันชนิดติดตั้งบนรถยนต์  อาทิเช่น
   2.1 เครื่องพ่นหมอกควันสวิงฟ็อก รุ่น SN-101
   2.2 เครื่องพ่นหมอกควันพัลฟ็อก รุ่น K-22 /10 BIO
   2.3 เครื่องพ่นหมอกควัน IZ 400 Auto )

การเตรียมความพร้อมในการใช้งานเครื่องพ่นหมอกควัน
  1. ตรวจสอบหัวเทียนว่ามีไฟหรือไม่  โดยวิธีถอดหัวเทียนออกมาจากเครื่อง  แล้วเสียบปลั๊กหัวเทียนแตะกับบริเวณที่เป็นโลหะ  กดปุ่มสตาร์ท กรณีที่เป็นเครื่องพ่นสวิงฟอกซ์  สำหรับเครื่องพ่นพัลส์ฟอกซ์ หรือเครื่องพ่นไอจีบา  ให้สูบลมกระบอกสูบ  จะทำให้มีกระไฟวิ่งผ่านหัวเทียน  หากไม่มีกระแสไฟวิ่งผ่าน  หรือกระแสไฟไม่แรงให้ทำความสะอาดเขี้ยวหัวเทียน แต่หากพบว่าไม่มีกระแสไฟให้เปลี่ยนหัวเทียนใหม่ ปกติเขี้ยวหัวเทียนจะห่างประมาณ 2 มิลลิเมตร หรือเท่ากับความหนาของเหรียญบาท
  2. ตรวจสอบว่ามีถ่านไฟฉายในรังถ่านหรือไม่   และถ่านมีไฟหรือไม่
  3. ใส่น้ำมันเชื้อเพลิงในถังน้ำมันให้มีช่องว่างพอประมาณ หรือ 3 / 4 ของถัง เพื่อให้มีอากาศสำหรับระบบการไหลเวียนน้ำมันเชื้อเพลิง  ส่วนใหญ่เครื่องพ่นหมอกควันจะใช้น้ำมันเบนซิน 91 และหากน้ำมันเบนซินค้างอยู่ในเครื่องพ่นนานหลายเดือน ควรเททิ้ง  เนื่องจากค่าอ๊อกเทนของน้ำมันจะเหลือน้อย   ทำให้เครื่องสตาร์ทไม่ติด
  4. ตรวจสอบว่าหัวพ่นอุดตันหรือไม่
  5. ตรวจสอบแผ่นไดอะแฟรมว่าอยู่ในสภาพดีหรือชำรุด  หากชำรุดควรเปลี่ยนใหม่  ไม่ควรใช้วัสดุอื่นมาประยุกต์ใช้แทน  เนื่องจากวัสดุนั้นจะไม่สามารถทนความร้อนได้  จะทำให้เกิดการละลายเมื่อเครื่องพ่นทำงานไปได้สักพักหนึ่ง
  6. ใส่น้ำยาเคมี ปิดฝาให้สนิท
  7. ปิดก๊อกน้ำยาเคมี และก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิง
  8. ตรวจสอบสายสะพายให้เรียบร้อย

การเตรียมความพร้อมในการใช้งานเครื่องพ่นหมอกควัน
  1. ตรวจสอบหัวเทียนว่ามีไฟหรือไม่  โดยวิธีถอดหัวเทียนออกมาจากเครื่อง  แล้วเสียบปลั๊กหัวเทียนแตะกับบริเวณที่เป็นโลหะ  กดปุ่มสตาร์ท กรณีที่เป็นเครื่องพ่นสวิงฟอกซ์  สำหรับเครื่องพ่นพัลส์ฟอกซ์ หรือเครื่องพ่นไอจีบา  ให้สูบลมกระบอกสูบ  จะทำให้มีกระไฟวิ่งผ่านหัวเทียน  หากไม่มีกระแสไฟวิ่งผ่าน  หรือกระแสไฟไม่แรงให้ทำความสะอาดเขี้ยวหัวเทียน แต่หากพบว่าไม่มีกระแสไฟให้เปลี่ยนหัวเทียนใหม่ ปกติเขี้ยวหัวเทียนจะห่างประมาณ 2 มิลลิเมตร หรือเท่ากับความหนาของเหรียญบาท
  2. ตรวจสอบว่ามีถ่านไฟฉายในรังถ่านหรือไม่   และถ่านมีไฟหรือไม่
  3. ใส่น้ำมันเชื้อเพลิงในถังน้ำมันให้มีช่องว่างพอประมาณหรือ 3/4 ของถัง เพื่อให้มีอากาศสำหรับระบบการไหลเวียนน้ำมันเชื้อเพลิง  ส่วนใหญ่เครื่องพ่นหมอกควันจะใช้น้ำมันเบนซิน 91และหากน้ำมันเบนซินค้างอยู่ในเครื่องพ่นนานหลายเดือนควรเททิ้งเนื่องจากค่าอ๊อกเทนของน้ำมันจะเหลือน้อยทำให้เครื่องสตาร์ทไม่ติด
  4. ตรวจสอบว่าหัวพ่นอุดตันหรือไม่
  5. ตรวจสอบแผ่นไดอะแฟรมว่าอยู่ในสภาพดีหรือชำรุด  หากชำรุดควรเปลี่ยนใหม่  ไม่ควรใช้วัสดุอื่นมาประยุกต์ใช้แทน  เนื่องจากวัสดุนั้นจะไม่สามารถทนความร้อนได้  จะทำให้เกิดการละลายเมื่อเครื่องพ่นทำงานไปได้สักพักหนึ่ง
  6. ใส่น้ำยาเคมี ปิดฝาให้สนิท
  7. ปิดก๊อกน้ำยาเคมี และก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิง
  8. ตรวจสอบสายสะพายให้เรียบร้อย
การติดเครื่องพ่นหมอกควัน
  1. สูบลมกระบอกสูบเบาๆ 4-5 ครั้ง  เพื่อให้มีแรงดันในระบบน้ำมันเชื้อเพลิง
  2. เปิดก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกาให้สุดและสูบลมจนกว่าเครื่องจะติดสำหรับเครื่องพ่นสวิงฟอก จะต้องกดปุ่มสตาร์ทด้วย
  3. เมื่อเครื่องติดแล้ว ปล่อยให้เครื่องทำงาน 1- 2 นาที เพื่อให้เครื่องร้อน  ควรฟังเสียงเครื่องว่าดังสม่ำเสมอหรือไม่  หากเสียงไม่สม่ำเสมอให้ปรับอัตราการไหลของน้ำมันเชื้อเพลิง
  4. เปิดก๊อกน้ำยาเคมีหลังจากพ่นสารเคมีนาน 40 นาที  ควรพักเครื่องประมาณ 10-15 นาทีขณะที่พักทีมงานควรเติมน้ำมันเชื้อเพลิง  และน้ำยาเคมีให้พร้อมที่จะใช้ทำงานต่อไป
การปิดเครื่องพ่นหมอกควัน
  1. ปิดก๊อกน้ำยาเคมี ปล่อยให้เครื่องพ่นทำงานต่อไป  จนกระทั่งหมอกควันหายไปจากปลายท่อพ่นจึงปิดก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิง
  2. คลายฝาถังน้ำมันเชื้อเพลิง  เพื่อปล่อยความดันในถังออกมา
  3. คลายฝาถังน้ำยาเคมี เพื่อปล่อยความดันในถังออกมา
  4. หากเครื่องพ่นดับอย่างกะทันหันจะมีไฟลุกที่ปลายท่อพ่น ให้ปิดก๊อกน้ำยาเคมี  แล้วสูบลมกระบอกสูบ เพื่อให้เกิดแรงลมเป่าน้ำยาเคมีออกมา  สูบลมจนไม่มีเปลวไฟ  แล้วจึงปิดเครื่องหรือหากเกิดไฟลุกไหม้ที่เครื่องพ่นให้ใช้ผ้าหนาๆ คลุมทับให้ไปดับ อย่าตกใจแล้วโยนเครื่องพ่นทิ้ง เพราะจะทำให้เครื่องพ่นเสียหายได้
เทคนิคการพ่นหมอกควัน
  1. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพื่อความร่วมมือในการพ่นสารเคมี หากมีอาหารอยู่ในบ้านควรปิดให้เรียบร้อย  หรือหากมีสัตว์เลี้ยงควรนำไปเลี้ยงที่อื่นขณะที่ทำการพ่นสารเคมี
  2. ควรปิดหน้าต่างบ้านทุกบาน  เปิดเพียงประตูทางเข้า 1 แห่ง  หากเป็นบ้าน 2-3 ชั้นควรพ่นชั้นบนสุดก่อน   เมื่อทำการพ่นสารเคมีเสร็จแล้วให้ปิดประตูอบหมอกควันทิ้งไว้ 15-20 นาที
  3. การพ่นให้เดินเข้าไปด้านในสุดของบ้าน ปลายท่อพ่นอยู่ห่างจากฝาบ้าน 2-3 เมตร และควรให้ท่อพ่นเอียงต่ำลง 45 องศา เปิดก๊อกน้ำเคมี พร้อมส่ายปลายท่อเป็นมุม180 องศา เดินถอยหลังช้าๆ จนถึงประตูที่เปิดไว้เมื่อเห็นว่าควันเต็มห้องแล้ว จึงปิดก๊อกน้ำยาปิดประตูอบหมอกควันทิ้งไว้ 15-20 นาที
