วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มาปั่นให้โลกเปลี่ยน..



มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR up date 12/06/55 ที่มาของโครงการ เนื่องด้วยรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน” ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ มีกำหนดออกอากาศเทปแรกในวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2555 ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เป็นรายการที่ให้สาระความรู้ในเรื่องต่างๆ ของจักรยานต่อผู้ชม โดยมีความมุ่งหวังว่าเนื้อหาสาระของรายการจะเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนอนาคตของจักรยานในประเทศไทย โดยมีบจก. ฮอท เฮาส์ เป็นผู้เสนอรายการและเป็นผู้ผลิต ในตอนที่ 10-12 ของรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน” นั้นจะนำเสนอเนื้อหาสาระของการเดินทางไกลด้วยจักรยาน ซึ่งจะต้องจัดกิจกรรมการเดินทางไกลด้วยจักรยานหรือ Bicycles Touring ขึ้นในขั้นต้นเพื่อรองรับการถ่ายทำรายการ แต่ทางบจก. ฮอท เฮาส์ ซึ่งรับผิดชอบสร้างสรรค์และผลิตรายการได้เล็งเห็นว่า หากจะจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน”เพียงเท่านั้น ไม่คุ้มค่าในแง่ของประโยชน์ของกิจกรรมที่ควรมีต่อสาธารณะด้วยตัวของกิจกรรมเอง การขยายกิจกรรม Bicycles Touring ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วม รวมถึงกำหนดจุดประสงค์และบทบาท เฉพาะของโครงการ ให้สามารถสื่อสารกับสาธารณะได้ด้วยตัวกิจกรรมเองจึงเกิดขึ้น บจก.ฮอท เฮาส์ จึงได้แยกผลิตในส่วนของรายการโทรทัศน์ และ กิจกรรมออกอย่างเป็นอิสระต่อกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ และความชัดเจนในการดำเนินงาน นี่จึงเป็นที่มาของ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” 

จุดประสงค์ของ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on Tour”
  • เพื่อใช้กิจกรรมนี้เป็นเสมือนวัตถุดิบ ด้านเนื้อหาเรื่องราวที่จะนำเสนอในรายการ “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน” ตอนที่ 10-12 
  • เพื่อนำเสนอ แนวความคิด “สร้างเมืองให้เป็นมิตรต่อจักรยาน ด้วยการเริ่มต้นที่จักรยานต้องเป็นมิตรกับเมือง” ผ่านกิจกรรม ขี่จักรยานท่องเที่ยว ทางไกล ต่อสาธารณะ ซึ่งจะปลูกฝังแนวความคิดดังกล่าวกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่าน รูปแบบ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง
  • เพื่อใช้กิจกรรมเป็นช่องทางสร้างทรรศนะคติที่ดี ที่ถูกต้องระหว่างสังคมกับจักรยาน
  • เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญของจักรยาน ผ่านนำเสนอการใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวัน แทนการใช้รถยนต์ ว่าเป็นเรื่องที่ง่ายไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ทุกๆคนสามารถเริ่มและทำได้ทันที โดยผลกระทบที่ดีต่างๆจะเกิดขึ้นทั้งกับตนเอง สาธารณะ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม รวมถึงการเมืองด้วย
  • เพื่อใช้กิจกรรมนี้สร้างผู้นำ ที่จะมีส่วนสำคัญในอนาคตของจักรยานต่อไป
  • เพื่อก่อให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้ สื่อสาร แลกเปลี่ยน ในเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ต่างๆระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมเองและผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับสังคม 
  • เพื่อทุกคน รู้จัก แยกแยะ เข้าใจจักรยานในบริบทต่างๆ ซึ่งการแยกแยะบทบาทหน้าที่การใช้งานของจักรยานนี้มีความสำคัญมากต่ออนาคตของจักรยานในประเทศ ดังที่เราจะเห็นได้ว่ามีผู้ที่สนใจจะขี่จักรยานแต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องจักรยาน เลือกซื้อจักรยานมาใช้งานผิดประเภทไม่ตอบรับกับความต้องการที่แท้จริงของตน หรือแม้กระทั่งการที่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมรณรงค์ ก็ไม่ได้จัดการแยกแยะชัดเจน หากแต่มุ่งเน้นที่ปริมาณเป็นหลักจนสร้างภาพ สร้างความเข้าใจที่ผิดสู่สาธารณะ จนส่งผลกระทบต่ออนาคตของจักรยานในประเทศอย่างคาดไม่ถึง 
  • เพื่อเฉลิมฉลองสัมพุทธชยันตี ครบรอบ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเนื่องในช่วงวันที่จัดกิจกรรมมีวันสำคัญทางศาสนาถึงสองวันคือ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา รวมถึงเส้นทางที่ใช้ขี่ก็ผ่านศาสนสถานที่สำคัญ เช่น พระธาตุศรีสองรัก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(พระพุทธชินราช) และอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ผู้จัดกิจกรรมจึงมีความเห็นชอบที่จะจัดกิจกรรมการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจังหวัดพิษณุโลก และ การเวียนเทียนด้วยจักรยานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งในการเวียนเทียนที่อุทยานฯ นี้จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมด้วย 
การดำเนินงาน
สืบเนื่องมาจากความต้องการแยกการดำเนินงานกิจกรรมออกมาจากการผลิตรายการโทรทัศน์ บจก. ฮอท เฮาส์ จึงจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินกิจกรรม “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” โดยใช้ชื่อกลุ่ม Smile Riders (สมาย ไรเดอร์ส) เป็นผู้ดำเนินงานหลัก และ ต่อมา Smile Riders ได้มีโอกาสนำเสนอโครงการต่อ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (Thailand Cycling Club), ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเมืองด่านซ้าย และ ThaiPBS ซึ่งทุกองค์กรดังกล่าวล้วนเล็งเห็นโอกาสที่กิจกรรมจะส่งผลกระทบที่ดีต่อสาธารณะ รวมถึงมีจุดประสงค์ร่วมเดียวกัน Smile Riders จึงเรียนเชิญองค์กรทั้งสามที่กล่าวมาเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” 

