วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ชีวิต-งาน-ทรรศนะ นพ.ภักดี สืบนุการณ์

ชีวิต-งาน-ทรรศนะ
คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
นพ.ภักดี สืบนุการณ์
พัฒนาจากการรับรู้ด้วยความเข้าใจ


“คิดแบบชาวบ้าน ทำแบบชาวบ้าน ดูบ้านนอกดี ง่ายๆ ดี อย่างคลินิกเบาหวาน ที่ด่านซ้ายให้ผู้ป่วยเบาหวานกินทุเรียนได้... ถ้าบอกผู้ป่วยเบาหวานว่าอย่ากินโน่นกินนี่ คือห้ามทุกอย่างผู้ป่วยจะไม่มาโรงพยาบาล

การได้กินทำให้ผู้ป่วยมีความสุขนะ เพราะหลายคนมีความสุขกับการกิน หรือบางบ้านปลูกมะขามหวานไว้ก็กินได้ จะได้รู้ว่ารสชาติของมะขามหวานที่ปลูกไว้กว่าจะได้ผลนั้นเป็นอย่างไร
หมอบอกผู้ป่วยเบาหวานว่าถ้าอยากกินอะไรก็กินได้ แต่อาจจะไม่ได้กินอีกอย่างหนึ่ง เป็นการใช้ระบบทดแทนสารอาหาร ซึ่งผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน แต่อยากกินนิดเดียวพอให้หายอยากเท่านั้น”

นี่เป็นวิธีคิดที่ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมาของ นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย (เจ้าของรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทคนที่ ๓๗ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอด่านซ้ายมา ๒๒ ปี
คุณหมอภักดีบอกว่าแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกประมาณ ๔๐๐ คน มีการกระจายใช้พื้นที่ไม่ให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยปฐมภูมิ ผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เฉพาะทาง (สูติฯ กุมารฯ อายุรกรรม) ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยทันตกรรม

ส่วนผู้ป่วยในนั้น โรงพยาบาลฯ ด่านซ้ายรองรับได้เพียง ๖๐ เตียงเท่านั้น แต่มีการคลอดประมาณ ๙๐๐ รายต่อปี เป็นคนด่านซ้ายประมาณ ๕๐๐ คน ส่วนที่เหลือมาจากอำเภอภูเรือ อำเภอนาแห้ว และประเทศลาว
โรงพยาบาลแก้ปัญหาพื้นที่การดูแลผู้ป่วยในไม่พอ ด้วยการสร้างอาคารใหม่ โดยจะแยกผู้ป่วยหลังคลอดออกมาทั้งหมด จะได้มีพื้นที่สำหรับเด็กมากขึ้น
ตอนนี้มี “โฮมวอร์ด”คือผู้ป่วยที่นับเป็นเตียง แต่ดูแลอยู่ที่บ้าน ประมาณ ๓๐ ราย โดยให้ออกซิเจนและตามไปเยี่ยมบ้าน สอนญาติช่วยกันดูแล เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากนักแต่ต้องการดูแลใกล้ชิดหน่อย เช่น วัณโรค หรือผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนให้กลับไปดูแลที่บ้าน..ถ้านำผู้ป่วยเหล่านี้มานอนโรงพยาบาลเตียงไม่พอ

อยู่ “ด่านซ้าย” นานถึง ๒๒ ปีได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องบอกว่าหมอที่เพิ่งจบใหม่ยังไม่เข้าใจว่า “อุดมการณ์คืออะไร” และช่วงที่เรียนแพทย์มองตัวเองเป็นหลักคือการสอบมาอันดับ ๑ ถ้าสอบตกก็จบช้า พ่อแม่คงจะเสียใจ
สิ่งที่ถูกหล่อหลอมมาคืออยากเป็นอาจารย์แพทย์เป็นอาจารย์แพทย์ดูเท่ อยากเป็นแพทย์เฉพาะทางเพราะรู้สึกเก่ง... ไม่ตั้งใจลงโรงพยาบาลชุมชนเลย เลือกโรงพยาบาลทั่วไปแต่จับฉลากไม่ได้ทั้ง ๒ รอบ
สุดท้ายมาอยู่โรงพยาบาลชุมชนภูเรือ จังหวัดเลย มีรุ่นพี่เป็นผู้อำนวยการและอยู่ ๑ ปีก็ย้ายออกไปเรียนต่อ ส่วนตัวหมอช่วงนั้นรอเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง

จุดเปลี่ยนตอนอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนภูเรือนี่แหละ
ทั้งโรงพยาบาลมีบุคลากร ๒๕ คนเท่านั้น ไม่มีตลาด มีพี่พยาบาลทำกับข้าวให้กิน อยู่เวรกันทุกวัน... ทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ก็ออกหน่วยเยี่ยมบ้านทำให้เริ่มชอบ รู้สึกสนุก เพราะชีวิตแบบนี้ไม่เคยเจอ และเพื่อนร่วมงานก็เก่งๆ ทั้งนั้นเลย แต่ละคนก็ช่วยกันทำงาน รวมทั้งภูเรือเมื่อ ๒๔ ปีที่แล้ว ธรรมชาติสวยสดงดงามมาก

หลังจากนั้นไม่นานได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเรือ เพราะผู้อำนวยการรุ่นพี่ย้ายไปเรียน... เริ่มทำสิ่งง่ายๆ มีพี่ที่ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพช่วยกันทำงานรณรงค์การทำหมันชาย สาธารณสุขอำเภอมาชวนไปทำส้วมก็ไปทำกัน
ทำงานที่อำเภอภูเรือด้วยความสนุก ทำให้เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนการรับรู้ มองเห็นชาวบ้านลำบาก... มีนายแพทย์ทวีศักดิ์ เจ้าสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชวนให้ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งห่างกันไม่ไกลนัก และตอนนั้นตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อแล้ว ก็เลยมาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย

ที่นี่ต่างจากโรงพยาบาลภูเรือมาก(ภูเรือมีบุคลากร ๒๐คน ที่ด่านซ้าย ๘๐คน)โชคดีว่าช่วงที่มามีทันตแพทย์ เภสัชฯ รุ่นใหม่เข้ามาและทีมงานก็อยากจะพัฒนาโรงพยาบาล...ทีมงานดีมากตอนนั้นเริ่มผ่าตัดได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่ามดลูก ไส้เลื่อน กระเพาะทะลุ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไส้ติ่ง และผ่าตัดทำคลอด อย่างผ่าไส้ติ่งเคยทำสถิติไว้ ๑๒ นาทีเสร็จยังมีเลย ตั้งแต่ดมยาสลบเอง ฉีดยาบล็อกหลังเอง ก็สนุกดี

โรงพยาบาลบ้านนอก ส่วนสำคัญมากที่สุดไม่ใช่ตัวหมอ แต่เป็นชาวบ้าน... ชาวบ้านศรัทธาความเป็นแพทย์ หมอช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาได้ บางครั้งไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วย การส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรคยากๆ หมอก็ติดต่ออาจารย์ให้

รู้สึกว่ามีคุณค่า ซึ่งไม่ใช่เป็นคุณค่าของวิชาชีพแพทย์โดยตรง แต่เป็นคุณค่าข้างเคียง ที่ตัวแพทย์มีความสามารถ หมอรู้สึกว่าถ้าใช้ตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือชาวบ้าน
ต้องยอมรับว่าเวลาหมอรักษาผิด ทำไม่ดี เช่น ทำหมันได้ข้างเดียว อีกข้างหาไม่เจอ ชาวบ้านไม่โกรธ บอกว่าทำได้เท่านี้ก็ไม่เป็นไร  ไปโรงพยาบาลจังหวัดเลยกัน ไปหากันต่อ ตรงนี้สำคัญมาก... คือชาวบ้านเข้าใจเรา
มีคนบอกว่า คนด่านซ้ายโชคดีเพราะมีหมอภักดีมาอยู่
แต่หมอบอกว่า หมอโชคดีที่ได้มาอยู่ด่านซ้าย

