วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

พี่เปรมศรี พยาบาลคุณภาพ จิตอาสา ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์


โดยนายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์

คุณเปรมศรี สาระทัศนานันท์ “พี่เปรม”ของบุคลากรโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และเป็น“ป้าเปรม”ของประชาชนอำเภอด่านซ้าย เป็นพยาบาลรับทุนรุ่นแรกของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งเป็นคนในท้องที่คนแรกไปเรียนที่วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานใช้ทุนอย่างต่อเนื่องและยาวนานเกือบ30 ปี ที่โรงพยาบาลบ้านเกิด
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กๆ ติดชายแดนประเทศลาว ตั้งอยู่ในพื้นที่สีชมพู ซึ่งมีความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการปกครอง(คอมมิวนิสต์) และยังเคยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและลาวกรณีบ้านร่มเกล้า เมื่อ20 กว่าปีก่อน อำเภอด่านซ้ายเป็นพื้นที่ทุรกันดารกว่าร้อยละ 80 เป็นภูเขาสูง การเข้าถึงโรงพยาบาลของชาวบ้านเป็นไปด้วยความยากลำบากและอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลทั่วไปประมาณ100 กิโลเมตร ซึ่งระยะทางคดเคี้ยว ลำบากในการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสร้างโรงพยาบาลเมื่อ30ปีที่แล้ว ยังมีความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตจากความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว แต่พี่เปรมก็ไม่ได้คิดจะย้ายไปอยู่ที่ปลอดภัยและเจริญกว่าด่านซ้าย (พยาบาลรับทุนส่วนมากเมื่อมีโอกาสก็ย้ายไปในที่ที่สะดวกสบาย ปลอดภัย)แต่พี่เปรมศรียังแน่วแน่ที่จะปฏิบัติงานในบ้านเกิดของตนเองจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นพยาบาลรับทุนรุ่นแรกคนเดียวที่ยังอยู่ 

เริ่มการทำงานด้วยการเป็นพยาบาลที่ทำได้ทุกอย่างในโรงพยาบาลตั้งแต่พยาบาลผู้ป่วยใน พยาบาลผู้ป่วยนอก และเห็นความเดือนร้อนของชาวบ้านในการที่จะต้องเดินทางไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลจังหวัดเลย จึงได้ตั้งใจศึกษาต่อด้านวิสัญญีพยาบาลและทำงานช่วยทีมผ่าตัดของโรงพยาบาล จึงทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายมีชื่อเสียงด้านการผ่าตัดตลอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรักษาที่ตัวจังหวัด ซึ่งลำบากมาก ผู้ป่วยบางรายยอมตายที่ห้องฉุกเฉินเมื่อต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่อื่น
เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล มีความสนใจเรื่องของการพัฒนาคุณภาพองค์กร ได้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนคุณภาพองค์กรโดยใช้กระบวนการ 5 ส ในการพัฒนาโรงพยาบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 และพัฒนาระบบคุณภาพ ISO9002 ในปี พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นการคิดและปฏิบัติงานนอกกรอบของวิชาชีพพยาบาลเพราะในช่วงนั้นพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนส่วนมากมุ่งเน้นการพัฒนาเฉพาะกลุ่มการพยาบาลยังขาดการเชื่อมโยงถึงคุณภาพทั้งองค์กร โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จึงมีความโดดเด่นเรื่องการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งนำโดยกลุ่มการพยาบาลและจากการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายได้รับการรับรองคุณภาพHA ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน และสามารถผ่านการรับรองคุณภาพ มาตรฐานบริการการพยาบาลและการผดุงครรภ์( NQA) ได้ในปี พ.ศ.2552 จากสภาการพยาบาล โดยจุดเด่นที่สำคัญที่สุด พี่เปรมศรีได้บริหารงานบุคลากรทางการพยาบาลให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพทุกระบบ จึงทำให้ผ่านการรับรองคุณภาพจากระบบต่างๆได้อย่างราบรื่น และประสานงานกับหน่วยงานอื่นในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

การบริหารงานบุคคลของกลุ่มการพยาบาลที่สำคัญที่พี่เปรมศรีได้ดำเนินการคือ การใช้ภาระงานมาเป็นตัวกำหนดความต้องการของบุคลากรในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข นำเสนอต่อทีมนำโรงพยาบาลเพื่อหาบุคลากรมาทำงานให้ได้ตามกรอบที่วางไว้ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเนื่องจากภาวะการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาลที่มีมาต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และในระยะหลังความขาดแคลนมีความรุนแรงมากขึ้น กลวิธีที่พี่เปรมศรีได้นำมาใช้และนำเสนอต่อทีมนำคือ การส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นรับทุนเรียนต่อพยาบาล และประสานกับแหล่งฝึกต่างๆ เพื่อหาที่นั่งเรียนให้กับน้องนักเรียนทุนเหล่านั้นและที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อนักเรียนทุนพยาบาลกลับมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลถึงแม้ว่าไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ได้ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว พี่เปรมศรีก็ได้เสนอระบบค่าตอบแทนที่เพียงพอที่นักเรียนทุนเหล่านั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง และสามารถนำเงินบางส่วนไปช่วยเหลือครอบครัวได้ จากการบริหารงานบุคคลของกลุ่มการพยาบาลทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายไม่มีความขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาล นักเรียนในพื้นที่มีความมุ่งมั่นและสนใจที่จะเรียนวิชาชีพทางการพยาบาลจำนวนมาก เพราะได้เห็นรุ่นพี่ได้ทำประโยชน์ต่อคนด่านซ้าย มีอัตราการโยกย้ายต่ำมากเพราะประมาณร้อยละ 95 เป็นพยาบาลในพื้นที่ ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายมีพยาบาลทั้งหมด 59 คน ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว 19 คน(คิดเป็นร้อยละ 32 เมื่อไม่มีปัญหาความขาดแคลนวิชาชีพทางการพยาบาล โรงพยาบาลก็สามารถที่จะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี จากการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลของ พี่เปรมศรี สำนักงานวิจัยกำลังด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สวค.) ได้ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเป็นรูปแบบที่ดีอย่างหนึ่งของการบริหารบุคลากร ซึ่งสามารถนำไปใช้กับวิชาชีพอื่นได้อีกด้วย


การหล่อเลี้ยงบุคลากรเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีความสุขและต่อเนื่องยาวนานเหมือนกับที่พี่เปรมศรีได้ทำมาเกือบ 30 ปี เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พี่เปรมศรีได้ดำเนินการ โดยใช้กระบวนการจิตอาสาเนื่องจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายยังประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน สภาพเศรษฐกิจในเมืองด่านซ้ายเป็นอำเภอที่มีรายได้น้อยที่สุดในจังหวัดเลยและบุคลากรโรงพยาบาลส่วนมากก็มีอาชีพทางเกษตรกรรม ดังนั้น ถ้าเราใช้การหล่อเลี้ยงด้วยเงิน ก็ไม่มีเงินที่เพียงพอที่จะให้บุคลากรเหล่านั้นทำงานอย่างมีความสุข พี่เปรมศรีจึงสร้างค่านิยมให้กับองค์กรโดยส่งเสริมให้น้องๆ พยาบาลและบุคลากรใน กลุ่มการพยาบาลทำกิจกรรมจิตอาสาทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่องเสมอมา เช่น โครงการส่งเสริมการอ่านเพาะกล้าตาโขนน้อย นำโดยพยาบาลหอผู้ป่วยใน 2 ไปออกหน่วยทุกต้นเดือนในหมู่บ้านที่ห่างไกลเพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาเข้าถึงหนังสือที่มีคุณภาพ การจัดกิจกรรมสันทนาการในอำเภอด่านซ้าย เช่น วิ่ง 20 คนสามัคคี กระโดดเชือก โดยมีพยาบาลที่มีความสนใจทางด้านกีฬาเข้าเป็นทีมงานจัดกิจกรรม การจัดค่ายศึกษาธรรมชาติ การจัดทำค่ายศิลปะ การจัดทำค่ายดนตรี ในช่วงที่โรงพยาบาลได้มีโอกาสเตรียมงานรับบุคคลที่สำคัญ พี่เปรมศรีเป็นผู้นำหรือเป็นแม่บ้านแม่งานในการเตรียมอาหาร พิธีการ โดยเฉพาะการจัดดอกไม้ของพยาบาลโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งได้รับคำชื่นชนในระดับจังหวัดและจากผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมที่จัดได้อย่างเรียบง่ายและประหยัด โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนมาก


นอกจากนี้พี่เปรมศรียังเป็นผู้นำการออกหน่วยรับบริจาคโลหิต พาทีมพยาบาลออกรับบริจาคโลหิตทั้งในและนอกเวลาราชการ คอยประสานงานกับหน่วยงานที่จะบริจาคโลหิตทำให้ระบบคลังเลือดของโรงพยาบาลมีความมั่นคง งานที่ได้กล่าวมามีลักษณะเป็นจิตอาสา เป็นเวทีที่ให้บุคลากรของโรงพยาบาลได้นำมามีส่วนร่วมมิได้มีค่าตอบแทน เป็นแนวคิดที่สวนกระแสในปัจจุบันที่ทำงานมุ่งแต่ค่าตอบแทนเพียงพอย่างเดียว ลักษณะงานดังกล่าวจึงเป็นการหล่อเลี้ยงคนในองค์กร เป็นงานที่มีคุณค่าและมีความหมายสำหรับชีวิตของบุคลากรทุกๆ คนในโรงพยาบาล ความที่เป็นคนท้องถิ่นของพี่เปรมศรี ยังได้เชื่อมโยงและชักชวนคนในองค์กรให้ทำกิจกรรมจิตอาสานอกโรงพยาบาลอีก จึงทำให้ชาวบ้านมีความศรัทธาต่อโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากพี่เปรมศรีเป็นกรรมการบริหารกองทุนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดเป็นเพราะต้นกำเนิดชีวิตของพี่เปรมศรีมิได้เกิดมาเพื่อที่จะกอบโกยหรือหวังผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักแต่กลับมีความเอื้ออาทรและเห็นประโยชน์ต่อคนอื่นเหมือนกับบรรพบุรุษของคนด่านซ้ายในอดีตซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนตัวของผมพี่เปรมศรีได้ดูแลตั้งแต่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเมื่อ 23 ปีที่แล้ว เป็นวิสัญญีพยาบาลที่ช่วยผ่าตัดได้อย่างราบรื่น บางครั้งต้องได้มาเป็นผู้ช่วยทีมการผ่าตัด เป็นพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะการใส่ท่อช่วยหายใจ ผมจึงมั่นใจให้เป็นผู้ดมยาสลบผมตอนที่ผมถูกผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาล เมื่อภรรยาผมคลอดลูกทั้ง 2 คน พี่เปรมศรีคือพยาบาลที่นอนอยู่ข้างเตียงภรรยาผมตลอดเวลาคอยดูแลพยาบาลทั้งภรรยาและลูกผม เนื่องจากผมและภรรยาไม่มีญาติมาคอยดูแล และไม่ใช่สำหรับครอบครัวของผมเท่านั้น และทุกครอบครัวของโรงพยาบาลที่มาคลอดลูกจะได้รับการดูแลจากพี่เปรมศรีเช่นกัน และผมก็เชื่อว่าการดูเช่นนี้เป็นการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาชีพพยาบาล


ที่มา : บทความผลงานเด่น ประกอบข้อมูลผู้ขอรับรางวัลพยาบาลดีเด่น สาขา ผู้บริหารการพยาบาลระดับทุุติยภูมิ(หัวหน้าพยาบาล) ปี 2554

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 กันยายน 2554 เวลา 21:01

    ยินดี กับพี่เปรมค่ะ
    ตุ่น เพ็ญศรี จากเวชฯค่ะ

    ตอบลบ
  2. ดีใจด้วยมากๆ พี่เปรมเป็นแบบอย่างที่ดีและถือตะเกียงส่องทางให้น้องๆเดินตามต่อไป

    ตอบลบ
  3. ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ พี่เปรมมีคุณค่าสมกับเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ จริงๆค่ะ

    ตอบลบ