กลุ่มเป้าหมาย(ผู้เข้าร่วมกิจกรรม)
  • คน ไม่จำกัด ชาติ ศาสนา เพศ อายุ หรือสถานะใดๆ ขอให้ปั่นได้ไปได้ มีรถจักรยานก็สามารถทุกคน
  • จักรยาน ไม่จำกัด ประเภท หรือยี่ห้อ แต่ขอให้เป็นจักรยานที่มีความพร้อมที่จะเดินทางได้วันละ 100 กม. ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 17 กม./ชม. บนทางราบลมปกติ เป็นจักรยานที่คุณขี่ได้ขี่ไหวในข้อจำกัดที่กล่าวมาไปได้ทุกคัน 
  • ถาม “อ้าวแล้วอย่างนี้จักรยานแม่บ้านจะไปได้หรือเปล่า ?”
    ตอบ “ไปได้ ถ้าคุณขี่ได้ตามที่กล่าวมา แต่ในวันแรกมีขึ้นภูเขาชันทีเดียว ก็ขอแนะนำให้เอาใส่รถไปก่อนดีกว่า แต่ถ้าใครจะตามมาเริ่มที่พิษณุโลก ขอตอบว่า ไปได้ทุกประเภทจักรยานครับเพราะทางราบตลอดเส้นทาง” 
  • ถาม “แล้วไม่จำกัดอายุนี่เด็กจะไปได้ไหม”
    ตอบ “ได้ครับ ถ้าเด็กสามารถขี่จักรยานได้ตามที่กำหนดในเกณฑ์ขั้นต่ำมา ซึ่งอันที่จริงไม่อยากกำหนดแต่ก็เกรงว่าเด็กจะไม่สามารถขี่ได้ครบเส้นทางในแต่ละวัน แล้วจะทำให้กลุ่มรวมถึงเวลาของกิจกรรมล่าช้ากว่ากำหนด จึงขอขีดเส้นไว้ตรงนี้ครับ” 
  • ถาม “แล้วคนไม่เคยขี่จักรยานไกลๆจะไปได้ไหม?”
    ตอบ “ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไปได้ครับ ผมเคยพาคนที่ไม่เคยขี่ทางไกล รวมถึงผู้หญิง ออกไปทัวร์ริ่งวันละไม่ต่ำกว่า 100 กม. ขี่ติดกันหลายวันไม่มีรถเซอร์วิส นั่นหมายถึงสัมภาระต่างๆต้องแบกไปเอง ไปได้ทุกคนครับ แต่ที่สำคัญคือก่อนออกเดินทางก็ควรซ้อมซักหน่อย เอาสัก 25 กม. ไม่หยุดพักเลยด้วยความเร็ว ไม่ต่ำกว่า 17 กม./ชม. ซ้อมก่อนเดินทางจนชิน รับรองไปได้ทุกคนและอยากให้ไปด้วยอย่างยิ่งครับ” เนื่องด้วย “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” มีลักษณะเป็นทริปท่องเที่ยวทางไกลด้วยจักรยาน ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวแบบนี้จัดได้ว่าแทบจะถูกจำกัดอยู่จำเพาะในกลุ่ม ในชมรมจักรยาน ซึ่งมีสมาชิกที่ใช้จักรยานจนมีประสบการณ์มากมาแล้วในระดับหนึ่ง รวมถึงรถจักรยานที่พร้อมในการเดินทางแบบนี้ต้องมีสมรรถนะและความพร้อมพอสมควรทีเดียว ซึ่งนั่นอาจหมายถึงราคารถที่แตกต่างจากจักรยานทั่วไปด้วย และหลายครั้งที่การขี่จักรยานทางไกลจะถูกจัดขึ้นในลักษณะของการแข่งขัน จึงทำให้ภาพลักษณ์ของการขี่จักรยานทางไกลเป็นเรื่องไกลตัวของสังคม ทั้งๆ ที่การเดินทางท่องเที่ยวทางไกลด้วยจักรยานนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินที่ใครจะทำได้ ขอแค่เพียงมีรถจักรยานที่พร้อม มีความเข้าใจและไม่มีปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น
กิจกรรมครั้งนี้จึงเปิดกว้าง และพยายามสื่อสารกับสังคมว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องไกลตัว สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวทางไกลด้วยจักรยาน โดยทางรายการจัดกลุ่มเป้าหมายหลักไว้ 2 กลุ่มตามศักยภาพคือ 
  • กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม ทั้งรถ ทั้งคน และประสบการณ์ ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทุกคน เข้าใจและตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของทริป โดยนักจักรยานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่ม เป็นชมรมจักรยานในพื้นที่จัดกิจกรรมที่มีผู้นำชัดเจน อาทิเช่น ชมรมจักรยานเมืองด่านซ้าย ชมรมจักรยานอำเภอกงไกรลาศ เป็นต้น 
  • กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เริ่มต้นให้ความสนใจกับจักรยาน คละเพศและอายุ ความพร้อมของรถ และ สุขภาพ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลแนะนำจากกลุ่มแรกอย่างใกล้ชิด 
ลักษณะของกิจกรรม เป็นทริปเพื่อการท่องเที่ยวระยะเวลา 5 วัน ระยะทางต่อวันไม่ไกลเกินคือจะอยู่ในช่วง 50-90 กิโลเมตร ใช้ถนนในการเดินทาง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเส้นทางจะพยายามเลี่ยงออกจากถนนหลัก ไปใช้ถนนสายรองผ่านชุมชน มีทางขึ้นลงเขาชันเพียงวันแรกจากด่านซ้ายมาน้ำตกปอยเท่านั้น การเดินทางจะใช้ความเร็วเฉลี่ย (AV) ค่อนข้างต่ำ ระหว่าง 15-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างเส้นทางจะแวะสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตชุมชนที่น่าสนใจรวมถึงมีเวลาให้อย่างเต็มที่ มีรถพยาบาล รถเซอร์วิส แต่ไม่มีรถตำรวจนำ และไม่มีการปิดถนนในเขตเมือง แต่จะเป็นการขอความร่วมมือจากตำรวจจราจรให้ช่วยตรวจดูความเคร่งครัดในวินัยจราจรในพื้นที่หรือจุดสำคัญ 

