วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โลตัส..ตลาด กับวิถีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปของคนด่านซ้าย

2-3 เดือนก่อน เสียงการทำงานของเครื่องจักรที่ดังต่อเนื่องนานนับเดือน คำถามมากมายที่ผู้คนสงสัยว่าเขากำลังจะทำอะไร หลายคนเฝ้ามองการบริเวณพื้นที่ก่อสร้างฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย บางคนบอกโลตัส บ้างก็ว่าแมคโคร.. 

จนเมื่อทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อาคารสถานที่ต่างในรูปลักษณ์ที่คุ้นตา ยืนยันชัดเจนว่านี่คือ โลตัส..ตลาด ที่จะเปิดทำการในเดือนธันวาคม
ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน 
ทุกอย่างถูกสรรสร้างราวกับเนรมิต..


วันที่ 9 ธันวาคม 2554 โลตัส..ตลาด สาขาด่านซ้ายเปิดเป็นทางการ ให้คนด่านซ้ายและอำเภอใกล้เคียงได้ใช้บริการ ตั้งแต่เช้าจนค่ำรถยนต์และผู้คนมากมายแวะเวียนเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้ากันไม่ขาดสาย  วันนี้น่าจะกวาดรายได้จากคนด่านซ้ายไปไม่น้อย.. 

ผมเลือกที่จะแวะเข้าไปชมกิจการในช่วงค่ำๆ เพราะคิดผู้คนคงจะซาลงไปบ้าง แต่ผิดคาดยิ่งใกล้หัวค่ำยิ่งดูคึกคัก กลายเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้คนได้มาพบเจอกันโดยไม่บังเอิญ  สิ่งแรกที่ได้สัมผัสคือบริเวณลานจอดรถซึ่งเป็นพื้นที่กว้างเพื่อรองรับรถของลูกค้าที่มาใช้บริการ รู้สึกได้ถึงความแข็งแรงของพื้นถนน คุณภาพการทำพื้นถนนของเอกชนกับรัฐบาลต่างกันลิบลับ..
ผู้คนมากมายสวัสดีทักทาย ด้วยรอยยิ้มสดใส เป็นความสุขของคนด่านซ้าย ที่ได้หอบลูกจูงหลานมาเดินเที่ยวชมเลือกซื้อสินค้า ในสถานที่ที่โอ่อ่า สะอาด เย็นสบาย..

การจัดวางสินค้าด้านใน ยังคงเป็นภาพที่คุ้นเคย หากใครเคยไปเดินโลตัสสาขาไหนๆ ว่ากันว่าหลับตาเดินก็ไปได้ถูก เพียงแต่ว่าสาขาที่ด่านซ้ายมีขนาดที่ลดส่วนลงมาเท่านั้นเอง..
สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าบริโภค คงสมกับที่ใช้ชื่อว่าโลตัส..ตลาด  ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด ผลไม้ เครื่องดื่ม เบเกอรี่ มีให้เลือกมากมาย และขายกันตั้งแต่ 6.00 น. ถึง 22.00 น. 
เดิมทีผมคิดว่าสาขานี้จะมีร้านหนังสือ แต่ผิดคาดมีเพียงร้านกิ๊ฟช๊อฟ ร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือขายและอุปกรณ์ ร้านจำหน่าย/เช่าวิซีดี ดีวีดี และร้านขายยาที่กำลังอยู่ในระหว่างตกแต่งร้าน พื้นที่ด้านในก็ไม่ได้กว้างมากเหมือนที่คิด  ที่น่าสนใจดูจะเป็นอาหารสดที่ล้วนคัดสรรมาให้เลือกมากมาย ทั้งอาหารทะเลที่สดใหม่ ขนมปัง เบเกอรี่ที่แค่ได้กลิ่นมาแตะสัมผัสโสตประสาทก็รู้สึกว่าน่าจะอร่อย

พนักงานบริการสวมใส่ชุดยูนิฟอร์มสีเขียว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโลตัส ท่าทางทะมัดทะแมง คล่องแคล่ว ว่องไว ไม่ใช่คนอื่นคนไกลส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานคนด่านซ้าย ที่ทางโลตัสรับสมัครเข้าทำงาน ผมได้ข่าวว่าก่อนหน้านี้ทางโลตัสมีการอบรมเตรียมความพร้อมพนักงานกันอย่างเข้มข้น..

ในระหว่างที่รอจ่ายเงิน ผมสนใจในวิธีการบริหารจัดการโดยเฉพาะวันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้บริการ มีคนมาจับจ่ายซื้อสินค้าจำนวนมาก ซึ่งน่าจะต้องมีการดูแลกันเป็นพิเศษ 

ที่บริเวณห้องทำงานของผู้จัดการ มีคนที่กำลังง่วนอยู่กับการทำงาน 4-5 คน และยังมีคนมาเดินตรวจดูตรงบริเวณที่เก็บเงิน มีบางช่วงที่เงินทอนไม่พอก็จะนำเงินมาแลกให้ หรือช่วยแก้ปัญหากรณีสินค้ามีปัญหาในการคิดราคา หรือติดขัดในการเก็บเงิน 

ผมรู้สึกว่าเขาเตรียมคนมาดีนะครับ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็พร้อมเหมือนๆกับทุกสาขา ทำให้การเข้ามาใช้บริการก็ไม่มีอะไรติดขัด สบายๆ ดูไม่เหมือนว่าเป็นวันแรกที่คิดว่าน่าจะมีอะไรติดๆขัดๆบ้าง แต่มืออาชีพระดับนี้แล้ว การจัดการต้องดีทีเดียว..

นับต่อจากนี้..
ชีวิตคนด่านซ้าย เมืองในหุบเขาที่มีประชากรราวห้าหมื่นคน คงมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ความเป็นเมืองเล็กๆ ที่ขึ้นชื่อว่ามีความเข้มแข็งในวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตและเป็นเมืองน่าอยู่ ณ วันนี้มีความสะดวกสบายรูปแบบใหม่ที่เข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าเมืองด่านซ้ายนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต..

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิ่งทดสอบสมรรถภาพ 2.4 กม.

ในทุกปี ครอบครัวโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายจะมีการทดสอบสมรรถภาพ ด้วยการวิ่ง 2.4 กม. ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่จะวัดผลจากการออกกำลังกายในทุกวันพุธ ด้วยการเดิน-วิ่ง สะสม 10,000 กม. ปีที่ 2
7 ธันวาคม 2554 ทีมงานกรรมการกีฬาเตรียมพร้อมกันตั้งแต่บ่ายสองกว่า ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกันเรื่องการวางจุดปล่อยตัว การสื่อสาร อุปกรณ์ที่จะต้องใช้ เครื่องดื่ม อาหารว่าง ฯลฯ
หลังจากที่ชาว รพร.ด่านซ้าย มาพร้อมกันที่บริเวณหน้า OPD มีการชี้แจงพูดคุยกติกา ระเบียบต่างๆที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนที่จะออกไปวิ่ง บรรยากาศค่อนข้างคึกคัก หลายคนเตรียมพร้อมวอร์มร่างกายเป็นระยะ บางคนลงทุนเปลี่ยนชุดใหม่ที่ทะมัดทะแมงกว่าชุดวอร์ม..

การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เป็นการแข่งขันกับสังขารตัวเองครับ เพราะไม่ต้องวิ่งแข่งกับใครมีแค่เวลา เพศ และอายุเท่านั้นที่เป็นตัวแปร โดยระดับของสมรรถนะจะแยกกันระหว่างผู้ชาย และผู้หญิง ในแต่ละกลุ่มอายุก็จะมีช่วงของเวลาที่บอกถึงสมรรถนะร่างกายที่วิ่งทำเวลาได้ในระยะทาง 2.4 กม. โดยแบ่งออกเป็น ดีเยี่ยม,ดีมาก ,ดี,ปานกลาง และแย่..  ซึ่งในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทุกคนทุกเพศจะต้องวิ่งระยะ 2.4 กม. ให้ได้ไม่เกิน 20 นาที.. ส่วนใครที่ทำเวลาได้ดีจะดีเยี่ยม ,ดีมาก,หรือดี ก็มีรางวัลมอบเป็นเงินสด 500 บาท สำหรับผู้ที่วิ่งได้ในเกณฑ์ดีเยี่ยม และคนที่อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นไปมีสิทธิได้เลือกเก้าอี้สำนักงานคุณภาพดีเป็นของติดไม้ติดมือกลับบ้าน..
การวิ่งทดสอบสมรรถภาพ สำหรับครอบครัวชาวโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ย ไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดให้มีการวิ่ง จับเวลา เพื่อประเมินสมรรถนะร่างกายเท่านั้น แต่ยังแฝงในเรื่องของการจัดการหลายอย่าง การทำงานเป็นทีมของกรรมการกีฬาที่ดีงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ มาทำงานร่วมกันได้อย่างดี  หรือแม้กระทั่งรูปแบบการจัดวิ่งที่ทำให้ดูตื่นเต้น ยิ่งใหญ่ มีการใช้เทคโนโลยีแสดงนาฬิกาจับเวลาเพื่อให้นักวิ่งได้ตรวจสอบว่าต้องวิ่งด้วยสปีดความเร็วมากน้อยแค่ไหน  




ความสนุกสนานจากลีลาของโฆษกฝีปากดีอย่างพี่เปิ้ล หัวหน้างานผู้ป่วยนอก สร้างบรรยากาศให้สนุกสนานมากขึ้น
หลังจากวิ่งเสร็จทีมงานมีการจัดเตรียมผลไม้ และน้ำดื่มแก้กระหาย งานนี้จัดเต็ม จัดหนัก มีทั้งน้ำเปล่า น้ำตะไคร้ น้ำใบเตย ให้เลือกดื่มกันได้ตามใจชอบ ...พร้อมกับส้มอีก 6 ลังใหญ่
เก้าอี้สำนักงานที่วางเรียงราย หลายคนแวะเวียนมาลองนั่ง หมายตามจับจองไว้ เพราะหากวิ่งทำเวลาได้ดีมีสิทธิ์ได้ลุ้นเก้าอี้ที่หมายปองไว้..


20 นาที เวลาดีสำหรับทุกคน
ระยะทาง 2.4 ก.ม. เป็นระยะทางที่มีความเหมาะสมซึ่งมีการศึกษาวิจัยกันมาแล้วว่า เหมาะสำหรับในการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ไม่มากและไม่น้อยเกินไป (http://www.thairunning.com/fitness_test.htm)

ทีมงานได้มีการจัดเตรียมนาฬิกาจับเวลาแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์ให้เห็นกันตัวชัดๆ เพื่อกระตุ้นให้นักวิ่งทุกคนที่วิ่งผ่านจะได้ดูเวลาการวิ่งของตัวเอง




หลังจากวิ่งเสร็จต้องมารายงานตัว พร้อมแจ้งเวลาของการวิ่ง เพื่อลงบันทึกและประเมินสมรรถนะร่างกายว่าอยู่ในระดับไหน  ใครที่ได้ตั้งแต่ระดับดี ขึ้นไปก็เตรียมลุ้นเลือกเก้าอี้กันได้ ส่วนใครที่ขั้นเทพวิ่งทำเวลาได้ระดับดีเยี่ยม ก็เตรียมตัวรับ 500 บาทได้เลย..




วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผู้หญิงคนนี้ชื่อ “ เอ๋ “

เอ๋ หญิงวัย 30 ต้นๆเป็นคนบ้านแก่ง ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ แต่มาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านช้าย ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันรวมๆแล้วก็ประมาณ 15 ปี เอ๋ทำงานในตำแหน่งของผู้ช่วยเหลือคนไข้แต่ก็ทำงานในตำแหน่งของชาวสวนด้วยในเวลาเดียวกัน เอ๋ เติบโตมาในครอบครัวเกษตรมีชีวิตแบบพออยู่พอกิน เอ๋เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตที่พอเพียง เพราะตั้งแต่ที่พบเอ๋ครั้งแรกเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้เอ๋ยังเจียดเวลาเสาร์-อาทิตย์ไปเรียนต่ออนุปริญญาที่จังหวัดเลยเป็นเวลาถึง 2 ปีและในปัจจุบัน เอ๋ ก็ยังขอหยุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมเพื่อไปสอบมสธ.ในระดับปริญญาตรี สมกับคำว่าไม่มีใครแก่เกินเรียนจริงๆ ในเรื่องการทำงาน เอ๋ เป็นคนขยันมาก เรียนรู้หาวิธีใหม่ๆเพื่อพัฒนางานอยู่เสมอโดยเฉพาะงานที่ได้รับมอบหมายเช่นการที่จะต้องให้คนไข้ทิ้งผ้าให้ถูกประเภท เอ๋ก็จะหาวิธีประสานกับหน่วยงานชักฟอกเพื่อตรวจสอบความเข้าใจให้ถูกต้อง ตรงกันโดยเอ๋เป็นคนที่สนุกกับการทำงาน และอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงความเป็นเอ๋คือ เอ๋เป็นนักกีฬาของโรงพยาบาลที่จะหาคนเทียบชั้นยากโดยเฉพาะกีฬาวอลเล่ย์บอลที่เป็นแชมป์กีฬายุพราชไม่รู้กี่สมัยแต่ตอนนี้ เอ๋ บอกว่าแก่แล้วให้เด็กรุ่นใหม่เล่นเถอะ

ในเรื่องครอบครัวเอ๋แต่งงานกับสมัคร สุวรรณชาติ ชายหนุ่มขี้อายที่อยู่บ้านตรงข้ามกัน(ความจริงก็คือเพื่อนร่วมรุ่นของทั้งสมัครและเอ๋ต่างก็แต่งงานกันหมดแล้ว ก็เลยว่าเหลือเราสองคนสุดท้าย มาแต่งงานกันเถอะ) ปัจจุบันสมัครก็เป็นทั้งชาวสวนและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยทั้งสองมีพยานรักด้วยกัน 1 คนคือ น้องออม (เด็กหญิงธนวรรณ สุวรรณชาติ)

ทุกครั้งที่เอ๋ว่างเว้นจากงานประจำที่โรงพยาบาล เอ๋จะวางแผนการกลับบ้านว่าวันนี้จะกลับไปทำอะไรบ้าง บ้างก็บอกว่าจะไปใส่ปุ๋ย ไปถางหญ้า ไปตัดแต่งกิ่งผลไม้ต่างๆแต่ไม่มีเลยที่จะได้ยินว่าจะกลับบ้านไปนอนเล่นหรือไปเที่ยวไกลๆ เอ๋เป็นคนขยันและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นในเรื่องการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เพราะเอ๋จะไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสังเกตจากการกินอาหารเอ๋จะเป็นคนที่กินเพื่ออยู่ไม่ต้องราคาแพง กินอะไรง่ายๆเท่าที่มี ส่วนเรื่องเสื้อผ้ายิ่งไม่ต้องกล่าวมากมายเพราะถึงแม้จะเป็นผู้หญิงอยากแต่งตัวสวยอย่างไร เอ๋ก็ใส่เพียงชุดกีฬาและไม่เคยรังเกียจชุดของผู้อื่นที่หยิบยื่นให้ น้อยครั้งที่จะซื้อเสื้อผ้าใส่ไปตามงานโอกาสต่างๆเพื่อความเหมาะสม





ถึงแม้เอ๋จะไม่ได้ใช้ชีวิตฟู่ฟ่าเหมือนกับคนอื่นๆแต่เอ๋ก็มีความสุขกับชีวิตที่พอเพียง เอ๋มีสวนผัก และสวนผลไม้ที่มีไว้กินตลอดปีโดยแทบไม่ต้องซื้อ ทั้งยังพอมีเหลือไว้ขาย(เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแทบจะไม่มีไครที่ไม่เคยกินผลไม้จากสวนของเอ๋) ปัจจุบันเอ๋ซื้อรถกระบะ 1 คันไว้ใช้ในครอบครัวและใช้ในการเกษตรโดยส่งงวดรถเป็นรายปีโดยไม่ลำบากเพราะวางแผนเก็บเงินเป็นอย่างดี นอกจากนี้เอ๋ยังสอนให้ลูกใช้ชีวิตแบบพอเพียง ครั้งหนึ่งต้องไปส่งงวดรถที่ในเมือง จึงพาลูกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าด้วย หลังจ่ายค่างวดรถเหลือเงินติดกระเป๋าประมาณ 300 บาท ลูกอยากได้รองเท้าโดยลูกหยิบรองเท้าในราคา 119 บาทมา เอ๋จึงสอนลูกแล้วพาลูกไปเลือกรองเท้าใหม่ ลูกจึงหยิบรองเท้าอีกคู่หนึ่งมาในราคา 79 บาทซึ่งก็สวยและประหยัดใช้ได้เหมือนๆกัน หากเด็กไทยทุกคนถูกปลูกฝังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้แบบนี้ สังคมก็คงสงบไม่ต้องแก่งแย่ง แข่งขัน และมีชีวิตแบบเรียบง่ายตามรอยพ่อหลวงของเรา และนี่คือแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อว่าเอ๋ รักษ์ตรา สุวรรณชาติ ผู้ช่วยเหลือคนไข้หอผู้ป่วยใน 1 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย



วิมลมาศ พงษ์อำนวยกฤต 
 หัวหน้างานหอผู้ป่วยใน 1

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เมื่อเด็กไทย “ท้องในวัยเรียน” สังคมไทย จะเป็นเช่นไร !!!


๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓


สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ได้ทวีความรุนแรงสูงมากขึ้นเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการมีทัศนคติและพฤติกรรมเบี่ยงเบน เหินห่างศาสนามีค่านิยมแบบบริโภคนิยมอย่างฟุ่มเฟือย การทะเลาะวิวาท ติดยาเสพติด การเสพสื่อลามกอนาจาร ติดเกม ฯลฯ ซึ่งปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และขาดความรู้ความเข้าใจในการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่มีแนวโน้มรุนแรงและหนักหน่วงจนน่าตกใจ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของสื่อที่ไม่เหมาะสมหรือลามกอนาจารผ่านทางสื่อแต่ละประเภท จนทำให้เด็กและเยาวชนไทยซึ่งขาดภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ มีการเลียนแบบพฤติกรรมและนำไปสู่ปัญหาดังกล่าว

ปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่ง มาจากความไม่สมดุลของครอบครัว เนื่องจากครอบครัวจำนวนไม่น้อย ขาดความรู้ความเข้าใจ เรื่องเพศศึกษา จึงไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับบุตรหลานได้อย่างเหมาะสม สำหรับบางครอบครัวได้ผลักภาระหน้าที่การให้ความรู้ด้านเพศศึกษาไปให้แก่ครู อาจารย์ หรือผู้อื่นสอนแทน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีทัศนคติว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอับอาย ต้องปกปิดไม่สมควรพูดอย่างเปิดเผย หรือเข้าใจว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาให้แก่ลูกหลานในครอบครัวอาจเป็นดาบสองคม นอกจากนั้น การไม่มีเวลาดูแลพูดคุยให้คำแนะนำปรึกษากับลูกหลาน เพราะห่วงเรื่องเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพเป็นหลัก

(งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การให้ความรู้หรือคำแนะนำที่ถูกต้องเรื่องเพศศึกษานั้น ผู้ปกครองในครอบครัวสามารถให้ความรู้กับลูกหลานได้ใกล้ชิดกว่าคนอื่น และเด็กจะเชื่อฟังมากกว่า

เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรหรือยังไม่พร้อมนั้น ปัญหาในส่วนอื่นๆ ย่อมตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเสียอนาคตที่ดีในชีวิตของทั้งฝ่ายชายและหญิง ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาการทำแท้ง การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเลี้ยงลูกที่ไม่ถูกวิธีเพราะตัวพ่อแม่เด็กเอง ไม่มีวุฒิภาวะในการอบรมเลี้ยงดู การทอดทิ้งลูกให้เป็นลูกกำพร้า ซึ่งเด็กที่ถูกทอดทิ้งเหล่านั้น ล้วนมีความเปราะบางทางสภาพติดใจ และอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมที่ไม่สามารถคลายปมให้หลุดได้

"จากผลการศึกษาสถิติด้านสาธารณสุขพบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๕๒ วัยรุ่นมีการตั้งครรภ์ก่อนวัย เพิ่มขึ้นจาก ๑๐% มาเป็น ๔๐% และจากการสำรวจ ในช่วง ๗ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๕๐ พบว่า ช่วงอายุการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร มีแนวโน้มลดลงด้วย โดยพบว่าเด็กอายุ ๑๐ ปี มีการตั้งครรภ์สูงถึง ๖๐ คน และเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี คลอดบุตรจำนวน ๕๕,๖๔๘ คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำรวจเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น"

การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเด็กและเยาวชน ถือเป็นปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องหนักใจของทั้งคุณพ่อคุณแม่ของเด็ก และรวมถึงตัวเด็กเอง เพราะโดยปกติแล้ว "เด็กวัยรุ่นในช่วงอายุ ๑๐-๒๐ ปี ยังไม่พร้อมต่อการเป็นพ่อแม่คน ทั้งทางด้านเสถียรภาพทางการเงิน และวุฒิภาวะทางอารมณ์ ตลอดจนการดูแลรับผิดชอบหรือการอบรมเลี้ยงดู" ซึ่งนักวิชาการด้านสาธารณสุขและนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นหลายท่าน ได้นำเสนอวิธีการป้องกันไม่ให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ดังนี้

๑.การให้ความรู้ กล่าวคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษากับลูกอย่าถือเป็นเรื่องน่าอายและปกปิดไว้ ลูกอาจเรียนรู้ในห้องเรียนมาบ้าง แต่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ใกล้ชิด และเข้าใจลูกมากกว่า จึงทำให้การสอน การพูดคุย ตลอดจนให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งวิธีการเริ่มต้นที่ดีและง่ายที่สุด คือ "คุณพ่อคุณแม่ควรหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม ชักชวนลูกพูดคุยหรือเปิดประเด็นสนทนาโดยการสอบถามลูกว่าทราบเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากน้อยขนาดไหน" เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและรู้ว่าลูกมีความเข้าใจอยู่ในขั้นไหนแล้วก็ให้เสริมความรู้ต่อจากที่ลูกมี บอกลูกถึงข้อพึงระวังตัว การแต่งกายและการวางตัวให้เหมาะสมกับเพศตรงข้าม รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกาย สภาพจิตใจอันเป็นผลจากฮอร์โมนเพศและความต้องการทางเพศของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องน่าละอาย และยากต่อการพูดคุย แต่คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกในเรื่องนี้โดยพยายามทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา ค่อยๆ พูดทีละเล็กทีละน้อย เพราะจะช่วยให้ลูกเกิดความเข้าใจ เชื่อและยอมรับได้มากกว่าการอธิบายทุกอย่างในครั้งเดียว อีกทั้งยังทำให้ลูกรู้สึกชินว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ อีกทั้งไม่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจอีกด้วย

๒.การคุมกำเนิด

วิธีการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีมากมายหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ "อาจหาจังหวะเวลาหรือโอกาสที่เหมาะสมให้ลูก ได้มีโอกาสสอบถามพูดคุยกับหมอหรือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องเพศศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจถึงลักษณะที่แตกต่างกันของการคุมกำเนิดในแต่ละวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด หรือการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ฯลฯ"

๓.การจัดกฎระเบียบหรือกติกาภายในครอบครัว

"การดูแลให้มีผู้ใหญ่อยู่ด้วยในเวลาที่มีการจัดงานเลี้ยงภายในบ้านหรือสถานที่ต่างๆ หรือการสร้างกฎกติกาให้ลูกโทรศัพท์กลับมาหาทุกครึ่งชั่วโมง หรือในวันเรียนหนังสือไม่อนุญาต ให้กลับบ้านเกิน ๓ ทุ่ม" เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แม้ลูกซึ่งเป็นวัยรุ่นอาจคิดว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของเขา แต่เป็นวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ได้อีกทางหนึ่ง

หลานห่างไกลจาก เป็นที่เข้าใจกันดีว่า "วัยรุ่นเป็นวัยที่เข้าใจยาก คึกคะนอง อยากลองผิดลองถูก ชอบแสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการอิสรเสรีในการดำเนินชีวิต และมีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกหรือบุคคลในครอบครัว การประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน การแสดงความรักความเข้าใจ ห่วงหาอาทร หรือการสร้างความอบอุ่นระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว สิ่งเหล่านี้คือ ภูมิต้านทานที่สร้างได้ภายในครอบครัว และสามารถช่วยให้ลูกปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี"

สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในส่วนของภาครัฐ ชั่วโมงนี้คงไม่ใช่ภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงเท่านั้น ล่าสุด นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเด็กในทุกมิติ ซึ่งในการเปิดเวที สิทธิเด็ก ครั้งที่ ๒๐ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ได้กำหนดนโยบายด้านเด็กหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา การดูแลเด็กปฐมวัย และเด็กด้อยโอกาส ให้ได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน สำหรับปัญหาเด็กเยาวชนท้องก่อนวัยอันควร ถือเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำงานเชิงบูรณาการความร่วมมือจัดเวทีเสวนาเรื่อง รักใสๆ ให้ปลอดภัยของวัยโจ๋ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและร่วมกันหาแนวทางป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น อีกทั้งเป็นการสร้างกระแสให้สังคมได้ตระหนักในปัญหาดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นข้อเสนอที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็นเหล่านั้น จะนำไปพัฒนาเพื่อ เป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

กล่าวโดยสรุป "การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเด็กและเยาวชน ต้องเริ่มจากตัวเด็กเองที่ต้องพยายามขัดเกลาตัวเองให้มีวุฒิภาวะที่เหมาะสมตามช่วงวัย รู้จักการยับยั้งชั่งใจและมีสติในการดำเนินชีวิต พ่อแม่บุคคลในครอบครัว หรือสังคมแวดล้อมต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและบ่มเพาะวุฒิภาวะให้แก่เด็กและเยาวชน" ในส่วนของภาครัฐ ต้องมีความจริงจังในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสื่อลามกหรือสื่อที่ล่อแหลม ไม่เหมาะสมที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อประเภทต่างๆ รวมถึงสถานที่ล่อแหลมทางเพศ หรือสิ่งยั่วยุพฤติกรรมทางเพศ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องปราบปรามจับกุมและลงโทษผู้กระทำความผิดโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเร่งขยายหรือเปิดพื้นที่สื่อดีให้กว้างขวางและแพร่หลายในสังคมไทยอีกทั้งเร่งปรับปรุงพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยกับสถานการณ์ปัญหาเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชน เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทย ต่อไป


บทความจาก http://www.oknation.net/blog/jessada5577/2010/06/17/entry-5

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ครอบครัวตัวอย่าง (ครอบครัว เบญจวรรณ ผิวเหลือง)


พี่จุ๋ม แม่จุ๋ม หรือ เบญจวรรณ ผิวเหลือง ข้าราชการ ตำแหน่งเจ้าพนักงาน เภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย พี่จุ๋ม อารมณ์ดี และมีความสุขถึงแม้หลังเลิกงาน พี่จุ๋ม อยู่บ้านคนเดียวเนื่องจากสามี หรือ จ่าสิบเอก บัณฑิต และน้องบู๊ช ลูกชายคนโต เป็นทหารพรานประจำการอยู่ที่ จ.เลย ส่วน น้องโบส วรพจน์ กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียน มหาไถ่ศึกษา จ.เลย เช่นกัน แต่ พี่จุ๋ม บอกว่า สบายดี มีหมาเป็นเพื่อนตั้ง ๒ ตัว อิอิ

ปีนี้ (๒๕๕๔) ครอบครัวของ พี่จุ๋ม ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “ครอบครัวตัวอย่าง” จาก กรรมการพัฒนาบุคลากร HRD โดยมีครอบครัวของ พี่ตุ้ม ตำแหน่ง พนักผู้ช่วยเหลือคนไข้ งานห้องคลอด ที่ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน

พี่บัณฑิต และ พี่จุ๋ม พบกันที่โรงพยาบาลด่านซ้าย ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ พี่บัณฑิต มาประจำการที่ด่านซ้ายและเนื่องจากผู้บังคับบัญชาได้รับบาดเจ็บจากการออกปฏิบัติงาน พี่บัณฑิต ดูแลรับส่งหัวหน้าเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆและต้องไปรับยาที่ห้องจ่ายยาทำให้ทั้งสองได้พบเจอกันและพูดคุยทำความรู้จักกันมากขึ้น ชวนไปทานข้าวบ้างในบางโอกาส

หลังจากพุดคุยไปได้ระยะหนึ่ง พี่บัณฑิต พาหัวหน้ามาดูตัว พี่จุ๋ม โดยที่ พี่จุ๋ม ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน และบอกหัวหน้าว่า พี่จุ๋ม คือ “คนที่ใช่” โดยที่พี่บัณฑิตได้ไปสู่ขอ พี่จุ๋ม ถึง ๓ ครั้ง ก่อนที่จะแต่งงานกัน

พี่บัณฑิต บอกว่า พี่จุ๋ม เป็นคนพูดจาไม่เพราะ โผงผาง แต่จริงใจ โดยที่ พี่จุ่ม พูดถึงว่าพี่บัณฑิต เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายไม่เคยนำเรื่องหนักใจเข้ามาสร้างปัญหาให้ครอบครัว

พี่จุ๋ม พูดถึงลูกชายด้วยความภาคภูมิใจว่า ไม่เสียใจที่มีลูกชายถึง ๒ คน เพราะเขาทำทุกอย่างให้ได้เหมือนลูกสาว หุงข้าว ซักผ้า ล้างจาน ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่กลับมาบ้าน และไม่เคยทำเรื่องร้อนใจมาให้พ่อกับแม่เลย

พี่บัณฑิต บอกว่าไม่รู้ว่าความสุขที่จะหาได้จากที่ไหนคงไม่มีแล้วนอกจากที่นี่

ลูกชายทั้งสองคนของ พี่จุ๋ม บอกว่า ขอบคุณและดีใจมากที่ได้เกิดมาในครอบครัวนี้


ครอบครัวที่อบอุ่น มีความรัก ความห่วงใย และ พร้อมที่จะเดินไปในเส้นทางที่สมบูรณ์แบบ

และครอบครัวนี้ คงเป็นครอบครัวที่น่ารักสำหรับคนทั่วไปที่พบเห็น “ครอบครัวผิวเหลือง”


วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อัษฎางค์ อัครสูรย์


ความภาคภูมิใจและความประทับใจ

ตั้งแต่เปิดโรงงานทำขาเทียมพระราชทานมาเป็นเวลา 4 ปีกว่า ผมได้ทำขาเทียมให้กับคนพิการขาขาดมาแล้วประมาณ 200 กว่าขา มีทั้งขาดระดับใต้เข่าและขาดเหนือเข่า ให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมมีความภาคภูมิใจที่ได้มาอยู่ตรงนี้ ผมผ่านงานด้านอื่นๆ มาแทบทุกอย่างในโรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่ แต่ไม่เท่ากับการที่มาอยู่ทางด้านการบริการคนพิการขาขาดและพิการอย่างอื่น ซึ่งเขาเหล่านั้นอาจดำรงชีวิตอยู่อย่างลำบากหรือเป็นภาระของครอบครัว

การบริการทำขาเทียมมีอยู่หลายที่ในประเทศ ซึ่งทางมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เปิดศูนย์โรงงานทำขาเทียมไว้ทั่วประเทศ โรงพยาบาลผมก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ให้บริการทำจาเทียมพระราชทานแบบเดียวกัน บริการฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการดำเนินงานโรงงานทำขาเทียมก็ทำขาเทียมแบบเดียวกันโรงงานทำขาเทียมอื่นๆ ที่ทำด้วยหุ่นทราบของทางมูลนิธิขาเทียมได้คิดค้นขึ้นมาที่ใช้เป็นแบบอย่างในปัจจุบัน การทำขาเทียมเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดวางแผนขั้นตอนต่างๆ มากมายมีทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัวและต้องฝึกฝนและรับข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนพิการให้มากที่สุด งานทำขาเทียมเป็นงานค่อนข้างเหนื่อย ท้อไม่ได้ เพราะวัสดุอุปกรณ์บางอย่างราคาค่อนข้างแพง อีกทั้งยังคอยประสานงานกับทางมูลนิธิขาเทียมอยู่ตลอดเวลาในการผลิตทั้งข้อมูลและเทคนิคพัฒนาต่างๆ ที่คิดค้นมาใหม่ๆ ให้เป็นปัจจุบันมากที่สุดรวมถึงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานตามสถานที่ต่างๆ

ในเรื่องการบริการก็จะมีบริการทำขาเทียมในโรงพยาบาลโดยมีแพทย์ กายภาพ และช่างทำขาเทียม กำกับตามแผนงานดำเนินการ อีกทั้งเข้าร่วมออกหน่วยทำขาเทียมกับมูลนิธิขาเทียมเป็นคณะ ก็จะมีอาจารย์แพทย์และคณะแพทย์ที่มีจิตาสาเข้าร่วมเป็นประจำรวมทั้งช่างกายอุปกรณ์ที่อยู่ตามโรงพยาบาลสถานที่ต่างๆ ในประเทศ ส่วนผมอยู่ในช่างทำขาเทียมประจำโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับทางมูลนิธิขาเทียม เอาเป็นว่าไปไหนไปด้วยกัน บรรยากาศในการออกหน่วยทุกท่านจะร่วมมือกันอย่างไม่ย่อท้อช่วยเหลือกันตลอด คนพิการที่ทำทำขาเทียมค่อนข้างเยอะทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลาตลอด เพื่อให้เสร็จทันกำหนดวันพระราชทานขาเทียม ผมเห็นทุกคนเหนื่อย ทำงานกันตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาพักแต่ก็ผ่านอุปสรรคไปได้ทุกครั้ง อีกอย่างก็เป็นพระบารมีองค์สมเด็จย่าที่คอยย้ำเตือนอยู่เสมองานทุกอย่างเลยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจเป็นที่สุด คือวันมอบขาเทียมพระราชทานไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานโรงพยาบาลหรือที่หน่วยทำขาเทียมพระราชทาน ผมแอบเห็นรอยยิ้มของคนพิการทุกๆ คน ที่รับขาเทียมพระราชทานและญาติมีความสุข และเสียงกล่าวขอบคุณมากตลอดเวลา


อัษฎางค์ อัครสูรย์
พนักงานทำขาเทียม
โรงงานทำขาเทียมพระราชทาน
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย

สุริยา เชื้อบุญมี





ความภาคภูมิใจและความประทับใจ

“ผมลองนั่งคิดดูเล่นๆ หากอยู่มาวันหนึ่งไม่แขนหรือขาผมหายไป ผมคงใจหายน่าดู แต่นั้นเป็นเพียงความคิดเล่นๆ ของผมเท่านั้น” แต่ใครจะรู้บ้างว่าความเป็นจริงมีอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตที่กำลังอยู่กับความเป็นจริง ความพิการแขนขาขาดต้องถือว่าเป็นคนโชคร้ายที่มีมีอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการดำรงชีวิต และการดำเนินชีวิตเป็นไปโดยราบรื่นเหมือนคนปกติ ไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาพที่แขนขาดขาขาดแต่เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผมคิดว่าถ้าเขามีขาชีวิตเขาคงจะดีกว่านี้ สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะช่วยเติมเต็มชีวิตในกลุ่มคนเหล่านี้ได้คือ “การทำขาเทียมที่ดีใส่และสบายไม่เจ็ดปวด และเดินให้ใกล้เตียงเหมือนคนปกติให้กับกลุ่มคนพิการขาดขาดได้ดำเนินชีวิตที่ดี ช่วยเหลือตนเองไม่เป็นที่พึ่งของญาติพี่น้องและสามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ และประเทศชาติก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้เพิ่มขึ้นแทนที่จะปล่อยให้เขาเป็นปัญหาของสังคมต่อไป”
ผมภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายที่สอนให้ผมรู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเสียสละ ทำให้ผู้พิการขาขาดกับมายิ้ม หัวเราะ ร่าเริง และใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป เท่านี้ผมก็มีความสุขแล้วครับ


สุริยา เชื้อบุญมี
พนักงานทำขาเทียม
โรงงานทำขาเทียมพระราชทาน
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย

ขาเทียม...ที่ด่านซ้าย


ขาเทียม... ด่านซ้าย

โดย นพ.ภักดี สืบนุการณ์

หลายคนอาจจะแปลกว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย “ทำขาเทียมให้ผู้ป่วยขาขาดด้วยหรือ”  คำตอบก็คือ ทำได้จริงๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ มากกว่า 200 ขาแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีด้านองค์ความรู้และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องจาก รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เริ่มต้นโครงการขาเทียม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ
  1. ทำขาเทียมให้ผู้พิการขาขาดที่ยากไร้ ด้อยโอกาส ด้วยวัสดุภายในประเทศ
  2. ทำขาเทียมให้โดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา
  3. ให้ผู้พิการขาขาดมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอาชีพ



ช่วงแรกอาจารย์เทอดชัยและมูลนิธิขาเทียมฯ ทำงานในพื้นที่ที่มีคนขาขาดมาก บริเวณชายแดนที่มีกับระเบิด แถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สระแก้ว รวมถึงการออกหน่วยทำขาเทียมเคลื่อนที่ทั่วประเทศ หลังจากการทำงานพื้นที่ชายแดนผ่านไปได้ระยะหนึ่งอาจารย์เทอดชัยมองหา “ต้นกล้า” ที่อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนเพื่อถ่ายทอดความรู้การทำขาเทียมให้กระจายตามพื้นที่ต่างๆ 40 แห่งทั่วประเทศ
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย คือ 1 ใน 5 โรงพยาบาลชุมชนรุ่นแรกที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนรู้การทำขาเทียมกับอาจารย์เทอดชัยที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการรับสมัครเจ้าหน้าที่ 2คนที่จะเข้าอบรมเพื่อเรียนรู้การทำขาเทียม นั่นคือคุณอัษฎางค์ อัครสูรย์ และ คุณสุริยา เชื้อบุญมี

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ 2 คนของด่านซ้ายได้รับจากอาจารย์เทอดชัยนั้นคือความรู้ที่อาจารย์เรียนรู้และสังเคราะห์มาทั้งชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย ชัดเจนและยั่งยืน โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นทั้งหมด เป็นเทคโนโลยีที่น่าภาคภูมิใจ ประหยัดได้ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 จากวิธีการทำขาเทียมแบบดั้งเดิม ต้นทุนราคาอันละ 1 พันกว่าบาทเท่านั้น


ขาเทียมด่านซ้าย ทำตอนเช้า ได้เที่ยง
วิธีการทำขาเทียมในประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นการทำวิธีเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว และมีข้อจำกัดที่น้ำหนักมาก ไม่กระชับ ใส่แล้วเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยต้องไปโรงพยาบาล 4-5ครั้ง ตั้งแต่การไปวัดขนาด รอคิว หล่อขา แต่งขา ไปรับขา และไปปรับแต่งขาให้เข้าที่เข้าทาง  ลองคิดดูถ้าชาวบ้านจากอำเภอด่านซ้ายต้องนั่งรถเข้าไปตัวจังหวัดเพื่อใส่ขาเทียมจำนวน 5 ครั้ง จะไปหรือไม่ทั้งๆ ที่ขาขาด เพราะลำพังคนปกติก็เหนื่อยแย่แล้ว  การไปโรงพยาบาลหลายครั้งทั้งๆ ที่ขาขาดทำให้คนที่ใส่ขาเทียมแบบเก่าทนเจ็บจากการใส่ขาเทียม ผลก็คือเอวจะเสีย สุขภาพจิตก็แย่ ช่วยเหลืองานบ้านก็ไม่ได้ ปัญหาคุณภาพชีวิตและครอบครัวก็จะตามมาอีก ดังนั้น กระบวนการทำเขาเทียมคือหัวใจสำคัญ  เริ่มทำตอนเช้าได้เที่ยง(ไม่รวมการแต่งให้สวยงาม)



ช่วงแรกของการทำเขาเทียมที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ด่านซ้าย”ทำขาเทียมได้ ที่สำคัญคือชาวบ้านจะได้ขา และก็ได้จริงๆ ถึงวันนี้ทำไปแล้วมากกว่า 200ขา ทำให้สามารถแบ่งเบาภาระการทำขาเทียมของโรงพยาบาลจังหวัดเลยได้ระดับหนึ่งทีเดียว


จิตอาสา “ทำขาเทียม”
สิ่งมหัศจรรย์ที่ตามมาจากโครงการขาเทียมก็คือ เจ้าหน้าที่ 2คนที่ทำขาเทียมสามารถนำวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจารย์เทอดชัยส่งมาให้ไปประยุกต์ทำอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุแต่ขาไม่ขาดอีกหลายชนิด เช่น รองเท้าผู้ป่วยเบาหวาน แผ่นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยข้อเท้าตก เฝือกอ่อนแก้ข้อเท้าผิดรูปในเด็ก อุปกรณ์เสริมช่วยผู้ป่วยอัมพาต




นอกจากนี้ เมื่ออาจารย์เทอดชัยมีออกหน่วยจิตอาสาจะนำเจ้าหน้าที่ 2 คนของด่านซ้ายไปด้วยซึ่งมีข้อดีคือเจ้าหน้าที่ได้ไปฟื้นฟูความรู้กับอาจารย์และเพิ่มประสบการณ์ทำขาเทียมตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึงไปต่างประเทศ 4ครั้งคือ แขวงจำปาสักประเทศลาว รัฐซาราวัค เกาะบอร์เนียว และเมือง ปีนังประเทศมาเลเซีย และล่าสุดไปกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
การเรียนรู้อย่างเข้าใจ ทำด้วยใจ และตั้งใจลงมือทำ คือความสำเร็จขาเทียม... ด่านซ้าย

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ครอบครับตัวอย่าง (ครอบครัว เนาวรัตน์ พรหมรักษา)




ผู้หญิงที่เดินมาพร้อมกับโชคชะตาที่ไม่ได้ลิขิต


เนาวรัตน์ พรหมรักษา หรือ ตุ้มเข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ เพราะ “ป้าแต๋ว” แม่ของตุ้ม ที่เป็นพนักงานของโรงพยาบาลเสียชีวิตภาระทุกอย่างจึงตกอยู่ที่ตุ้มและอีกอย่างหนึ่งคือ ป้าแต๋ว แม่ของตุ้มเป็นคนดีมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน แต่ต้องมาเสียชีวิตลงเมื่ออายุยังน้อย
จำได้ว่าเมื่อมาทำงานปีแรกๆ ป้าแต๋ว มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจากโรคเดิมที่เป็นคือ เบาหวาน ต้องปั๊มหัวใจกันที่ วอร์ด ๑ ในขณะที่ป้าแต๋วทำงาน แต่ก็สุดความสามารถที่จะเยียวยาและช่วยชีวิตไว้ได้ในศักยภาพของรพร.ด่านซ้ายในสมัยนั้นเมื่อ ๒๘ ปีก่อน ตุ้มไม่มีพ่อและแม่ แต่มีน้องๆที่ต้องดูแลอีกหลายคนนี่คือภาระอันใหญ่หลวงของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ตุ้มและน้องๆเติบโตมาท่ามกลางการอนุเคราะห์ดูแลของน้าและญาติพี่น้องที่ช่วยกันดูแลมาตามอัตภาพเท่าที่จะทำได้ น้องๆเริ่มโตบางคนมีงานทำ และบ้างก็มีครอบครัวไป ตุ้มก็ได้มีเวลาหันมาดูแลครอบครัวตัวเองมากขึ้น
ตุ้มมี ก้อง เป็นผู้มาเติมเต็มในชีวิตที่ขาดผู้นำของครอบครัวไปตั้งแต่ยังเด็ก ตุ้มและก้องมีโซ่ทองคล้องใจ ๑ คนคือน้อง ไนซ์ เด็กหญิง กัญญาพัชร พรหมรักษา น้องไนซ์เป็นตัวแทนของพ่อและแม่เพราะมีหน้าตาที่ถอดเค้ามาจากทั้งพ่อและแม่มีใบหน้าคมเข้ม สุขุม เกินวัยเด็ก คำว่า ลูก ทำให้ ก้อง ต้องเปลี่ยนไป มุมานะทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมาช่วยกันดูแลครอบครัว ลด ละ เลิก สิ่งไม่จำเป็นในชีวิตออกไป ก้องรับจ้างทำงานได้หลากหลายอาชีพเท่าที่จะมีผู้มาว่าจ้างเช่น ช่างไฟ ช่างปูน ช่างไม้ หรือทำนาข้าวของตนเองไว้กิน เป็นการทำนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ เพราะตุ้มเองก็ไปดำนาในวันหยุดหรือวันที่ขึ้นเวรบ่ายหรือดึก ตามความเหมาะสม

ตุ้มทำงานในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ในตำแหน่ง พนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ ได้ทุกหน้างาน ไม่ว่าจะเป็น หอผู้ป่วยใน ห้องคลอด ห้องผ่าตัด หรืองานอุบัติเหตุฉุกเฉิน ตุ้มเป็นผู้ มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับ สามารถเป็นครู ให้กับผู้ช่วยเหลือคนไข้น้องใหม่ เป็นพี่เลี้ยงให้กับพยาบาลจบใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะหยิบจับอะไรก่อนเมื่อเวลาตื่นเต้นมากๆ ตุ้ม เล่นกีฬาไม่เก่งแต่อาสามาเป็นแม่ครัวให้ในงานกีฬายุพราชประจำปี แถมมีฝีมือปลายจวัก ตำแจ่วดำใส่ขิง อร่อยๆมาให้กิน จนติดใจกันเป็นแถวๆ ครอบครัวของตุ้มดำเนินชีวิตมาแบบพอเพียง เลี้ยงดูลูกอันเป็นเสมือนแก้วตาดวงใจด้วยความอุตสาหะ จึงประคับประคองชีวิตมาได้ด้วยดี จนกระทั่งวันแม่แห่งชาติประจำปี ๒๕๕๔ ตุ้ม ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นแม่ตัวอย่างของโรงเรียนด่านซ้าย ซึ่งก็คงจะเป็น ยาหอมให้กับครอบครัว พรหมรักษาได้เป็นอย่างดี และเช่นกัน ในปี ๒๕๕๔ นี้คณะกรรมการพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย มีมติเป็นเอกฉันคัดเลือกตุ้มให้เป็นครอบครัวตัวอย่างใน กลุ่มลูกจ้าง นับเป็นรางวัลชีวิตแห่งปี และด้วยอานิสงส์แห่งความดีที่ได้เพียรพยายามมาคงจะช่วยให้เธอได้หล่อเลี้ยงครอบครัวที่อบอุ่นของเธอตลอดไป

เปรมศรี สาระทัศนานันท์ เรียบเรียง

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ก้าวย่างแห่งความหวัง


ชีวิตของคนแต่ละคน อาจจะมีความหวังหลายๆอย่างในชีวิต บางคนเลือกที่จะมีความสุขกับครอบครัวในบั้นปลายชีวิต บางคนเลือกที่จะรวยล้นฟ้า บางคนเลือกที่จะใช้ชีวิตที่สงบสุข บางคนเลือกที่จะมีรถสักคันบ้านสักหลัง แต่ลุงประจักษ์ความหวังของเขาคือการเดิน
ลุงประจักษ์ ผู้ป่วยอายุ ๖o ปี อยู่ที่บ้านนาเบี้ย ต.นาหอ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ภรรยา ลูกสาว 2 คน และหลานสาวอีก 1 คน อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ลุงประจักษ์เปรียบเสมือนเสาหลักของครอบครัว ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ลุงประจักษ์มอบภาระการดูแลเลี้ยงดูลูกให้แก่ภรรยาของแกเท่านั้น ส่วนเรื่องการทำมาหากินลุงรับผิดชอบเอง
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ลุงประจักษ์ต้องหันเหมาเป็นช่างไม้เนื่องจากอาชีพทำไร่ไม่พอกับการที่จะต้องเลี้ยงครอบครัว โดยตระเวนรับจ้างไปเรื่อย จนลูกเรียนจบปริญญาตรี และกลับมาอยู่ที่ด่านซ้ายอีกครั้งในปี ๒๕๔๗ โดยหันมาทำไร่ข้าวโพดพร้อมกับได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านในละแวกนั้นให้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ลุงประจักษ์ทำงานที่ได้รับมอบหมายและช่าวเหลือพี่น้องที่ได้รับปัญหาต่างๆจนเป็นที่รักของชาวบ้านในชุมชนเดียวกัน
และสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ขณะที่ลุงประจักษ์และเพื่อนบ้านขึ้นต้นผักสะทอนเพื่อนำไปประกอบอาหาร ความสูงของต้นสะทอน 5 เมตร ลุงประจักษ์ก้าวไปเหยียบกิ่งที่ผุ โดยส่วนหลังไปกระแทกกับกิ่งไม้ก่อนจะถึงพื้นดิน มารู้สึกตัวอีกทีหน้าก็คว่ำลงกับพื้นแล้ว ลุงประจักษ์มีสติอยู่ตลอดจนสัมผัสได้ว่าตั้งแต่เอวลงไปจนถึงขาไม่มีความรู้สึกใดๆทั้งสิ้น เพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์และครอบครัวต่างช่วยกันพาลุงประจักษ์ส่งมาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย โดยใช้ไม้กระดานยึดตัวลุงไว้เพราะเข้าใจว่าหลังและขาหัก ทางโรงพยาบาล X-RAY พบว่ากระดูกสันหลังระดับอก มีการแตก จึงนำส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลเลย
ลุงประจักษ์ได้รับการผ่าตัดในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ หลังจากหมดฤทธิ์ยาสลบ ลุงประจักษ์ตื่นขึ้นมาพบว่า กล้ามเนื้อแขนขาทั้งสองข้างไม่มีความรู้สึก ลุงประจักษ์ทำกายภาพอยู่ที่โรงพยาบาลเลยอยู่พักใหญ่โดยที่มีเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว ผลัดเปลี่ยนกันมาให้กำลังใจ จากที่เคยคิดว่าตัวเองต้องเป็นภาระให้ครอบครัว กลัวว่าจะกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้ กลับมีความหวังขึ้นมาโดยที่ไม่ได้แสดงถึงความเจ็บปวดใดๆให้ใครเห็นเลย ทั้งทั้งที่ใจยังคงกังวลอยู่
ลุงประจักษ์กลับมาอยู่ที่บ้านหลังจากทำการรักษาที่โรงพยาบาลเลย เกือบสองเดือน โดยนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวไม่ได้ขยับไปไหนและมีความกังวลกับแผลผ่าตัดที่ยังไม่หายสนิทดี ทีมเยี่ยมบ้านโรงพยาบาลด่านซ้ายแนะนำให้ลุงประจักษ์ไปรับการรักษาต่อที่แผนกกายภาพบำบัดของโรงพยาบาล
วันแรกของการมารับการรักษาที่โรงพยาบาล ลุงประจักษ์ได้เรียนรู้การเคลื่อนย้ายตัวเองบนที่นอน และการใช้กล้ามเนื้อพลิกตะแคงตัว ลุงประจักษ์เริ่มมีกำลังใจที่จะทำกิจกรรมอื่นๆต่อไป และรับการรักษาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
ปัจจุบัน ลุงประจักษ์สามารถเคลื่อนย้ายและลุกนั่งได้บนเตียงและยังสามารถช่วยตัวเองไปที่รถเข็นนั่งได้อีกในระดับหนึ่ง ทั้งยังอาบน้ำโดยที่ไม่ต้องให้ลูกหลานหรือภรรยาดูแลเหมือนเมื่อก่อน ลุงประจักษ์ยังมีความหวังว่าจะกลับมาเดินได้เหมือนเมื่อก่อน ทั้งที่คุณหมอบอกว่า นั่งรถเข็นได้นี่แหละสามารถแล้ว
ลุงประจักษ์และยังหวังที่จะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้โดยมีกำลังใจจากครอบครัว เพื่อนบ้านที่มาคอยให้กำลังใจและรอยยิ้มนี่เองที่ทำให้ลุงประจักษ์กลับมาลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง
ความจริงและความหวังอาจจะจะแตกต่างกันมากก็ตาม แต่ถ้าเรามีเป้าหมายในชีวิต ถึงแม้สภาพความเป็นจริงจะต่างกันเพียงใด หากมีความพยายาม ความหวัง และกำลังใจสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้อาจจะอยู่ไม่ไกลเลย

นางสาว ทิชากร บรรจถรณ์

นักศึกษากายภาพบำบัด ชั้นปีที่ ๔

มหาวิทยาลัยขอนแก่น



วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติและผลงานของ นาง เปรมศรี สาระทัศนานันท์

..........................................................................................
1. ชื่อ นาง เปรมศรี ชื่อสกุล สาระทัศนานันท์ ชื่อสกุลเดิม (จันทศร) เชื้อชาติ ไทย สัญชาติ ไทย
2. วัน เดือน ปี เกิด วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2501 อายุ 53 ปี
3. บัตรสมาชิกสภาการพยาบาล เลขที่ อ.1/9743 / วันที่ออกบัตร 24 ธันวาคม 2550
วันที่หมดอายุ 23 ธันวาคม 2555
4. ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ □การพยาบาล □การผดุงครรภ์ □การพยาบาลและการผดุงครรภ์
ชั้น 1 เลขที่ 4511033616วันที่ออกใบอนุญาต 24 ธันวาคม 2550
วันที่ใบอนุญาตหมดอายุ 23 ธันวาคม 2555
5. ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 316 หมู่ 1 ถนน -ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
รหัสไปรษณีย์ 42120 โทรศัพท์ 0-4289-1206 โทรศัพท์มือถือ 08-9843-4440
e-mail premsri01@ hotmail.com
6. การศึกษาและสถาบันที่สำเร็จ
6.1 วุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตร
- ประกาศนียบัตร การอบรมหลักสูตรวิสัญญีพยาบาล จาก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2531
- วุฒิบัตรการอบรมหลักสูตรเฉพาะทางการบริหารการพยาบาล หลักสูตร 3 เดือน จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2546
6.2 วุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญา
- อนุปริญญา การพยาบาลและอนามัยจาก วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย เมื่อ พ.ศ.2523
6.3 วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี
- ปริญญา พยาบาลศาสตร์บัณฑิต จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
7 เกียรติประวัติการปฏิบัติงาน (เช่น รางวัล วุฒิบัตรชมเชยที่ได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯลฯ)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- วันที่ 5 ธันวาคม 2550 ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา(ร.จ.พ.)
- วันที่ 5 ธันวาคม 2545ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- วันที่ 5 ธันวาคม 2543ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย(ท.ม.)
- วันที่ 5 ธันวาคม 2537 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตราภรณ์ช้างเผือก(ต.ช.)
- วันที่ 5 ธันวาคม 2533 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตราภรณ์มงกุฎไทย(ต.ม.)
- วันที่ 5 ธันวาคม 2531 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก(จ.ช.)
วุฒิบัตรชมเชยที่ได้รับ
- ส่วนตัว
1. ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติและโล่ห์ ศิษย์เก่าที่ได้รับการสรรหาเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของสมาคมศิษย์เก่าพยาบาล สภากาชาดไทย ประจำปี 2548
2. ได้รับคัดเลือกจากกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศ ฝรั่งเศส โมนาโคและอิตาลี พ.ศ. 2546
3. เกียรติบัตร ครอบครัวตัวอย่าง จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย พ.ศ. 2538
4. ได้รับพระราชทานเหรียญราชการชายแดนเมื่อวันที่ 20พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
องค์กรพยาบาล
1. ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการบริการการพยาบาลและผดุงครรภ์ จากสภาการพยาบาล เมื่อ 13 มิถุนายน 2552
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย
- เป็นคณะกรรมการบริหารและทีมนำสำคัญของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลจนได้รับรางวัลต่างๆมาโดยตลอดดังนี้
- รางวัลโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชก้าวหน้าดีเด่น ปี 2537 จากมูลนิธิโรงพายาบาลสมเด็จพระยุพราช
- รางวัลป้ายทอง การดำเนินกิจกรรม 5 ส. ดีเด่นจากสถาบัน HMPI ปี 2540
- ประกาศนียบัตรโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหาร ระดับดีมาก (Very Good) ประเภทโรงพยาบาลชุมชน จากกรมอนามัย พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน
- รางวัล Healthy Work Place จากกรมอนามัยทุกปีจากปี 2549-2554
- ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล ISO 9002 จากบริษัท BVQI ปี 2542
- ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ HA และ HPH จาก สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลปี 2548
- รางวัลภูมิทัศน์ดีเด่น จากมูลนิธิโรงพายาบาลสมเด็จพระยุพราช ปี 2550
- ได้รับการรับรอง Reaccreditation ระบบ HA และ HPH จาก สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ปี 2551
- รางวัล HUMANIZE HEALTH CARE ระดับโรงพยาบาลจาก สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ปี 2553
- รางวัล HEALING ENVIROMENT ทั่วทั้งองค์กรจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ปี 2553
- การพัฒนาองค์กรตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality  Award: TQA)เริ่มเมื่อปี2549 เป็นการเติมเต็มและต่อยอดการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลโดยการสนันสนุนของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและสถาบันเพิ่มผลผลิต
- เป็นที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เอกชนต่างๆทั่วประเทศ ในระบบ 5 ส. ISO 9002 ,ระบบ HoSxp , HA และภูมิทัศน์
8. ประวัติการปฏิบัติงาน
8.1 ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 3 สถานที่งาน ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2525ถึง พ.ศ. 2528
8.2 ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 4สถานที่ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2528ถึง พ.ศ. 2532
8.3 ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 5สถานที่ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2532ถึง พ.ศ. 2534
8.4 ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 6สถานที่ กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2534ถึง พ.ศ. 2540
8.5 ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 7สถานที่ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2540ถึง พ.ศ. 2544
8.6 ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 7วช.(ด้านการพยาบาล)สถานที่ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2534ถึง พ.ศ. 2551
8.7 ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการพิเศษ(ด้านการพยาบาล)สถานที่ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2551ถึง ปัจจุบัน
9. ปัจจุบันปฏิบัติงานในตำแหน่งสายงาน พยาบาลวิชาชีพ ตำแหน่งบริหาร หัวหน้าพยาบาล สถานที่ปฏิบัติงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเลย พ.ศ. 2541ถึง ปัจจุบัน มีหน้าที่ความรับผิดชอบ (โดยย่อ) ดังนี้
9.1 หัวหน้าพยาบาล
- งานบริหารการพยาบาล รับผิดชอบด้านบริหาร บริการ วิชาการ และการพัฒนาคุณภาพบริการในงานต่าง ๆ 12 งานคือ งานผู้ป่วยนอก งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน งานห้องผ่าตัด งานห้องคลอด งานหอผู้ป่วยใน 1 งานหอผู้ป่วยใน 2 งานซักฟอก งานหน่วยจ่ายกลาง งานบริการอาหาร งานให้การปรึกษา งานเคลื่อนย้ายและงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล
- การบริหารอัตรากำลัง นำหลักการใช้ Productity จากสำนักการพยาบาลมาใช้ในการจัดอัตรากำลังทางการพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำร่องในการใช้ Productity แก่หน่วยงานต่างๆของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี
9.2 การพยาบาลวิสัญญี เป็นการปฏิบัติการให้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วย โดยการวินิจฉัยปัญหาของผู้ป่วย เพื่อเลือกวิธีการและดำเนินการให้ยาระงับความรู้สึกได้อย่างเหมาะสมทุกภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายภายใต้ระเบียบหรือกฎกระทรวงของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤตเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ให้การอภิบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤตภายหลังการให้ยาระงับความรู้สึกรับผิดชอบในการให้บริการผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาระงับความรู้สึก ทั้งในและนอกเวลาราชการตั้งแต่ พ.ศ.2531-2553
9.3 การเภสัชกรรมชุมชนบำบัด (PTC) มีหน้าที่ร่วมกันพิจารณาบัญชียาเข้า – ออกของโรงพยาบาล วัสดุ – ครุภัณฑ์ที่จำเป็น และการพิจารณาบัญชีรายชื่อลูกค้าที่ยอมรับได้
9.4 กรรมการประสานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คป.สอ.) รับผิดชอบพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) ในงาน 5 ส งาน IC และการสนับสนุนวัสดุ – อุปกรณ์การแพทย์ในรพ.สต.
9.5 บริการให้การปรึกษา ทำหน้าที่เป็นผู้ให้การปรึกษา วิทยากรให้การอบรมการให้การปรึกษา และเป็นผู้ให้การปรึกษา คลินิกการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จนถึงปัจจุบัน
9.6 กรรมการมูลนิธิยุพราชสาขาด่านซ้าย ได้ร่วมกับกรรมการมูลนิธิสาขา และกรรมการมูลนิธิกลางในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐาน และพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
9.7 ผู้แทนสภาการพยาบาลประจำจังหวัด ทำให้หน้าที่ประสานงานกับชมรมพยาบาลจังหวัดเลย หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและทั่วถึง
9.8 คณะกรรมการประเมินผลงานวิชาการเพื่อการเลื่อนรับที่สูงขึ้น ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับ ชำนาญการ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยปี 2549 – ปัจจุบัน
9.9 คณะกรรมการบริหารชมรมพยาบาลจังหวัดเลย ปี 2548 – ปัจจุบัน
9.10คณะกรรมการระดับภาค
- คณะกรรมการเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการพยาบาล เขต 10 ปี 2548 – ปัจจุบัน
9.11คณะกรรมการระดับประเทศ
- คณะทำงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชของกองการพยาบาล ปี 2537 – 2538
- เป็นทีมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขโรงพยาบาลสังกัดแขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาวชนลาว ปี 2548 - 2550
9.12วิทยากร
- วิทยากรการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงในทารกแรกเกิดและผู้ใหญ่
- วิทยากรกิจกรรมคุณภาพ 5 ส.
- วิทยากร การให้การปรึกษาเรื่องโรคเอดส์และครอบครัว
- วิทยากร การใช้กระบวนการพยาบาลและการจำแนกผู้ป่วยในโรงพยาบาล
- วิทยากร การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ระดับนักเรียนที่ต้องการศึกษษในวิชาชีพพยาบาลและสาธารณสุข นักศึกษาต่อเนื่องพยาบาลศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุดรธานี ขอนแก่น พิษณุโลก และบัณฑิตศึกษาสาขาการบริหารการพยาบาลคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- สนับสนุนให้พยาบาลได้ร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงหลักในการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีชั้นปีที่2-ชั้นปีที่5
- เป็นที่ปรึกษาการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการการพยาบาลและผดุงครรภ์และระบบคุณภาพ HAให้กับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ
ด้านอื่น ๆ
- กรรมการในงานประเพณีประจำปีในท้องถิ่นระดับอำเภอ เช่น กรรมการประกวดนางนพมาศประจำปี กรรมการประกวดขบวนแห่ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย
- คณะกรรมการประสานงานสมาคมแม่บ้านสาธารณสุขจังหวัดเลย ปี 2537 – ปัจจุบัน
คณะกรรมการชมรมแอโรบิคอำเภอด่านซ้าย ปี 2548 – ปัจจุบันฯลฯ

พี่เปรมศรี พยาบาลคุณภาพ จิตอาสา ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์


โดยนายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์

คุณเปรมศรี สาระทัศนานันท์ “พี่เปรม”ของบุคลากรโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และเป็น“ป้าเปรม”ของประชาชนอำเภอด่านซ้าย เป็นพยาบาลรับทุนรุ่นแรกของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งเป็นคนในท้องที่คนแรกไปเรียนที่วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานใช้ทุนอย่างต่อเนื่องและยาวนานเกือบ30 ปี ที่โรงพยาบาลบ้านเกิด
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กๆ ติดชายแดนประเทศลาว ตั้งอยู่ในพื้นที่สีชมพู ซึ่งมีความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการปกครอง(คอมมิวนิสต์) และยังเคยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและลาวกรณีบ้านร่มเกล้า เมื่อ20 กว่าปีก่อน อำเภอด่านซ้ายเป็นพื้นที่ทุรกันดารกว่าร้อยละ 80 เป็นภูเขาสูง การเข้าถึงโรงพยาบาลของชาวบ้านเป็นไปด้วยความยากลำบากและอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลทั่วไปประมาณ100 กิโลเมตร ซึ่งระยะทางคดเคี้ยว ลำบากในการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสร้างโรงพยาบาลเมื่อ30ปีที่แล้ว ยังมีความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตจากความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว แต่พี่เปรมก็ไม่ได้คิดจะย้ายไปอยู่ที่ปลอดภัยและเจริญกว่าด่านซ้าย (พยาบาลรับทุนส่วนมากเมื่อมีโอกาสก็ย้ายไปในที่ที่สะดวกสบาย ปลอดภัย)แต่พี่เปรมศรียังแน่วแน่ที่จะปฏิบัติงานในบ้านเกิดของตนเองจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นพยาบาลรับทุนรุ่นแรกคนเดียวที่ยังอยู่ 

เริ่มการทำงานด้วยการเป็นพยาบาลที่ทำได้ทุกอย่างในโรงพยาบาลตั้งแต่พยาบาลผู้ป่วยใน พยาบาลผู้ป่วยนอก และเห็นความเดือนร้อนของชาวบ้านในการที่จะต้องเดินทางไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลจังหวัดเลย จึงได้ตั้งใจศึกษาต่อด้านวิสัญญีพยาบาลและทำงานช่วยทีมผ่าตัดของโรงพยาบาล จึงทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายมีชื่อเสียงด้านการผ่าตัดตลอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรักษาที่ตัวจังหวัด ซึ่งลำบากมาก ผู้ป่วยบางรายยอมตายที่ห้องฉุกเฉินเมื่อต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่อื่น
เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล มีความสนใจเรื่องของการพัฒนาคุณภาพองค์กร ได้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนคุณภาพองค์กรโดยใช้กระบวนการ 5 ส ในการพัฒนาโรงพยาบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 และพัฒนาระบบคุณภาพ ISO9002 ในปี พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นการคิดและปฏิบัติงานนอกกรอบของวิชาชีพพยาบาลเพราะในช่วงนั้นพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนส่วนมากมุ่งเน้นการพัฒนาเฉพาะกลุ่มการพยาบาลยังขาดการเชื่อมโยงถึงคุณภาพทั้งองค์กร โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จึงมีความโดดเด่นเรื่องการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งนำโดยกลุ่มการพยาบาลและจากการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายได้รับการรับรองคุณภาพHA ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน และสามารถผ่านการรับรองคุณภาพ มาตรฐานบริการการพยาบาลและการผดุงครรภ์( NQA) ได้ในปี พ.ศ.2552 จากสภาการพยาบาล โดยจุดเด่นที่สำคัญที่สุด พี่เปรมศรีได้บริหารงานบุคลากรทางการพยาบาลให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพทุกระบบ จึงทำให้ผ่านการรับรองคุณภาพจากระบบต่างๆได้อย่างราบรื่น และประสานงานกับหน่วยงานอื่นในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

การบริหารงานบุคคลของกลุ่มการพยาบาลที่สำคัญที่พี่เปรมศรีได้ดำเนินการคือ การใช้ภาระงานมาเป็นตัวกำหนดความต้องการของบุคลากรในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข นำเสนอต่อทีมนำโรงพยาบาลเพื่อหาบุคลากรมาทำงานให้ได้ตามกรอบที่วางไว้ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเนื่องจากภาวะการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาลที่มีมาต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และในระยะหลังความขาดแคลนมีความรุนแรงมากขึ้น กลวิธีที่พี่เปรมศรีได้นำมาใช้และนำเสนอต่อทีมนำคือ การส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นรับทุนเรียนต่อพยาบาล และประสานกับแหล่งฝึกต่างๆ เพื่อหาที่นั่งเรียนให้กับน้องนักเรียนทุนเหล่านั้นและที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อนักเรียนทุนพยาบาลกลับมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลถึงแม้ว่าไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ได้ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว พี่เปรมศรีก็ได้เสนอระบบค่าตอบแทนที่เพียงพอที่นักเรียนทุนเหล่านั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง และสามารถนำเงินบางส่วนไปช่วยเหลือครอบครัวได้ จากการบริหารงานบุคคลของกลุ่มการพยาบาลทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายไม่มีความขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาล นักเรียนในพื้นที่มีความมุ่งมั่นและสนใจที่จะเรียนวิชาชีพทางการพยาบาลจำนวนมาก เพราะได้เห็นรุ่นพี่ได้ทำประโยชน์ต่อคนด่านซ้าย มีอัตราการโยกย้ายต่ำมากเพราะประมาณร้อยละ 95 เป็นพยาบาลในพื้นที่ ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายมีพยาบาลทั้งหมด 59 คน ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว 19 คน(คิดเป็นร้อยละ 32 เมื่อไม่มีปัญหาความขาดแคลนวิชาชีพทางการพยาบาล โรงพยาบาลก็สามารถที่จะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี จากการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลของ พี่เปรมศรี สำนักงานวิจัยกำลังด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สวค.) ได้ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเป็นรูปแบบที่ดีอย่างหนึ่งของการบริหารบุคลากร ซึ่งสามารถนำไปใช้กับวิชาชีพอื่นได้อีกด้วย


การหล่อเลี้ยงบุคลากรเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีความสุขและต่อเนื่องยาวนานเหมือนกับที่พี่เปรมศรีได้ทำมาเกือบ 30 ปี เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พี่เปรมศรีได้ดำเนินการ โดยใช้กระบวนการจิตอาสาเนื่องจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายยังประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน สภาพเศรษฐกิจในเมืองด่านซ้ายเป็นอำเภอที่มีรายได้น้อยที่สุดในจังหวัดเลยและบุคลากรโรงพยาบาลส่วนมากก็มีอาชีพทางเกษตรกรรม ดังนั้น ถ้าเราใช้การหล่อเลี้ยงด้วยเงิน ก็ไม่มีเงินที่เพียงพอที่จะให้บุคลากรเหล่านั้นทำงานอย่างมีความสุข พี่เปรมศรีจึงสร้างค่านิยมให้กับองค์กรโดยส่งเสริมให้น้องๆ พยาบาลและบุคลากรใน กลุ่มการพยาบาลทำกิจกรรมจิตอาสาทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่องเสมอมา เช่น โครงการส่งเสริมการอ่านเพาะกล้าตาโขนน้อย นำโดยพยาบาลหอผู้ป่วยใน 2 ไปออกหน่วยทุกต้นเดือนในหมู่บ้านที่ห่างไกลเพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาเข้าถึงหนังสือที่มีคุณภาพ การจัดกิจกรรมสันทนาการในอำเภอด่านซ้าย เช่น วิ่ง 20 คนสามัคคี กระโดดเชือก โดยมีพยาบาลที่มีความสนใจทางด้านกีฬาเข้าเป็นทีมงานจัดกิจกรรม การจัดค่ายศึกษาธรรมชาติ การจัดทำค่ายศิลปะ การจัดทำค่ายดนตรี ในช่วงที่โรงพยาบาลได้มีโอกาสเตรียมงานรับบุคคลที่สำคัญ พี่เปรมศรีเป็นผู้นำหรือเป็นแม่บ้านแม่งานในการเตรียมอาหาร พิธีการ โดยเฉพาะการจัดดอกไม้ของพยาบาลโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งได้รับคำชื่นชนในระดับจังหวัดและจากผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมที่จัดได้อย่างเรียบง่ายและประหยัด โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนมาก


นอกจากนี้พี่เปรมศรียังเป็นผู้นำการออกหน่วยรับบริจาคโลหิต พาทีมพยาบาลออกรับบริจาคโลหิตทั้งในและนอกเวลาราชการ คอยประสานงานกับหน่วยงานที่จะบริจาคโลหิตทำให้ระบบคลังเลือดของโรงพยาบาลมีความมั่นคง งานที่ได้กล่าวมามีลักษณะเป็นจิตอาสา เป็นเวทีที่ให้บุคลากรของโรงพยาบาลได้นำมามีส่วนร่วมมิได้มีค่าตอบแทน เป็นแนวคิดที่สวนกระแสในปัจจุบันที่ทำงานมุ่งแต่ค่าตอบแทนเพียงพอย่างเดียว ลักษณะงานดังกล่าวจึงเป็นการหล่อเลี้ยงคนในองค์กร เป็นงานที่มีคุณค่าและมีความหมายสำหรับชีวิตของบุคลากรทุกๆ คนในโรงพยาบาล ความที่เป็นคนท้องถิ่นของพี่เปรมศรี ยังได้เชื่อมโยงและชักชวนคนในองค์กรให้ทำกิจกรรมจิตอาสานอกโรงพยาบาลอีก จึงทำให้ชาวบ้านมีความศรัทธาต่อโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากพี่เปรมศรีเป็นกรรมการบริหารกองทุนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดเป็นเพราะต้นกำเนิดชีวิตของพี่เปรมศรีมิได้เกิดมาเพื่อที่จะกอบโกยหรือหวังผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักแต่กลับมีความเอื้ออาทรและเห็นประโยชน์ต่อคนอื่นเหมือนกับบรรพบุรุษของคนด่านซ้ายในอดีตซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนตัวของผมพี่เปรมศรีได้ดูแลตั้งแต่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเมื่อ 23 ปีที่แล้ว เป็นวิสัญญีพยาบาลที่ช่วยผ่าตัดได้อย่างราบรื่น บางครั้งต้องได้มาเป็นผู้ช่วยทีมการผ่าตัด เป็นพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะการใส่ท่อช่วยหายใจ ผมจึงมั่นใจให้เป็นผู้ดมยาสลบผมตอนที่ผมถูกผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาล เมื่อภรรยาผมคลอดลูกทั้ง 2 คน พี่เปรมศรีคือพยาบาลที่นอนอยู่ข้างเตียงภรรยาผมตลอดเวลาคอยดูแลพยาบาลทั้งภรรยาและลูกผม เนื่องจากผมและภรรยาไม่มีญาติมาคอยดูแล และไม่ใช่สำหรับครอบครัวของผมเท่านั้น และทุกครอบครัวของโรงพยาบาลที่มาคลอดลูกจะได้รับการดูแลจากพี่เปรมศรีเช่นกัน และผมก็เชื่อว่าการดูเช่นนี้เป็นการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาชีพพยาบาล


ที่มา : บทความผลงานเด่น ประกอบข้อมูลผู้ขอรับรางวัลพยาบาลดีเด่น สาขา ผู้บริหารการพยาบาลระดับทุุติยภูมิ(หัวหน้าพยาบาล) ปี 2554