วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

โชคดีที่..โชคร้าย

การฝึกงานโรงพยาบาลชุมชนครั้งแรกกับเรื่องเล่าเรื่องแรก ทำให้ได้สัมผัสกับชีวิตที่น่าสนใจมากมาย ก้าวแรกของการดูแล case study ณ. หอผู้ป่วยใน1 เตียงชาย1 กับภาพแรกที่เห็นชายคนหนึ่งอายุประมาณ 40 ต้นๆ นอนอยู่บนเตียงสีหน้าเศร้าซึมดูหงอยเหงาไม่พูดไม่จาและข้างเตียงนั้นก็พบหญิงชราผู้หนึ่งอายุประมาณ 70 กว่าปีซึ่งพอจะเดาออกได้ว่าน่าจะเป็นแม่ของคุณลุงคนนี้ การทักทายได้เริ่มต้นขึ้นจากการเข้าไปซักประวัติและตรวจร่างกาย แต่ผลตอบรับที่ได้คือ การถามคำตอบคำโดยรู้ได้ทันทีว่า คุณลุงยังไม่ไว้ใจในตัวเราและยังไม่กล้าที่จะเล่าเปิดใจในเรื่องที่เกิดขึ้น ความสามารถสูงสุดในตอนนั้น คุณลุงสามารถทำได้แค่ยักไหล่ได้อย่างเดียว ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดที่ว่า จะต้องทำให้คุณลุงช่วยเหลือตัวเองให้ได้ไม่อยากเห็นคุณลุงอยู่ในสภาพแบบนี้ และเมื่อเวลาผ่านไปความไว้ใจก็เริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย คุณลุงเริ่มเปิดใจและถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟังพอได้ใจความว่า

ชายหนุ่มอายุ 40 ปี ที่มีชื่อว่า นายบุญรอด ฤทธิ์ศักดิ์ อาศัยอยู่ที่ บ้านกกโพธิ์กับภรรยาและลูกๆ มีอาชีพ ขายล๊อตเตอรี่ ทำไร่และรับจ้างต่างๆ เป็นคนขยันเอาการเอางานดีเป็นคนรักครอบครัวและมีลูกที่น่ารัก 2 คน คนโตเป็นผู้ชาย อายุ 18 ปี ส่วนคนเล็กเป็นผู้หญิงอายุ 13 ปี ไม่ว่าจะไปไหนจะต้องพามอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายไปด้วยทุกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องราวต่างๆมากมายที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นกับลุงบุญรอด

ปี 2552 ลุงบุญรอดได้แยกทางเดินกับภรรยาโดยมีเหตุผลส่วนตัวจึงทำให้การจากกันครั้งนี้จากกันไปด้วยดี ลุงบุญรอดจึงกลับมาอาศัยอยู่กับบิดามารดาและพี่สาวที่บ้านเกิด บ้านช่างสี่ ส่วนภรรยานั้นได้รับลูกทั้ง2คนไปดูแลและได้มีสามีใหม่พร้อมกับมีลูกใหม่ด้วยกัน1คน ถึงจะแยกทางจากกันไปแล้วแต่ก็ยังมีการติดต่อถามสาระทุกข์สุขดิบกันอยู่เรื่อยๆ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ลุงบุญรอดหมดกำลังใจและสิ้นหวังมีแค่เวลาเท่านั้นที่สามารถเยียวยาชีวิตที่เหลืออยู่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ลุงบุญรอดกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกกครั้งได้เพราะความรักและคำปลอบโยนที่ครอบครัวมีให้จากพ่อ แม่และพี่น้อง ลุงบุญรอดเป็นคนดีไม่กินเหล้าเมายาจึงทำให้เป็นที่รักของญาติพี่น้องและคนในชุมชน