การแบ่งกลุ่ม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะมาเป็นกลุ่มเป็นชมรมหรือมาเดี่ยว จะถูกแบ่งกลุ่มใหม่ด้วยการจับสลาก โดยใช้สัญลักษณ์สี จำนวน 10 สี ได้แก่ ม่วง ฟ้า น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ชมพู น้ำตาล ขาว โดยในแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกเต็มที่ประมาณ 30 คัน 
  • หัวหน้ากลุ่ม เป็นตัวแทนจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเมืองด่านซ้าย เป็นผู้ขี่นำขบวน ห้ามสมาชิกกลุ่มขี่แซงหัวหน้าหรือผู้รับผิดชอบแทนหัวหน้า โดยจะมีสัญลักษณ์เป็นปลอกแขนใส่ที่แขนขวาให้เพื่อเป็นสัญลักษณ์  
  • รองหัวหน้ากลุ่ม ปิดท้ายขบวน เป็นคนที่ขี่จักรยานได้เร็วที่สุดในกลุ่ม สามารถไล่ขึ้นหน้าขบวนเพื่อหยุดขบวนได้ รวมถึงต้องคอยตรวจดูแถวให้เรียบร้อยตลอดการเดินทาง มีปลอกแขนเป็นสัญลักษณ์  
  • การสื่อสาร จะเป็นตัวแทนของผู้จัดกิจกรรม จาก กลุ่ม Smile Riders หรือ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย รับผิดชอบวิทยุสื่อสาร โทรศัพท์ เพื่อรายงานสถานการณ์ต่อส่วนกลาง 
ภารกิจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  1. ภารกิจต่อสาธารณะ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปรียบเสมือนทูตที่จะนำความเข้าใจที่ดีของสังคมมาสู่คนใช้จักรยาน เพราะฉะนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนรวมถึงทีมงานจะต้องเป็นตัวอย่างของคนขี่จักรยานที่ดี เป็นมิตรกับสังคม
  2. ภารกิจต่อกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีหน้าที่สนับสนุน ช่วยเหลือ ดูแลความเรียบร้อยทั้งมวล ในการดำเนินกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเดินทาง อาหาร ที่พัก ห้องน้ำ ห้องสุขา ความปลอดภัย การใช้เสียง เป็นต้น เพื่อให้กิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
  3. ภารกิจต่อกลุ่มของตนเอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องรับผิดชอบ ช่วยเหลือ แก้ปัญหา ดูแล สมาชิก ตรวจเช็คจำนวน สมาชิกทุกคนในกลุ่มของตน ตลอดการเดินทาง
  4. ภาระกิจต่อตนเอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องดูแลใส่ใจในสุขภาพ ความปลอดภัยของตน สุขอนามัย การติดต่อสื่อสาร (มือถือ) ไม่สร้างสภาวะน่ารังเกียจต่อบุคคลหรือสังคมรอบข้าง รวมถึงต้องปฎิบัติต่อกฎกติกาของการเดินทางอย่างเคร่งครัด 
ลักษณะขบวน กฏและกติกาขบวน 
  • แบ่งเป็นกลุ่มย่อยจำนวน 10 กลุ่ม 10 สี ได้แก่ ม่วง ฟ้า น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง ชมพู น้ำตาล ขาว ในแต่ละกลุ่มมีสมาชิกเต็มที่ไม่เกิน 30 คัน 
  • ทุกจุดเริ่มต้นและจุดพักจะปล่อยขบวนทีละกลุ่มจนครบ 10 กลุ่ม เริ่มจากสีม่วง-สีขาว โดยแต่ละกลุ่มทิ้งระยะกัน 5 นาที 
  • กลุ่มที่ตามไปส่ง ได้แก่ นักจักรยานท้องถิ่น ขี่ร่วมขบวนแบบไปเช้าเย็นกลับ จะรวมจำนวนแล้วแบ่งครึ่ง เป็นสองกลุ่ม กลุ่ม A และ B โดยกลุ่ม A จะปล่อยตัวเป็นลำดับที่ 6 ระหว่างกลุ่มสีเหลืองและส้ม ส่วนอีกกลุ่มจะปล่อยตัวในลำดับสุดท้าย ถ้าหากว่ามีจักรยานชาวบ้านมาขี่ด้วยจะให้อยู่ที่กลุ่ม A 
  • ขี่เป็นแถวเรียงเดี่ยวที่บริเวณไหล่ถนน ห้ามแซงหรือตีคู่ โดยไม่จำเป็น 
  • ห้ามแต่ละกลุ่มแซงกัน เว้นในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น รถของสมาชิกในกลุ่มที่อยู่ข้างหน้าเสีย เกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุที่ทำให้กลุ่มนั้นต้องหยุดรอรถพยาบาล หรือรถเซอร์วิส 
  • ควรเว้นระยะระหว่างคันในกลุ่ม 2-3 เมตร ไม่ควรมากหรือน้อยกว่านี้ ควรเว้นระยะระหว่างกลุ่มไม่ต่ำกว่า 100 เมตร จักรยานทุกคันไม่ควรมีความเร็วเฉลี่ย(AV) เมื่อตรวจสอบในแต่ละจุดพัก เกิน 25 กม./ชม.
  • แต่ละกลุ่มต้องเอาความเร็วเฉลี่ยของผู้ที่มีความสามารถน้อยที่สุดเป็นที่ตั้ง
  • เมื่อสมาชิกกลุ่มเข้าจุดพักครบทุกคันจึงจะได้รับบริการ อาหาร และน้ำดื่ม ให้หัวหน้ากลุ่มหรือตัวแทนตรวจสอบรายงานเช็คชื่อส่งเจ้าหน้าที่ที่จุดพักทุกครั้ง เว้นแต่ว่าสมาชิกกลุ่มได้ขึ้นรถเซอร์วิสหรือรถพยาบาลไประหว่างทางแล้ว 
  • การที่มีสมาชิกกลุ่มจอดนอกจุดพักต้องหยุดรอทั้งกลุ่ม 
  • การออกจากจุดเริ่มต้นหรือจุดพักต้องเช็คชื่อสมาชิกก่อนทุกครั้ง
*กฏ กติกาทั้งหมดล้วนออกมาบนพื้นฐานในเรื่องของความเรียบร้อย ปลอดภัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเป็นหลัก รวมถึงในเรื่องภาพลักษณ์ตามจุดประสงค์ของกิจกรรมและการจัดการด้วย ขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเคารพในกติกาขบวนอย่างเคร่งครัด 

จุดพักระหว่างทาง
จุดพักจะมีทุกๆ ระยะ 20-25 กม. ตลอดการเดินทาง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
  1. จุดพักน้ำ มีน้ำดื่ม น้ำหวาน โอวัลติน กาแฟ และอาหารว่างรองท้องไว้บริการ บางจุด อาจจะมีห้องน้ำ เวลาพักในจุดนี้กลุ่มละไม่เกิน 10-15 นาที
  2. จุดพักกลางวัน มีน้ำดื่ม น้ำหวาน โอวัลติน กาแฟ และอาหารกลางวัน* รวมถึงขนมไว้บริการ มีห้องน้ำ พร้อมที่พักผ่อนอริยาบท เวลาพักในจุดนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง *เว้นที่จุดพักกลางวันน้ำตกสกุโณทยานและ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
อาหารเช้า กลางวันและเย็น 
วันที่ 1 สิงหาคม 2555 
-มื้อเช้า ก่อนออกเดินทาง ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน จุดพัก “ร้านสูตรมะเหมี่ยว” กิจกรรมจัดให้ -จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ -มื้อเย็น “น้ำตกปอย” กิจกรรมจัดให้ 

วันที่ 2 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “น้ำตกปอย” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน “น้ำตกสกุโณทยาน” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อเย็น “พิษณุโลก” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง

วันที่ 3 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “พิษณุโลก” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน “กงไกรลาศ” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อเย็น “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง 

วันที่ 4 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” กิจกรรมจัดให้
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อกลางวัน “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ผู้ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบเอง
-จุดพัก บริการ น้ำดื่ม น้ำหวาน ชา กาแฟ โอวัลติน อาหารว่าง ห้องน้ำ
-มื้อเย็น “อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง)” กิจกรรมจัดให้ 

วันที่ 5 สิงหาคม 2555
-มื้อเช้า “อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง)” กิจกรรมจัดให้ 

ถาม “ทำไมเราไม่จัดหามื้อหลักเช่นมื้อกลางวันและมื้อเย็นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครบทุกมื้อ?” 
ตอบ “ความจริงคืออาหารทั้งมื้อหลักและอาหารว่างตามจุดพักต่างๆ ล้วนถูกคิดเป็นค่าบริการที่ท่านต้องจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งในความคิดพื้นฐานเบื้องต้นเราอยากให้ท่านหารับประทานเองมากกว่าเพราะจะเลือกทานได้ตามอัธยาศรัยรวมถึงยังเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง แต่ในบางสถานที่อาจจะไม่มีจำนวนร้านที่จะรองรับจำนวนคนได้มากพอ หรือเพื่อความเป็นระเบียบ และการจัดการเรื่องเวลา เราจึงต้องจัดหาอาหารในมื้อหลักให้ท่าน แต่ถ้าหากพอที่จะมีเวลา และ มีร้านค้า ร้านอาหารมากมายให้ท่านได้เลือกรับประทานได้เองแล้วเราก็จะไม่จัดหาให้ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาครับ” 

ที่พัก ห้องน้ำ ห้องสุขา
คืนวันที่ 1 สิงหาคม 2555   นอนที่บ้านพักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีหลายหลังหลายขนาด ห้องน้ำในตัว มีที่นอน หมอนพร้อมสรรพ รับจำนวนคนได้ประมาณ 120 คน ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกจึงน่าจะเพียงพอที่จะรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งยังมีจำนวนไม่มาก แต่ถ้าหากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินความจุบ้านพัก เรามีเต๊นท์ ไว้รองรับ พร้อมห้องน้ำรวม 

คืนวันที่ 2 สิงหาคม 2555 นอนที่โรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตก อยู่ในเขตตัวเมือง ไม่ไกลจากที่ชุมชน และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เราจะไปเวียนเทียนกัน ที่นี่ เด็ก และ สตรี ให้นอนในห้องเรียนเด็กอนุบาลเพราะมีพัดลม และมุ้งลวดกันยุง ที่เหลือนอนเต๊นท์ ซึ่งจะกางบริเวณใต้ถุนอาคาร หรือในบริเวณโรงเรียน กางเอง เก็บเอง เราขนให้ ส่วนห้องสุขา ใช้ห้องสุขาของครูและนักเรียน มีจำนวนมากพอ สุดท้ายคือส่วนอาบน้ำ เราจะทำการดัดแปลงที่แปรงฟันซึ่งเป็นอ่างล้างหน้ายาวมีหลายหัวก็อก โดยเอาผ้าใบมากั้นบังตา ให้เป็นห้องน้ำรวมสำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีห้องน้ำครูใช้อาบน้ำได้

คืนวันที่ 3 สิงหาคม 2555 นอนเต๊นท์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กางเอง เก็บเอง เหมือนเดิม ส่วนห้องน้ำมีของอุทยานประมาณ สิบกว่าห้องเป็นสุขาทั้งหมด เราขอรถสุขาเคลื่อนที่ของเทศบาลมาเสริม ส่วนที่อาบน้ำจะทำการกั้นผ้าใบและใช้น้ำจากรถน้ำใส่ถังสองร้อยลิตรอาบแยกชาย หญิง ควรมีผ้าผลัดอาบน้ำด้วย

คืนวันที่ 4 สิงหาคม 2555 นอนที่อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง) มีบ้านพักขนาดใหญ่สองหลัง จุได้หลายสิบคน แต่ก็คงจะไม่พอที่เหลือจึงนอนเต๊นท์ ส่วนห้องน้ำ ห้องสุขา ของอุทยานมีปริมาณพร้อมรองรับสบายมาก คำถาม “นอนเต๊นท์ถ้าฝนตกทำอย่างไร?” ตอบ “ก็ปิดเต๊นท์ให้ดี แล้วก็นอนฟังเสียงฝนไงครับ” *เราจัดหาเต๊นท์นอนไว้เพียงพอที่จะรองรับคนได้ 300 คน ไม่จำเป็นต้องเอาเต๊นท์มาเองแต่ถ้าอยากเอามาก็ไม่ว่ากันครับ 

ยานพาหนะ รถการเดินทางรับส่งผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  1. ขาไปจากกรุงเทพรถบัส 50 ที่นั่ง พร้อมรถขนจักรยานซึ่งทำมาเพื่อขนจักรยานโดยเฉพาะ จักรยานไม่บอบช้ำ เดินทางออกจาก กทม.สองรอบ
    - รอบแรกออก 05.00 น. วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 จากกรุงเทพฯ – ด่านซ้าย 11.00 น.
    - รอบสองออก 09.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2555 จากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 14.00 น.
  2. ขากลับรถบัส 50 ที่นั่ง สองคัน พร้อมรถขนจักรยาน ออกจากอุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง) 10.00 น. กลับถึงกรุงเทพ 15.00 น. 
  3. อุทยานแห่งชาติรามคำแหง-ด่านซ้าย รถบัส พร้อมรถบรรทุกทหารขนจักรยานส่งถึงด่านซ้าย- รถกระบะเซอร์วิสพร้อมอุปกรณ์ซ่อมจักรยาน ตามขบวน 1 คัน
    - รถตู้ตามขบวน 1 คัน รถพยาบาล 1 คัน โดยความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย
    - รถขนจักรยานขนาดใหญ่ 1 คัน จอดรอที่จุดพักทานข้าวกลางวัน
    - รถบรรทุกทหาร 2 คันเพื่อบรรทุกเต๊นท์ และสัมภาระของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่อยากหรือไม่สะดวกที่จะแบกไปเอง (ล่วงหน้าเข้าที่พักตั้งแต่เช้า)
    -รถกระบะขน น้ำ เครื่องดื่ม อาหารว่าง จอดที่จุดพัก 2 คัน
กฏ กติกา มารยาท 
  • ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเคารพ ปฏิบัติตามกฎของการจัดระเบียบขบวนตามที่กล่าวมาในหัวข้ออย่างเคร่งครัด 
  • เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร
  • ห้ามดื่มสุรา เบียร์ ไวน์ ตลอดการร่วมกิจกรรม
  • สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เนื่องด้วยเราต้องปฎิบัติภารกิจเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสาธารณะ จึงควรลด ละ เลิก หรือ สูบในสถานที่ที่จัดไว้ให้เท่านั้น 
  • ทิ้งขยะให้ถูกที่ รักษาสภาพแวดล้อมรอบตัวให้อยู่ในสภาพที่ดี ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เช่นน้ำ และไฟฟ้า 
  • พูดจาไพเราะ สุภาพ อ่อนโยน ให้เกียรติ และเป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมทางและสังคมรอบตัว
  • ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น 
  • พร้อมช่วยเหลืองานส่วนรวมของกิจกรรม ปฎิบัติตามภารกิจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรม
  • เด็ก อายุ 7-12 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • เยาวชน อายุ 13-17 ปี เสียค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง
  • ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ..................บาท 
  • นักจักรยานในพื้นที่ที่ขี่ร่วมขบวนไปด้วย ไป-กลับ เองวันต่อวัน และต้องการรับประทาน อาหารในมื้อหลักที่ กิจกรรมจัดหาให้ จ่ายคนละ 50 บาทต่อมื้อ และเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของการจัดกิจกรรมอันเนื่องมาจากการขนส่ง จึงกำหนดโควต้า ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังนี้
    • จักรยานจากกรุงเทพ 80 คัน ไม่นับรวมทีมงาน
    • ทีมงาน 50 คัน
    • จักรยานในพื้นที่ที่ขบวนผ่าน ได้แก่ จ.เลย จ.พิษณุโลก และจ.สุโขทัย ตลอดจนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาและกลับเอง จำนวน 200 คัน
  • เงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์จะนำไปบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้อรถเข็นคนพิการกับสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย 
คุณจะได้อะไรจากการร่วมกิจกรรม 
“เราเชื่อว่า ในราคาค่าใช้จ่ายเท่านี้ กิจกรรม “มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน on TOUR” ให้ประสบการณ์ที่ดีที่น่าจดจำ สร้างความภาคภูมิใจกับคุณได้มากกว่า การนำเงินก้อนนี้ไปซื้อหลักอาน หรือ คอแฮนด์เกรดไฮเอ็นด์ มาเปลี่ยนใส่รถจักรยานของคุณแน่นอน ที่สำคัญกิจกรรมนี้จะทำให้จักรยาน และตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีคุณค่า เพราะได้ทำประโยชน์คืนกับสังคมในแบบของคนขี่จักรยานที่ดี แถมยังได้ทำบุญอีกด้วย” 

กำหนดการ มาปั่นให้โลกเปลี่ยน On Tour
วันอังคารที่ 31 กรกฏาคม 2555 “Pre-Trip”
05.00 น. รถทัวร์และรถขนจักรยานออกเดินทางจากกรุงเทพ
11.00 น. รถทัวร์เดินทางมาถึงพระธาตุศรีสองรัก อ. ด่านซ้าย จ.เลย รับประทานอาหาร เดินทางเข้าที่พัก และพักผ่อนตามอัธยาศัย*** รถขนจักรยานเดินทางไปรอที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช
14.00 น. ปฐมนิเทศน์ และจัดกลุ่มที่ รพ. สมเด็จพระยุพราช
16.00 น. Pre Trip ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเมืองด่านซ้าย นำโดยนายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ นำขี่จักรยานท่องเที่ยวเมืองด่านซ้าย สวรรค์ของนักจักรยาน
18.00 น. ขี่จักรยานกลับถึงตัวเมืองด่านซ้าย รับประทานเย็นอาหารร่วมกัน 
 **สำหรับที่พักในคืน Pre Trip ผู้ร่วมเดินทางต้องจัดหาเอง โดยผู้จัดกิจกรรมจะอำนวยความสะดวกให้ เช่น การประสานให้เจ้าของกิจการห้องพัก โรงแรม เกสท์เฮาส์ รีสอร์ทในพื้นที่มอบส่วนลดพิเศษให้กับนักจักรยาน ส่วนเรื่องการขนสัมภาระที่ไม่สามารถขนด้วยจักรยานได้ ระหว่างจุดปล่อยลง-ที่พัก-พระธาตุศรีสองรักในเช้าวันรุ่งขึ้น ให้ใช้รถสามล้อเครื่องท้องถิ่นซึ่งผู้ร่วมเดินทางรับผิดชอบเอง ซึ่งทั้งหมดราคาไม่แพงเลย ทั้งที่พักและรถสามล้อ

วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2555     วันที่หนึ่ง “ด่านซ้าย-น้ำตกปอย” ระยะทาง 86 กม. 
07.00 น. นัดรวมพล
08.00 น. เริ่มออกเดินทางจากด่านซ้าย
12.00 น.รับประทานอาหารที่ร้านอาหารสูตรมะเหมี่ยว ริมแม่น้ำแควน้อย
17.00 น.จักรยานกลุ่มสุดท้ายถึงน้ำตกปอย จ.พิษณุโลก เข้าที่พัก พักผ่อนตามอัธยาศรัย 
18.30 น. รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน 
20.00 น. ร่วมกิจกรรมรอบกองไฟแบ่งปันความคิดเห็น

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2555 วันที่สอง “น้ำตกปอย-น้ำตกสกุโนทยาน-พิษณุโลก” ระยะทาง 70 กม. 
06.00 น. ตื่นนอน อาบน้ำทำธุระส่วนตัว
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า
08.00 น. ออกเดินทางไปยังน้ำตกสกุโณทยาน
12.00 น. จักรยานกลุ่มสุดท้ายถึงน้ำตกสกุโณทยาน รับประทานอาหารเที่ยงตามอัธยาศรัย*
13.00 น. ออกเดินทางจากน้ำตกสกุโนทยาน มุ่งหน้าสู่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก
16.30 น. เข้าที่พัก ที่โรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตก
17.00 น. กิจกรรมสัมมนาและจัดกลุ่ม วันนี้จะมีกลุ่มจักรยานที่เดินทางมาจากกรุงเทพมาสมทบซึ่งจะมาถึงที่พักตั้งแต่ช่วงบ่าย และได้รับการปฐมนิเทศน์และจัดกลุ่มพร้อมรอไว้ก่อนแล้ว
18.00 น. แยกย้ายรับประทานอาหารตามอัธยาศรัย*
20.00 น. พร้อมกันวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อเวียนเทียนรอบโบสถ์พระพุทธชินราชร่วมกัน 

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2555 วันที่สาม “พิษณุโลก-กงไ กรลาศ-อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ระยะทาง 90 กม.
06.00 น. ตื่นนอน อาบน้ำทำธุระส่วนตัว
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า
08.00 น. ออกเดินทางไปยัง อ. กงไกรราช จ.สุโขทัย
12.00 น. เดินทางถึงกงไกรลาศ รับประทานอาหารที่ที่ว่าการอำเภอโดยนายเสกสรรค์ ฉัตรตระกูล นายอำเภอกงไกรราช
13.30 น. ออกเดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
17.30 น. ถึงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กางเต๊นท์ที่พักในอุทยาน
18.00 น. รับประทานอาหารตามอัธยาศรัย* พร้อมทั้งออกไปเชิญชวนให้ชาวบ้านมาขี่จักรยานเวียนเทียนร่วมกันคืนนี้
20.00 น. นัดรวมพลตั้งขบวนเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเวียนเทียนโดยขบวนจักรยาน เนื่องในวันเข้าพรรษาและเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
21.00 น. กิจกรรมสัมมนา แลกเปลี่ยน พูดคุย 

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2555 วันที่สี่ “เมืองเก่าสุโขทัย-อ่างเก็บน้ำคลองข้างใน-อุทยานแห่งชาติรามคำแหง(เขาหลวง)” ระยะทาง 50 กม. 
06.00 น. ตื่นนอน อาบน้ำทำธุระส่วนตัว 
07.00 น. รับประทานอาหารเช้า 
08.00 น. เที่ยวชมโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 
10.30 น. รับชมรายการ "มาปั่น ให้โลกเปลี่ยน" ที่ออกอากาศเป็นตอนแรกร่วมกับชาวเมืองเก่าสุโขทัย 11.00 น. รับประทานอาหารกลางวันตามอัธยาศรัย
13.00 น. กลับมารวมกันหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
14.00 น. ออกเดินทางไปอ่างเก็บน้ำคลองข้างใน อ. คีรีมาส จ.สุโขทัย
16.00 น. ถึงอ่างเก็บน้ำ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รับประทานอาหารว่างรองท้อง
18.00 น. ออกเดินทางไปอุทยานแห่งชาติรามคำแหง
19.00 น. ถึงที่พัก ณ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง
20.00 น. รับประทานอาหาร
21.00 น. กิจกรรมรอบกองไฟ 

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2555วันที่ห้า “เดินทางกลับ” 
07.00 น. รับประทานอาหาร 
11.00 น. ออกเดินทางกลับกทม. และ อ. ด่านซ้าย จ.เลย 
16.00 น. เดินทางกลับ โดยสวัสดิภาพ *สำหรับมื้ออาหารที่ให้รับประทานตามอัธยาศรัยนั้น จะปล่อยให้ผู้ร่วมเดินทางทุกท่านเลือกรับประทานในร้านที่ตัวเองถูกใจ ซึ่งผู้ร่วมเดินทางต้องรับผิดชอบค่าอาหารเอง  
-ระหว่างการเดินทางในแต่ละวันจะมีจุดพัก ทุกๆ 20-25 กม. ซึ่งจะมีรถน้ำ และอาหารว่างไว้คอยบริการ -ตลอดเส้นทางจะมีรถพยาบาลจาก รพ. สมเด็จพระยุพราชคอยปิดท้ายขบวน 
-มีรถขนสัมภาระ ซึ่งจะออกเดินทางตั้งแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าไปคอยยังที่พัก ไม่ตามขบวน 
-มีรถตู้และรถกระบะคอยเก็บตกตลอดระยะทาง 
-ตลอดการเดินทางไม่มีรถนำขบวน ไม่มีการปิดเส้นทาง และผู้เข้าร่วมเดินทางต้องรักษากฏจราจร และ ระเบียบวินัยของการเดินทางอย่างเคร่งครัด 
-มีโทรศัพท์ และ วิทยุสื่อสาร อยู่ประจำทุกกลุ่ม 
-ในกรณีที่ต้องนอนเต๊นท์ เราจะจัดหาเต๊นท์ให้แต่ผู้ร่วมเดินทางต้องกางเต๊นท์เอง 
-สำหรับนักจักรยานที่สนใจจะเดินทางไปสมทบในวันที่ 2 สิงหาคม ณ จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการวันแรก จะมีรถบัสปรับอากาศ และรถขนจักรยานบริการจากกรุงเทพ
-ที่พักโรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตก จ.พิษณุโลก ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 07.00 น. สถานที่นัดหมายจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง