ประวัติและผลงาน
นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย
ประวัติส่วนตัว
เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายวินัยและนางสมศรี สืบนุการณ์ ข้าราชการบำนาญ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2506 ภูมิลำเนาจังหวัดนนทบุรี มีพี่ชาย 1 คนคือ นพ.เชวงศักดิ์ สืบนุการณ์ เป็นศัลยแพทย์กระดูกและข้อ(แพทย์ขอนแก่น รุ่น 7) มีน้องชาย 1 คน นายรังสี สืบนุการณ์ วิศวกรไฟฟ้า และมีน้องสาว 1 คน คือ รศ.ทพญ.ดร.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ เป็นอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมรสกับ พญ.ทิพพาวดี สืบนุการณ์(สกุลเดิม นิตติวัฒน์ แพทย์รามา รุ่น 20) อายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย มีบุตร 2 คนคือ เด็กชายเวทิต และ เด็กหญิงเวธินี
ประวัติการศึกษา
- จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ.2519 และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น ในปีพ.ศ.2524 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(แพทย์ขอนแก่น รุ่น 9) สอบอนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกันได้ในปี พ.ศ.2535 ในปี พ.ศ.2538 เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี
ประวัติการทำงาน
หลังจากจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้เลือกทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลภูเรือ จังหวัดเลย หลังจากมาอยู่อำเภอภูเรือได้ราว 10 เดือน เกิดเหตุสู้รบที่สมรภูมิร่มเกล้าทางราชการต้องการแพทย์ไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลนาแห้ว จึงได้อาสาสมัครไปช่วยงานนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาแห้ว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นสู้รบในสมรภูมิร่มเกล้า หลังจากอยู่โรงพยาบาลภูเรือ 2 ปี ในปี พ.ศ. 2532 ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งเดิมเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง และทำงานมาจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2537 ได้อาสาสมัครไปช่วยราชการที่ รพ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือนเนื่องจากสาเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
เกียรติประวัติส่วนตัว
แพทย์ชนบทดีเด่นของกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูนเกษร โดยมูลนิธิแพทย์ชนบท พ.ศ. 2534
รางวัลพระราชทาน ”คนไทยตัวอย่าง” เสนอโดยมูลนิธิธารน้ำใจ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ พ.ศ. 2537
รางวัลพระราชทาน “ศิษย์เก่าดีเด่น” มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2540
รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ.2547
รางวัล “ASIA - PACIFIC AWARD FOR COMMITTED MEDICAL DOCTOR” of underprivileged area จากที่ประชุม ASIA – PACIFIC ACTION ALLIANCE FOR HUMAN RESOURCE FOR HEALTH (AAAH) BALI. INDONESIA 4-6 OCTOBER 2010
- ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และเสนอชื่อเข้ารับรางวัลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขดีเด่น (Nominated for Special Recognition Award for dedicated service in health) ในการประชุม Second Global Forum on Human Resources for Health 25–29 January 2011
เกียรติประวัติโรงพยาบาล
พ.ศ.2537 ได้รับรางวัลโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชก้าวหน้าดีเด่นจากมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
พ.ศ.2538 ได้รับเงินบริจาคเพื่อจัดสร้าง อาคารเชวง–ไน้ เคียงศิริ มูลค่า 12 ล้านบาท จากคุณไพศาลและคุณเพ็ญศรี สุขุมพานิช เพื่อใช้เป็นอาคารเวชกรรมฟื้นฟูและหอผู้ป่วยหลังคลอด
พ.ศ.2538 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง โดยการพึ่งตนเอง
พ.ศ.2542 ได้การรับรองคุณภาพมาตรสากล ISO9002 โดยบริษัท BVQI
พ.ศ.2548 ได้รับการรับรองการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล(HA) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(HPH) จากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล(พรพ.)
พ.ศ.2549 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดภูมิทัศน์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
พ.ศ.2550 ได้รับการรับรองคุณภาพการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล(HA)ตามมาตรฐานโรงพยาบาล
บริการสุขภาพฉบับเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปีจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล(พรพ.)
พ.ศ.2550 ได้รับรางวัลการดูแลเบาหวานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น จากสมาคมผู้ให้ความรู้เรื่อง
โรคเบาหวานซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัล Terumo Diabetes Patient Care Team Award
พ.ศ.2552 ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการพยาบาล NQA จากสภาการพยาบาล
พ.ศ.2552 ได้รับเงินบริจาคเพื่อจัดสร้างอาคารเพ็ญศรี-ไพศาล สุขุมพานิช มูลค่า 8 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นอาคารเวชปฏิบัติครอบครัวและทันตกรรม
พ.ศ.2553 รางวัลเชิดชูเกียรติ Humanized healthcare Award ระดับองค์กร จากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.)
พ.ศ.2553 รางวัลเชิดชูเกียรติ Healing Environment Award ระดับองค์กร จากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.)
ผลงานด้านวิชาการ
1. งานวิจัยการประเมินภาวะขาดสารไอโอดีนในประชากรอำเภอด่านซ้าย ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การเภสัชกรรมในปี พ.ศ. 2540 และดำเนินการวิจัยอีกครั้งในปี พ.ศ.2546 โดยร่วมกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นการวิเคราะห์ภาวะขาดสารไอโอดีนใน หญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิดและเด็กวัยเรียน เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันภาวะขาดสารไอโอดีน โดยเฉพาะในทารกแรกเกิดซึ่งมีผลต่อ การพัฒนาการสมองเด็ก
2. งานวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาบ้านด่านซ้าย นาเวียง และนาหอ ลุ่มน้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พ.ศ.2546 หัวหน้าโครงการ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษา รศ.ดร.มรว.อคิน ระพีพัฒน์ รศ.ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช รศ.ปรานี วงษ์เทศ หัวหน้าคณะวิจัย นพ.ภักดี สืบนุการณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ การฟื้นฟูสำนึกร่วมของผู้คนในสังคมท้องถิ่น โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้คนมีความรักท้องถิ่น มีการสืบทอดวัฒนธรรมและปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปเป็นแนวทางในการจัดระบบการดูแลสุขภาพของชุมชน
หนังสือและบทความที่นำเสนอผลงาน
หนังสือ ผีกับพุทธ ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้าย ดุลภาพทางจิตวิญญาณในสังคมลุ่มน้ำหมัน พ.ศ.2548
หนังสือการ์ตูน ผีตาโขน สนุกสนานวันบุญหลวง พ.ศ.2550
หนังสือ ที่แห่งนี้รักษาด้วยความสุข โดยคุณ อรสม สุทธิสาคร พ.ศ.2551 “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ทุกมิติคืองานเพื่อสุขภาพ”
วารสาร โรงพยาบาลชุมชน ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2552 “มากกว่าความเป็นโรงพยาบาลที่ด่านซ้าย”
นิตยสาร สารคดี ปีที่ 26 ฉบับที่ 309 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 “เมืองจักรยานที่ด่านซ้าย”
วารสาร ผีเสื้อขยับปีก ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 พ.ศ.2553 คอลัมน์ ปอกเปลือกความคิด “นพ.ภักดี สืบนุการณ์ หมอธรรมดาที่ไม่ธรรมดา”
หนังสือ ชวน ชิม ชา(SHA) ที่ด่านซ้าย บทสังเคราะห์การถอดบทเรียนการพัฒนาคุณภาพที่ยั่งยืน โดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) พ.ศ.2554
55555555555คุนจิ๋วครับผมชื่นชมในตัวคุนและลูกคุน hj
ตอบลบดีครับคุนจิ๋วว
ตอบลบ