  4. เวลาที่ปฏิบัติงานพ่นสารเคมี หากต้องการควบคุมยุงลายควรทำการพ่นในเวลากลางวัน แต่ถ้าหากต้องการพ่นสารเคมีควบคุมยุงรำคาญ ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบควรทำการพ่นในเวลาหัวค่ำ
  5. ควรทำการพ่นบ้านผู้ป่วยและบริเวณรอบๆ และพ่นบ้านที่อยู่ใกล้เคียง รัศมีห่างจากบ้านผู้ป่วย 100 เมตร ทำการพ่น 2-4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์  พร้อมดำเนินการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายด้วย
  6. หลังจากที่ทำการพ่นสารเคมี 1 สัปดาห์ ควรประเมินความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายเพื่อเปรียบเทียบความชุกชุมก่อนและหลังการพ่นสารเคมีควบคุมโรค กำหนดให้ทำการสุ่มสำรวจบ้าน 40 หลังคาเรือน  ประเมินผลโดยใช้ร้อยละของหลังคาเรือนที่พบลูกน้ำ(House index)หรือ HI.
การทดสอบขนาดเม็ดน้ำยาเคมี (Equipment for Vector Control)

        เมื่อปีพ..2507องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ระบุว่าการพ่นสารเคมีแบบฟุ้งกระจายในอากาศ   (Space spray) เพื่อควบคุมแมลงบินพาหะนำโรคนั้น  ควรมีขนาดเม็ดน้ำยาเล็กกว่า100 ไมครอน  เนื่องจากละอองน้ำยา จะสามารถลอยฟุ้งกระจายอยู่ในบรรยากาศได้นานพอที่แมลงบินเป้าหมายจะมีโอกาสบินมาสัมผัสสารที่พ่น  และในกรณีที่ทำการพ่นโดยใช้สารเคมีที่มีความเข้มข้นสูง ปริมาณน้อยให้คลุมพื้นที่มาก หรือที่เรียกว่าการพ่นแบบฝอยละเอียด Ultra Low Volume)หรือ ULV. เม็ดน้ำยาจะมีขนาด 27 ไมครอน ต่อมาในปี พ..2537  Pan American Health Organizationหรือ PAHO  กำหนดว่าการพ่นฝอยละเอียดที่ต้องการให้เม็ดน้ำยาลอยฟุ้งอยู่ในอากาศได้ดี เม็ดน้ำยาควรมีขนาด 5 -27 ไมครอน
   องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานการคำนวณหาค่าเฉลี่ยเม็ดน้ำยาว่า Volume Median Diameter หรือ VDM.หมายถึง ค่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเม็ดน้ำยาที่สมมุติขึ้นว่า ปริมาณน้ำยาที่เครื่องพ่นออกมาครึ่งหนึ่งจะแตกตัวเป็นเม็ดน้ำยาที่มีขนาดเล็กกว่าค่า VDM. และอีกครึ่งของปริมาณน้ำยาจะแตกตัวเป็นเม็ดน้ำยาที่มีขนาดใหญ่กว่าค่า VDM.
เมื่อนำเครื่องพ่นสารเคมีมาตรวจหาค่า VDM. แล้วพบว่าจำนวนละอองเม็ดน้ำยามีขนาดเล็กกว่าค่า VDM.  มีประมาณร้อยละ 85  ของจำนวนเม็ดน้ำยาที่เครื่องพ่นออกมาตัวอย่างเช่น  เครื่องพ่นหมอกควันชนิดหนึ่งทดสอบพบว่าค่า VDM. เท่ากับ 30 ไมครอน  แสดงว่า ร้อยละ 85 ของละอองเม็ดน้ำยาที่เครื่องพ่นออกมามีขนาดเล็กกว่า 30 ไมครอน และร้อยละ 15 มีขนาดละอองน้ำยามากกว่า 30 ไมครอน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการหาขนาดเม็ดน้ำยา หรือ ค่า VDM. 
  1. ประกอบด้วยแผ่นสไลด์
  2. กล้องจุลทรรศน์ ขนาดกำลังขยาย 10 x 10
  3. Slide micrometer ขนาด 1-100 ไมครอน
  4. แผ่นตรวจขนาดเม็ดน้ำยา Graticule ) ติดในกล้องจุลทรรศน์ที่เลนส์ใกล้ตา Graticule )
  5. ลวดแมกนีเซี่ยม
ขั้นตอนการเตรียมแผ่นสไลด์ที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างเม็ดน้ำยา ได้แก่
  1. จัดเตรียมแผ่นสไลด์ 4 แผ่น  ทำความสะอาด
  2. ตัดลวดแมกนีเซี่ยมยาว 4 นิ้ว
  3. จุดไฟที่ลวดแมกนีเซี่ยมจะทำให้เกิดควันขึ้นมานำควันไปรมที่ใต้แผ่นสไลด์ไอของลวดแมกนีเซี่ยมจะติดที่แผ่นสไลด์ เฉลี่ยพื้นที่แผ่นละ 2 ตารางนิ้ว
  4. ติดสัญลักษณ์แสดงเครื่องพ่นที่จะเก็บตัวอย่าง
วิธีการเก็บตัวอย่างเม็ดน้ำยา
  1. เตรียมเครื่องพ่นสารเคมีให้พร้อมที่จะใช้งาน
  2. ติดเครื่องพ่น  ปล่อยให้ทำงาน 2-3 นาที  จนเครื่องมีการทำงานที่สม่ำเสมอ
  3. เปิดก๊อกน้ำยา พ่นสารเคมีตามมาตรฐานการใช้เครื่องพ่น
  4. นำแผ่นสไลด์ที่เคลือบแมกนีเซี่ยมไปสัมผัสละอองน้ำยาในระยะห่าง 6 ฟุต หรือ 1.8 เมตร                 โดยโบกสไลด์ผ่านกลุ่มน้ำยาเพียง 1 ครั้ง
  5. ควรเก็บตัวอย่าง 2 ตัวอย่าง  ต่อการทดลอง 1 ครั้ง

การเตรียมกล้องจุลทรรศน์
  1. เตรียมกล้องจุลทรรศน์ขนาดกำลังขยาย เลนส์ใกล้ตา Eye piece ) เท่ากับ 10 และเลนส์                ใกล้วัตถุ Objective ) เท่ากับ 10
  2. นำแผ่นสไลด์ Graticule ใส่ใน Eye piece
  3. นำ Slide micrometer วางบนแท่นตรวจกล้องจุลทรรศน์  ตรวจสอบว่าขนาดเม็ดน้ำยาที่                 แสดงใน Graticule  ถูกต้องตามขนาดจริงโดยเทียบกับ Slide micrometer  หากไม่                ถูกต้องให้ปรับตัวเลขให้มีขนาดที่ถูกต้อง
การตรวจหาค่าเม็ดน้ำยา
  1. นำสไลด์ที่เก็บตัวอย่างเม็ดน้ำยาไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
  2. นับจำนวนเม็ดน้ำยา  และขนาดลงในแผ่นเก็บข้อมูล  ซึ่งแสดงขนาดตาม Graticule ที่ใช้    ตรวจควรนับเม็ดน้ำยาให้ได้มากกว่า 200 เม็ด
  3. นำข้อมูลที่ได้มาคำนวณหาค่า VDM.
