วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554



“เอ๋ย” ฐาปนี อินแผลง พยาบาลจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเรียนจบเอ๋ยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ จากงานที่หนักมากเอ๋ยจึงอยากหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลาย

ด้วยความรักในศิลปะ เอ๋ยอยากเรียนวาดรูปแต่เวลาเรียนตรงกับเวลาทำงานจึงไม่สามารถเรียนได้ บังเอิญน้องสาวเธออยากเรียนไวโอลินเอ๋ยจึงเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนบ้าง ระหว่างเรียนเอ๋ยเล่าให้ฟังว่าเจ็บนิ้วมาก แต่มีเด็กคนหนึ่งที่เรียนไวโอลินเหมือนกัน และเล่นได้เพราะมาก เธอเลยต้องอดทนไม่ยอมแพ้ เอ๋ยชอบเพลงบรรเลง โดยเฉพาะเสียงเปียโนและไวโอลิน “เสียงมันซึ้งดี” เธอบอก แต่เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีห้องซ้อมดนตรี เธอแอบซ้อมเป็นประจำในห้องตรวจที่กลางคืนไม่ได้เปิดให้บริการ หลังจากผ่านไป 1 ปี เธอก็สามารถเล่นไวโอลินได้

เอ๋ยมีความกังวลในการออกหน่วยเพาะกล้าตาโขนน้อยครั้งแรก ที่บ้านหินแลบ อ.ด่านซ้าย กลัวเล่นไม่ได้ เด็กฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ได้รับกำลังใจจากพี่ ๆ ในทีม เอ๋ยสีไวโอลินอย่างชำนาญและให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสและลองจับ “กีต้าร์น้อย” ด้วย รอยยิ้มของเด็ก ๆ ทำเอา เอ๋ย ยิ้มแก้มปริ มีกำลังใจเต็มเปี่ยม

แค่เด็กๆ รู้จักว่ามันคือไวโอลินหนูก็ดีใจแล้ว ถ้ามีเวลาหนูไปอีกแน่นอนและหนูจะให้น้องเขาได้รู้จักกับเครื่องดนตรีที่หนูชอบ บางทีอาจจะมีเด็กๆ ชอบมันขึ้นมาจริงๆ และคงจะเล่นได้อย่างหนูบ้าง ดีใจค่ะที่ได้ไปเพาะกล้าตาโขนน้อย ”

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วันที่ไร้ Microsoft offce




หลังจากเรียนจบคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2539 ผมกลับมาประจำปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอด่านซ้าย พี่สมศักดิ์ นักวิชาการสาธารณสุขขอย้ายกลับบ้านที่ผาขาว ผมก็ก้าวขึ้นรั้งตำแหน่งนักวิชาการมือวางอันดับหนึ่งของอำเภอด่านซ้ายแทน แหม..ฟังดูแล้วเหมือนจะเท่ห์ดีนะครับ นักวิชาการของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จะว่าไปก็เปรียบเหมือนงานของเสนาธิการครับ คิด วางแผน จัดการต่างๆ เป็นมือซ้าย มือขวาของสาธารณสุขอำเภอ บางทีก็ควบตำแหน่งผู้ช่วยไปด้วย

คอมพิวเตอร์ยุคนั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานสาธารณสุขพอสมควรครับ โดยเฉพาะงานเอกสาร จำได้ว่าก่อนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ลงกระดาษไข แล้วเอาไปโรเนียวอยู่เลย โปรแกรมสำหรับพิมพ์งานในคอมพิวเตอร์ยุค 486 DX4100 ที่ฮิตๆ คงไม่พ้น จุฬาเวิร์ด หรือไม่ก็ราชวิถีเวิร์ด ซึ่งผมได้หัดใช้สมัยที่เรียนปี 1 แต่หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็มีความก้าวหน้าขึ้นมาก เปลี่ยนจากระบบ DOS เป็น windows 3.11 รุ่นที่ติดตั้งด้วยแผ่น Floppy disk 11 แผ่น พอดีระบบวินโดว์เข้ามาโปรแกรมเอกสารอย่างจุฬาเวิร์ดกลายเป็นของที่ล้าสมัยไปซะแล้วครับ หน่วยงานสาธารณสุขในยุคนั้นจึงเริ่มมีการนำโปรแกรมพิมพ์เอกสารมาใช้อย่าง AMIPRO ซึ่งรันบนวินโดว์ มีรูปร่างหน้า ที่น่าใช้กว่าบน DOS เยอะ การจัดหน้า พิมพ์หนังสือตราครุฑ ฯลฯ สาระพัดประโยชน์ครับ เรียกได้ว่าทั้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัยในยุคนั้น แห่งที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ต้องติดโปรแกรมนี้กันงอมแงม..


แต่โลกของไอทีไม่เคยหยุดนิ่งครับ ในขณะที่ทุกคนติดกับ amipro ผมกลับมองว่าอนาคตของ amipro ไม่น่าจะไปได้นานนัก เพราะสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย อ.ผมเคยบอกว่าให้จับตาไมโครซอฟท์ไว้ ซึ่งในระหว่างเรียนผมก็ได้ใช้โปรแกรม Microsoft word 6 อยู่แล้วและคิดว่าดีกว่า amipro ที่ใช้กันอยู่ในตอนนั้น จึงเสนอให้มีการเปลี่ยนโปรแกรมพิมพ์เอกสารเป็น word 6 แน่นอนครับว่า..เสียง(บ่นด่า) ตอบรับดีมาก

word 6 ในยุคนั้นยังคงมีปัญหาเรื่องการบริโภคทรัพยากรค่อนข้างมาก และมีอาการค้างบ่อยๆทำให้คนใช้หงุดหงิดใจได้พอสมควร แต่เวลาก็ช่วยเยียวยาทุกสิ่ง หลังจากที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่นานทุกคนก็เริ่มชินกับการใช้งาน และทิ้งความทรงจำเกียวกับ amipro ไว้เบื้องหลัง

ในยุคระบบปฏิบัติการที่เปลี่ยนจาก windows 3.11 เป็นวินโดว์ 95 วินโดว์ 98 โปรแกรมสำนักงานชุดใหม่ที่ออกมาให้ใช้กันคือ Microsoft office 97 ซึ่งถือว่าเป็นจุดพลิกผันของวงการสาธารณสุขทีเดียวเพราะมีโปรแกรมฐานข้อมูลหลายตัวที่เขียนจาก Accress 97 โดยเฉพาะโปรแกรมสำคัญอย่าง HCIS ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายและยาวนาน..หลายปี แต่สารภาพตรงๆ ผมใช้ HCIS แค่ 3 เดือนเท่านั้นเอง..


คอมพิวเตอร์ในยุคหลังๆ ก้าวกระโดดเร็วมากครับ ตัวโปรแกรม Microsoft office ก็มีการเปลี่ยนจาก office 97 เป็น office 2003 ตามระบบปฏิบัติการที่เปลี่ยนจาก windows 98 เป็น Widows Me และ Windows XP ที่เป็นยุคเฟื่องฟูของ Mocrosoft เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ XP และ office 2003 มาให้เรียบร้อย ใช้กันเพลินเลยละครับ เพราะโปรแกรมใช้งานค่อนข้างง่ายและมีความคุ้นเคยกันมาเป็นอย่างดี จนผมเคยคิดว่าก็ไม่น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะงานเอกสารเท่าที่ทำกันทุกวันนี้มีคนว่ากันว่ายังใช้ไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ของศักยภาพที่มันมีเลยด้วยซ้ำไป..




แล้วเกิดอะไรขึ้นละครับ..
ปัญหามันเกิดขึ้นมาจาก วันหนึ่งอยู่ผมก็ได้รับไฟล์งานเอกสารที่ดาวโหลดจากอีเมล์เป็นไฟล์แปลกๆ นามสกุล docx เปิดจากโปรแกรม office 2003 ก็ไม่ได้ ทำให้ถึงบางอ้อว่าเป็นคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ใช้ office 2007 กันแล้ว

จะด้วยความสวยงาม หรือเหตุผลใดก็แล้วแต่ office 2007 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าตาเมนูในโปรแกรมไปมากพอสมควร หลายๆคนที่คุ้นเคยกับ office 2003 ต่างพากันบ่นอุบว่าใช้ยาก หาเมนูก็ลำบาก ฯลฯ



แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ของแบบนี้ไม่ลองฝึกบ่อยๆ ก็คงไม่เป็น นี่ก็เห็นว่า office 2010 โผล่หน้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์บางเครื่องกันแล้ว.. แม้จะยังไม่มาก แต่การเปลี่ยนแปลงโปรแกรมใช้งานคงไม่ใช่ปัญหา เพราะผมมีประเด็นหลักสำคัญๆ ที่ต้องคิดมากกว่าคือ ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์

ผมเคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโปรแกรม Microffice เป็นโปรแกรมปลาดาว มาแล้วครั้งนึง ซึ่งตอนนั้นปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์เริ่มประทุขึ้นมาอีกครั้ง จนมีการพยายามที่จะให้ลีนุกซ์ทะเล และ ปลาดาว เป็น OS และโปรแกรม office ระดับชาติ..แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบหายไปกับลมปาก และดากเหม็นๆของนักการเมือง..

จนกระทั่งถึงวันนี้.. มีคนพูดบ่อยๆว่า เรื่องจับลิขสิทธิ์มันจริงเหรอ ก็เห็นขู่กันมาหลายครั้งแล้ว ใช้พวก open source แล้วจะยุ่งยากกว่าเดิม ที่อื่นยังไม่เห็นมีใครเปลี่ยนกันเลย ฯลฯ

อย่าถามผมครับว่าทำไมอยากเลิกใช้ Microsoft office และเปลี่ยนเป็น open source ..

จริงๆ ผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ
บริษัทตรวจจับลิขสิทธิ์ก็ยังไม่เคยเข้า
รพ.อื่นๆในจังหวัดเลยหรือที่ไหนๆ ก็ยังไม่เห็นมีใครเขาขยับมาทำเรื่องนี้กันจริงๆ จังๆ.
คนในโรงพยาบาลก็ใช้งาน Office 2003-2007 กันได้คล่องดี ไม่มีปัญหาอะไรด้วยซ้ำ

แล้วทำไมยังต้องเปลี่ยน..หาเรื่องลำบากให้ตัวเองแท้ๆ..


แต่ถ้าจะถาม..

ถามผมยังงี้ดีกว่าว่า....... ทำไมถึงเลือกใช้ LibreOffice ใช้แล้วมีปัญหาอะไรไหม๊ มีการเตรียมตัวของคนในองค์กรอย่างไร ฯลฯ...

แต่ถึงจะอธิบายอย่างไรคุณก็อาจจะยังไม่เข้าใจอยู่ดี จนกว่าคุณจะได้ลองใช้เองจริงๆ





วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“ความสุขจากการให้”

ก่อนจะจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา เธอไปข้อโควตา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สาขาการโรงแรมและท่องเที่ยว เธออยากเป็นไกด์ และอยากพูดได้หลายภาษา แต่อาการเมารถทำให้เธอต้องเปลี่ยนมาขอโควต้าเรียน พยาบาล กับโรงพยาบาลในท้องถิ่นของเธอ และเธอก็ได้รับโอกาสนั้น(เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไปถึงมีโอกาสได้รับการพิจารณา) จากทางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย

พี่แจ่ม หรือ ศิริพร สิทธิ์ศักดิ์ เล่าให้ฟังว่าเริ่มบริจาคโลหิตตั้งแต่อายุ 18 ปี เพราะอยากพิสูจน์ว่าจะเป็นคนขี้โรค ไม่แข็งแรง ไม่อ้วน เหมือนที่เขาพูดกันหรือเปล่าและได้ยินทางโรงพยาบาลประกาศว่าคลาดแคลนเลือด เธอกับเพื่อนประมาณ 6-7 คนจึงชักชวนกันมา หลังบริจาคเสร็จเธอลุกออกจากเตียงอย่างทะมัดทะแมง แต่อยู่ๆขาก็อ่อนลงจนคุณหมอคว้าไว้แทบไม่ทัน นี่เป็นเหตุการณ์ที่เธอไม่มีวันลืม ตั้งแต่นั้นมาทุกๆสามเดือนเธอก็บริจาคมาตลอด จนตอนนี้ 35 ครั้งแล้ว เป็นบุคลากรที่บริจาคโลหิตมากที่สุดในโรงพยาบาล เธอแต่งงานในปี 49 และหยุดบริจาคไประยะหนึ่ง เธอกำลังจะได้เป็นแม่คน แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นกับเธอ ลูกเธอคลอดก่อนกำหนดด้วยน้ำหนัก 1,500 กรัมในอายุครรภ์ 7 เดือน เธอต้องพาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัดเนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนของโรคเยอะ คุณหมอเจ้าของไข้บอกว่าต้องทำใจหรือถ้ารอดมาได้ก็น้อยมากที่เด็กจะสมบูรณ์ กว่าสามเดือนที่เธอต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด และเธอก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ พี่แจ่มบอกว่าเหมือนมี ปาฏิหาริย์เกิดกับเธอ และครอบครัว ลูกของเธอตอนนี้น่ารักและปกติเหมือนเด็กทั่วๆไปทั้งที่ต้องบอกว่ามีโอกาสแค่หนึ่งในหลายพันก็ตาม

“บุญจากที่เธอเป็นฝ่ายให้ เธอได้รับคืนกลับมา และเธอยังก็จะเป็นฝ่ายให้ต่อไป

เพราะทุกหยดทำให้ชีวิตกลับมาเป็นชีวิตได้อีกครั้ง”

“ความสุข…กับรอยยิ้มของเด็กๆ”

เด็กผู้หญิงคนหนึ่งจากบ้านนาอ้อ จ.เลย คนนี้เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมอยู่แต่ในตัวจังหวัดเลย การสอบติดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา สาขา พยาบาลเทคนิค จึงเหมือนเป็นการเปิดโลกกว้างให้กับเธอ หลังจากเรียนจบ เจมส์ เข้าทำงานในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จากนั้นลาไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา เจมส์ บอกว่าชีวิตตอนเรียนนั้นสนุกมากและยังได้เพื่อนมาอีกเพียบ ปี 2547 หลังจากเรียนจบประกาศนียบัตร พยาบาลวิชาชีพ เจมส์กลับมาทำงานอีกครั้งโดยประจำที่หอผู้ป่วยหลังคลอด

บ้านน้ำเย็น เป็นบ้านแรกที่เธอออกไปทำกิจกรรมกับ รพร.ด่านซ้าย ทำให้ เจมส์ รู้ว่าการที่ชาวบ้านจะเดินทางมาหาคุณหมอได้นั้นมันลำบากเกินบรรยายจริงๆ ด้วยความที่ เจมส์ เป็นคนรักเด็ก จึงสนใจร่วมกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ “เพาะกล้าตาโขนน้อย” (ต่อยอดจากโครงการหนังสือเล่มแรก) ก่อนออกเธอจะถามทุกครั้งว่าหมู่บ้านที่เราจะไปกันนั้นมีเด็กกี่คน “หนูจะได้เตรียมอาหารไปเผื่อเด็กๆด้วย” (เงินส่วนตัว) ต่อมา เจมส์ ได้รับโอกาสให้เป็นทีมนำในการออกกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ “เพาะกล้าตาโขนน้อย” ครั้งแรกของเธอทำเอาพี่ๆที่ไปด้วยรีบคว้าไมค์จากเธอมาแทบไม่ทัน เจมส์ ไม่ย่อท้อฝึกอ่านนิทานจนเดี๋ยวนี้เล่าให้เด็กฟังได้คล่องปรื๋อ และยังเพิ่มการออกเยี่ยมแม่หลังคลอดในหมู่บ้านซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นงานประจำของเธอที่โรงพยาบาลอีกด้วย เจมส์ แต่งงานตั้งแต่ปี 49 จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีทายาทให้ชื่นชม เพื่อนหลายคนบอกว่าให้ เจมส์ ทำบุญกับเด็กเข้าไว้เผื่อบุญจะได้ส่งเสริม แต่ เจมส์ บอกว่าการที่เธอไปออกกิจกรรมทำให้เธอมีความสุข ที่ได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆ และดีใจที่ได้ทำตรงนี้มากกว่าที่จะคิดเรื่องลูก

เจมส์ หนึ่งใน จิตอาสา ที่ทำเพื่อเด็กๆให้ได้รับความสุขจากสิ่งที่เธอทำมากกว่าจะหวังผลในสิ่งอื่น

การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว




ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ซึ่งจะเริ่มเปิดจดทะเบียนได้ตั้งแต่ัวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ถึง 14 กรกฎาคม 2554
  1. นายจ้างจะต้องมายื่นคำร้องขอจ้างคนต่างด้าว(แบบ ท.ต.1) ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 ที่เป็นที่ต้องของสถานที่ทำงาน
  2. ยื่นคำร้องขอจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าว ณ สำนักงานอำเภอหรือท้องถิ่น
  3. ตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ ณ สถานพยาบาลที่กำหนด โดยเสียค่าใช้จ่ายดังนี้
    - ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท
    - ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท
    รวม 1,900 บาท
  4. ยื่นคำขออนุญาตทำงาน(ต.ท.8) ที่สำนักงานจัดหางานจัดจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 พร้อมชำระค่าธรรมเนียม ค่ายื่นคำขอ 100 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานปีละ 900-1,800 บาท
เอกสารที่ต้องใช้ขึ้นทะเบียนแรงงาน
  1. สำเนาบัตรประชาชน ลงลายมือชื่อรับรองสำเนา 4 ชุด
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน ลงลายมือชื่อรับรองสำเนา 4 ชุด (ถ้าเป็นผู้อาศัย ต้องมีเอกสารเจ้าบ้านลงลายมือชื่อยินยอม ถ้าเช่าบ้านต้องมีสัญญาเช่ า พร้อมเอกสารเจ้าบ้านลงลายมือชื่อยินยอม)
  3. แบบคำร้องขอจ้างคนต่างด้าว download
  4. ท.ต.1 พร้อมสำเนา 2 ชุด Download
  5. ต.ท.8 Download
  6. หนังสือรับรองการจ้าง พร้อมสำเนา 2 ชุด Download
  7. หนังสือมอบอำนาจนายจ้าง 4 ชุด Download
  8. หนังสือมอบอำนาจแรงงาน 2 ชุด Download
  9. รูปถ่าย แรงงาน 1 นิ้ว 6 รูป
  10. ถ้าแรงงานมีลูกอายุ ต่ำกว่า 15 ต้องแจ้งให้ทราบด้วย Download
กรณีนิติบุคคล
ให้แนบเอกสาร หนังสือรับรองบริษัท ประทับตรา พร้อมลงรายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามรับรองสำเนา 4 ชุด


วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

"แบบนี้ก็มีด้วย"


15 มิถุนายน 2554 13:30 น.

ณ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย หญิงวัยกลางคนในมือถือเสียมเล็กๆพรวนดินที่อยู่ในกระถางต้น

ไม้ที่กำลังปักต้นกล้าลงไป พร้อมกับพูดและยิ้มอยู่คนเดียว

เปีย

"ป้าติ้ง คุยกับใครอ่ะ"

ป้าติ้ง

"คุยกับต้นไม้"

เปีย

"ต้นไม้พูดได้เหรอ"

ป้าติ้ง

"ได้ซิป้าคุยกับมันทุกวัน"

เปีย

"แล้วป้าคุยอะไรกับมันอ่ะ"

ป้าติ้ง

"ป้าบอกให้มันโตไวๆ"

เปีย

"แล้วมันโตขึ้นหรือเปล่าหล่ะ"

ป้าติ้ง

"โตซิ"

เปีย

"แล้วป้ารู้ได้ไง"

ป้าติ้ง

"รู้ซิ ต้นไม้มันยิ้มและโบกไม้โบกมือให้ป้าทุกวัน"

เปีย

"ป้าติ้งคุยกับต้นไม้ได้ สุดยอดหัวหน้างานภูมิทัศน์ โอ้โน"

เปียยิ้มและเดินออกไปได้สองก้าว สะดุดรากของต้นไม้ ล้มลง

ป้าติ้งหัวเราะ

"เป็นไง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ 555"

จบข่าว

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

21 ขา สามัคคี 2553

“กิจกรรมเพาะกล้าตาโขนน้อย”
กระบวนการจิตอาสาโดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย
อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและการออกกำลังกาย “วิ่ง 21 ขาสามัคคี ครั้งที่ 6 ประจำปี 2553”
“หนึ่ง สอง... หนึ่ง สอง... หนึ่ง สอง... หนึ่ง สอง... หนึ่ง สอง...............”
เสียงนับหนึ่ง นับสองอย่างพร้อมเพรียงและเป็นจังหวะดังไปทั่วสนามโรงเรียนชุมชนบ้านด่านซ้าย ในบ่ายของวันที่มีแสงแดดแรงกล้า กลางเดือนมิถุนายน 2553 กลุ่มนักเรียนทั้งชายและหญิงตั้งแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง หลายกลุ่มกำลังตั้งใจฝึกจังหวะการก้าวเท้าให้เข้ากับจังหวะเสียงนับก้าวและแสงแดดที่ร้อนแรง ก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามของนักเรียนเหล่านี้ลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นและเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่การแข่งขันอย่างเต็มที่
หลังจากที่ได้ฝึกหนักกันมาหลายสัปดาห์ วันนี้จะเป็นวันตัดสินว่าโรงเรียนไหน จะได้เป็นเจ้าความเร็วของการแข่งขันวิ่ง 21 ขาสามัคคีในระดับประถมศึกษาของอำเภอด่านซ้าย ตำแหน่งเจ้าความเร็วที่ไม่ได้วัดกันแต่เพียงความสามรถเฉพาะตัวเท่านั้น แต่การคว้าชัยชนะยังแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของนักวิ่งทั้ง 20 คนอีกด้วย
กิจกรรมวิ่ง 21 ขาสามัคคีเป็นกิจกรรมที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายได้จัดแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 พร้อมๆ กับที่ Hondaและสพฐ.ได้นำกิจกรรม 31 ขาสามัคคี เข้ามาจัดการแข่งขันภายในประเทศไทย โดยการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่มีใจรักในกีฬาและอยากส่งเสริมให้นักเรียนระดับประถมศึกษาของอำเภอด่านซ้าย ได้มีเวทีแสดงออกถึงความสามารถด้านกีฬาอย่างเต็มที่ กิจกรรมที่จัดขึ้นมีทั้งการแข่งขันกระโดดเชือกสามัคคี การแข่งขันกีฬาฟุตซอล และการแข่งขันวิ่ง 21 ขาสามัคคี ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปีแรกๆ ยังมีทีมเข้าร่วมแข่งขันไม่มากเนื่องจากหลายๆ โรงเรียนยังไม่คุ้นเคยกับการแข่งขันวิ่ง 21 ขา แต่ในปัจจุบันมีทีมเข้าร่วมแข่งขันในแต่ละครั้งถึง 20 ทีม แต่ละทีมก็มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยวิ่งไปล้มไป หลายๆทีม ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและฝึกซ้อมอย่างเต็มที่จนสามารถวิ่งทำสถิติดีขึ้นทุกปี นักวิ่งรุ่นน้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนรุ่นพี่ มีการถ่ายทอดเทคนิคที่ดีจากรุ่นสู่รุ่น คุณครูผู้ฝึกสอนหลายท่านได้พัฒนาการฝึกซ้อมให้กับทีมอย่างต่อเนื่อง ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการรัดข้อเท้านั้นก็มีหลากหลาย บางโรงเรียนใช้ผ้ารัดข้อเท้าที่ออกแบบมาอย่างดี บ้างก็ประยุกต์จากสิ่งของใกล้ตัว เช่น ใช้ผ้าขาวม้าเป็นผ้ารัดข้อเท้า ถึงจะทำให้การวิ่งไม่คล่องแคล่วอย่างที่ต้องการ แต่ก็ทดแทนด้วยความตั้งใจที่เกินร้อย
“เข้าที่...ระวัง...ปรี๊ด...”หลังสิ้นเสียงสัญญาณนกหวีดจากกรรมการนักวิ่งทั้ง 20คนก็ออกวิ่งอย่างเต็มที่ระยะทางวิ่ง 50 เมตร เป็นระยะทางที่มีความทรงจำเกิดขึ้นมากมาย เสียงเชียร์จากเพื่อนร่วมโรงเรียนเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้นักวิ่งแต่ละคนหัวใจพองโต แม้แต่ทีมคู่แข่งก็ยังอดที่จะช่วยส่งเสียงให้กำลังใจไม่ได้ เพราะถึงแม้ในลู่วิ่งจะเป็นคู่แข่งกันแต่นอกสนามทุกคนก็คือเพื่อน เสียงตะโกนเชียร์เหล่านั้นเป็นสิ่งยืนยันถึงความมีน้ำใจนักกีฬาที่มีอยู่ในตัวนักวิ่งทุกคนเป็นอย่างดี
บางทีมสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยโดยไม่สะดุดหรือหกล้ม บางทีมถึงแม้จะมีนักวิ่งในทีมล้มไปบ้าง เพื่อนข้างๆ ก็ยังช่วยกันประคองและพากันวิ่งต่อไปได้ บางทีมต้องใช้เวลาปรับจังหวะใหม่อยู่นานแต่สุดท้ายก็รวบรวมพลังวิ่งสู่เส้นชัยได้ในที่สุด ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่นักวิ่งทุกคนได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลาตั้งแต่การฝึกซ้อมจนถึงวันแข่งขันก็คือ การได้เรียนรู้ที่จะปรับจังหวะร่างกายของตัวเองให้สัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้ทีมสามารถวิ่งได้อย่างพร้อมเพรียง และแน่นอนที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดก็คือการเรียนรู้ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักยอมรับความพ่ายแพ้อย่างภาคภูมิและยินดีกับผู้ชนะอย่างจริงใจ
กิจกรรมการแข่งขันวิ่ง 21 ขาสามัคคี เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่ทางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายได้จัดขึ้นทุกๆ ปี เพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ในท้องถิ่นอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ได้มีเวทีในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ ให้เด็กมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีไปพร้อมๆ กัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ และที่สำคัญลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี เพื่อให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”

ทันตแพทย์กฤษดาพันธ์ จันทนะ