วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความเข้าใจท้องถิ่นอย่างคนใน..โดย หมอจิ๋ว


การเห็นคุณค่าความรู้ในตัวคนและการนำมาใช้ในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม
ด้วยความเข้าใจท้องถิ่นอย่าง “คนใน”

การทำงานในท้องถิ่น หมายถึง การแสวงหาวิถีทางที่จะเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับท้องถิ่นอย่างแท้จริง พร้อมกับทำกิจกรรมด้านสาธารณสุขร่วมกับชาวบ้านด้วย
การดำเนินกิจกรรมสาธารณสุขที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลและความรู้ ความคิด จากคนภายนอกท้องถิ่น(กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ) ที่เปรียบได้เสมือน”นก” ลักษณะการมองของนกล้วนมองจากที่สูงและมองได้อย่างกว้างๆ หาแลเห็นสิ่งที่เป็นรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนไม่ ดังเห็นได้ว่าเวลาจะพูดอะไรเสนออะไรก็พูดได้รวมๆ และหยิบยกสิ่งเด่นๆ มาอย่างมีการวิเคราะห์ตีความด้วยกรอบความรู้และแนวคิดทฤษฎี แต่ถ้าได้มีการพัฒนาการได้รับข้อมูลและความรู้ ความคิดจากคนภายในท้องถิ่น ก็เปรียบได้เหมือนกับ”หนอน” นั้นคือ การเข้าใจพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นแผ่นดินเกิดมาตั้งแต่เล็กจนโต อยู่กันอย่างเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชนที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดบ้านช่องที่อยู่อาศัย การทำมาหากินร่วมกันในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมีสถาบันทางศาสนาและความเชื่อ และรวมไปถึงระบบการดูแลสุขภาพกันเองภายในท้องถิ่น จะก่อให้เกิดกิจกรรมที่มีลักษณะของการบริการที่มีหัวใจของการเป็นมนุษย์มากขึ้น
ท้องถิ่นเป็นพื้นที่ซึ่งคนในสังคมท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดและสร้างอะไรต่ออะไรในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน จึงเป็นเรื่องของคนจากภายในที่จะรู้ความเป็นมาและขอบเขต ตลอดจนการขนานนามของสถานที่และพื้นที่สาธารณะ เช่น ป่า เขา ทุ่ง หนอง คลอง และแม่น้ำ รวมไปถึงบรรดาโบราณสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การกำหนดท้องถิ่นจากคนภายในดังกล่าวมานี้ ทำให้แตกต่างไปจากพื้นที่ทางราชการ ที่มีการสร้างขึ้นมาจากรัฐและส่วนกลาง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งมีการมุ่งหมายเพื่อการบริหารและการปกครองเป็นสำคัญ

ท้องถิ่นที่เป็นการสร้างขึ้นโดยคนภายใน จึงเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เป็นธรรมชาติ เพราะเกิดมาจากความต้องการที่จะอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่เป็นเหล่าของมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์สังคม ในขณะที่ท้องถิ่นที่เกิดจากการบริหารการปกครองที่มาจากภายนอกนั้น เป็นการจัดตั้งและบังคับที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้คนในสังคมท้องถิ่น ไม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของการรวมกลุ่มของมนุษย์ แต่ปัจจุบันคนทั่วไปยังเข้าใจผิดว่า บรรดาหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของคำว่า “ ชุมชน ” และ “ ท้องถิ่น ” กัน

ความแตกต่างระหว่างท้องถิ่นที่มาจากการกำหนดของคนในสังคมท้องถิ่น กับท้องถิ่นที่กำหนดจากทางราชการที่มาจากภายนอก ก็คือ “โครงสร้างทางสังคม” (social structure) โครงสร้างสังคมของท้องถิ่นที่เกิดจากภายใน จะมีลักษณะเป็นแนวนอนที่แสดงถึงความเสมอภาค คือ ผู้คนในท้องถิ่นมีสถานภาพเท่าเทียมกันหมด ความเหลื่อมล้ำจะมีก็อยู่ที่เรื่องของอาวุโสและความรู้ความสามารถของบุคคลที่สังคมยกย่อง ในขณะที่โครงสร้างสังคมของท้องถิ่นทางราชการ จะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปีรามิด ที่มีลำดับความสำคัญสูงต่ำลดหลั่นกันลงมา เพราะเป็นสิ่งที่ผูกพันกับอำนาจการปกครองของรัฐ ทำให้เกิดความแตกต่างกันในเรื่องของสถานภาพ ผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลและชี้แนะจากองค์กรที่จัดตั้งโดยทางราชการ แทบไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและริเริ่มแต่อย่างใด

ถ้าหากผู้มีอำนาจในองค์กรเป็นคนที่มาจากที่อื่น ก็อาจใช้ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์และเร่งรัดเอาเปรียบผู้คนในชุมชนได้ อย่างไรก็ตาม ในกระแสของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ครอบงำประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะสร้างทัศนคติที่เป็นปัจเจกให้แก่ผู้นำและผู้มีสถานภาพในองค์กรที่จะคิดจะทำอะไรเพื่อตัวเองและพรรคพวกมากกว่าการจะทำให้กับส่วนรวม ยิ่งกว่านั้น การดำรงอยู่ขององค์กรชุมชนที่จัดตั้งโดยทางราชการนี้ กำลังสร้างความเหลื่อมล้ำและแปลกแยกกับผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่กินลึกลงไปจนถึงระบบครอบครัวและญาติพี่น้อง นั่นคือ ทำให้เกิดคนสองพวกขึ้นในเวลาเดียวกัน

พวกแรกคือ คนที่มีชีวิตอยู่ตามแบบประเพณีเดิม ไม่โลภ และคิดอะไรยังสัมพันธ์กับการอยู่รวมกันอย่างเสมอภาค ส่วนพวกหลังคือพวกมีสำนึกเป็นปัจเจก รอบรู้ ทันโลก มักเป็นพวกที่มีโอกาสฉวยโอกาสสร้างความร่ำรวยและมีอำนาจในทางที่เอารัดเอาเปรียบพวกแรก ซึ่งกลายเป็นคนด้อยโอกาสไป โดยเหตุนี้เมื่อทางรัฐมีการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ เช่น ผันเงินไปช่วยชาวบ้านหรือจัดทำโครงการในการพัฒนาใดๆ ผลประโยชน์มักตกไปอยู่กับบุคคลประเภทหลัง ดังได้กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น

ทำนองตรงข้าม โครงสร้างสังคมที่เกิดขึ้นจากการอยู่รวมกันและคนรวยในท้องถิ่นตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้น เป็นโครงสร้างที่ไม่มีการให้อำนาจเด็ดขาดแก่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดในองค์กรชุมชน และผู้ที่เป็นสมาชิกขององค์กรก็ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความเป็นผู้รู้และผู้มีคุณธรรม มักประกอบด้วยบุคคลหลายประเภทที่มีบทบาทในสังคมท้องถิ่น อันได้แก่พระสงฆ์ ผู้เฒ่าผู้อาวุโส ผู้มีความรู้ในอาชีพต่างๆ แล้วจึงมาถึงผู้ที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครูโรงเรียนและคนรุ่นหนุ่มสาว ที่รักจะทำอะไรเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะพระสงฆ์นั้นสำคัญมาก มักได้แก่พระสงฆ์ที่เป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดของชุมชนและเป็นพระอุปัชฌาย์แก่คนในท้องถิ่นที่เป็นผู้ชาย ส่วนผู้อาวุโสก็จะได้แก่ผู้รู้ในเรื่องประเพณีพิธีกรรม ประวัติความเป็นมาของชุมชนหรือผู้ที่มีฐานะดี ประสบความสำเร็จในอาชีพและหน้าที่การงาน บุคคลเหล่านี้ เป็นที่รู้จักยอมรับกันในด้านการมีคุณธรรมและศีลธรรม ไม่มีความโลภทางวัตถุอันใด อยู่ในฐานะที่ชี้แนะและสั่งสอนให้ความรู้และทิศทางที่ดีแก่ผู้คนในสังคมได้ตลอดเวลา

ในขณะที่ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน ก็มักเป็นคนในท้องถิ่นที่มีสำนึกในเรื่องของส่วนรวม มักไม่ถือตัวว่ามีอำนาจและมีหน้าที่ทางราชการ คนเหล่านี้มารวมตัวกันเป็นองค์กรที่จะทำอะไรเพื่อส่วนรวมและความยั่งยืนของผู้คนในชั้นลูกชั้นหลาน ไม่มีใครมีอำนาจเต็มในองค์กร แต่จะประชุมปรึกษาหารือร่วมกันและตัดสินใจร่วมกันเป็นสำคัญ องค์กรชุมชนจากโครงสร้างสังคมที่มาจากการอยู่ร่วมกันของคนภายในของท้องถิ่นดังกล่าวนี้ อยู่ในสภาพที่เสื่อมถอย เพราะการรุกล้ำของอิทธิพลการจัดการทางเศรษฐกิจการเมืองที่ผ่านเข้ามาทางองค์กรชุมชนที่รัฐจัดตั้งขึ้น

การหายไปหมดไปขององค์กรชุมชนธรรมชาติและโครงสร้างสังคมที่เน้นความเสมอภาคอันมีมาแต่เดิมนั้น ย่อมเป็นอันตรายแก่ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะในกระแสของความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกที่เป็นโลกาภิวัตน์นั้น จะไม่มีอะไรที่เป็นกลไกในการปรับระดับสังคมให้เกิดการดำรงอยู่อย่างมีดุลยภาพและเข้มแข็งแก่คนทั่วไปที่ด้อยโอกาสได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ “กระบวนการท้องถิ่นวัฒนา” (localization) ที่สามารถปรับเปลี่ยนสังคมท้องถิ่นให้ทันโลกทันสมัยจะไม่มีวันเกิดขึ้น

ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน หาขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปตามโครงสร้างชุมชนทางราชการที่รัฐเป็นผู้กำหนดและจัดตั้งขึ้นเท่านั้นไม่ เพราะจะทำให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบและแตกแยกทางสังคมระหว่างคนฉวยโอกาสและคนด้อยโอกาสลงไปจนถึงชุมชนท้องถิ่นในระดับรากหญ้า หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นและสนับสนุนให้ชุมชนในท้องถิ่นได้พัฒนาตัวเองจากภายในให้เกิดมีสำนึกท้องถิ่นและองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่มีมาแต่เดิม มาเป็นกลไกที่จะสร้างดุลยภาพกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองที่มาจากภายนอก

ความเข้าใจท้องถิ่นอย่างคนใน จะทำให้การทำกิจกรรมสาธารณสุขร่วมกับกับชาวบ้านเป็นไปอย่างธรรมชาติ ที่หลากหลายในกิจกรรม เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ และมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ซึ่งก่อให้เกิดการสื่อสารที่เป็นธรรมชาติ ระหว่างผู้คนในท้องถิ่นกับคนที่จะไปทำงานในในท้องถิ่นนั้น ทั้งหมดจะกลายเป็น “ทุนทางสังคม” ที่มีคุณค่ามากกว่าทุนทุกประเภท


หมายเหตุ
ปรับปรุงจาก รายงานการวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาบ้านด่านซ้าย นาเวียง และนาหอ ลุ่มน้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย” เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พ.ศ.2548 หัวหน้าโครงการ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษา รศ.ดร.มรว.อคิน ระพีพัฒน์ รศ.ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช รศ.ปรานี วงษ์เทศ หัวหน้าคณะวิจัย นพ.ภักดี สืบนุการณ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น