  4. สร้างแผนภูมิเพื่อหาขนาด VDM. ที่ถูกต้อง

การบำรุงรักษาเครื่องพ่นหมอกควัน

เครื่องพ่นหมอกควันเป็นครุภัณฑ์ที่มีราคาแพง ระบบการทำงานของเครื่องพ่นประกอบด้วยข้อต่อ และท่อทำให้อุดตันได้ง่าย  ประกอบกับบางครั้งเครื่องจะถูกยืมไปใช้  หากผู้ใช้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องที่ถูกต้องจะทำให้เครื่องพ่นชำรุดเสียหายได้ง่าย  ดังนั้นผู้ที่ใช้เครื่องพ่นควรมีการบำรุงรักษาเครื่องพ่นเพื่อให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน  คุ้มค่ากับงบประมาณที่จัดซื้อ วิธีการบำรุงรักษามีดังนี้
  1. เมื่อเสร็จงานในแต่ละวันควรทำงานสะอาดเครื่องพ่น ไม่ให้คราบน้ำยาทำให้ความเสียหายชิ้นส่วนต่าง ๆ
  2. ล้างถังน้ำยาด้วยน้ำสะอาดและเมื่อหมดฤดูกาลใช้เครื่องพ่นแล้วไม่ควรปล่อยน้ำยาค้างในถัง  เพราะน้ำยาจะตกตะกอน  ทำให้เกิดการอุดตันที่ท่อพ่น หรือหัวพ่นได้
  3. ล้างท่อพ่น และหัวพ่นโดยการเติมน้ำสะอาด ติดเครื่องแล้วเปิดก๊อกน้ำยาเพื่อให้น้ำล้างท่อและหัวพ่น
  4. ถอดแผ่นไดอะแฟรมมาทำความสะอาด  เช็ดให้แห้ง  แล้วใส่กลับเหมือนเดิม
  5. ทำความสะอาดท่อพ่น  โดยใช้แปรงทองเหลืองขัดถูตะกันที่ปลายท่อทุก 3 เดือน
  6. ทำความสะอาดหัวเทียน
  7. หากไม่ใช้เครื่องเป็นเวลานานๆ ควรนำถ่านไฟฉายออกมาจากรังถ่าน  หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการบวม และกัดกร่อนชิ้นส่วนต่างๆ
ปัญหาที่มักพบในการใช้เครื่องพ่นหมอกควัน
1.เครื่องไม่ติดวิธีการแก้ไข
  • ตรวจสอบระบบไฟ โดยทดสอบว่าหัวเทียนมีไฟหรือไม่
  • ตรวจสอบถ่านไฟฉายที่อยู่ในรังใต้เครื่อง
  • ตรวจสอบน้ำมันเชื้อเพลิง ควรเติมให้เกือบเต็มประมาณ ¾ของถังน้ำมันเชื้อเพลิงใช้น้ำมันเบนซิน 91หากน้ำมันเชื้อเพลิงตกค้างอยู่ในถังนานแล้ว  ควรเททิ้ง เนื่องจากจะมีค่าอ๊อกเทนต่ำ
  • ตรวจสอบระบบน้ำมันเชื้อเพลิงโดยการถอดแผ่นไดอะแฟรมเปิดฝาถังน้ำมันสูบหลายๆครั้งสังเกตการดูดของน้ำมันภายในตัวคาร์บิวเรเตอร์ถ้าไม่เห็นน้ำมันให้ถอดลิ้นควบคุมน้ำมันแล้วทำความสะอาด 
2. เครื่องติด แต่ทำงานไม่ปกติ หรือติดแล้วดับ  วิธีแก้ไข
  • ปรับปุ่มปรับอากาศและน้ำมันจนเสียงเครื่องดังปกติไม่สะดุดวิธีการปรับปุ่มปรับอากาศหากหมุนตามเข็มนาฬิกา อากาศจะเข้ามากขึ้น  และหากหมุนทวนเข็มนาฬิกาอากาศจะเข้าน้อยลง
  • หากเครื่องทำงานอ่อนลงเกิดจากมีเขม่าเกาะจับภายในท่อพ่นและที่ Swirl vane แก้ไขโดยใช้แปรงทองเหลืองทำความสะอาดที่ปลายท่อพ่นและให้คลาย Swirl vane ออกมาทำความสะอาดด้วยแปรงทองเหลือง แล้วใส่เข้าไปเหมือนเดิม
3. เครื่องไม่ปล่อยหมอกควัน หรือปล่อยหมอกควันน้อย  วิธีแก้ไข
  • ตรวจสอบฝาถังน้ำยาว่าผิดแน่นหรือไม่
  • ตรวจสอบสายน้ำยา Solution pipe ) ว่าอุดตันหรือไม่
  • ตรวจสอบว่า Solution socket อุดตันหรือไม่
  • ตรวจสอบว่าหัวพ่น Solution nozzle ) อุดตันหรือไม่
  • ตรวจสอบว่าก๊อกน้ำยา Solution tap ) อุดตันหรือไม่ 
4. หากเครื่องพ่นเสียหรือชำรุดจะดำเนินการอย่างไร วิธีแก้ไข
  • หากเครื่องพ่นเสียหรือชำรุดไม่มากนักสามารถติดต่อสอบถามการซ่อมได้ที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ นำโดยแมลง(ศตม.)หรือหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง(นคม.) หากเครื่องพ่นเสียไม่มากนักจะแก้ไขให้ทันที แต่หากเป็นอะไหล่ที่มีราคาสูงจะประสานบริษัทเพื่อจัดซื้ออะไหล่มาซ่อมบำรุงให้   หรือแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายมาทำการซ่อมบำรุงต่อไป
