วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

มนุษย์ไม่ได้เป็นเหยื่อของยีนส์..

มนุษย์ไม่ได้เป็นเหยื่อของยีนส์ เราเป็นอย่างที่เรารับรู้

คำว่า “เป็นเหยื่อของยีนส์” สะท้อนทัศนะที่ยึดถือกันมานานว่าร่างกายมนุษย์เป็นเหมือนเครื่องยนต์กลไกชนิดหนึ่งที่ถูกควบคุมด้วยสารพันธุกรรมคือยีนส์และดีเอ็นเอ แต่สำหรับความรู้ทางชีววิทยาใหม่ ทัศนะดังกล่าวกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น “สภาวะแวดล้อมและความรับรู้ของเราเองต่างหากที่กำหนดความเป็นตัวเรา”
นั่นคือสาระใจความสำคัญที่สุดที่ ดร.บรูซ ลิปตัน ศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และชีววิทยาระดับโลก จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา พยายามย้ำบอกในการมาบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2545 หัวข้อเรื่อง Biology of Belief หรือภาคไทยว่า “ชีวฟิสิกส์กระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อความเข้าใจชีวิตและชีวมณฑล”
ดร.บรูซ บรรยายอย่างระเอียดลึกซึ่ง อ้างอิงผลการวิจัย ทดลอง ข้อคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญมากมาย ในที่นี้ เป็นเพียงการหยิบเอาประเด็นสำคัญบางประการมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับผู้อ่านสานแสงอรุณที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมรับฟังในวันนั้น

ทัศนะเก่าที่ใช้ไม่ได้แล้ว
ฐานคิดพื้นฐานทางชีวิทยาแต่เดิมตั้งตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ประการ คือ
  1. กระบวนการทางชีววิทยาดำเนินไปโดยกฎเกณฑ์เดียวกันกับแนวคิดฟิสิกส์แบบนิวตัน
  2. การแสดงออกทางชีววิทยาทั้งหมดถูกควบคุมโดยยีนส์
  3. ความหลากหลายทางชีววิทยาเกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของชีวิตซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีของ ดาร์วินใหม่ ที่เห็นว่ากระบวนการแปลงพันธุ์ของยีนส์เกิดจากปัจจัยภายในยีนส์เองเป็นส่วนใหญ่

ขยายความแนวคิดฟิสิกส์ตามทฤษฎีเกี่ยวกับจักรวาลของนิวตัน (Newtonian Mechanic) บอกกับเราว่า
  1. จักรวาลขับเคลื่อนไปอย่างมีกฎเกณฑ์ตายตัว และจักรวาลหรือทั้งหมดของธรรมชาติประกอบขึ้นด้วยสาร ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากสสาร เป็นทัศนะแบบวัตถุนิยม (Materialism)
  2. การอธิบายปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนสามารถทำได้โดยการถอดชิ้นส่วน แล้วทำความเข้าใจจากชิ้นส่วนอันเป็นองค์ประกอบย่อย ๆ นั้น เพื่อไปอธิบายองค์รวมใหญ่ ในความเป็นมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อถอดชิ้นส่วนอวัยวะร่างกายออกมาดูว่าแต่ละชิ้นทำงานเกี่ยวโยงกันอย่างไรก็จะสามารถอธิบายชีวิตมนุษย์ได้ เป็นทัศนะแบบลดส่วน (Reductionism)
  3. เมื่อรู้ปัจจัยและกฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ เราก็สามารถที่จะแทรกแซงหรือคาดทำนายได้ว่าเมื่อทำอย่างนั้นอย่างนี้จะเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นผลตามมา เรียกว่าเป็นทัศนะแบบมีปัจจัยเป็นตัวกำหนด (Determinism)
ขยายความ ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินใหม่ (Neo – Darwinian) บอกกับเราว่า การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการพัฒนาการของสรรพชีวิตมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ
  1. เป็นขบวนการแปลงพันธุ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีแบบแผน เป็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระดับเซลล์เมื่อมีการผสมหรือสืบพันธุ์
  2. เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติสิ่งที่เหมาะสมหรือแข็งแรงที่สุดจะอยู่รอดได้ ดังนั้น สำหรับการเกิดขึ้นของมนุษย์จึงเป็นอุบัติเหตุของการแปลงพันธุ์ เผอิญเกิดขึ้นในระหว่างขบวนการสืบพันธุ์ ขบวนการผลิตซ้ำของชีวิต ความมีชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไร นอกเหลือไปจากการเป็นเหตุบังเอิญในวิวัฒนาการ
ทั้งหมดนั้น คือรากฐานทัศนะทางวิทยาศาสตร์ ที่กำกับความคิดความเชื่อของมนุษย์มาเป็นเวลาช้านาน และยังคงมีอิทธิพลฝังแน่นอยู่ในวิถีการดำรงอยู่ของผู้คนถึงทุกวันนี้ เป็นไปโดยอัตโนมัติ คือเชื่อตาม ๆ กันมา อย่างแทบจะไม่เคยนึกสงสัยตั้งคำถาม

ทัศนะใหม่ที่เข้าแทนที่
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ความเชื่อตามทัศนะนิวตันดังกล่าวเริ่มถูกเปลี่ยนแปลงจากทฤษฎีใหม่ของควอนตัมฟิสิกส์ ที่มองจักรวาลแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ควอนตัมฟิสิกส์หรือควอนตัมแมคคานิกส์พบว่า
จักรวาลประกอบด้วย “พลังงาน” เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ในโครงการสร้างของอะตอมลึกลงไปเรื่อย ๆ อดทนที่จะเป็นสสารหรืออนุภาคขนาดเล็กวิ่งวนกันอยู่ กลับกลายเป็นไม่มีอะไรอยู่เลย อนุภาคทุกชนิดจะมีการดูดซึมแสงและส่งออกซึ่งคลื่นตามลักษณะที่เป็นเฉพาะของมันเอง การจะเข้าใจว่ามันเป็นอนุภาคหรือสสารชนิดใด รู้ได้จากการตรวจวัดแบบแผนของคลื่นนี้

พร้อมกันนั้น ทัศนะลดส่วนได้ถูกแทนที่ด้วย “ทัศนะองค์รวม” (Holism) ที่ถือว่าองค์ประกอบโดยรวมมีมากกว่าคุณสมบัติของส่วนย่อย ๆ มารวมกัน หรือการรวมกันของส่วนย่อย ทำให้เกิดองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่ของมันขึ้นมาและความเป็นกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวถูกแทนที่ด้วยทัศนะที่ว่า สรรพสิ่งมีความซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก

เมื่อรากฐานทางฟิสิกส์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีววิทยาก็มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย (แม้จะอย่างเชื่องช้ามากก็ตาม) นั่นก็คือ ร่างกายของมนุษย์ที่สุดแล้วไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยสสารแต่ร่างกายของมนุษย์เป็นพลังงาน ในร่างกายของมนุษย์มีแบบแผนของพลังงานในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัลป์พลังงานที่อยู่ภายนอก ทั้งในทางมาพ้องกันเสริมกัน หรือหักล้างกันทำให้เกิดการสูญเสีย

ล่าสุดผลลัพธ์จากการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ไม่นานมานี้ (Human Genome) ได้สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าในร่างกายมนุษย์มีจำนวนยีนส์อยู่เพียง 34,000 ตัว จากที่เคยคาดกันไว้ว่าน่าจะมีอยู่ราว 140,000 ยีนส์ (ตามจำนวนโปรตีนและดีเอ็นเอที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของแม่พิมพ์โปรตีน) จำนวนถึงสองในสามที่คิดว่ามีอยู่แต่กลับไม่ได้มีอยู่นี้ ทำให้ตระหนักกันขึ้นไม่น้อยว่า โดยแท้จริงแล้วภาวะชีวิตของมนุษย์มีคำวามลึกล้ำซับซ้อนยิ่งนัก และเรายังไม่มีคำตอบในความลึกลับนั้น (ที่เคยคิดว่ารู้แล้วเป็นแค่อหังการ) เนื่องจากยีนส์ที่เราคิดว่าเป็นตัวคำตอบมันไม่ได้มีอยู่จริงยีนส์หรือดีเอ็นเอจึงไม่ได้เป็นตัวกำหนดการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ยังมีสิ่งอื่นที่ควบคุมยีนส์อีกทีหนึ่ง

สิ่งนั้นคืออะไร ดร.บรูช เฉลยว่าคือ กระบวนการรับรู้ของเราที่ตอบรับต่อสภาวะแวดล้อมที่มากระทบ
สวิตช์เปิด – ปิดในกลไกการทำงานทางชีววิทยาที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมและแรงขับเคลื่อนไปในทางต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปเฉพาะโดยตัวของมันเอง แต่จะต้องมี”สัญญาณ” จากภายนอกร่างกายมนุษย์มากระทำประกอบด้วยและสัญญาณที่ว่านี้มีได้ทั้งลักษณะที่เป็นสสารและพลังงาน

โดยสัญญาณภายนอกที่จะผ่านเข้าสู่ภายในเซลล์ ต้องผ่านกลไกรับสัญญาณ ส่งผ่านและแปลสัญญาณ ซึ่งอยู่ที่ Cell Membrane หรือเยื่อหุ้มเซลล์ กลไกนี้เปรียบได้กับสวิตช์เปิด – ปิดกลไกการทำงานนั่นเอง เมื่อสัญญาผ่านเข้ามาสู่ภายในเซลล์จะทำให้โปรตีนในเซลล์มีการเคลื่อนไหวไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างและพฤติกรรมต่าง ๆ “สิ่งแวดล้อม” รอบตัวจึงเป็นแหล่งต้นกำเนิดคอยส่งสัญญาณผ่านผัสสะของเรา เกิดเป็น “กระบวนการรับรู้” ที่เป็นตัวกำหนดกลไกทางชีววิทยาทั้งหมด เท่ากับสิ่งแวดล้อมที่เข้ามากระทบชีวิตและการรับรู้ของเรานั้นเองที่เปลี่ยนแปลงกลไกและกระบวนการทางชีววิทยาในตัวตนของเรา

ด้วยการรับรู้ มนุษย์กำหนดชะตาชีวิตของตนได้
การรับรู้ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด บวกหรือลบ จะมีผลต่อกระบวนการทางชีววิทยาของเซลล์ทั้งสิ้น กระทั่งกล่าวได้ว่า ชีววิทยาของเราถูกขับเคลื่อนไปโดยทัศนะความเชื่อของเรานั่นเอง เช่น หากเราเชื่อว่าเราเป็นมะเร็ง การรับรู้และความเชื่อชุดนี้ก็จะไปผลิตกระบวนการทางชีววิทยา เราอาจสร้างมะเร็งขึ้นมาจากความคิดความเชื่อของเราได้

กลไกภายในร่างกายและจิตใจที่ตอบรับต่อการรับรู้ภายนอก จะอยู่ระหว่างสองทิศทางเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คือถ้าไม่เปิดรับเคลื่อนเข้าหาเพื่อนำมาเสริมสร้าง (เติบโต) ก็ปิดตัวเองเคลื่อนหนีเกิดการสูญเสีย(ปกป้อง) ด้วยกลไกดังกล่าวนี้ “ความรัก” จึงเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการเติบโตงอกงามของมนุษย์มากที่สุด ในขณะที่ “ความกลัว” เป็นปัจจัยที่ทำให้ชะงักการเติบโต จากการที่สารเคมีจากต่อมเหนือไตจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวเลือดถูกดึงจากที่ต่าง ๆ ให้ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อแขนขาเป็นพิเศษ  หยุดส่วนของการเติบโตเพื่อมาสร้างการต่อสู้ป้องกันตัวเองหรือวิ่งหนี ฉะนั้นยิ่งเรามีความกลัวมากขึ้นเท่าไร เราก็จะใช้พลังงานในการปกป้องตัวเองมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งเราใช้พลังงานในการปกป้องตัวเองมากขึ้นเท่าไร กระบวนการเติบโตของชีวิตก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

อีกทั้ง ความรับรู้ใหม่ทางชีววิทยาอีกหลายประการ ทำให้เรื่องอุบัติเหตุของการผ่าเหล่าแปลงพันธุ์กำลังถูกรื้อเปลี่ยนมาสู่ทัศนะใหม่ที่เชื่อว่า “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตแท้ที่จริงมันมีวัตถุประสงค์อยู่ภายในตัวของมันเอง” โดยเฉพาะเป็นไปเพื่อการปรับตัวให้ชีวิตสามารถอยู่รอดและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น วิถีที่ดำเนินไปของชีวิตจึงเป็นสัมพันธภาพที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกันของสิ่งแวดล้อม การรับรู้และกระบวนการทางพันธุกรรมในเซลล์
มาถึงตรงนี้ คงไม่ผิดถ้าจะสรุปว่า ความอยู่รอดของชีวิต กระทั่งพันธุ์ของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าเราตกอยู่ในภาวการณ์รับรู้เช่นไรเป็นสำคัญ ชะตาชีวิตไม่ได้ถูกกำหนดล่วงหน้าเอาไว้แล้วในยีนส์(วัตถุสาร) มนุษย์สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ ภายใต้ปัจจัยของสิ่งแวดล้อม การรับรู้ ทัศนคติและความเชื่อ (กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จิต ที่มีสัมพันธภาพกับกายนั่นเอง)

ถ้าเรา รัก มากกว่าที่จะ กลัว ร่วมมือมากกว่า แข่งขัน คิดสร้างสรรค์ มากกว่าที่จะแก่ง แย่งทำลาย สงบเรียบง่าย มากกว่า โหยหา ดิ้นรนไม่หยุดหย่อน ฯลฯ เราก็จะรอดและงอกงาม