เริ่มสร้างศรัทธา
ทีมงานของโรงพยาบาลฯ ด่านซ้ายสร้างสรรค์มาก ทุกคนไม่มีใครมุ่งผลประโยชน์ส่วนตน ทำงานให้โรงพยาบาล อยู่เวรกันก็อยู่กันทุกคน และรู้ว่าทำอะไรกันอยู่ พี่ๆ น้องๆ พยาบาลซึ่งเป็นคนในพื้นที่เห็นว่าเอาจริงกัน ก็อดตาหลับขับตานอนสู้ด้วยกัน อยากปรับโน่นอยากปรับนี่ให้ดีขึ้น
จุดสำคัญที่สุดอีกจุดหนึ่งที่จำได้คือ อาคารเชวง -ไน้ เคียงศิริ หลังนี้ได้มาใน พ.ศ.๒๕๓๗ เพราะทำงานกับผู้สูงอายุ  ชมรมผู้สูงอายุคือประตูบานแรกที่หมอเปิดออกสู่ชุมชน สมัยก่อนหมอเข้าไปในชุมชน ในฐานะที่หมอไปตรวจรักษา ชาวบ้านมารับ แต่ประตูที่สำคัญคือประตูผู้สูงอายุ ... ประตูแห่งการสื่อสาร
การเริ่มพูดคุยกับผู้สูงอายุ ยิ่งคุยกัน เจอกันก็คุ้นกัน มาเจอกันที่ห้องตรวจผู้ป่วย ก็เริ่มคุ้นกัน ไปเจอที่วัดก็คุ้นกัน ไปตลาดก็เจอกัน ฝ่ายเวชปฏิบัติพาไปเยี่ยมบ้านก็ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่สามารถไปโรงพยาบาลได้และที่นอนป่วยอยู่กับบ้าน...

หลังจากที่ไปเรียนบริหารงานโรงพยาบาล ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว คิดว่าโรงพยาบาลชุมชนไม่มีงานเวชกรรมฟื้นฟู ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้สูงอายุบ่นกัน ตอนที่พยาบาลเวชปฏิบัติพาไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ต้องฟื้นฟูสภาพ ขาดโอกาส ทำให้บางคนตายที่บ้าน...  มีผู้ใหญ่ใจบุญคือ คุณไพศาล คุณเพ็ญศรี สุขุมพานิช  บริจาคเงิน ๑๒ ล้านบาท สร้างอาคารให้ โดยชั้นล่างเป็นงานเวชกรรมฟื้นฟู มีนักกายภาพบำบัดมาทำงานจากเงินบริจาคของชาวบ้าน รวมถึงอุปกรณ์กายภาพบำบัดคุณภาพดีมาก  และโรงพยาบาลก็สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนชั้นบนเป็นอาคารหลังคลอด ที่ตอบสนองผู้สูงอายุว่าให้ญาติอยู่ด้วยนะ เพราะสมัยก่อนโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๓๐ เตียง เวลาคนมาคลอดที่โรงพยาบาล คนหลังคลอด คนผ่าไส้ติ่ง คนปอดอักเสบ คนมะเร็งระยะสุดท้าย อยู่ด้วยกันหมด จึงมีอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน
มะเร็งระยะสุดท้าย เสียใจร้องไห้
ผ่าไส้ติ่ง เริ่มดีใจที่จะได้กลับบ้าน
คนคลอดลูกเสร็จ ดีใจตบมือดังๆ ก็ไม่ได้ เพราะต้องเกรงใจคนที่เป็นโรคมะเร็ง
โรงพยาบาลฯ ด่านซ้ายจึงแยกอาคารขึ้นมาเฉพาะหลังคลอด และที่สำคัญคือเรื่องญาติ ญาติต้องเยี่ยมได้ เราจึงออกแบบให้ญาติคอยดูแลใกล้ชิด ซึ่งได้แนวคิดจากผู้สูงอายุ เลยคิดว่าเป็นอาคารในอุดมคติเลยและได้คิดเองด้วย... นอกจากงานอายุรแพทย์ที่ภรรยาทำอยู่จะเพิ่มคุณค่าให้กับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลฯด่านซ้ายมีนักกายภาพบำบัดคนก็ตื่นเต้นว่าทำไมทำได้ขนาดนี้  จึงเกิดกระแสกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลชุมชนตลอดมา
สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

เพิ่มขีดความสามารถด้วยเครือข่ายแพทย์เฉพาะทาง
วิธีคิดอีกอย่างหนึ่งของด่านซ้ายที่หลายคนคงทราบแล้วก็คือเครือข่าย เพราะการมีเครือข่ายจะทำให้หาคนที่มีศักยภาพอยู่ในพื้นที่ได้เร็ว แต่ต้องมีการจัดการที่ดี เช่น
โรคหู คอ จมูก อาจารย์นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล มูลนิธิหูคอจมูกชนบท มารักษา ๓-๔ ครั้งแล้ว
ต้อกระจก คุณหมอวีระพันธ์ ธนาประชุม จากโรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ ชัยนาท อุทิศตัวมาช่วยผ่าต้อกระจกที่ด่านซ้ายทุก ๓ เดือนตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ จนถึงปัจจุบัน ๑๖ ปีผ่านไปผ่าต้อกระจกมากกว่า ๑ พันรายแล้ว

ภรรยาผมเป็นอายุรแพทย์ตรวจผู้ป่วยโรคหัวใจไว้ประมาณ ๗๐คนต่อปี ก็มีปัญหาว่าไม่มีเครื่องเอกโค่ฯ (Echocardiogram) ประเมินไม่ได้ว่าตอนนี้หัวใจต้องผ่าตัดหรือยัง ให้ยาไปแล้วจะทำอย่างไร จะปรับยาอย่างไร เวลาส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น ระยะทาง ๓๐๐ กิโลเมตร ลำบากมาก จึงชวนเพื่อนคือ คุณหมอรังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเครื่องเอกโค่ฯ มาตรวจคัดกรองผู้ป่วย ส่งต่อผู้ป่วย ตอนนี้คลินิกโรคหัวใจพัฒนาไปมาก สามารถคัดกรองผู้ป่วยเริ่มแรก และผ่าตัดผู้ป่วย กลับบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปผ่าตัดตอนที่หัวใจกำลังจะวายแล้ว

โรคหัวใจได้ผล เรื่องอื่นๆ ก็ตามมา อย่างจิตเวชก็เป็นหมอรุ่นน้องคือ คุณหมอธรณินทร์ กองสุข มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เดือนละ ๑ ครั้ง ทำมาได้ ๙ ปีแล้ว
ออร์โทปิดิกส์ มีคุณหมออุดมศักดิ์ บุญส่งทรัพย์ ซึ่งเป็นเพื่อนภรรยาผมเอง มาช่วยงานได้ ๔ ปีแล้ว สามารถลดขั้นตอนการเข้าไปแออัดในโรงพยาบาลเลย เพราะห้องผ่าตัดที่ด่านซ้ายก็พร้อม
ขณะเดียวกันโรคที่ซับซ้อนก็สามารถปรึกษากับอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เช่นที่ผ่านมาเคยปรึกษาเรื่องโรคสมองน้อยเสื่อมจากพันธุกรรม
โรงพยาบาลฯ ด่านซ้ายตั้งใจให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะทาง ทุกอย่างระยะทาง ๒๕๕ โค้งคือคำตอบ... ด่านซ้ายมีพื้นที่ ๑,๗๐๐ตารางกิโลเมตร มี ๙๖ หมู่บ้าน ครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านใช้เวลาเดินทางถึงโรงพยาบาล ๑ ชั่วโมง ถ้าเมื่อ ๒๐ ปีก่อนต้องใช้เวลาเป็นวัน เพราะไม่มีทางราดยาง ทุกวันนี้ทางดีขึ้นแต่ไม่มีรถโดยสารประจำทางคือต้องเป็นรถหมู่บ้าน ชาวบ้านลำบาก ถ้าโรงพยาบาลเพิ่มขีดความสามารถได้ก็ต้องรีบทำทำไปเรื่อยๆ เพราะสภาพภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดว่าเราต้องทำอะไร

ถ้าอยู่โรงพยาบาลใกล้เมืองหน่อยการเดินทางสะดวก หมอก็คงจะคิดอีกแบบหนึ่ง เหมือนสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด ทั้งตัวหมอด้วย วิธีคิดของหมอด้วย แต่สำคัญที่สุดคือการรับรู้เปิดใหม่

การรับรู้ที่เปิดคือการพูดคุยกับผู้สูงอายุ
ช่องทางของการสื่อสารสำคัญ ถ้าหมออยู่ที่นี่ และใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง... ไม่เคยไปตลาด ไม่เคยสุงสิงกับใคร และก็กลับกรุงเทพฯ ไม่เคยรับรู้ว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร ก็จะเป็นแบบหนึ่ง นั่นคือการอยู่แบบปิด
ถ้าอยู่แบบเปิด อยู่เหมือนกับคนที่นี่เลย ตัดผมที่นี่ ไปจ่ายตลาดที่นี่ ทำบุญที่นี่ งานศพก็ไป แต่งงานก็ไป แต่แน่นอนถึงบ้านจะอยู่นนทบุรีก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้เหมือนกัน

การเรียนรู้และเข้าใจอย่างคนใน เกิดขึ้นได้อย่างไร
อำเภอด่านซ้าย มีงานประเพณีบุญหลวง คืองานผีตาโขน
วันหนึ่งได้เจอกับอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม (อาจารย์เป็นใครหมอไม่รู้จัก)มาเที่ยวงานผีตาโขนพร้อมกับ ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา อาจารย์ศรีศักดิ์บอกว่าเมืองนี้น่าเที่ยว ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจารย์เคยเดินแถวนี้มาหมดแล้ว รู้จักประวัติศาสตร์พระธาตุศรีสองรักดีมาก อาจารย์บอกว่า “หมอรู้มั้ย งานบุญหลวงคล้ายๆ กระจกที่สะท้อนภาพด่านซ้ายย้อนกลับไปได้ ๕๐๐ ปี หรือ ๑ พันปีนะ... 

อาจารย์จึงชวนทำงานวิจัยท้องถิ่น (พ.ศ.๒๕๔๖) แบบงานวิจัยก็แปลกดี (มีกรอบมาให้) อาจารย์ให้โจทย์ว่า ได้แบ่งช่วงงานวิจัยเป็นช่วงแรก ด่านซ้ายเมื่อก่อนปีพ.ศ. ๒๕๐๐ ช่วงที่สอง พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๓๐ และช่วงที่สามด่านซ้ายจาก พ.ศ.๒๕๓๑ จนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร  นี่คือกรอบการทำงานเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่นที่อาจารย์ให้ไว้ และมีหัวข้ออีกหลายอย่าง เช่น สุขภาพ เศรษฐกิจ การปกครอง ธรรมชาติ และจะต้องไปพูดคุยกับชาวบ้าน  สมัยก่อนมองชาวบ้านแบบหมอไปเยี่ยมบ้าน พออาจารย์ศรีศักดิ์มาการของหมอลึกซึ้งขึ้นทั้งมิติด้านจิตใจ จิตวิญญาณของชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านศรัทธา ไม่ใช่แค่หมอรับรู้อย่างเดียว ที่นี่ยังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ประเพณีแต่ละอย่างซ่อนไว้ซึ่งกุศโลบาย ความเอื้ออาทร การแบ่งปันมากมาย

ประเพณีบุญข้าวสาก (สลากภัต) ทำบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีที่เตรียมตัวตายของคนด่านซ้ายก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น คนด่านซ้ายเรื่องการดูแลระยะสุดท้ายไม่ได้เครียดมากเหมือนคนในเมืองด้วยซ้ำไป เพราะรู้ว่าเมื่อถึงบุญเดือนสิบนี่ก็จะมีลูกหลานทำอาหารส่งไปให้ นี่แหละคือตายก่อนตาย

งานประเพณีทั้งหมดสัมพันธ์กับธรรมชาติ พอศึกษาเสร็จก็ทำให้รู้จักคนในมากขึ้น และหมอเข้าใจดีว่าหมอเป็นคนนอก ทุกวันนี้หมอก็ยังเป็นคนนอกอยู่แต่เป็นคนนอกที่มีอำนาจ
อำนาจของหมอคือความรู้ และความรู้คืออำนาจที่น่ากลัวมาก เช่น บอกผู้ป่วยไปเอกซเรย์ก็ต้องไป ไปเจาะเลือดก็ต้องไป เพราะชาวบ้านก็ไม่กล้าเสี่ยงกับหมอ
จริงๆ แล้วจะทำอย่างนั้นไม่ได้ จะทำอะไรก็ตาม ต้องมีความศรัทธาซึ่งกันและกัน พอมีศรัทธาแล้วก็ต้องใช้ทั้ง ๒ อย่างพร้อมกัน คือใช้ทั้งศรัทธาและปัญญาด้วย หมอมีปัญญาอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ศรัทธา... พอชาวบ้านศรัทธาก็สำเร็จ ตอนนี้เหมือนติดจรวดเลย แต่ต้องระวังเพราะอาจจะเหลิงได้

เวลาทำงานสุขภาพอย่าไปทำงานเฉพาะที่สั่งมา นอกกรอบก็ใช่ แต่หมอว่าต้อง “หลากหลาย” และความหลากหลายก็ไม่ต้องยึดติดกับปีงบประมาณ เอาเวลาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ตรงกับที่หลายๆ คนพูดตรงกัน คิดนอกกรอบบ้าง ต้องเห็นเวลาชาวบ้านบ้าง หมอบอกว่าคิดแบบชาวบ้าน ก็ทำแบบชาวบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมีปัญหา บางทีปัญหาของชาวบ้านแต่คิดแบบหมอ นำข้อจำกัดของหมอไปคิดแทนข้อจำกัดของชาวบ้าน ข้อจำกัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

การคิดแบบชาวบ้าน ทำแบบชาวบ้าน ง่ายดี ดูบ้านนอกดี อย่างคลินิกเบาหวาน ที่ด่านซ้ายให้ผู้ป่วยเบาหวานกินทุเรียนได้... ถ้าบอกผู้ป่วยเบาหวานว่าอย่ากินโน่นกินนี่ คือห้ามทุกอย่างผู้ป่วยจะไม่มาโรงพยาบาล
การได้กินทำให้ผู้ป่วยมีความสุขนะ เพราะหลายคนมีความสุขกับการกิน หรือบางบ้านปลูกมะขามหวานไว้ก็ให้กินได้ จะได้รู้ว่ารสชาติของมะขามหวานที่ปลูกไว้กว่าจะได้ผลนั้นเป็นอย่างไร
หมอบอกผู้ป่วยเบาหวานว่าถ้าอยากกินอะไรก็กินได้ แต่อาจจะไม่ได้กินอีกอย่างหนึ่ง เป็นการใช้ระบบทดแทนสารอาหาร ซึ่งผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน แต่อยากกินนิดเดียวพอให้หายอยากเท่านั้น