5. การเสื่อมสภาพของสารเคมี ปัญหาสำคัญของเครื่องพ่นหมอกควันแบบใช้ความร้อนได้แก่ การสลายตัวของสารเคมีเนื่องจากความร้อน  ซึ่งอาจเกิดจากคุณสมบัติของสารเคมีเองหรือเกิดจากเครื่องพ่นเคมีที่ให้ความร้อนสูงเกินไป โดยปกติเครื่องพ่นหมอกควันที่มีคุณภาพดีควรสามารถควบคุมอุณหภูมิ ณ จุดหรือบริเวณที่นำยาสัมผัสความร้อนและแตกตัวให้บริเวณนี้มีอุณหภูมิระดับที่ไม่ทำลายคุณภาพของสารเคมีควรมีอุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียสซึ่งผู้ใช้เครื่องพ่นสามารถทำการทดสอบได้โดยการใช้น้ำแทนสารเคมีหากเครื่องพ่นใดพ่นน้ำออกมามาเป็นละอองโดยสมบูรณ์หรือเป็นไอแสดงว่า อุณหภูมิจุดนั้นสูงเกินจุดเดือนน้ำ หรือมากกว่า 100 องศาเซลเซียส ดังนั้นโอกาสที่ความร้อนนี้จะทำให้คุณภาพสารเคมีถูกทำลายคุณภาพย่อมมีมากแต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและคุณสมบัติของสารเคมีนั้น  นอกจากนั้นสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในเครื่องพ่นหมอกควันมักจะมีความเข้มข้นต่ำมากๆจึงย่อมมีโอกาสลดคุณภาพการพ่นสารเคมีลงได้มาก

3. เครื่องพ่นฝอยละเอียด (Ultra Low Volume) หรือ ULV.
เครื่องพ่นฝอยละเอียด เป็นเครื่องพ่นที่ใช้หลักการทำงาน โดยใช้ลมแรงทำให้น้ำยาเคมีที่มีความเข้มข้นสูงแตกตัวฟุ้งกระจายไปในอากาศ เม็ดน้ำยามีขนาดเล็กกว่า50 ไมครอนขนาดเม็ดน้ำยาที่ดีที่สุดควรเป็น5-27ไมครอน(องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเครื่องพ่นฝอยละเอียดที่ผลิตเม็ดน้ำยาที่มีคุณภาพสูงสุด กล่าวคือ มีค่า VMD (Volume Median Diameter)เท่ากับ 27 ไมครอนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ) เมื่อเม็ดน้ำยาสัมผัสยุงจะทำให้ยุงตายเครื่องพ่นฝอยละเอียดสามารถใช้ได้กับงานทางด้านการเกษตรและด้านการสาธารณสุข  สำหรับทางสาธารณสุขส่วนใหญ่นำมาใช้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออก,ไข้มาลาเรีย,โรคเท้าช้างและไข้สมองอักเสบ เป็นต้น  วัตถุประสงค์การพ่นฝอยละเอียดเพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อโรคอย่างฉับพลัน  เพื่อตัดวงจรการเกิดโรคไม่ให้แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆ


ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตเครื่องพ่นฝอยละเอียดได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี  เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการทำงาน  ดังนั้น  ในปัจจุบันนอกจากจะมีเครื่องพ่นฝอยละเอียดที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานแล้ว  ยังมีเครื่องพ่นที่ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ และไฟฟ้าเป็นพลังงานอีกด้วย


เครื่องพ่นฝอยละเอียดใช้เครื่องยนต์เบนซิน2จังหวะ กำลังเครื่องไม่ต่ำกว่า1.5 แรงม้าซึ่งเป็นขนาดเครื่องยนต์ที่ให้กำลังน้อยที่สุด  แต่มีประสิทธิภาพและประหยัดน้ำมัน และใช้งานได้นานในรอบเครื่องยนต์ที่สูง ๆ  และไม่ควรใช้เครื่องยนต์ที่ใหญ่เกินไปเพราะจะทำให้มีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกในการทำงาน