วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"เยี่ยมบ้านหลังเดิม"


ตามคำบอกเล่าของ คุณตาสมเดช สิงห์ประเสริฐ อดีตครูใหญ่โรงเรียนด่านซ้ายและข้าราชการบำนาญ คนเก่าแก่ของพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า ด่านซ้ายอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดเลยดินแดนแห่งสัจจะและไมตรีมีพื้นที่ 1731.89 ตารางกิโลเมตร ประชากรประกอบอาชีพ เกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนส่วนมากโรคที่เกิดขึ้นจะเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยที่ว่าด่านซ้ายมีความนับถือผีโดยมีเจ้าพ่อกวนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นล้วนมาจาก ผี ไม่ว่าจะเป็น ผีปู่ ผีย่า ผีป่า ผีดง ผีโพง ผีโพงเป็นผีประเภทเดียวกับผีกระสือแต่จะไม่ถอดหัวเหมือนผีกระสือ ออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของผีโพงคือ กบ เขียด ใช้วิธีจับมาดูดเมือกกินและถ้าบ้านไหนมีการคลอดลูกก็จะมียามคอยสังเกตเนื่องจากผีโพงจะแบบคนทั่วไปแต่จะมีแสงสว่างเล็กๆอยู่ที่ปลายจมูก
สมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านจะมีหมอยาม (จับยามสามตา) ดูว่าผีตนไหนทำซึ่งจะมีหมอว่าน (หมอสมุนไพร) เป็นผู้รักษา โดยหมอว่านมีการถ่ายทอดวิชาสืบกันมาเป็นรุ่นๆในตระกูลนั้นๆ ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น เป็นโรคที่ถือว่าน่ากลัวที่สุด ชาวบ้านเชื่อว่าผีเข้า จะมีการนำสมุนไพร รากไม้มาฝนกับหิน ใส่น้ำและพ่นเข้าไปที่ตัวหรือใช้แส้เฆี่ยนเพื่อที่จะให้ผีออก ที่น่ากลัวลงมาอีกก็คือ โรคฝีใน (ไส้ติ่งอักเสบ) ใครเป็นตายอย่างเดียว และยังมีไข้สันนิบาตที่ทำให้ตัวร้อนสูง การรักษาโดยส่วนใหญ่จะใช้สิ่งที่หาได้จากธรรมชาติเนื่องจากไม่มีสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อย่างถ้าเป็น นิ่ว ก็ให้ใช้ เม็ดฝ้ายตำผสมกับโคนผักหนาม โปะตรงสะดือจะช่วยขับนิ่ว และนอกจากนี้ยังมีหมอเอ็นที่ใช้วิธีการนวดเพื่อรักษาและนวดให้อายุยืนอีกด้วย
แต่หลังจากที่มีความเจริญเข้ามาในด่านซ้าย สถานีอนามัยชั้น 2 เกิดขึ้นตามนโยบายของทางรัฐบาลในสมัยนั้นและโดยเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน คือ อนามัยอำเภอและผดุงครรภ์ ในสมัยก่อนคนที่จะมาเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยจะต้องเรียนจบ ป.6และไปเรียนสายสาธารณสุขอีก 1 ปี 6 เดือน ถึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ การรักษาส่วนมากจะเป็นการรักษาเบื้องต้นเท่านั้น ตรวจเสร็จให้ยากลับบ้าน มียาอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น ยาควินิน ใช้รักษาไข้จับสั่นโดยเฉพาะ ยากฤษณาจัน ใช้รักษาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟื้อ ท้องร่วง ชาวบ้านเริ่มมารักษาที่สถานีอนามัยเพราะรักษาดีกว่าหมอผี เห็นผลไวกว่าและส่วนมากหมอผีรักษา ตายมากกว่าอยู่ (หายยาก) มีการฉีดยาทางเส้นเลือดจนชาวบ้านบางคนถึงกับโกธรถ้าหมอไม่ฉีดยาให้ เพราะฉีดแล้วหายดีหายเร็ว เมื่อก่อนไม่มีเครื่องตรวจที่ทันสมัยอย่างทุกวันนี้จะมีก็แต่การจับชีพจรและมีเครื่องตรวจโรคก็คือหูฟังที่เอาไว้วินิจฉัยโรคต่างๆ พูดถึงโรคเบาหวานในสมัยก่อนคนยังไม่รู้จักกันเท่าไหร่ ด่านซ้ายคนที่เป็นโรคเบาหวานคนแรกชื่อ นายบ่าว พ่อเจ้าของร้านหมูย่างบ้านหัวนายูง และต้องเดินทางไปรักษาตัวที่พิษณุโลกแต่ละครั้งใช้เวลาเดินทาง 3 วันแต่ก็ไม่ได้ตกใจอะไร แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่รู้จักโรคนี้จึงไม่ได้สังเกตกันเท่าไหร่ ส่วนมากปวดฉี่ตรงไหน ก็ตรงนั้นเลยไม่ได้สังเกตว่ามดขึ้นหรือเปล่าจนทุกวันนี้ถ้าถามว่าด่านซ้ายบ้านไหนมีคนเป็นโรคเบาหวานเยอะสุดตอบได้เลยว่า บ้านหัวนายูงนี่เอง ส่วนคนที่เป็นโรคความดันก็ไม่ได้ตกใจอะไรเพราะเป็นแล้วไม่ตาย แต่ถ้ามีอาการหนักก็จะต้องส่งตัวเข้าไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 วัน และต้องไปพักค้างแรมที่อำเภอภูเรือก่อน (ระยะทางประมาณ 82 กิโลเมตร 200 กว่าโค้ง)
ต่อมาในปี พ..2508กระทรวงสาธารณสุขได้ให้งบประมาณในการก่อสร้างสถานีอนามัยชั้น 1 โดยก่อสร้างที่สถานีอนามัยชั้นสองเดิมแต่เนื่องจากไม่มีแพทย์มาประจำ จะมีแพทย์จากจังหวัดมารักษาสัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น คนด่านซ้ายเลยลงขันหาทุนส่งนักเรียนไปเรียนแพทย์ในปี พ.. 2510 แต่เนื่องจากด่านซ้ายไม่มีโรงเรียนมัธยมในขณะนั้น ทางจังหวัดจึงได้คัดเลือกและส่งนายแพทย์ สมัคร ศรีจริยา คนจังหวัดเลย นักเรียนทุนอำเภอด่านซ้ายเข้าเรียนและกลับมาใช้ทุนที่ด่านซ้ายและต่อมาได้ยกฐานะเป็นศูนย์แพทย์และอนามัยและโรงพยาบาลตามลำดับ
และในปี พ.ศ. 2520 ทางรัฐบาลได้พิจารณาสร้างโรงพยาบาลอำเภอขนาด 30 เตียง ในท้องถิ่นทุรกันดารเพื่อถวายเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรสของพระบรมโอรสาธิราชฯ นายแพทย์ยงยุทธ สัจวานิชย์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น พร้อมด้วยกรรมการ จัดหาสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้มาตรวจคัดเลือกสถานที่ก่อสร้าง เห็นว่าอำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอที่อยู่ในเขตทรุกันดาร จึงได้พิจารณาและเลือกอำเภอด่านซ้ายเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยบาลสมเด็จพระยุพราช 1 แห่งในจำนวน 21 แห่ง และสั่งให้ทางจังหวัดและอำเภอจัดหาสถานที่สร้างใหม่เพราะสถานที่เดิมไม่เหมาะสมและมีที่ดินเพียง 3 ไร่เท่านั้น
ดังนั้น นายแพทย์อุเทือง ทิพรส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลยขณะนั้น พร้อมด้วยนายอำเภอด่านซ้าย เรือตรีไพเวศ เศรษฐประนัยน์ ได้ร่วมกันจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างได้จำนวน 37 ไร่ ซึ่งเป็นที่สาธารณสุข 21 ไร่ และราษฎรบริจาคให้อีก 16 ไร่ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายในปี 2520 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2522
ผู้อำนวยการคนแล้วคนเล่าเปลี่ยนหน้ากันมาแล้วก็จากไป บ้างอยู่เพียงช่วงสั้นๆไม่มีใครอยู่ได้นานเกิน 4 ปี...
ความเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลตึกเดียวขนาด 30 เตียง เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เมื่อนายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ หรือคุณหมอจิ๋ว มารับหน้าที่ผู้อำนวยการคนใหม่ ซึ่งขณะนั้นทั้งโรงพยาบาลไม่มีหมอ เนื่องจากขอย้ายกันไปหมด จนได้ชื่อว่าเป็นแพทย์ที่อยู่นานมากที่สุด และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับโรงพยาบาลมากที่สุด
หลังจากใช้เวลาเพียง 2-3 ปีที่ด่านซ้าย ผอ.คนใหม่ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เป็นที่กล่าวขวัญถึงเมื่อได้รับรางวัลมากมาย ตลอดจนได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ในปี พ.ศ. 2548 พร้อมกับได้รับการคัดเลือกเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในปีเดียวกัน
ความสำเร็จของการทำงานด้านสุขภาพในจังหวัดเลยทุกวันนี้ เป็นการต่อยอดความพยายามของคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ที่บุกเบิกทำงานในคร้งที่ อำเภอด่านซ้าย และจังหวัดเลย เต็มไปด้วยความขลาดแคลนในด้านต่างๆ มากมาย
แต่คนทำงานบุกเบิกในยุคแรกก็ไม่ได้ย่อท้อต่อความขลาดแคลนและความยากลำบาก ผลแห่งการทำงานนั้นจึงทำให้คนรุ่นหลังเดินบนเส้นทางสุขภาพได้ยาวนานมาจวบจนวันนี้
จาก หนังสือ สุขศาลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 14 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น