วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ขาเทียม...ที่ด่านซ้าย


ขาเทียม... ด่านซ้าย

โดย นพ.ภักดี สืบนุการณ์

หลายคนอาจจะแปลกว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย “ทำขาเทียมให้ผู้ป่วยขาขาดด้วยหรือ”  คำตอบก็คือ ทำได้จริงๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ มากกว่า 200 ขาแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีด้านองค์ความรู้และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องจาก รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เริ่มต้นโครงการขาเทียม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ
  1. ทำขาเทียมให้ผู้พิการขาขาดที่ยากไร้ ด้อยโอกาส ด้วยวัสดุภายในประเทศ
  2. ทำขาเทียมให้โดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา
  3. ให้ผู้พิการขาขาดมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอาชีพ



ช่วงแรกอาจารย์เทอดชัยและมูลนิธิขาเทียมฯ ทำงานในพื้นที่ที่มีคนขาขาดมาก บริเวณชายแดนที่มีกับระเบิด แถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สระแก้ว รวมถึงการออกหน่วยทำขาเทียมเคลื่อนที่ทั่วประเทศ หลังจากการทำงานพื้นที่ชายแดนผ่านไปได้ระยะหนึ่งอาจารย์เทอดชัยมองหา “ต้นกล้า” ที่อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนเพื่อถ่ายทอดความรู้การทำขาเทียมให้กระจายตามพื้นที่ต่างๆ 40 แห่งทั่วประเทศ
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย คือ 1 ใน 5 โรงพยาบาลชุมชนรุ่นแรกที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนรู้การทำขาเทียมกับอาจารย์เทอดชัยที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการรับสมัครเจ้าหน้าที่ 2คนที่จะเข้าอบรมเพื่อเรียนรู้การทำขาเทียม นั่นคือคุณอัษฎางค์ อัครสูรย์ และ คุณสุริยา เชื้อบุญมี

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ 2 คนของด่านซ้ายได้รับจากอาจารย์เทอดชัยนั้นคือความรู้ที่อาจารย์เรียนรู้และสังเคราะห์มาทั้งชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย ชัดเจนและยั่งยืน โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นทั้งหมด เป็นเทคโนโลยีที่น่าภาคภูมิใจ ประหยัดได้ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 จากวิธีการทำขาเทียมแบบดั้งเดิม ต้นทุนราคาอันละ 1 พันกว่าบาทเท่านั้น


ขาเทียมด่านซ้าย ทำตอนเช้า ได้เที่ยง
วิธีการทำขาเทียมในประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นการทำวิธีเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว และมีข้อจำกัดที่น้ำหนักมาก ไม่กระชับ ใส่แล้วเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยต้องไปโรงพยาบาล 4-5ครั้ง ตั้งแต่การไปวัดขนาด รอคิว หล่อขา แต่งขา ไปรับขา และไปปรับแต่งขาให้เข้าที่เข้าทาง  ลองคิดดูถ้าชาวบ้านจากอำเภอด่านซ้ายต้องนั่งรถเข้าไปตัวจังหวัดเพื่อใส่ขาเทียมจำนวน 5 ครั้ง จะไปหรือไม่ทั้งๆ ที่ขาขาด เพราะลำพังคนปกติก็เหนื่อยแย่แล้ว  การไปโรงพยาบาลหลายครั้งทั้งๆ ที่ขาขาดทำให้คนที่ใส่ขาเทียมแบบเก่าทนเจ็บจากการใส่ขาเทียม ผลก็คือเอวจะเสีย สุขภาพจิตก็แย่ ช่วยเหลืองานบ้านก็ไม่ได้ ปัญหาคุณภาพชีวิตและครอบครัวก็จะตามมาอีก ดังนั้น กระบวนการทำเขาเทียมคือหัวใจสำคัญ  เริ่มทำตอนเช้าได้เที่ยง(ไม่รวมการแต่งให้สวยงาม)



ช่วงแรกของการทำเขาเทียมที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ด่านซ้าย”ทำขาเทียมได้ ที่สำคัญคือชาวบ้านจะได้ขา และก็ได้จริงๆ ถึงวันนี้ทำไปแล้วมากกว่า 200ขา ทำให้สามารถแบ่งเบาภาระการทำขาเทียมของโรงพยาบาลจังหวัดเลยได้ระดับหนึ่งทีเดียว


จิตอาสา “ทำขาเทียม”
สิ่งมหัศจรรย์ที่ตามมาจากโครงการขาเทียมก็คือ เจ้าหน้าที่ 2คนที่ทำขาเทียมสามารถนำวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจารย์เทอดชัยส่งมาให้ไปประยุกต์ทำอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุแต่ขาไม่ขาดอีกหลายชนิด เช่น รองเท้าผู้ป่วยเบาหวาน แผ่นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยข้อเท้าตก เฝือกอ่อนแก้ข้อเท้าผิดรูปในเด็ก อุปกรณ์เสริมช่วยผู้ป่วยอัมพาต




นอกจากนี้ เมื่ออาจารย์เทอดชัยมีออกหน่วยจิตอาสาจะนำเจ้าหน้าที่ 2 คนของด่านซ้ายไปด้วยซึ่งมีข้อดีคือเจ้าหน้าที่ได้ไปฟื้นฟูความรู้กับอาจารย์และเพิ่มประสบการณ์ทำขาเทียมตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึงไปต่างประเทศ 4ครั้งคือ แขวงจำปาสักประเทศลาว รัฐซาราวัค เกาะบอร์เนียว และเมือง ปีนังประเทศมาเลเซีย และล่าสุดไปกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
การเรียนรู้อย่างเข้าใจ ทำด้วยใจ และตั้งใจลงมือทำ คือความสำเร็จขาเทียม... ด่านซ้าย

1 ความคิดเห็น: