การเรียนรู้และเข้าใจท้องถิ่นอย่างคนในคือหัวใจของการพัฒนา
ผมทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายมา 22 ปี หลังจบจากโรงเรียนแพทย์ แพทย์ส่วนใหญ่จะต้องไปใช้ทุนตามโรงพยาบาลที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งส่วนมากก็จะแย่งกันอยู่ในโรงพยาบาลใกล้เมือง อาจเป็นเนื่องจากคนที่เรียนแพทย์ในเมืองไทยมาจากครอบครัวคนชั้นกลางขึ้นไป ครอบครัวไม่อยากให้ลูกลำบากต้องไปอยู่ตามชายแดน และมีค่านิยมว่าต้องเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง อาชีพแพทย์ในเมืองไทยยังเป็นสิ่งที่นักเรียนชั้นมัธยมปลายใฝ่ฝันที่อยากจะเข้าเรียน เนื่องจากเมื่อจบแล้วมีรายได้มาก ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นหน้าเป็นตาให้ครอบครัว ดังนั้นเมื่อเป็นแพทย์ใช้ทุนครบสามปีแล้วก็มักจะย้ายออกจากพื้นที่เพื่อไปเรียนต่อ จึงทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ซ้ำซากในโรงพยาบาลที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ตัวผมเองก็มีเคยความรู้สึกเช่นนี้
เมื่อไปทำงานที่ด่านซ้าย ผมมีความรู้สึกยากลำบากในการทำงาน เป็นเรื่องของการขาดอุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากร อาคารสถานที่ และงบประมาณ ในการรักษาพยาบาล ซึ่งผมคิดว่าเป็นเหตุที่ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ย้ายหนีจากโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร แต่การรับรู้เรื่องราวของชาวบ้านทำให้ความรู้สึกยากลำบากของผมลดลง เช่น กว่าครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านที่ด่านซ้ายต้องใช้เวลาเดินทางถึงโรงพยาบาลมากกว่า 1 ชั่วโมง ถนนจากด่านซ้ายไปยังโรงพยาบาลจังหวัดเลยมี 255 โค้ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของด่านซ้ายเป็นภูเขา ผมเคยเห็นคนไข้ยอมตายอยู่ที่โรงพยาบาลเพราะไม่ต้องการไปรักษาไกลบ้าน จึงได้กลับมาทบทวนว่าเราโชคดีกว่าชาวบ้านมาก ถ้าเราไม่พอใจเราก็ย้ายออกได้ แต่ถ้าชาวบ้านไม่พอใจโรงพยาบาลเขาไม่สามารถย้ายหมู่บ้านของเขาได้ ในขณะเดียวกันเราก็รับรู้ถึงความเอื้ออาทรของคนในชนบทด่านซ้าย ในขณะที่เราทำงานสาธารณสุขภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด หลายครั้งที่ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการบริการที่ผิดพลาดของผม เขาก็ไม่โทษผม เขามีความศรัทธาต่อตัวผมในขณะที่ผมยังไม่ได้ทำอะไรให้เขามากเลย เมื่อผมเริ่มเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น ผมรับรู้ถึงความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อแพทย์และโรงพยาบาล เห็นศักยภาพของความเป็นแพทย์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชาวบ้านที่ด้อยโอกาส เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเริ่มต้นคิดที่จะทำโรงพยาบาลให้ดีขึ้น คนไข้ที่ไม่ควรเสียชีวิตก็ควรจะรอด ควรจะรักษาโรคที่หายได้ให้หาย ไม่เลือกปฏิบัติกับชาวบ้าน ทั้งหมดเป็นความรับรู้ในช่วงที่เป็นแพทย์ 3 - 4 ปีแรกของผม จึงทำให้ผมไม่ไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง
บุคลากรของโรงพยาบาล เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ หลายคนมาใช้ทุนและมีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน จึงทำงานอยู่ร่วมกันที่ด่านซ้ายอย่างมีความสุข บางคนอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เหตุที่เราอยู่กันได้นานเนื่องจากเรามีโอกาสที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนมากเคยทำงานเป็นอาสาสมัคร นักกิจกรรม สมัยที่เรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนรู้ที่สำคัญของเราคือการเรียนรู้ท้องถิ่น ซึ่งที่อำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอเก่าแก่ ประชาชนมีความเชื่อและศรัทธาต่อทั้งศาสนาพุทธและสิ่งเหนือธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะก็คืองานประเพณีบุญหลวง ซึ่งหลายคนรู้จักกันในนามงานผีตาโขน เมื่อศึกษาแล้วพบว่างานประเพณีดังกล่าวเป็นงานที่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แบ่งปันกัน ไม่ทอดทิ้งกันของคนในชุมชน และยังแสดงการเคารพอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เรามีประเพณีปฏิบัติให้บุคลากรใหม่ของโรงพยาบาลทุกคนจะต้องเข้าไปนอนในหมู่บ้านที่ห่างไกล เพื่อที่จะให้รับทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในปัจจุบันรูปแบบการเรียนรู้ท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญของงานบริการปฐมภูมิ
เราจัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนแรกก็คิดว่าจัดระเบียบการรักษาพยาบาล แต่กลับกลายเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้สูงอายุ และเป็นแรงบันดาลใจให้เรานำการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ในโรงพยาบาล ผมถามผู้สูงอายุว่าต้องการอะไรจากโรงพยาบาล เขาตอบว่าอยากได้คนไปดูแลคนพิการ อัมพาตที่บ้าน ผมก็กลับมาคิดว่าผมไม่ค่อยเห็นผู้ป่วยอัมพาตมาโรงพยาบาล แต่เมื่อตามไปเยี่ยมที่บ้านก็พบผู้ป่วยอัมพาตที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จำนวนมาก รอวันตายอยู่ที่บ้าน จึงคุยกับกลุ่มผู้สูงอายุว่าถ้าเราอยากมีนักกายภาพบำบัดจะช่วยโรงพยาบาลได้ไหม ชาวบ้านด่านซ้ายตกลงรวบรวมเงินวันละ 1 บาทต่อครอบครัว เป็นเวลา 1 ปี ได้เงินมากว่า 300,000 บาท จัดตั้งเป็นกองทุนดูแลสุขภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ เมื่อก่อนพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนไม่ค่อยได้ทำงานเยี่ยมบ้าน และไม่มีตำแหน่งนักกายภาพบำบัด ผมนำเงินกองทุนไปจ้างนักกายภาพบำบัดและพัฒนาระบบพยาบาลเยี่ยมบ้าน เราจึงเป็นโรงพยาบาลชุมชนรุ่นแรก ๆ ที่มีนักกายภาพบำบัด ทำให้เรามีช่องทางเรียนรู้ชาวบ้านมากขึ้น ตอนแรกนึกว่าชาวบ้านลำบากมากแล้ว แต่เมื่อมีระบบการเยี่ยมบ้านก็เห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่มากมายหลายเท่า จึงกระตุ้นให้ทำกิจกรรมที่หลากหลายต่อมา เช่น เราส่งลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นที่ทำงานมา 20 ปี ไปฝึกอบรมการทำขาเทียมจาก มูลนิธิขาเทียมและกลับมาจัดตั้งหน่วยขาเทียมของโรงพยาบาล นอกจากช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้พิการชาวด่านซ้ายและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจแก่บุคลากรของเราด้วยการเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิขาเทียมไปออกหน่วยให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทั้งในและต่างประเทศเป็นประจำ
ในขณะที่กำลังพัฒนางานบริการ เราพบข้อจำกัดด้านบุคลากร เราจึงสร้างระบบหาคนในท้องถิ่น หาสถานที่เรียน หาทุนให้เรียน และรับกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลโดยให้ค่าตอบแทนที่เพียงพอให้ครอบครัวเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้ครอบครัวเห็นคุณค่าของการศึกษา ในบางครั้งเราต้องจ้างพวกเขาเป็นพนักงานชั่วคราว แต่เขามีคุณค่าที่โดดเด่นเรื่องความรักความเข้าใจท้องถิ่นดีกว่าตัวผม แม้ว่าโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายจะอยู่ชายแดน ทุรกันดาร แต่ปัจจุบันเราไม่ขาดแคลนบุคลากรเลย
ความผูกพันของผมกับชาวบ้านมีมากขึ้น ผมก็อยากพัฒนาคุณภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการให้มากขึ้น ความตั้งใจที่เราอยากให้ชาวด่านซ้ายได้รับการดูแลที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ จึงมีการแสวงหาความร่วมมือจากหลายเครือข่าย โรคซับซ้อนบางอย่างน่าจะรักษาที่ด่านซ้ายได้ เช่น โรคต้อกระจก เพราะการส่งต่อไปที่โรงพยาบาลจังหวัดซึ่งมีจักษุแพทย์เพียงคนเดียว กว่าจะได้ผ่าตัดคนไข้ก็ตายแล้ว เป็นความโชคดีที่เราได้รู้จักกับ นพ.วีรพันธ์ ธนาประชุม จักษุแพทย์ของโรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ท่านมาช่วยผ่าตัดต้อกระจกทุก 3 เดือนเป็นเวลา 16 ปีแล้ว นับถึงวันนี้ผ่าตัดไปได้ 1,000 กว่าราย การจัดคลินิกโรคหัวใจ โดย นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายรุแพทย์โรคหัวใจ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ได้มาเป็นอาสาสมัครตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาของโรงพยาบาล และสามารถค้นหาผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังศูนย์โรคหัวใจโดยตรง ลดจำนวนครั้งการเดินทางของผู้ป่วยที่ต้องไปตรวจที่ศูนย์โรคหัวใจซึ่งอยู่ห่างไกลถึง 300 กม. นอกจากนี้ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาให้บริการในลักษณะจิตอาสา เช่น โรคกระดูกและข้อทุกเดือน โรคจิตเวชทุกเดือน แม้บุคลากรของเราต้องทำงานมากกว่าโรงพยาบาลชุมชนอื่นก็ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ ผู้ป่วยหลายคนก็เป็นญาติพี่น้องกับบุคลากร เขาก็เหมือนได้ดูแลญาติพี่น้องตนเอง
เมื่อผมอยู่นานขึ้นก็มองเห็นว่าบุคลากรในโรงพยาบาลมีความสามารถที่หลากหลายมากกว่าวิชาชีพที่เขาเป็น ถ้าเราส่งเสริมให้เขาทำกิจกรรมที่เขารักและมีความสุขน่าจะดี ได้ให้โอกาสเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และใช้ศักยภาพของตน แสดงออกได้อย่างอิสระ จึงเกิดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและสร้างความผูกพันให้คนในองค์กรและชุมชน เช่น โครงการหนังสือเล่มแรกของหนู กิจกรรมสันทนาการและกีฬาในโรงเรียนประถมศึกษา ค่ายเยาวชนเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ค่ายศิลปะเด็ก ค่ายดนตรีสากล ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น จึงทำให้ทุกคนมีคุณค่าในองค์กร และการทำงานที่โรงพยาบาลมีความหมายต่อชีวิตเขา
การดำเนินงานสาธารณสุขที่ผ่านมา ได้รับข้อมูล ความรู้และความคิด จากคนภายนอกท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะการมองจากมุมที่สูงและมองอย่างกว้างๆ ไม่เห็นสิ่งที่เป็นรายละเอียด ที่ละเอียดอ่อน เวลาจะพูดหรือนำเสนออะไรจึงพูดเป็นภาพรวมๆ และหยิบยกสิ่งที่เด่นๆ มาวิเคราะห์ตีความ ด้วยกรอบความรู้และแนวคิดทฤษฎีที่มาจากภายนอกท้องถิ่น บางครั้งกลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนา
แต่เมื่อเราได้เข้าไปเรียนรู้และเข้าใจท้องถิ่นอย่างคนใน ได้ศึกษาพื้นที่ทางวัฒนธรรม อันเป็นแผ่นดินเกิดของคนภายในท้องถิ่นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่เล็กจนโต การอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทร การทำมาหากินที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความเป็นชุมชนที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ มีสถาบันทางศาสนา ความเชื่อ และมีระบบการดูแลสุขภาพกันเองภายในท้องถิ่น ทำให้เราได้สัมผัสและรับรู้ข้อมูลที่ลึกซึ้งอย่างคนในท้องถิ่น จะทำให้หัวใจของเราเปิดกว้าง มีมุมมอง แนวคิด ที่จะสร้างระบบบริการสุขภาพชุมชนหรือดำเนินงานสาธารณสุขที่สอดคล้องต่อความต้องการและวิถีชีวิตท้องถิ่น ทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ ผมอยากเห็นคนที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะด้านใด เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ขาดโอกาส เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ได้พึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน และใช้ศักยภาพของตนเพื่อผู้อื่นสักช่วงหนึ่งของชีวิต
ขอขอบคุณคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สอนให้ผมเป็นแพทย์ นพ.ทวีศักดิ์ เจ้าสกุล อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลยที่ชักชวนและแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย นพ.ธวัช จายนียโยธิน อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ชี้แนะว่าศักยภาพของแพทย์อย่างผมสามารถทำประโยชน์แก่ท้องถิ่นได้มากโดยที่ไม่ต้องไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงานของผมตลอดมา ครอบครัวคุณไพศาลและคุณเพ็ญศรี สุขุมพานิช ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอาคาร ครุภัณฑ์การแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลสามารถสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์สอดคล้องต่อความต้องการของท้องถิ่น ขอบคุณกัลยาณมิตรที่เป็นเครือข่ายสนับสนุนกิจกรรมของโรงพยาบาล ขอบคุณคนด่านซ้ายและบุคลากรโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายที่ให้โอกาสผมได้ทำงานร่วมกัน และสุดท้าย ขอขอบคุณ พญ.บุษกร อนุชาติวรกุล อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ที่เสนอชื่อให้ผมเข้ารับการคัดเลือกแพทย์ชนบทดีเด่นในครั้งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น