วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มาปั่นให้โลกเปลี่ยน..



มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR up date 12/06/55 ที่มาของโครงการ เนื่องด้วยรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน” ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ มีกำหนดออกอากาศเทปแรกในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2555 ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เป็นรายการที่ให้สาระความรู้ในเรื่องต่างๆ ของจักรยานต่อผู้ชม โดยมีความมุ่งหวังว่าเนื้อหาสาระของรายการจะเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนอนาคตของจักรยานในประเทศไทย โดยมีบจก. ฮอท เฮาส์ เป็นผู้เสนอรายการและเป็นผู้ผลิต ในตอนที่ 10-12 ของรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน” นั้นจะนำเสนอเนื้อหาสาระของการเดินทางไกลด้วยจักรยาน ซึ่งจะต้องจัดกิจกรรมการเดินทางไกลด้วยจักรยานหรือ Bicycles Touring ขึ้นในขั้นต้นเพื่อรองรับการถ่ายทำรายการ แต่ทางบจก. ฮอท เฮาส์ ซึ่งรับผิดชอบสร้างสรรค์และผลิตรายการได้เล็งเห็นว่า หากจะจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน”เพียงเท่านั้น ไม่คุ้มค่าในแง่ของประโยชน์ของกิจกรรมที่ควรมีต่อสาธารณะด้วยตัวของกิจกรรมเอง การขยายกิจกรรม Bicycles Touring ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วม รวมถึงกำหนดจุดประสงค์และบทบาท เฉพาะของโครงการ ให้สามารถสื่อสารกับสาธารณะได้ด้วยตัวกิจกรรมเองจึงเกิดขึ้น บจก.ฮอท เฮาส์ จึงได้แยกผลิตในส่วนของรายการโทรทัศน์ และ กิจกรรมออกอย่างเป็นอิสระต่อกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ และความชัดเจนในการดำเนินงาน นี่จึงเป็นที่มาของ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” 

จุดประสงค์ของ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on Tour”
  • เพื่อใช้กิจกรรมนี้เป็นเสมือนวัตถุดิบ ด้านเนื้อหาเรื่องราวที่จะนำเสนอในรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน” ตอนที่ 10-12 
  • เพื่อนำเสนอ แนวความคิด “สร้างเมืองให้เป็นมิตรต่อจักรยาน ด้วยการเริ่มต้นที่จักรยานต้องเป็นมิตรกับเมือง” ผ่านกิจกรรม ขี่จักรยานท่องเที่ยว ทางไกล ต่อสาธารณะ ซึ่งจะปลูกฝังแนวความคิดดังกล่าวกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่าน รูปแบบ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง
  • เพื่อใช้กิจกรรมเป็นช่องทางสร้างทรรศนะคติที่ดี ที่ถูกต้องระหว่างสังคมกับจักรยาน
  • เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญของจักรยาน ผ่านนำเสนอการใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวัน แทนการใช้รถยนต์ ว่าเป็นเรื่องที่ง่ายไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ทุกๆคนสามารถเริ่มและทำได้ทันที โดยผลกระทบที่ดีต่างๆจะเกิดขึ้นทั้งกับตนเอง สาธารณะ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม รวมถึงการเมืองด้วย
  • เพื่อใช้กิจกรรมนี้สร้างผู้นำ ที่จะมีส่วนสำคัญในอนาคตของจักรยานต่อไป
  • เพื่อก่อให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้ สื่อสาร แลกเปลี่ยน ในเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ต่างๆระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมเองและผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับสังคม 
  • เพื่อทุกคน รู้จัก แยกแยะ เข้าใจจักรยานในบริบทต่างๆ ซึ่งการแยกแยะบทบาทหน้าที่การใช้งานของจักรยานนี้มีความสำคัญมากต่ออนาคตของจักรยานในประเทศ ดังที่เราจะเห็นได้ว่ามีผู้ที่สนใจจะขี่จักรยานแต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องจักรยาน เลือกซื้อจักรยานมาใช้งานผิดประเภทไม่ตอบรับกับความต้องการที่แท้จริงของตน หรือแม้กระทั่งการที่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมรณรงค์ ก็ไม่ได้จัดการแยกแยะชัดเจน หากแต่มุ่งเน้นที่ปริมาณเป็นหลักจนสร้างภาพ สร้างความเข้าใจที่ผิดสู่สาธารณะ จนส่งผลกระทบต่ออนาคตของจักรยานในประเทศอย่างคาดไม่ถึง 
  • เพื่อเฉลิมฉลองสัมพุทธชยันตี ครบรอบ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเนื่องในช่วงวันที่จัดกิจกรรมมีวันสำคัญทางศาสนาถึงสองวันคือ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา รวมถึงเส้นทางที่ใช้ขี่ก็ผ่านศาสนสถานที่สำคัญ เช่น พระธาตุศรีสองรัก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(พระพุทธชินราช) และอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ผู้จัดกิจกรรมจึงมีความเห็นชอบที่จะจัดกิจกรรมการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจังหวัดพิษณุโลก และ การเวียนเทียนด้วยจักรยานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งในการเวียนเทียนที่อุทยานฯ นี้จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมด้วย 
การดำเนินงาน
สืบเนื่องมาจากความต้องการแยกการดำเนินงานกิจกรรมออกมาจากการผลิตรายการโทรทัศน์ บจก. ฮอท เฮาส์ จึงจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินกิจกรรม “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” โดยใช้ชื่อกลุ่ม Smile Riders (สมาย ไรเดอร์ส) เป็นผู้ดำเนินงานหลัก และ ต่อมา Smile Riders ได้มีโอกาสนำเสนอโครงการต่อ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (Thailand Cycling Club), ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเมืองด่านซ้าย และ ThaiPBS ซึ่งทุกองค์กรดังกล่าวล้วนเล็งเห็นโอกาสที่กิจกรรมจะส่งผลกระทบที่ดีต่อสาธารณะ รวมถึงมีจุดประสงค์ร่วมเดียวกัน Smile Riders จึงเรียนเชิญองค์กรทั้งสามที่กล่าวมาเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” 

กลุ่มเป้าหมาย(ผู้เข้าร่วมกิจกรรม)
  • คน ไม่จำกัด ชาติ ศาสนา เพศ อายุ หรือสถานะใดๆ ขอให้ปั่นได้ไปได้ มีรถจักรยานก็สามารถทุกคน
  • จักรยาน ไม่จำกัด ประเภท หรือยี่ห้อ แต่ขอให้เป็นจักรยานที่มีความพร้อมที่จะเดินทางได้วันละ 100 กม. ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 17 กม./ชม. บนทางราบลมปกติ เป็นจักรยานที่คุณขี่ได้ขี่ไหวในข้อจำกัดที่กล่าวมาไปได้ทุกคัน 
  • ถาม “อ้าวแล้วอย่างนี้จักรยานแม่บ้านจะไปได้หรือเปล่า ?”
    ตอบ “ไปได้ ถ้าคุณขี่ได้ตามที่กล่าวมา แต่ในวันแรกมีขึ้นภูเขาชันทีเดียว ก็ขอแนะนำให้เอาใส่รถไปก่อนดีกว่า แต่ถ้าใครจะตามมาเริ่มที่พิษณุโลก ขอตอบว่า ไปได้ทุกประเภทจักรยานครับเพราะทางราบตลอดเส้นทาง” 
  • ถาม “แล้วไม่จำกัดอายุนี่เด็กจะไปได้ไหม”
    ตอบ “ได้ครับ ถ้าเด็กสามารถขี่จักรยานได้ตามที่กำหนดในเกณฑ์ขั้นต่ำมา ซึ่งอันที่จริงไม่อยากกำหนดแต่ก็เกรงว่าเด็กจะไม่สามารถขี่ได้ครบเส้นทางในแต่ละวัน แล้วจะทำให้กลุ่มรวมถึงเวลาของกิจกรรมล่าช้ากว่ากำหนด จึงขอขีดเส้นไว้ตรงนี้ครับ” 
  • ถาม “แล้วคนไม่เคยขี่จักรยานไกลๆจะไปได้ไหม?”
    ตอบ “ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไปได้ครับ ผมเคยพาคนที่ไม่เคยขี่ทางไกล รวมถึงผู้หญิง ออกไปทัวร์ริ่งวันละไม่ต่ำกว่า 100 กม. ขี่ติดกันหลายวันไม่มีรถเซอร์วิส นั่นหมายถึงสัมภาระต่างๆต้องแบกไปเอง ไปได้ทุกคนครับ แต่ที่สำคัญคือก่อนออกเดินทางก็ควรซ้อมซักหน่อย เอาสัก 25 กม. ไม่หยุดพักเลยด้วยความเร็ว ไม่ต่ำกว่า 17 กม./ชม. ซ้อมก่อนเดินทางจนชิน รับรองไปได้ทุกคนและอยากให้ไปด้วยอย่างยิ่งครับ” เนื่องด้วย “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” มีลักษณะเป็นทริปท่องเที่ยวทางไกลด้วยจักรยาน ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวแบบนี้จัดได้ว่าแทบจะถูกจำกัดอยู่จำเพาะในกลุ่ม ในชมรมจักรยาน ซึ่งมีสมาชิกที่ใช้จักรยานจนมีประสบการณ์มากมาแล้วในระดับหนึ่ง รวมถึงรถจักรยานที่พร้อมในการเดินทางแบบนี้ต้องมีสมรรถนะและความพร้อมพอสมควรทีเดียว ซึ่งนั่นอาจหมายถึงราคารถที่แตกต่างจากจักรยานทั่วไปด้วย และหลายครั้งที่การขี่จักรยานทางไกลจะถูกจัดขึ้นในลักษณะของการแข่งขัน จึงทำให้ภาพลักษณ์ของการขี่จักรยานทางไกลเป็นเรื่องไกลตัวของสังคม ทั้งๆ ที่การเดินทางท่องเที่ยวทางไกลด้วยจักรยานนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินที่ใครจะทำได้ ขอแค่เพียงมีรถจักรยานที่พร้อม มีความเข้าใจและไม่มีปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น
กิจกรรมครั้งนี้จึงเปิดกว้าง และพยายามสื่อสารกับสังคมว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องไกลตัว สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวทางไกลด้วยจักรยาน โดยทางรายการจัดกลุ่มเป้าหมายหลักไว้ 2 กลุ่มตามศักยภาพคือ 
  • กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม ทั้งรถ ทั้งคน และประสบการณ์ ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทุกคน เข้าใจและตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของทริป โดยนักจักรยานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่ม เป็นชมรมจักรยานในพื้นที่จัดกิจกรรมที่มีผู้นำชัดเจน อาทิเช่น ชมรมจักรยานเมืองด่านซ้าย ชมรมจักรยานอำเภอกงไกรลาศ เป็นต้น 
  • กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เริ่มต้นให้ความสนใจกับจักรยาน คละเพศและอายุ ความพร้อมของรถ และ สุขภาพ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลแนะนำจากกลุ่มแรกอย่างใกล้ชิด 
ลักษณะของกิจกรรม เป็นทริปเพื่อการท่องเที่ยวระยะเวลา 5 วัน ระยะทางต่อวันไม่ไกลเกินคือจะอยู่ในช่วง 50-90 กิโลเมตร ใช้ถนนในการเดินทาง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเส้นทางจะพยายามเลี่ยงออกจากถนนหลัก ไปใช้ถนนสายรองผ่านชุมชน มีทางขึ้นลงเขาชันเพียงวันแรกจากด่านซ้ายมาน้ำตกปอยเท่านั้น การเดินทางจะใช้ความเร็วเฉลี่ย (AV) ค่อนข้างต่ำ ระหว่าง 15-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างเส้นทางจะแวะสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตชุมชนที่น่าสนใจรวมถึงมีเวลาให้อย่างเต็มที่ มีรถพยาบาล รถเซอร์วิส แต่ไม่มีรถตำรวจนำ และไม่มีการปิดถนนในเขตเมือง แต่จะเป็นการขอความร่วมมือจากตำรวจจราจรให้ช่วยตรวจดูความเคร่งครัดในวินัยจราจรในพื้นที่หรือจุดสำคัญ 

การแบ่งกลุ่ม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะมาเป็นกลุ่มเป็นชมรมหรือมาเดี่ยว จะถูกแบ่งกลุ่มใหม่ด้วยการจับสลาก โดยใช้สัญลักษณ์สี จำนวน 10 สี ได้แก่ ม่วง ฟ้า น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ชมพู น้ำตาล ขาว โดยในแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกเต็มที่ประมาณ 30 คัน 
  • หัวหน้ากลุ่ม เป็นตัวแทนจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเมืองด่านซ้าย เป็นผู้ขี่นำขบวน ห้ามสมาชิกกลุ่มขี่แซงหัวหน้าหรือผู้รับผิดชอบแทนหัวหน้า โดยจะมีสัญลักษณ์เป็นปลอกแขนใส่ที่แขนขวาให้เพื่อเป็นสัญลักษณ์  
  • รองหัวหน้ากลุ่ม ปิดท้ายขบวน เป็นคนที่ขี่จักรยานได้เร็วที่สุดในกลุ่ม สามารถไล่ขึ้นหน้าขบวนเพื่อหยุดขบวนได้ รวมถึงต้องคอยตรวจดูแถวให้เรียบร้อยตลอดการเดินทาง มีปลอกแขนเป็นสัญลักษณ์  
  • การสื่อสาร จะเป็นตัวแทนของผู้จัดกิจกรรม จาก กลุ่ม Smile Riders หรือ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย รับผิดชอบวิทยุสื่อสาร โทรศัพท์ เพื่อรายงานสถานการณ์ต่อส่วนกลาง 
ภารกิจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  1. ภารกิจต่อสาธารณะ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปรียบเสมือนทูตที่จะนำความเข้าใจที่ดีของสังคมมาสู่คนใช้จักรยาน เพราะฉะนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนรวมถึงทีมงานจะต้องเป็นตัวอย่างของคนขี่จักรยานที่ดี เป็นมิตรกับสังคม
  2. ภารกิจต่อกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีหน้าที่สนับสนุน ช่วยเหลือ ดูแลความเรียบร้อยทั้งมวล ในการดำเนินกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเดินทาง อาหาร ที่พัก ห้องน้ำ ห้องสุขา ความปลอดภัย การใช้เสียง เป็นต้น เพื่อให้กิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
  3. ภารกิจต่อกลุ่มของตนเอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องรับผิดชอบ ช่วยเหลือ แก้ปัญหา ดูแล สมาชิก ตรวจเช็คจำนวน สมาชิกทุกคนในกลุ่มของตน ตลอดการเดินทาง
  4. ภาระกิจต่อตนเอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องดูแลใส่ใจในสุขภาพ ความปลอดภัยของตน สุขอนามัย การติดต่อสื่อสาร (มือถือ) ไม่สร้างสภาวะน่ารังเกียจต่อบุคคลหรือสังคมรอบข้าง รวมถึงต้องปฎิบัติต่อกฎกติกาของการเดินทางอย่างเคร่งครัด 
ลักษณะขบวน กฏและกติกาขบวน 
  • แบ่งเป็นกลุ่มย่อยจำนวน 10 กลุ่ม 10 สี ได้แก่ ม่วง ฟ้า น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ชมพู น้ำตาล ขาว ในแต่ละกลุ่มมีสมาชิกเต็มที่ไม่เกิน 30 คัน 
  • ทุกจุดเริ่มต้นและจุดพักจะปล่อยขบวนทีละกลุ่มจนครบ 10 กลุ่ม เริ่มจากสีม่วง-สีขาว โดยแต่ละกลุ่มทิ้งระยะกัน 5 นาที 
  • กลุ่มที่ตามไปส่ง ได้แก่ นักจักรยานท้องถิ่น ขี่ร่วมขบวนแบบไปเช้าเย็นกลับ จะรวมจำนวนแล้วแบ่งครึ่ง เป็นสองกลุ่ม กลุ่ม A และ B โดยกลุ่ม A จะปล่อยตัวเป็นลำดับที่ 6 ระหว่างกลุ่มสีเหลืองและส้ม ส่วนอีกกลุ่มจะปล่อยตัวในลำดับสุดท้าย ถ้าหากว่ามีจักรยานชาวบ้านมาขี่ด้วยจะให้อยู่ที่กลุ่ม A 
  • ขี่เป็นแถวเรียงเดี่ยวที่บริเวณไหล่ถนน ห้ามแซงหรือตีคู่ โดยไม่จำเป็น 
  • ห้ามแต่ละกลุ่มแซงกัน เว้นในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น รถของสมาชิกในกลุ่มที่อยู่ข้างหน้าเสีย เกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุที่ทำให้กลุ่มนั้นต้องหยุดรอรถพยาบาล หรือรถเซอร์วิส 
  • ควรเว้นระยะระหว่างคันในกลุ่ม 2-3 เมตร ไม่ควรมากหรือน้อยกว่านี้ ควรเว้นระยะระหว่างกลุ่มไม่ต่ำกว่า 100 เมตร จักรยานทุกคันไม่ควรมีความเร็วเฉลี่ย(AV) เมื่อตรวจสอบในแต่ละจุดพัก เกิน 25 กม./ชม.
  • แต่ละกลุ่มต้องเอาความเร็วเฉลี่ยของผู้ที่มีความสามารถน้อยที่สุดเป็นที่ตั้ง
  • เมื่อสมาชิกกลุ่มเข้าจุดพักครบทุกคันจึงจะได้รับบริการ อาหาร และน้ำดื่ม ให้หัวหน้ากลุ่มหรือตัวแทนตรวจสอบรายงานเช็คชื่อส่งเจ้าหน้าที่ที่จุดพักทุกครั้ง เว้นแต่ว่าสมาชิกกลุ่มได้ขึ้นรถเซอร์วิสหรือรถพยาบาลไประหว่างทางแล้ว 
  • การที่มีสมาชิกกลุ่มจอดนอกจุดพักต้องหยุดรอทั้งกลุ่ม 
  • การออกจากจุดเริ่มต้นหรือจุดพักต้องเช็คชื่อสมาชิกก่อนทุกครั้ง
*กฏ กติกาทั้งหมดล้วนออกมาบนพื้นฐานในเรื่องของความเรียบร้อย ปลอดภัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเป็นหลัก รวมถึงในเรื่องภาพลักษณ์ตามจุดประสงค์ของกิจกรรมและการจัดการด้วย ขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเคารพในกติกาขบวนอย่างเคร่งครัด 

จุดพักระหว่างทาง
จุดพักจะมีทุกๆ ระยะ 20-25 กม. ตลอดการเดินทาง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
  1. จุดพักน้ำ มีน้ำดื่ม น้ำหวาน โอวัลติน กาแฟ และอาหารว่างรองท้องไว้บริการ บางจุด อาจจะมีห้องน้ำ เวลาพักในจุดนี้กลุ่มละไม่เกิน 10-15 นาที
  2. จุดพักกลางวัน มีน้ำดื่ม น้ำหวาน โอวัลติน กาแฟ และอาหารกลางวัน* รวมถึงขนมไว้บริการ มีห้องน้ำ พร้อมที่พักผ่อนอริยาบท เวลาพักในจุดนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง *เว้นที่จุดพักกลางวันน้ำตกสกุโณทยานและ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
อาหารเช้า กลางวันและเย็น 
วันที่ 1 สิงหาคม 2555 
-มื้อเช้า ก่อนออกเดินทาง ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน จุดพัก “ร้านสูตรมะเหมี่ยว” กิจกรรมจัดให้ -จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ -มื้อเย็น “น้ำตกปอย” กิจกรรมจัดให้ 

วันที่ 2 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “น้ำตกปอย” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน “น้ำตกสกุโณทยาน” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อเย็น “พิษณุโลก” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง

วันที่ 3 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “พิษณุโลก” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน “กงไกรลาศ” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อเย็น “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง 

วันที่ 4 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อเย็น “อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง)” กิจกรรมจัดให้ 

วันที่ 5 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง)” กิจกรรมจัดให้ 

ถาม “ทำไมเราไม่จัดหามื้อหลักเช่นมื้อกลางวันและมื้อเย็นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครบทุกมื้อ?” 
ตอบ “ความจริงคืออาหารทั้งมื้อหลักและอาหารว่างตามจุดพักต่างๆ ล้วนถูกคิดเป็นค่าบริการที่ท่านต้องจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งในความคิดพื้นฐานเบื้องต้นเราอยากให้ท่านหารับประทานเองมากกว่าเพราะจะเลือกทานได้ตามอัธยาศรัยรวมถึงยังเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง แต่ในบางสถานที่อาจจะไม่มีจำนวนร้านที่จะรองรับจำนวนคนได้มากพอ หรือเพื่อความเป็นระเบียบ และการจัดการเรื่องเวลา เราจึงต้องจัดหาอาหารในมื้อหลักให้ท่าน แต่ถ้าหากพอที่จะมีเวลา และ มีร้านค้า ร้านอาหารมากมายให้ท่านได้เลือกรับประทานได้เองแล้วเราก็จะไม่จัดหาให้ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาครับ” 

ที่พัก ห้องน้ำ ห้องสุขา
คืนวันที่ 1 สิงหาคม 2555   นอนที่บ้านพักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีหลายหลังหลายขนาด ห้องน้ำในตัว มีที่นอน หมอนพร้อมสรรพ รับจำนวนคนได้ประมาณ 120 คน ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกจึงน่าจะเพียงพอที่จะรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งยังมีจำนวนไม่มาก แต่ถ้าหากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินความจุบ้านพัก เรามีเต๊นท์ ไว้รองรับ พร้อมห้องน้ำรวม 

คืนวันที่ 2 สิงหาคม 2555 นอนที่โรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตก อยู่ในเขตตัวเมือง ไม่ไกลจากที่ชุมชน และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เราจะไปเวียนเทียนกัน ที่นี่ เด็ก และ สตรี ให้นอนในห้องเรียนเด็กอนุบาลเพราะมีพัดลม และมุ้งลวดกันยุง ที่เหลือนอนเต๊นท์ ซึ่งจะกางบริเวณใต้ถุนอาคาร หรือในบริเวณโรงเรียน กางเอง เก็บเอง เราขนให้ ส่วนห้องสุขา ใช้ห้องสุขาของครูและนักเรียน มีจำนวนมากพอ สุดท้ายคือส่วนอาบน้ำ เราจะทำการดัดแปลงที่แปรงฟันซึ่งเป็นอ่างล้างหน้ายาวมีหลายหัวก็อก โดยเอาผ้าใบมากั้นบังตา ให้เป็นห้องน้ำรวมสำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีห้องน้ำครูใช้อาบน้ำได้

คืนวันที่ 3 สิงหาคม 2555 นอนเต๊นท์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กางเอง เก็บเอง เหมือนเดิม ส่วนห้องน้ำมีของอุทยานประมาณ สิบกว่าห้องเป็นสุขาทั้งหมด เราขอรถสุขาเคลื่อนที่ของเทศบาลมาเสริม ส่วนที่อาบน้ำจะทำการกั้นผ้าใบและใช้น้ำจากรถน้ำใส่ถังสองร้อยลิตรอาบแยกชาย หญิง ควรมีผ้าผลัดอาบน้ำด้วย

คืนวันที่ 4 สิงหาคม 2555 นอนที่อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง) มีบ้านพักขนาดใหญ่สองหลัง จุได้หลายสิบคน แต่ก็คงจะไม่พอที่เหลือจึงนอนเต๊นท์ ส่วนห้องน้ำ ห้องสุขา ของอุทยานมีปริมาณพร้อมรองรับสบายมาก คำถาม “นอนเต๊นท์ถ้าฝนตกทำอย่างไร?” ตอบ “ก็ปิดเต๊นท์ให้ดี แล้วก็นอนฟังเสียงฝนไงครับ” *เราจัดหาเต๊นท์นอนไว้เพียงพอที่จะรองรับคนได้ 300 คน ไม่จำเป็นต้องเอาเต๊นท์มาเองแต่ถ้าอยากเอามาก็ไม่ว่ากันครับ 

ยานพาหนะ รถการเดินทางรับส่งผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  1. ขาไปจากกรุงเทพรถบัส 50 ที่นั่ง พร้อมรถขนจักรยานซึ่งทำมาเพื่อขนจักรยานโดยเฉพาะ จักรยานไม่บอบช้ำ เดินทางออกจาก กทม.สองรอบ
    - รอบแรกออก 05.00 น. วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 จากกรุงเทพฯ – ด่านซ้าย 11.00 น.
    - รอบสองออก 09.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2555 จากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 14.00 น.
  2. ขากลับรถบัส 50 ที่นั่ง สองคัน พร้อมรถขนจักรยาน ออกจากอุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง) 10.00 น. กลับถึงกรุงเทพ 15.00 น. 
  3. อุทยานแห่งชาติรามคำแหง-ด่านซ้าย รถบัส พร้อมรถบรรทุกทหารขนจักรยานส่งถึงด่านซ้าย- รถกระบะเซอร์วิสพร้อมอุปกรณ์ซ่อมจักรยาน ตามขบวน 1 คัน
    - รถตู้ตามขบวน 1 คัน รถพยาบาล 1 คัน โดยความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย
    - รถขนจักรยานขนาดใหญ่ 1 คัน จอดรอที่จุดพักทานข้าวกลางวัน
    - รถบรรทุกทหาร 2 คันเพื่อบรรทุกเต๊นท์ และสัมภาระของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่อยากหรือไม่สะดวกที่จะแบกไปเอง (ล่วงหน้าเข้าที่พักตั้งแต่เช้า)
    -รถกระบะขน น้ำ เครื่องดื่ม อาหารว่าง จอดที่จุดพัก 2 คัน
กฏ กติกา มารยาท 
  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเคารพ ปฏิบัติตามกฎของการจัดระเบียบขบวนตามที่กล่าวมาในหัวข้ออย่างเคร่งครัด 
  • เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร
  • ห้ามดื่มสุรา เบียร์ ไวน์ ตลอดการร่วมกิจกรรม
  • สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เนื่องด้วยเราต้องปฎิบัติภารกิจเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสาธารณะ จึงควรลด ละ เลิก หรือ สูบในสถานที่ที่จัดไว้ให้เท่านั้น 
  • ทิ้งขยะให้ถูกที่ รักษาสภาพแวดล้อมรอบตัวให้อยู่ในสภาพที่ดี ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เช่นน้ำ และไฟฟ้า 
  • พูดจาไพเราะ สุภาพ อ่อนโยน ให้เกียรติ และเป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมทางและสังคมรอบตัว
  • ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น 
  • พร้อมช่วยเหลืองานส่วนรวมของกิจกรรม ปฎิบัติตามภารกิจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรม
  • เด็ก อายุ 7-12 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • เยาวชน อายุ 13-17 ปี เสียค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง
  • ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ..................บาท 
  • นักจักรยานในพื้นที่ที่ขี่ร่วมขบวนไปด้วย ไป-กลับ เองวันต่อวัน และต้องการรับประทาน อาหารในมื้อหลักที่ กิจกรรมจัดหาให้ จ่ายคนละ 50 บาทต่อมื้อ และเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของการจัดกิจกรรมอันเนื่องมาจากการขนส่ง จึงกำหนดโควต้า ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังนี้
    • จักรยานจากกรุงเทพ 80 คัน ไม่นับรวมทีมงาน
    • ทีมงาน 50 คัน
    • จักรยานในพื้นที่ที่ขบวนผ่าน ได้แก่ จ.เลย จ.พิษณุโลก และจ.สุโขทัย ตลอดจนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาและกลับเอง จำนวน 200 คัน
  • เงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์จะนำไปบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้อรถเข็นคนพิการกับสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย 
คุณจะได้อะไรจากการร่วมกิจกรรม 
“เราเชื่อว่า ในราคาค่าใช้จ่ายเท่านี้ กิจกรรม “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” ให้ประสบการณ์ที่ดีที่น่าจดจำ สร้างความภาคภูมิใจกับคุณได้มากกว่า การนำเงินก้อนนี้ไปซื้อหลักอาน หรือ คอแฮนด์เกรดไฮเอ็นด์ มาเปลี่ยนใส่รถจักรยานของคุณแน่นอน ที่สำคัญกิจกรรมนี้จะทำให้จักรยาน และตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีคุณค่า เพราะได้ทำประโยชน์คืนกับสังคมในแบบของคนขี่จักรยานที่ดี แถมยังได้ทำบุญอีกด้วย” 

กำหนดการ มาปั่นให้โลกเปลี่ยน On Tour
วันอังคารที่ 31 กรกฏาคม 2555 “Pre-Trip”
05.00 น. รถทัวร์และรถขนจักรยานออกเดินทางจากกรุงเทพ
11.00 น. รถทัวร์เดินทางมาถึงพระธาตุศรีสองรัก อ. ด่านซ้าย จ.เลย รับประทานอาหาร เดินทางเข้าที่พัก และพักผ่อนตามอัธยาศัย*** รถขนจักรยานเดินทางไปรอที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช
14.00 น. ปฐมนิเทศน์ และจัดกลุ่มที่ รพ. สมเด็จพระยุพราช
16.00 น. Pre Trip ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเมืองด่านซ้าย นำโดยนายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ นำขี่จักรยานท่องเที่ยวเมืองด่านซ้าย สวรรค์ของนักจักรยาน
18.00 น. ขี่จักรยานกลับถึงตัวเมืองด่านซ้าย รับประทานเย็นอาหารร่วมกัน 
 **สำหรับที่พักในคืน Pre Trip ผู้ร่วมเดินทางต้องจัดหาเอง โดยผู้จัดกิจกรรมจะอำนวยความสะดวกให้ เช่น การประสานให้เจ้าของกิจการห้องพัก โรงแรม เกสท์เฮาส์ รีสอร์ทในพื้นที่มอบส่วนลดพิเศษให้กับนักจักรยาน ส่วนเรื่องการขนสัมภาระที่ไม่สามารถขนด้วยจักรยานได้ ระหว่างจุดปล่อยลง-ที่พัก-พระธาตุศรีสองรักในเช้าวันรุ่งขึ้น ให้ใช้รถสามล้อเครื่องท้องถิ่นซึ่งผู้ร่วมเดินทางรับผิดชอบเอง ซึ่งทั้งหมดราคาไม่แพงเลย ทั้งที่พักและรถสามล้อ

วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2555     วันที่หนึ่ง “ด่านซ้าย-น้ำตกปอย” ระยะทาง 86 กม. 
07.00 น. นัดรวมพล
08.00 น. เริ่มออกเดินทางจากด่านซ้าย
12.00 น.รับประทานอาหารที่ร้านอาหารสูตรมะเหมี่ยว ริมแม่น้ำแควน้อย
17.00 น.จักรยานกลุ่มสุดท้ายถึงน้ำตกปอย จ.พิษณุโลก เข้าที่พัก พักผ่อนตามอัธยาศรัย 
18.30 น. รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน 
20.00 น. ร่วมกิจกรรมรอบกองไฟแบ่งปันความคิดเห็น

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2555 วันที่สอง “น้ำตกปอย-น้ำตกสกุโนทยาน-พิษณุโลก” ระยะทาง 70 กม. 
06.00 น. ตื่นนอน อาบน้ำทำธุระส่วนตัว
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า
08.00 น. ออกเดินทางไปยังน้ำตกสกุโณทยาน
12.00 น. จักรยานกลุ่มสุดท้ายถึงน้ำตกสกุโณทยาน รับประทานอาหารเที่ยงตามอัธยาศรัย*
13.00 น. ออกเดินทางจากน้ำตกสกุโนทยาน มุ่งหน้าสู่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก
16.30 น. เข้าที่พัก ที่โรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตก
17.00 น. กิจกรรมสัมมนาและจัดกลุ่ม วันนี้จะมีกลุ่มจักรยานที่เดินทางมาจากกรุงเทพมาสมทบซึ่งจะมาถึงที่พักตั้งแต่ช่วงบ่าย และได้รับการปฐมนิเทศน์และจัดกลุ่มพร้อมรอไว้ก่อนแล้ว
18.00 น. แยกย้ายรับประทานอาหารตามอัธยาศรัย*
20.00 น. พร้อมกันวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อเวียนเทียนรอบโบสถ์พระพุทธชินราชร่วมกัน 

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2555 วันที่สาม “พิษณุโลก-กงไ กรลาศ-อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ระยะทาง 90 กม.
06.00 น. ตื่นนอน อาบน้ำทำธุระส่วนตัว
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า
08.00 น. ออกเดินทางไปยัง อ. กงไกรราช จ.สุโขทัย
12.00 น. เดินทางถึงกงไกรลาศ รับประทานอาหารที่ที่ว่าการอำเภอโดยนายเสกสรรค์ ฉัตรตระกูล นายอำเภอกงไกรราช
13.30 น. ออกเดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
17.30 น. ถึงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กางเต๊นท์ที่พักในอุทยาน
18.00 น. รับประทานอาหารตามอัธยาศรัย* พร้อมทั้งออกไปเชิญชวนให้ชาวบ้านมาขี่จักรยานเวียนเทียนร่วมกันคืนนี้
20.00 น. นัดรวมพลตั้งขบวนเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเวียนเทียนโดยขบวนจักรยาน เนื่องในวันเข้าพรรษาและเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
21.00 น. กิจกรรมสัมมนา แลกเปลี่ยน พูดคุย 

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2555 วันที่สี่ “เมืองเก่าสุโขทัย-อ่างเก็บน้ำคลองข้างใน-อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง)” ระยะทาง 50 กม. 
06.00 น. ตื่นนอน อาบน้ำทำธุระส่วนตัว 
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า 
08.00 น. เที่ยวชมโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 
10.30 น. รับชมรายการ "มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน" ที่ออกอากาศเป็นตอนแรกร่วมกับชาวเมืองเก่าสุโขทัย 11.00 น. รับประทานอาหารกลางวันตามอัธยาศรัย
13.00 น. กลับมารวมกันหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
14.00 น. ออกเดินทางไปอ่างเก็บน้ำคลองข้างใน อ. คีรีมาส จ.สุโขทัย
16.00 น. ถึงอ่างเก็บน้ำ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รับประทานอาหารว่างรองท้อง
18.00 น. ออกเดินทางไปอุทยานแห่งชาติรามคำแหง
19.00 น. ถึงที่พัก ณ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง
20.00 น. รับประทานอาหาร
21.00 น. กิจกรรมรอบกองไฟ 

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2555วันที่ห้า “เดินทางกลับ” 
07.00 น. รับประทานอาหาร 
11.00 น. ออกเดินทางกลับกทม. และ อ. ด่านซ้าย จ.เลย 
16.00 น. เดินทางกลับ โดยสวัสดิภาพ *สำหรับมื้ออาหารที่ให้รับประทานตามอัธยาศรัยนั้น จะปล่อยให้ผู้ร่วมเดินทางทุกท่านเลือกรับประทานในร้านที่ตัวเองถูกใจ ซึ่งผู้ร่วมเดินทางต้องรับผิดชอบค่าอาหารเอง  
-ระหว่างการเดินทางในแต่ละวันจะมีจุดพัก ทุกๆ 20-25 กม. ซึ่งจะมีรถน้ำ และอาหารว่างไว้คอยบริการ -ตลอดเส้นทางจะมีรถพยาบาลจาก รพ. สมเด็จพระยุพราชคอยปิดท้ายขบวน 
-มีรถขนสัมภาระ ซึ่งจะออกเดินทางตั้งแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าไปคอยยังที่พัก ไม่ตามขบวน 
-มีรถตู้และรถกระบะคอยเก็บตกตลอดระยะทาง 
-ตลอดการเดินทางไม่มีรถนำขบวน ไม่มีการปิดเส้นทาง และผู้เข้าร่วมเดินทางต้องรักษากฏจราจร และ ระเบียบวินัยของการเดินทางอย่างเคร่งครัด 
-มีโทรศัพท์ และ วิทยุสื่อสาร อยู่ประจำทุกกลุ่ม 
-ในกรณีที่ต้องนอนเต๊นท์ เราจะจัดหาเต๊นท์ให้แต่ผู้ร่วมเดินทางต้องกางเต๊นท์เอง 
-สำหรับนักจักรยานที่สนใจจะเดินทางไปสมทบในวันที่ 2 สิงหาคม ณ จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการวันแรก จะมีรถบัสปรับอากาศ และรถขนจักรยานบริการจากกรุงเทพ
-ที่พักโรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตก จ.พิษณุโลก ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 07.00 น. สถานที่นัดหมายจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พร่ำเพื่อ