จากผู้สูงอายุไปถึงเรื่องเด็ก
อยู่ที่การรับรู้...
ช่วงแรก การรับรู้ของหมอมาจากผู้สูงอายุ เรียนรู้จากภูมิปัญญาผู้สูงอายุ วิถีชีวิต การนวดไทย ทำกายภาพบำบัด การเยี่ยมบ้าน กระบวนการดูแลหลังความตาย ทำวิจัยท้องถิ่น แตกมาจากผู้สูงอายุทั้งนั้น
แต่เมื่อกลับมาทบทวนดูจริงๆ แล้ว ผู้สูงอายุที่หมอคิดถึงคือพ่อแม่... พ่อแม่ไม่ได้มาอยู่ใกล้ชิด หมอก็คิดว่าผู้สูงอายุนั้นคือพ่อแม่หมอ แรงขับเคลื่อนมหาศาลเลยอัดอยู่ในใจ เป็นแรงผลัก และทำด้วยใจเพื่อผู้สูงอายุ
คนในโรงพยาบาลฯ ด่านซ้าย รู้ว่าหมอเจอผู้สูงอายุจะเรียกพ่อเรียกแม่เกือบทุกคน ผู้สูงอายุก็เรียกหมอลูก ทำกิจกรรมด้วยกันยาวนาน และมีที่รู้จักกันเสียชีวิตไปแล้วครึ่งหนึ่งด้วย

สิ่งที่จะทำต่อไปก็เป็นการรับรู้ใหม่ เรื่องของเด็ก
เรื่องเด็กมาหลังจากผู้สูงอายุนิดเดียว มาเพราะหมอมีลูก ช่วงแรกมีลูก (คนโต) ก็เลี้ยงลูกแบบไม่คิดอะไรมาก พ.ศ.๒๕๔๕ แต่เกิดจุดประกายที่ห้องสมุดของโรงพยาบาล
ห้องสมุดของโรงพยาบาลเป็นเพียงสถานที่อ่านหนังสือพิมพ์และตรวจล็อตเตอรี่ของผู้ป่วยและญาติที่มาโรงพยาบาล ส่วนหนังสือวิชาการไม่มีใครอ่าน... ทันตแพทย์วัฒนา ทองปัสโณว์ ชอบอ่านหนังสือมาก บอกว่าถ้าห้องสมุดมีหนังสือให้เด็กอ่านก็น่าจะดีนะ หนังสือรุ่นแรกจึงเป็นหนังสือเด็ก
หมอยังไม่รู้ว่าหนังสือเด็กคืออะไร ทำไมตัวหนังสือน้อยจัง เขียนโดย อาจารย์พรอนงค์ นิยมค้า ซึ่งก่อนหน้านั้นได้อ่านหนังสือรอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว พอมาทบทวนดู ปรากฏว่าหนังสือเด็กถูกยืมมาก เล่มไหนชำรุดก็ให้ซื้อใหม่ได้ มีบางเล่มต้องซื้อหลายชุดก็มี
ทันตแพทย์วัฒนาติดต่ออาจารย์พรอนงค์ และอาจารย์พรอนงค์มาพร้อมกับทีมงานอีกหลายคน เช่น อาจารย์ชีวัน วิสาสะ อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ มาจัดเทศกาลนิทานแห่งความสุข คล้ายๆ เหมือนกับเดย์แคมป์พัฒนาไอคิวเด็ก ทักษะการอ่าน การเล่นกับลูก สอนความรู้ด้วย เป็น workshop เลย
อาจารย์พรอนงค์เป็นนักเรียนรู้ตัวจริง เรียนรู้เพื่อคนอื่น เพื่อคนที่ด้อยโอกาส อาจารย์มาที่นี่ ๒ ครั้ง ตอนหลังชวนทำโครงการ Bookstart ด้วย เป็นเสน่ห์ที่ดีของโรงพยาบาลฯ ด่านซ้าย และขยายผลออกไปชุมชน จากลูกเจ้าหน้าที่ถึงลูกชาวบ้าน ทยอยกระจายออกไป และมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่องเพราะว่าเด็กไม่ได้หยุดโต
ทุกวันนี้เรื่องของเด็กที่ทำอยู่นั้น เรียกว่า ขบวนการเพาะกล้าตาโขนน้อย โดยมีเภสัชกรดาริน จึงพัฒนาวดี นักกายภาพบำบัดอรอุมา เนตรผง คุณเดชา สายบุญตั้ง เป็นแกนหลักสำคัญในการสร้างสรรค์งาน มีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ค่ายศิลปะ ค่ายดนตรี ค่ายธรรมชาติ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายคอมพิวเตอร์ ค่ายดีเจ อะไรก็ได้ที่เป็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กทุกๆ ด้าน ทำหมดเลย รวมถึงเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนด้วย เพราะมีประโยชน์มหาศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นจิตอาสาตามความชอบ และความถนัดของแต่ละคน ว่าจะช่วยกิจกรรมค่ายอะไรบ้าง