      วันนี้ผมไปเบิกเลือดที่กาชาดชลบุรีและฝ่ากระแสรถติดอย่างบ้าครั่ง นี่แหละครับวันแรงงาน รถติดไม่เฉพาะแต่ชลบุรีที่ฉะเชิงเทราก็ติดมากมาย ตั้งแต่ช่วงเช้าเนื่องจากผู้ศรัทธาในองค์หลวงพ่อพุทธโสธร
 เฉพาะไม่ต้องเทศกาลหรือวันหยุดยาวก็ติดอยู่แล้ว นี่แหละครับความศรัทธา
     ว่ากันต่อครับ หลังจากที่ผมหลุดออกมาจากตัวเมืองชลบุรีได้ และมุ่งหน้าขึ้นถนน มอเตอร์เวย์โดยใช้ความเร็วพอสมควร (130-140 กม/ชม) เนื่องจากกลัวว่าน้ำแข็งที่แช่เลือดจะละลายไปซะก่อนจะถึง รพ รถหนาแน่นพอสมควรเลยต้องใช้ฝีมือเข้าแลก (ไม่ใช่ไม่กลัวนะครับแต่มันจำเป็น) ออกซ้ายออกขวาตามคอนเซ็บที่วางไว้ว่าคนขับรถ รพ. ทุกคนต้องวัดใจและใจถึงเอามากๆโดยมีเสียงด่าไล่หลังที่เราไม่ได้ยินเพราะอาจจะไม่ได้ด่าเราแต่บุพพการีเต็มๆ (ขอโทษพ่อกับแม่นะ หนูอยากให้เขาด่าหนูแทนอ่ะหนูจ่ะไม่โกธรเขาหรอก)
    ป้ายหน้าลงฉะเชิงเทรา เอาวะใกล้ถึงและ ขับตามรถพ่วงไปเรื่อยๆ อ้าวไรเนี่ยรถติดไม่เลิกอีกหรือ เบี่ยงออกขวาชะโงกหน้าไปดู มีรถจอดบังไม่เห็นว่าเขาเป็นไรกันเห็นคนนั่งอยู่ข้างทาง 2-3 คน ชักยังไง ขยับไปอีกหน่อย อ้าวอุบัติเหตุนี่นา สัญชาติกู้ชีพถีบตัวเลยเรา เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน ผ่าหมากไฟกระพริบหลัง จัดเต็ม เบี่ยงออกขวาขวางถนน มีคนเจ็บประมาณ 5-6 คน รถกู้ภัยยังมาไม่ถึงแสดงว่าเพิ่งเกิด บอกพลเมืองดีว่ามีคนเจ็บหนักไหม เคลื่อนย้ายได้ไหมครับ เอาขึ้นรถผมเลยผมช่วยนำส่ง
     แปบนึงชายร่างใหญ่ถูกอุ้มโดยพลเมืองดี 3-4 คน เลือดอาบเต็มหน้า มีบาดแผลที่ท้ายทอยด้วย " พี่ครับ เอาขึ้นมาเลย" หลังจากพาชายคนนั้นขึ้นรถเรียบร้อยแล้ว ยังมีหญิงอีกคนหนึ่ง มีอาการอิดโรยและบาดแผลตามตัวเล็กน้อย ขึ้นมาอีกคนหนึ่ง และหญิงอีก 1 คน ทั้งหมดรวมเป็น 3 ชายคนเจ็บบอกว่าผมหายใจไม่ค่อยออกครับพี่ ผมเลยปิดท้ายรถออกตัวไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด นั่นคือ
รพ บางปะกงปิยะเวช บางวัว
     รถคันนี้ไม่มีเสียงไซเรนมีแต่ไฟฉุกเฉิน ทำให้ผมต้องบีบแตรไปตลอดทางและด้วยถนนที่ขรุขระพอสมควร รถก็เยอะตามเคย ผมต้องขับคร่อมเส้นกลางตลอดเนื่องจากเป็นถนนสองเลน ยัดเกียร์อย่างกับเฉินหลงในหนังเรื่องหนึ่ง ห้อตะบึ่งไปตามเส้นทางที่ไม่ค่อยมีแสงสว่างพอเท่าไหร่ ช่วงกลางของถนนเส้นนี้มีตลาดนัด คนจับจ่า่ยซื้อของมากมายผมต้องระวังเป็นพิเศษ แต่ยังขับอยู่คร่อมเส้นกลางเหมือนเดิม บีบแตรจนคนตกใจ หลบกันเป็นแถว เกือบชนฟอร์จูนเนอร์และและเบียดอีซูซุ (ขอโทษครับพี่มันรีบจริงๆ) ตัดออกถนนบางนา-ตราด จนได้ รพ อยู่ทางขวามือต้องวิ่งสวนทางเขาอีก เอาวะเป็นไงเป็นกัน เรียกประกันเคลีย ผมหนี 55
      เลี้ยวขวาเข้ารพ.จอดหน้าห้องฉุกเฉิน เสียงดังคาราบาว (แอ็ด) พนักงานเปลรีบเข็นรถนอนมารับและเคลื่อนย้ายเข้าห้องฉุกเฉินอย่างโกลาหล   ส่วนผมหมดภาระกิจ ยืนหอบเหนื่อยอยู่ข้างรถพักนึง กู้ภัยที่ไปถึงที่เกิดเหตุก่อนผมออกตัวมาแปบเดียวก็เอาคนเจ็บมาถึง รพ. หลังจากยืนคุยกับน้องกู้ภัยสัพักจึงได้รู้ว่าคนเจ็บเป็นคนเขมรที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย (วันแรงงานไทยก้าวไกลถึงเขมร) เดินทางมาเที่ยววันทะเลวันหยุดเช่นกัน "ขอบคุณมากพี่" "ไม่เป็นไรครับเผอิญผมไปเอาเลือดที่กาชาดชลบุรีผ่านมาเห็นพอดี" (ไทยช่วยเขมรครับน้อง) ผมเดินไปล้างมือที่เปรอะเลือดตอนยกศีรษะชายคนนั้นเคลื่อนย้ายลงจากรถพยาบาล เสื้อผมเปื้อนเลือดนิดหน่อย ไม่เป็นไรจ้างเขาซักอยู่แล้ว
     เหนื่อยครับกับภาวะที่เร่งรีบจริงในการศึกครั้งนี้ แต่ใจพองโต สารภาพครับ ผมเคยดูถูกตัวเองว่าเป็นคนขับรถ"ต่ำต้อย" คนนึงเท่านั้น แต่วันนี้ ผมกลายเป็นคนขับรถที่ไม่ใหญ่แต่ตัวแต่หัวใจใหญ่ขึ้นมาอีกเป็นกองเลยครับ ดีใจหว่ะทำงานโรงพยาบาลได้ตังส์ได้บุญด้วยเว้ยเฮ้ย
จบข่าว 01/05/55
ดีเจ เสนาหอย รายงาน

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

มนุษย์ไม่ได้เป็นเหยื่อของยีนส์..

มนุษย์ไม่ได้เป็นเหยื่อของยีนส์ เราเป็นอย่างที่เรารับรู้

คำว่า “เป็นเหยื่อของยีนส์” สะท้อนทัศนะที่ยึดถือกันมานานว่าร่างกายมนุษย์เป็นเหมือนเครื่องยนต์กลไกชนิดหนึ่งที่ถูกควบคุมด้วยสารพันธุกรรมคือยีนส์และดีเอ็นเอ แต่สำหรับความรู้ทางชีววิทยาใหม่ ทัศนะดังกล่าวกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น “สภาวะแวดล้อมและความรับรู้ของเราเองต่างหากที่กำหนดความเป็นตัวเรา”
นั่นคือสาระใจความสำคัญที่สุดที่ ดร.บรูซ ลิปตัน ศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และชีววิทยาระดับโลก จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา พยายามย้ำบอกในการมาบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2545 หัวข้อเรื่อง Biology of Belief หรือภาคไทยว่า “ชีวฟิสิกส์กระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อความเข้าใจชีวิตและชีวมณฑล”
ดร.บรูซ บรรยายอย่างระเอียดลึกซึ่ง อ้างอิงผลการวิจัย ทดลอง ข้อคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญมากมาย ในที่นี้ เป็นเพียงการหยิบเอาประเด็นสำคัญบางประการมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับผู้อ่านสานแสงอรุณที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมรับฟังในวันนั้น

ทัศนะเก่าที่ใช้ไม่ได้แล้ว
ฐานคิดพื้นฐานทางชีวิทยาแต่เดิมตั้งตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ประการ คือ
  1. กระบวนการทางชีววิทยาดำเนินไปโดยกฎเกณฑ์เดียวกันกับแนวคิดฟิสิกส์แบบนิวตัน
  2. การแสดงออกทางชีววิทยาทั้งหมดถูกควบคุมโดยยีนส์
  3. ความหลากหลายทางชีววิทยาเกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของชีวิตซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีของ ดาร์วินใหม่ ที่เห็นว่ากระบวนการแปลงพันธุ์ของยีนส์เกิดจากปัจจัยภายในยีนส์เองเป็นส่วนใหญ่

ขยายความแนวคิดฟิสิกส์ตามทฤษฎีเกี่ยวกับจักรวาลของนิวตัน (Newtonian Mechanic) บอกกับเราว่า
  1. จักรวาลขับเคลื่อนไปอย่างมีกฎเกณฑ์ตายตัว และจักรวาลหรือทั้งหมดของธรรมชาติประกอบขึ้นด้วยสาร ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากสสาร เป็นทัศนะแบบวัตถุนิยม (Materialism)
  2. การอธิบายปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนสามารถทำได้โดยการถอดชิ้นส่วน แล้วทำความเข้าใจจากชิ้นส่วนอันเป็นองค์ประกอบย่อย ๆ นั้น เพื่อไปอธิบายองค์รวมใหญ่ ในความเป็นมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อถอดชิ้นส่วนอวัยวะร่างกายออกมาดูว่าแต่ละชิ้นทำงานเกี่ยวโยงกันอย่างไรก็จะสามารถอธิบายชีวิตมนุษย์ได้ เป็นทัศนะแบบลดส่วน (Reductionism)
  3. เมื่อรู้ปัจจัยและกฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ เราก็สามารถที่จะแทรกแซงหรือคาดทำนายได้ว่าเมื่อทำอย่างนั้นอย่างนี้จะเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นผลตามมา เรียกว่าเป็นทัศนะแบบมีปัจจัยเป็นตัวกำหนด (Determinism)
ขยายความ ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินใหม่ (Neo – Darwinian) บอกกับเราว่า การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการพัฒนาการของสรรพชีวิตมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ
  1. เป็นขบวนการแปลงพันธุ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีแบบแผน เป็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระดับเซลล์เมื่อมีการผสมหรือสืบพันธุ์
  2. เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติสิ่งที่เหมาะสมหรือแข็งแรงที่สุดจะอยู่รอดได้ ดังนั้น สำหรับการเกิดขึ้นของมนุษย์จึงเป็นอุบัติเหตุของการแปลงพันธุ์ เผอิญเกิดขึ้นในระหว่างขบวนการสืบพันธุ์ ขบวนการผลิตซ้ำของชีวิต ความมีชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไร นอกเหลือไปจากการเป็นเหตุบังเอิญในวิวัฒนาการ
ทั้งหมดนั้น คือรากฐานทัศนะทางวิทยาศาสตร์ ที่กำกับความคิดความเชื่อของมนุษย์มาเป็นเวลาช้านาน และยังคงมีอิทธิพลฝังแน่นอยู่ในวิถีการดำรงอยู่ของผู้คนถึงทุกวันนี้ เป็นไปโดยอัตโนมัติ คือเชื่อตาม ๆ กันมา อย่างแทบจะไม่เคยนึกสงสัยตั้งคำถาม

ทัศนะใหม่ที่เข้าแทนที่
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ความเชื่อตามทัศนะนิวตันดังกล่าวเริ่มถูกเปลี่ยนแปลงจากทฤษฎีใหม่ของควอนตัมฟิสิกส์ ที่มองจักรวาลแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ควอนตัมฟิสิกส์หรือควอนตัมแมคคานิกส์พบว่า
จักรวาลประกอบด้วย “พลังงาน” เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ในโครงการสร้างของอะตอมลึกลงไปเรื่อย ๆ อดทนที่จะเป็นสสารหรืออนุภาคขนาดเล็กวิ่งวนกันอยู่ กลับกลายเป็นไม่มีอะไรอยู่เลย อนุภาคทุกชนิดจะมีการดูดซึมแสงและส่งออกซึ่งคลื่นตามลักษณะที่เป็นเฉพาะของมันเอง การจะเข้าใจว่ามันเป็นอนุภาคหรือสสารชนิดใด รู้ได้จากการตรวจวัดแบบแผนของคลื่นนี้

พร้อมกันนั้น ทัศนะลดส่วนได้ถูกแทนที่ด้วย “ทัศนะองค์รวม” (Holism) ที่ถือว่าองค์ประกอบโดยรวมมีมากกว่าคุณสมบัติของส่วนย่อย ๆ มารวมกัน หรือการรวมกันของส่วนย่อย ทำให้เกิดองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่ของมันขึ้นมาและความเป็นกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวถูกแทนที่ด้วยทัศนะที่ว่า สรรพสิ่งมีความซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก

เมื่อรากฐานทางฟิสิกส์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีววิทยาก็มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย (แม้จะอย่างเชื่องช้ามากก็ตาม) นั่นก็คือ ร่างกายของมนุษย์ที่สุดแล้วไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยสสารแต่ร่างกายของมนุษย์เป็นพลังงาน ในร่างกายของมนุษย์มีแบบแผนของพลังงานในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัลป์พลังงานที่อยู่ภายนอก ทั้งในทางมาพ้องกันเสริมกัน หรือหักล้างกันทำให้เกิดการสูญเสีย

ล่าสุดผลลัพธ์จากการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ไม่นานมานี้ (Human Genome) ได้สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าในร่างกายมนุษย์มีจำนวนยีนส์อยู่เพียง 34,000 ตัว จากที่เคยคาดกันไว้ว่าน่าจะมีอยู่ราว 140,000 ยีนส์ (ตามจำนวนโปรตีนและดีเอ็นเอที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของแม่พิมพ์โปรตีน) จำนวนถึงสองในสามที่คิดว่ามีอยู่แต่กลับไม่ได้มีอยู่นี้ ทำให้ตระหนักกันขึ้นไม่น้อยว่า โดยแท้จริงแล้วภาวะชีวิตของมนุษย์มีคำวามลึกล้ำซับซ้อนยิ่งนัก และเรายังไม่มีคำตอบในความลึกลับนั้น (ที่เคยคิดว่ารู้แล้วเป็นแค่อหังการ) เนื่องจากยีนส์ที่เราคิดว่าเป็นตัวคำตอบมันไม่ได้มีอยู่จริงยีนส์หรือดีเอ็นเอจึงไม่ได้เป็นตัวกำหนดการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ยังมีสิ่งอื่นที่ควบคุมยีนส์อีกทีหนึ่ง

สิ่งนั้นคืออะไร ดร.บรูช เฉลยว่าคือ กระบวนการรับรู้ของเราที่ตอบรับต่อสภาวะแวดล้อมที่มากระทบ
สวิตช์เปิด – ปิดในกลไกการทำงานทางชีววิทยาที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมและแรงขับเคลื่อนไปในทางต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปเฉพาะโดยตัวของมันเอง แต่จะต้องมี”สัญญาณ” จากภายนอกร่างกายมนุษย์มากระทำประกอบด้วยและสัญญาณที่ว่านี้มีได้ทั้งลักษณะที่เป็นสสารและพลังงาน

โดยสัญญาณภายนอกที่จะผ่านเข้าสู่ภายในเซลล์ ต้องผ่านกลไกรับสัญญาณ ส่งผ่านและแปลสัญญาณ ซึ่งอยู่ที่ Cell Membrane หรือเยื่อหุ้มเซลล์ กลไกนี้เปรียบได้กับสวิตช์เปิด – ปิดกลไกการทำงานนั่นเอง เมื่อสัญญาผ่านเข้ามาสู่ภายในเซลล์จะทำให้โปรตีนในเซลล์มีการเคลื่อนไหวไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างและพฤติกรรมต่าง ๆ “สิ่งแวดล้อม” รอบตัวจึงเป็นแหล่งต้นกำเนิดคอยส่งสัญญาณผ่านผัสสะของเรา เกิดเป็น “กระบวนการรับรู้” ที่เป็นตัวกำหนดกลไกทางชีววิทยาทั้งหมด เท่ากับสิ่งแวดล้อมที่เข้ามากระทบชีวิตและการรับรู้ของเรานั้นเองที่เปลี่ยนแปลงกลไกและกระบวนการทางชีววิทยาในตัวตนของเรา

ด้วยการรับรู้ มนุษย์กำหนดชะตาชีวิตของตนได้
การรับรู้ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด บวกหรือลบ จะมีผลต่อกระบวนการทางชีววิทยาของเซลล์ทั้งสิ้น กระทั่งกล่าวได้ว่า ชีววิทยาของเราถูกขับเคลื่อนไปโดยทัศนะความเชื่อของเรานั่นเอง เช่น หากเราเชื่อว่าเราเป็นมะเร็ง การรับรู้และความเชื่อชุดนี้ก็จะไปผลิตกระบวนการทางชีววิทยา เราอาจสร้างมะเร็งขึ้นมาจากความคิดความเชื่อของเราได้

กลไกภายในร่างกายและจิตใจที่ตอบรับต่อการรับรู้ภายนอก จะอยู่ระหว่างสองทิศทางเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คือถ้าไม่เปิดรับเคลื่อนเข้าหาเพื่อนำมาเสริมสร้าง (เติบโต) ก็ปิดตัวเองเคลื่อนหนีเกิดการสูญเสีย(ปกป้อง) ด้วยกลไกดังกล่าวนี้ “ความรัก” จึงเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการเติบโตงอกงามของมนุษย์มากที่สุด ในขณะที่ “ความกลัว” เป็นปัจจัยที่ทำให้ชะงักการเติบโต จากการที่สารเคมีจากต่อมเหนือไตจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวเลือดถูกดึงจากที่ต่าง ๆ ให้ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อแขนขาเป็นพิเศษ  หยุดส่วนของการเติบโตเพื่อมาสร้างการต่อสู้ป้องกันตัวเองหรือวิ่งหนี ฉะนั้นยิ่งเรามีความกลัวมากขึ้นเท่าไร เราก็จะใช้พลังงานในการปกป้องตัวเองมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งเราใช้พลังงานในการปกป้องตัวเองมากขึ้นเท่าไร กระบวนการเติบโตของชีวิตก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

อีกทั้ง ความรับรู้ใหม่ทางชีววิทยาอีกหลายประการ ทำให้เรื่องอุบัติเหตุของการผ่าเหล่าแปลงพันธุ์กำลังถูกรื้อเปลี่ยนมาสู่ทัศนะใหม่ที่เชื่อว่า “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตแท้ที่จริงมันมีวัตถุประสงค์อยู่ภายในตัวของมันเอง” โดยเฉพาะเป็นไปเพื่อการปรับตัวให้ชีวิตสามารถอยู่รอดและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น วิถีที่ดำเนินไปของชีวิตจึงเป็นสัมพันธภาพที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกันของสิ่งแวดล้อม การรับรู้และกระบวนการทางพันธุกรรมในเซลล์
มาถึงตรงนี้ คงไม่ผิดถ้าจะสรุปว่า ความอยู่รอดของชีวิต กระทั่งพันธุ์ของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าเราตกอยู่ในภาวการณ์รับรู้เช่นไรเป็นสำคัญ ชะตาชีวิตไม่ได้ถูกกำหนดล่วงหน้าเอาไว้แล้วในยีนส์(วัตถุสาร) มนุษย์สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ ภายใต้ปัจจัยของสิ่งแวดล้อม การรับรู้ ทัศนคติและความเชื่อ (กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จิต ที่มีสัมพันธภาพกับกายนั่นเอง)

ถ้าเรา รัก มากกว่าที่จะ กลัว ร่วมมือมากกว่า แข่งขัน คิดสร้างสรรค์ มากกว่าที่จะแก่ง แย่งทำลาย สงบเรียบง่าย มากกว่า โหยหา ดิ้นรนไม่หยุดหย่อน ฯลฯ เราก็จะรอดและงอกงาม

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าชาวรุ่น 1



จุดเริ่มต้นของการไปเที่ยวครั้งนี้เกิดจากการที่พรไปทำบุญที่วัดป่าศาลาน้อยพี่ลี่ ขณะที่กำลังนั่งรถไปก็ได้มีการพูดคุยเรื่องไปเที่ยว สถานที่ ที่จะไป จะชวนใครไปบ้าง แต่หลายครั้งที่มีการพูดคุยกันในลักษณะนี้สุดท้ายก็ไม่ได้ไป แต่ครั้งนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะได้ไปจริง ๆ พร้อมสมาชิกกลุ่มที่ร่วมเดินทางวที่ถือว่าสนิทกัน ก่อนไปเราไม่เคยนัดประชุมร่วมกันสักครั้ง ทีแรกก็หวั่น ๆ ใจอยู่ไม่น้อยว่าจะเกิดปัญหาอะไรหรือเปล่า แถมวันที่จะเดินทางฝนก็ตกอีก ปกติก็ไม่ชอบอยู่แล้วที่เวลาเดินทางฝนตกและต้องไปตอนกลางคืนด้วย แต่พอถึงเวลาเดินทางฝนก็หยุดตก ในระหว่างเดินทางไปถึงเชียงใหม่ ไม่มีฝนสักเม็ด 2 วันที่ได้อยู่กับพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ถึงแม้ว่าจะเหนื่อย ร้อน ง่วงนอนแต่ก็มีรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะ เวลาแห่งความสุขช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริง ๆ แต่จะขอจดจำช่วงเวลาดี ๆ ครั้งนี้ตลอดไป

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

โชคดีที่..โชคร้าย

การฝึกงานโรงพยาบาลชุมชนครั้งแรกกับเรื่องเล่าเรื่องแรก ทำให้ได้สัมผัสกับชีวิตที่น่าสนใจมากมาย ก้าวแรกของการดูแล case study ณ. หอผู้ป่วยใน1 เตียงชาย1 กับภาพแรกที่เห็นชายคนหนึ่งอายุประมาณ 40 ต้นๆ นอนอยู่บนเตียงสีหน้าเศร้าซึมดูหงอยเหงาไม่พูดไม่จาและข้างเตียงนั้นก็พบหญิงชราผู้หนึ่งอายุประมาณ 70 กว่าปีซึ่งพอจะเดาออกได้ว่าน่าจะเป็นแม่ของคุณลุงคนนี้ การทักทายได้เริ่มต้นขึ้นจากการเข้าไปซักประวัติและตรวจร่างกาย แต่ผลตอบรับที่ได้คือ การถามคำตอบคำโดยรู้ได้ทันทีว่า คุณลุงยังไม่ไว้ใจในตัวเราและยังไม่กล้าที่จะเล่าเปิดใจในเรื่องที่เกิดขึ้น ความสามารถสูงสุดในตอนนั้น คุณลุงสามารถทำได้แค่ยักไหล่ได้อย่างเดียว ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดที่ว่า จะต้องทำให้คุณลุงช่วยเหลือตัวเองให้ได้ไม่อยากเห็นคุณลุงอยู่ในสภาพแบบนี้ และเมื่อเวลาผ่านไปความไว้ใจก็เริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย คุณลุงเริ่มเปิดใจและถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟังพอได้ใจความว่า

ชายหนุ่มอายุ 40 ปี ที่มีชื่อว่า นายบุญรอด ฤทธิ์ศักดิ์ อาศัยอยู่ที่ บ้านกกโพธิ์กับภรรยาและลูกๆ มีอาชีพ ขายล๊อตเตอรี่ ทำไร่และรับจ้างต่างๆ เป็นคนขยันเอาการเอางานดีเป็นคนรักครอบครัวและมีลูกที่น่ารัก 2 คน คนโตเป็นผู้ชาย อายุ 18 ปี ส่วนคนเล็กเป็นผู้หญิงอายุ 13 ปี ไม่ว่าจะไปไหนจะต้องพามอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายไปด้วยทุกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องราวต่างๆมากมายที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นกับลุงบุญรอด

ปี 2552 ลุงบุญรอดได้แยกทางเดินกับภรรยาโดยมีเหตุผลส่วนตัวจึงทำให้การจากกันครั้งนี้จากกันไปด้วยดี ลุงบุญรอดจึงกลับมาอาศัยอยู่กับบิดามารดาและพี่สาวที่บ้านเกิด บ้านช่างสี่ ส่วนภรรยานั้นได้รับลูกทั้ง2คนไปดูแลและได้มีสามีใหม่พร้อมกับมีลูกใหม่ด้วยกัน1คน ถึงจะแยกทางจากกันไปแล้วแต่ก็ยังมีการติดต่อถามสาระทุกข์สุขดิบกันอยู่เรื่อยๆ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ลุงบุญรอดหมดกำลังใจและสิ้นหวังมีแค่เวลาเท่านั้นที่สามารถเยียวยาชีวิตที่เหลืออยู่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ลุงบุญรอดกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกกครั้งได้เพราะความรักและคำปลอบโยนที่ครอบครัวมีให้จากพ่อ แม่และพี่น้อง ลุงบุญรอดเป็นคนดีไม่กินเหล้าเมายาจึงทำให้เป็นที่รักของญาติพี่น้องและคนในชุมชน

เหตุการณ์กลับตาละปัดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ลุงบุญรอดก็ได้พามอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายออกไปทำงานรับจ้างตามปกติ ในวันนั้นออกไปรับจ้างตัดหญ้าแต่บังเอิญว่า น้ำมันเครื่องตัดหญ้าดันหมด จึงได้ยืมน้ำมันเครื่องของเพื่อนมาใช้ชั่วคราวก่อน หลังจากทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้ขี่มอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายไปหาซื้อน้ำมันเครื่องมาใช้คืนเพื่อน ระหว่างทางนั้นด้วยความที่ประมาทคิดว่ารถไม่เยอะ มือหนึ่งถือถังน้ำมันเครื่องอีกมือหนึ่งบิดคันเร่งมอเตอร์ไซร์ ขับด้วยความเร็วจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ด้วยความแรงของเครื่องยนต์ทำให้รถหลุดโค้ง ลุงบุญรอดได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ มอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายไถลไปทางหนึ่ง ลุงบุญรอดก็ได้กระเด็นออกไปจากรถอีกทางหนึ่งกระเด็นไปอีกฝั่งหนึ่งของถนน หลังจากนั้นก็หมดสติไป ไม่รับรู้เรื่องราวอะไรอีกเลย “ด้วยความโชคดีของลุงบุญรอดมีหมอที่โคกงามคนหนึ่งมาพบร่างของลุงบุญรอดที่นอนหมดสติอยู่จึงได้นำตัวลุงบุญรอดส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลได้ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลเลย แต่ในความโชคดีนั้นก็มีความโชคร้ายแถมมาด้วย หลังจากฟื้นคืนสติ ลุงบุญรอดได้กลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนทันที แพทย์ได้วินิจฉัยว่าคุณลุงเป็น Quadriplegia T2 ลุงบุญรอดนึกคิดเสียใจว่าเพราะมอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายแท้ๆที่ต้องเป็นแบบนี้ ความรู้สึกแรกที่ลุงบุญรอดได้รับ แขนและขาทั้ง2ข้างทำไมถึงไม่มีแรงไม่รู้สึกแม้แต่จะขยับเองยังทำไม่ได้ หยิกก็ไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้ลุงบุญรอด เสียใจ ท้อแท้และคิดถึงแต่อนาคตว่าจะไม่สามารถกลับมาทำงานเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิตทำให้ไม่มีกำลังใจจะสู้ต่อไปอีกแล้ว อารมณ์และความรู้สึกที่รับความจริงไม่ได้ของลุงบุญรอดจึงเหมือนคนขาดสติใช้อารมณ์แทนเหตุผลลงกับครอบครัวทั้งหมด ลุงบุญรอดไม่พร้อมที่จะพบหน้าใคร เอะอะโวยวายกับญาติทุกคนที่เข้าใกล้แม้กระทั่งแม่แท้ๆของตนและจุดเริ่มต้นของกำลังใจก็เกิดขึ้น พี่สาวของลุงบุญรอด คือป้าสุข อาศัยอยู่ อ.ด่านซ้าย เปิดร้านด่านซ้ายเครื่องครัว ข้างวัดโพนชัย จึงเข้าไปอธิบายว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันไม่ถูกต้องทุกคนนั้นเป็นห่วงอยากให้ลุงบุญรอดนั้นปรับความคิดใหม่ และคอยให้กำลังใจเสมอมาและอีกสิ่งหนึ่งที่ป้าสุขเลือกเป็นทางเลือกที่สองที่จะช่วยลุงบุญรอดได้นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ ก็คือเรื่องไสยศาสตร์ เกี่ยวกับการดูหมอดูป้าสุขเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเวรกรรมที่ลุงบุญรอดเคยทำมา

ตอนนี้เป็นช่วงที่ลุงบุญรอดต้องใช้กรรมหนทางที่จะแก้กรรมให้ลุงบุญรอดได้ คือ การเลี้ยงผีตามที่ต่างๆ
ลุงบุญรอดได้นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเลยอยู่เป็นเวลา 20 วัน ตลอดเวลาที่นอนพักรักษาตัวเกิดคำถามขึ้นในตัวลุงบุญรอดมากมาย “ จะหายไหม? จะพิการรึเปล่า? ทำไมต้องเป็นแบบนี้?“ และได้ทำการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดPassive และรับประทานยาที่แพทย์จัดให้ เมื่ออาการเริ่มทรงตัวจึงได้กลับมารักษาตัวต่อเองที่บ้าน โดยอาศัยอยู่กับพ่อ แม่ พี่สาว พี่เขย และหลานชาย ด้วยความที่ครอบครัวไม่ค่อยมีเวลา พี่สาวที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน คือ ป้าบุญแนว มีอาชีพทำไร่ ต้องออกไปทำไร่แต่เช้าและผู้เป็นแม่มีอายุมากแล้วการดูแลจึงทำได้ยากบวกกับไม่มีองค์ความรู้ในการดูแล จึงทำให้เกิดแผลกดทับขนาดใหญ่ติดและเชื้อขึ้นจึงส่งผลให้ลุงบุญรอดมีอาการทรุดตัวลง

เช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ครอบครัวของลุงบุญรอดส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายอีกครั้งเนื่องด้วยสาเหตุที่เป็นแผลกดทับขนาดใหญ่และเกิดการติดเชื้อ แพทย์ได้ทำการตรวจและให้นอนพักฟื้นทันที ลุงบุญรอดจึงต้องกลับมาใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลอีกครั้งด้วยความรู้สึกที่ว่าไม่เต็มใจอยู่เพราะเคยได้กลับไปอยู่บ้านมาแล้วและคิดว่าที่บ้านก็สามารถดูแลตัวเองได้ทำไมต้องมานอนโรงพยาบาลด้วย แต่ด้วยเหตุผลแล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่เพื่อรักษาตนเอง เพราะต้องคอยเฝ้าระวังแผลติดเชื้อ ทำให้กายภาพบำบัดเข้าไปมีบทบาทในการช่วยดูแลฟื้นฟูสภาพลุงบุญรอด ในช่วงแรกๆก็ทำ Passive เพื่อป้องกันข้อติด สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ ท้อแท้ หมดหวังไม่ให้ความร่วมมือ เบื่อหน่าย ทำเพื่อให้เสร็จๆไป จึงกลายเป็นการบ้านชิ้นใหม่ ที่ทำให้ต้องกลับไปคิดทบทวนว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ลุงบุญรอดดีขึ้นและต้องเอาชนะใจลุงบุญรอดให้ได้ การวางแผนการรักษาเริ่มมีการปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากมองเห็นถึงความสามารถที่ลุงบุญรอดน่าจะทำได้บวกกำลังใจเพิ่มเข้าไปอีกนิดอะไรหลายๆอย่างก็น่าจะดีขึ้น มีการเพิ่มความแข็งแรงให้กับแขนโดยการใช้ถุงทรายเป็นตัวช่วย ลุงบุญรอดเริ่มให้ความร่วมมือมากขึ้น ตั้งใจทำ ขยันที่จะทำ สังเกตได้จากสีหน้าและการตอบสนอง ผลที่ได้รับที่เกิดกับตัวลุงบุญรอดเองก็ตามมา ลุงบุญรอดมีสีหน้าที่สดใสและพูดด้วยความดีใจว่า ตนเองสามารถยกแขนได้แล้วและอีกเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะกำลังใจที่มีมาไม่ขาดสายจากคนในครอบครัวจึงทำให้ลุงบุญรอดมีแรงสู้ต่อไป แผนการรักษาก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆหลังจากแขนแข็งแรงมากขึ้นแล้ว ก็เริ่มฝึกนั่งเป็นขั้นตอนต่อไป ลุงบุญรอดพอใจกับการที่ได้ลุกขึ้นนั่งเป็นอย่างมาก จึงพูดด้วยความดีใจว่า” ได้นั่งแล้วดีจังเลย ไม่ต้องมานอนมองแต่เพดาน ได้มองโน่นมองนี่รอบตัวได้บ้าง ชอบๆดีจังเลย ”

ทุกครั้งที่เข้ามาทำกายภาพบัดให้กับลุงบุญรอดนั้น ที่ข้างกายลุงจะต้องมีหญิงชราผู้เป็นแม่คอยดูแลช่วยเหลืออยู่ไม่ห่างถึงแม้จะแก่มากแล้วแต่ยายก็ไม่เคยบ่นสักคำให้ได้ยิน คำพูดของผู้เป็นแม่พูดว่า”ในยามแก่เฒ่าลูกต้องคอยดูแลเลี้ยงดูแม่ แต่ในเวลานี้แม่ที่แก่เฒ่าต้องมาคอยเลี้ยงดูลูกในสภาพแบบนี้ ยายเครียด เสียใจ ที่ต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้แต่ยายจะไม่เสียใจให้ลูกยายเห็นเด็ดขาดเพราะแค่นี้ลูกยายก็เสียใจมากแล้ว ยายเหนื่อยนะที่ต้องมานอนเฝ้าที่โรงพยาบาลแต่เพื่อลูกทั้งคนยายทำได้”น้ำเสียงที่สั่นคอนทำให้รู้ถึงความรักที่บริสุทธิ์ที่แม่มีให้กับลูก ลุงบุญรอดมีการพัฒนามากขึ้น แผลกดทับก็มีอาการดีขึ้น หมอจึงพิจารณาให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้

17 พฤศจิกายน 2554 กับการไปเยี่ยมลุงบุญรอดที่บ้านครั้งแรกหลังจากออกจากโรงพยาบาลเป็นการเดินทางโดยรถกระบะของโรงพยาบาล ทางไปบ้านลุงบุญรอดค่อนข้างจะลำบากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ 2 ข้างทางเป็นภูเขา ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงจึงถึงบ้านของลุงบุญรอด เมื่อถึงที่หมายภาพแรกที่เห็นคือ บ้านไม้2ชั้น ชั้นล่างเป็นที่โล่งกว้างและเปิดเป็นร้านขายของขนาดเล็กๆภายในบ้าน สภาพของของที่ตั้งขายวางไม่เป็นที่เป็นทางและส่วนมากก็เต็มไปด้วยฝุ่นและหยักใย่ บ่งบอกถึงการไม่ได้ใส่ใจดูแลมาเป็นเวลานาน กลางบ้านนั้นก็พบเตียงๆหนึ่งตั้งอยู่ รูปแบบเตียงถูกทำขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะคล้ายกับของโรงพยาบาล มองเหนือจากเตียงขึ้นไปก็จะพบกับเชือกที่ถูกทำขึ้นให้มีลักษณะเป็นรอก ชายหนุ่มที่นอนอยู่บนเตียงค่อยๆหันหน้ามาเมื่อรู้ว่ามีคนมาที่บ้านและรอยยิ้มก็เกิดขึ้นพร้อมกับคำทักทาย ลุงบุญรอดมีท่าทีที่สดใสกว่าตอนอยู่โรงพยาบาลเยอะมาก การดูแลของผู้เป็นแม่และพี่สาวทำให้ลุงบุญรอดพูดด้วยความตื้นตันใจว่า “จะสู้ให้ถึงที่สุด ทุกวันนี้ไม่ท้อและไม่เครียดเลยเพราะมีแม่และครอบครัวที่คอยดูแลทำให้ทุกอย่างทั้งๆที่ตนเองก็อายุขนาดนี้แล้ว”ตอนนี้ลุงบุญรอดสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น สามารถเหนี่ยวเตียงเพื่อพลิกตะแคงตัวได้แบ่งเบาภาระครอบครัวไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว นั่งคุยกันสักพักลุงบุญรอดก็พูดให้ฟังว่า เตียงที่เห็นนี่ก็ทำขึ้นเพื่อเอาไว้เหนี่ยวดึงตัวเองให้พลิกไปมาเองได้เหมือนแบบที่หมอบอก พยายามทำเองจนตอนนี้ทำได้แล้วส่วนเชือกนี่ก็ทำเป็นรอกเพื่อใช้ออกกำลังกายยกแขนยกขาเอง ลุงบุญรอดพูดไปพร้อมกับทำให้ดูด้วยความตั้งใจและทำอย่างมีความสุข

ในอีกมุมมองหนึ่งที่ทำให้เห็นแล้วอดปลื้มใจแทนลุงบุญรอดไม่ได้ หญิงชราผู้เป็นแม่หยิบแก้วน้ำที่รินน้ำให้เต็มแก้วพร้อมกับจับหลอดป้อนให้กับลุงบุญรอดไม่ใช่แค่นั้นแต่ยังเช็ดหน้าเช็ดปากให้เมื่อกินน้ำเสร็จและรอยยิ้มแห่งความสุขก็เกิดขึ้นกับทั้ง2คน เมื่อเห็นภาพเช่นนั้นก็นึกถึงคำพูดคำนึงขึ้นมาทันที “ไม่มีใครที่รัก เราจริงเท่าพ่อ-แม่ของเราหรอก...ถึงเราจะไม่เหลือใครแต่สุดท้ายยังไงคนที่คอยอยู่เคียงข้างไม่ทิ้งเราไปไหนก็คือ พ่อแม่-ของเรา”ทำให้ข้าพเจ้าถึงกับกลั้นน้ำตาแทบไม่ได้ด้วยความตื้นตันใจ

25พฤศจิกายน 2554 ครั้งที่สองของการเยี่ยมบ้านลุงบุญรอดครั้งนี้ ได้พาพี่ไผ่ไปด้วยเพื่อไปเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับพี่ไผ่ว่าเป็นมาอย่างไรพี่ไผ่ถึงเป็นแบบนี้แล้วอะไรที่ทำให้พี่ไผ่มีแรงบันดาลใจที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่เดือดร้อนใคร พร้อมกับให้กำลังใจลุงบุญรอด ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ลุงบุญรอดหันกลับมองเห็นว่าตนเองสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ วันนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของลุงบุญรอดอย่างมาก แว๊บแรกที่เห็นคือสีหน้าที่สดใสและทรงผมทรงใหม่ ลุงหันมามองพร้อมกับทักทายด้วยความดีใจและพูดคุยเล่าให้ฟังว่า “ตนเองดีขึ้นจากเดิมมากให้ตัวเอง40เปอร์เซ็นจากตอนแรกพร้อมทำให้ดูว่าตนเองสามารถยกแขนได้ขนาดไหนแล้ว บอกวิธีที่ทำให้ดีขึ้นจากคำแนะนำเมื่อครั้งก่อนโดยการใช้ขวดน้ำใส่น้ำมาทำแทนถุงทรายยกเพื่อออกกำลังกาย ได้รู้ว่ากายภาพบำบัดคืออะไรสามารถบอกต่อๆให้ญาติฟัง และปฏิบัติได้ไม่ต้องเสียเงินรักษาด้วยเครื่องแพงๆแค่ตั้งใจทำและได้กำลังใจที่ดีแค่นี้ผมก็พอใจแล้ว ผมกลับดีใจด้วยซ้ำไปที่มีแต่คนดูแลและใส่ใจผม คำพูดสุดท้ายที่ทำให้ลุงบุญรอดยิ้มไปทั้งวันคือ ขอบคุณนะครับที่ทำให้ผมดีขึ้นด้วยมือของหมอและมือของผมเองครั้งหน้าก่อนหมอจะกลับถ้ามีโอกาสที่หมอจะมาได้อีกสักครั้ง ผมจะนั่งให้หมอดู“ และนี่แหละเป็นความภาคภูมิใจตามที่ข้าพเจ้าได้ตั้งเป้าหมายไว้ คือ ทำให้ลุงบุญรอดมีอาการดีขึ้นและสามารถเอาชนะใจลุงบุญรอดได้