ไม่ได้จำกัดพื้นที่เฉพาะโรงพยาบาล บ้าน และชุมชนเท่านั้น จะต้องทำกับโรงเรียนด้วย ทีมงานพบปัญหาใหม่หลายอย่าง เช่น เด็กพัฒนาการเรียนรู้ช้า เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น... เป็นความทุกข์ใหม่ที่พวกเรารับรู้
โชคดีที่โรงพยาบาลฯ ด่านซ้ายเป็นที่ฝึกเรียนของนักศึกษาแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับการสนับสนุนจาก อาจารย์ พญ.บุษกร อนุชาติวรกุล และ อาจารย์ นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ทำให้การแก้ปัญหาเด็กมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เพราะทีมงานโรงพยาบาลฯ ด่านซ้ายพร้อมเต็มที่ และได้องค์ความรู้ทางวิชาการมาสนับสนุนการทำงานจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
อาจารย์หมอประเวศ วะสี ใช้คำว่า สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา แต่ของด่านซ้าย สามเหลี่ยมเขยื้อนเด็ก
ฐาน ๑ อนามัยโรงเรียน ทำงานกับโรงเรียน
ฐาน ๒ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์และนักศึกษาแพทย์
ฐาน ๓ ขบวนการเพาะกล้าตาโขนน้อย โรงพยาบาลฯ ด่านซ้าย (จิตอาสาเรื่องเด็ก)
ถ้า ๓ ฐานเคลื่อนปุ๊บ เด็กด่านซ้ายก็เดินไปในทิศทางที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

จากการทำงานต่างๆ ที่หมอทำอยู่ตอนนี้ กับสิ่งที่ชาวบ้านเผชิญ หมอยังตามไม่ทันในเรื่องที่เป็นปัญหาที่สำคัญมาก เช่น
อดีต คนด่านซ้ายไม่ค่อยได้ไปขายแรงงานนอกพื้นที่ แต่ทุกวันนี้คนด่านซ้ายออกไปขายแรงงานมาก เพราะ...
หนึ่ง ป่าถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงมีพื้นที่อยู่ในอำเภอด่านซ้ายมากกว่า ๒ แสนไร่)
สอง ชาวบ้านทนขาดทุนจากการทำเกษตรไม่ไหว (ทำไร่ข้าวโพดบนเขา ทำนาไม่ไหว
สาม ถูกสิ่งยั่วยุจากสังคมเมืองไม่ไหว
สิ่งยั่วยุจากสังคมเมืองคืออะไร... ต้องหน้าขาว ผมนิ่มสลวย ต้องกินเครื่องดื่มบำรุงกำลัง นั่งดื่มเบียร์ถึงจะเท่
สิ่งเหล่านี้มาจากสื่อที่ฉายซ้ำๆ ตอกย้ำทุกวัน คุกคามคุณภาพชีวิต และวิถีชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก พอโตขึ้นมาก็คิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้สิ่งเหล่านี้มา ต้องออกไปหาเงินมาซื้อสิ่งเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะโฆษณาเข้าไปฝังอยู่ในสมองแล้ว
เรื่องอย่างนี้รัฐบาลกลางต้องมีมาตรการต่างๆ ลงมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน...
แล้วจะแก้ปัญหาของตัวเองก่อน หรือแก้ปัญหาของประเทศชาติและประชาชนก่อนดีล่ะ

----------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น