เหตุการณ์กลับตาละปัดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ลุงบุญรอดก็ได้พามอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายออกไปทำงานรับจ้างตามปกติ ในวันนั้นออกไปรับจ้างตัดหญ้าแต่บังเอิญว่า น้ำมันเครื่องตัดหญ้าดันหมด จึงได้ยืมน้ำมันเครื่องของเพื่อนมาใช้ชั่วคราวก่อน หลังจากทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้ขี่มอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายไปหาซื้อน้ำมันเครื่องมาใช้คืนเพื่อน ระหว่างทางนั้นด้วยความที่ประมาทคิดว่ารถไม่เยอะ มือหนึ่งถือถังน้ำมันเครื่องอีกมือหนึ่งบิดคันเร่งมอเตอร์ไซร์ ขับด้วยความเร็วจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ด้วยความแรงของเครื่องยนต์ทำให้รถหลุดโค้ง ลุงบุญรอดได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ มอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายไถลไปทางหนึ่ง ลุงบุญรอดก็ได้กระเด็นออกไปจากรถอีกทางหนึ่งกระเด็นไปอีกฝั่งหนึ่งของถนน หลังจากนั้นก็หมดสติไป ไม่รับรู้เรื่องราวอะไรอีกเลย “ด้วยความโชคดีของลุงบุญรอดมีหมอที่โคกงามคนหนึ่งมาพบร่างของลุงบุญรอดที่นอนหมดสติอยู่จึงได้นำตัวลุงบุญรอดส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลได้ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลเลย แต่ในความโชคดีนั้นก็มีความโชคร้ายแถมมาด้วย หลังจากฟื้นคืนสติ ลุงบุญรอดได้กลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนทันที แพทย์ได้วินิจฉัยว่าคุณลุงเป็น Quadriplegia T2 ลุงบุญรอดนึกคิดเสียใจว่าเพราะมอเตอร์ไซร์เพื่อนยากคู่กายแท้ๆที่ต้องเป็นแบบนี้ ความรู้สึกแรกที่ลุงบุญรอดได้รับ แขนและขาทั้ง2ข้างทำไมถึงไม่มีแรงไม่รู้สึกแม้แต่จะขยับเองยังทำไม่ได้ หยิกก็ไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้ลุงบุญรอด เสียใจ ท้อแท้และคิดถึงแต่อนาคตว่าจะไม่สามารถกลับมาทำงานเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิตทำให้ไม่มีกำลังใจจะสู้ต่อไปอีกแล้ว อารมณ์และความรู้สึกที่รับความจริงไม่ได้ของลุงบุญรอดจึงเหมือนคนขาดสติใช้อารมณ์แทนเหตุผลลงกับครอบครัวทั้งหมด ลุงบุญรอดไม่พร้อมที่จะพบหน้าใคร เอะอะโวยวายกับญาติทุกคนที่เข้าใกล้แม้กระทั่งแม่แท้ๆของตนและจุดเริ่มต้นของกำลังใจก็เกิดขึ้น พี่สาวของลุงบุญรอด คือป้าสุข อาศัยอยู่ อ.ด่านซ้าย เปิดร้านด่านซ้ายเครื่องครัว ข้างวัดโพนชัย จึงเข้าไปอธิบายว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันไม่ถูกต้องทุกคนนั้นเป็นห่วงอยากให้ลุงบุญรอดนั้นปรับความคิดใหม่ และคอยให้กำลังใจเสมอมาและอีกสิ่งหนึ่งที่ป้าสุขเลือกเป็นทางเลือกที่สองที่จะช่วยลุงบุญรอดได้นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ ก็คือเรื่องไสยศาสตร์ เกี่ยวกับการดูหมอดูป้าสุขเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเวรกรรมที่ลุงบุญรอดเคยทำมา

ตอนนี้เป็นช่วงที่ลุงบุญรอดต้องใช้กรรมหนทางที่จะแก้กรรมให้ลุงบุญรอดได้ คือ การเลี้ยงผีตามที่ต่างๆ
ลุงบุญรอดได้นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเลยอยู่เป็นเวลา 20 วัน ตลอดเวลาที่นอนพักรักษาตัวเกิดคำถามขึ้นในตัวลุงบุญรอดมากมาย “ จะหายไหม? จะพิการรึเปล่า? ทำไมต้องเป็นแบบนี้?“ และได้ทำการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดPassive และรับประทานยาที่แพทย์จัดให้ เมื่ออาการเริ่มทรงตัวจึงได้กลับมารักษาตัวต่อเองที่บ้าน โดยอาศัยอยู่กับพ่อ แม่ พี่สาว พี่เขย และหลานชาย ด้วยความที่ครอบครัวไม่ค่อยมีเวลา พี่สาวที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน คือ ป้าบุญแนว มีอาชีพทำไร่ ต้องออกไปทำไร่แต่เช้าและผู้เป็นแม่มีอายุมากแล้วการดูแลจึงทำได้ยากบวกกับไม่มีองค์ความรู้ในการดูแล จึงทำให้เกิดแผลกดทับขนาดใหญ่ติดและเชื้อขึ้นจึงส่งผลให้ลุงบุญรอดมีอาการทรุดตัวลง

เช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ครอบครัวของลุงบุญรอดส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายอีกครั้งเนื่องด้วยสาเหตุที่เป็นแผลกดทับขนาดใหญ่และเกิดการติดเชื้อ แพทย์ได้ทำการตรวจและให้นอนพักฟื้นทันที ลุงบุญรอดจึงต้องกลับมาใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลอีกครั้งด้วยความรู้สึกที่ว่าไม่เต็มใจอยู่เพราะเคยได้กลับไปอยู่บ้านมาแล้วและคิดว่าที่บ้านก็สามารถดูแลตัวเองได้ทำไมต้องมานอนโรงพยาบาลด้วย แต่ด้วยเหตุผลแล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่เพื่อรักษาตนเอง เพราะต้องคอยเฝ้าระวังแผลติดเชื้อ ทำให้กายภาพบำบัดเข้าไปมีบทบาทในการช่วยดูแลฟื้นฟูสภาพลุงบุญรอด ในช่วงแรกๆก็ทำ Passive เพื่อป้องกันข้อติด สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ ท้อแท้ หมดหวังไม่ให้ความร่วมมือ เบื่อหน่าย ทำเพื่อให้เสร็จๆไป จึงกลายเป็นการบ้านชิ้นใหม่ ที่ทำให้ต้องกลับไปคิดทบทวนว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ลุงบุญรอดดีขึ้นและต้องเอาชนะใจลุงบุญรอดให้ได้ การวางแผนการรักษาเริ่มมีการปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากมองเห็นถึงความสามารถที่ลุงบุญรอดน่าจะทำได้บวกกำลังใจเพิ่มเข้าไปอีกนิดอะไรหลายๆอย่างก็น่าจะดีขึ้น มีการเพิ่มความแข็งแรงให้กับแขนโดยการใช้ถุงทรายเป็นตัวช่วย ลุงบุญรอดเริ่มให้ความร่วมมือมากขึ้น ตั้งใจทำ ขยันที่จะทำ สังเกตได้จากสีหน้าและการตอบสนอง ผลที่ได้รับที่เกิดกับตัวลุงบุญรอดเองก็ตามมา ลุงบุญรอดมีสีหน้าที่สดใสและพูดด้วยความดีใจว่า ตนเองสามารถยกแขนได้แล้วและอีกเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะกำลังใจที่มีมาไม่ขาดสายจากคนในครอบครัวจึงทำให้ลุงบุญรอดมีแรงสู้ต่อไป แผนการรักษาก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆหลังจากแขนแข็งแรงมากขึ้นแล้ว ก็เริ่มฝึกนั่งเป็นขั้นตอนต่อไป ลุงบุญรอดพอใจกับการที่ได้ลุกขึ้นนั่งเป็นอย่างมาก จึงพูดด้วยความดีใจว่า” ได้นั่งแล้วดีจังเลย ไม่ต้องมานอนมองแต่เพดาน ได้มองโน่นมองนี่รอบตัวได้บ้าง ชอบๆดีจังเลย ”

ทุกครั้งที่เข้ามาทำกายภาพบัดให้กับลุงบุญรอดนั้น ที่ข้างกายลุงจะต้องมีหญิงชราผู้เป็นแม่คอยดูแลช่วยเหลืออยู่ไม่ห่างถึงแม้จะแก่มากแล้วแต่ยายก็ไม่เคยบ่นสักคำให้ได้ยิน คำพูดของผู้เป็นแม่พูดว่า”ในยามแก่เฒ่าลูกต้องคอยดูแลเลี้ยงดูแม่ แต่ในเวลานี้แม่ที่แก่เฒ่าต้องมาคอยเลี้ยงดูลูกในสภาพแบบนี้ ยายเครียด เสียใจ ที่ต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้แต่ยายจะไม่เสียใจให้ลูกยายเห็นเด็ดขาดเพราะแค่นี้ลูกยายก็เสียใจมากแล้ว ยายเหนื่อยนะที่ต้องมานอนเฝ้าที่โรงพยาบาลแต่เพื่อลูกทั้งคนยายทำได้”น้ำเสียงที่สั่นคอนทำให้รู้ถึงความรักที่บริสุทธิ์ที่แม่มีให้กับลูก ลุงบุญรอดมีการพัฒนามากขึ้น แผลกดทับก็มีอาการดีขึ้น หมอจึงพิจารณาให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้

17 พฤศจิกายน 2554 กับการไปเยี่ยมลุงบุญรอดที่บ้านครั้งแรกหลังจากออกจากโรงพยาบาลเป็นการเดินทางโดยรถกระบะของโรงพยาบาล ทางไปบ้านลุงบุญรอดค่อนข้างจะลำบากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ 2 ข้างทางเป็นภูเขา ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงจึงถึงบ้านของลุงบุญรอด เมื่อถึงที่หมายภาพแรกที่เห็นคือ บ้านไม้2ชั้น ชั้นล่างเป็นที่โล่งกว้างและเปิดเป็นร้านขายของขนาดเล็กๆภายในบ้าน สภาพของของที่ตั้งขายวางไม่เป็นที่เป็นทางและส่วนมากก็เต็มไปด้วยฝุ่นและหยักใย่ บ่งบอกถึงการไม่ได้ใส่ใจดูแลมาเป็นเวลานาน กลางบ้านนั้นก็พบเตียงๆหนึ่งตั้งอยู่ รูปแบบเตียงถูกทำขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะคล้ายกับของโรงพยาบาล มองเหนือจากเตียงขึ้นไปก็จะพบกับเชือกที่ถูกทำขึ้นให้มีลักษณะเป็นรอก ชายหนุ่มที่นอนอยู่บนเตียงค่อยๆหันหน้ามาเมื่อรู้ว่ามีคนมาที่บ้านและรอยยิ้มก็เกิดขึ้นพร้อมกับคำทักทาย ลุงบุญรอดมีท่าทีที่สดใสกว่าตอนอยู่โรงพยาบาลเยอะมาก การดูแลของผู้เป็นแม่และพี่สาวทำให้ลุงบุญรอดพูดด้วยความตื้นตันใจว่า “จะสู้ให้ถึงที่สุด ทุกวันนี้ไม่ท้อและไม่เครียดเลยเพราะมีแม่และครอบครัวที่คอยดูแลทำให้ทุกอย่างทั้งๆที่ตนเองก็อายุขนาดนี้แล้ว”ตอนนี้ลุงบุญรอดสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น สามารถเหนี่ยวเตียงเพื่อพลิกตะแคงตัวได้แบ่งเบาภาระครอบครัวไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว นั่งคุยกันสักพักลุงบุญรอดก็พูดให้ฟังว่า เตียงที่เห็นนี่ก็ทำขึ้นเพื่อเอาไว้เหนี่ยวดึงตัวเองให้พลิกไปมาเองได้เหมือนแบบที่หมอบอก พยายามทำเองจนตอนนี้ทำได้แล้วส่วนเชือกนี่ก็ทำเป็นรอกเพื่อใช้ออกกำลังกายยกแขนยกขาเอง ลุงบุญรอดพูดไปพร้อมกับทำให้ดูด้วยความตั้งใจและทำอย่างมีความสุข

ในอีกมุมมองหนึ่งที่ทำให้เห็นแล้วอดปลื้มใจแทนลุงบุญรอดไม่ได้ หญิงชราผู้เป็นแม่หยิบแก้วน้ำที่รินน้ำให้เต็มแก้วพร้อมกับจับหลอดป้อนให้กับลุงบุญรอดไม่ใช่แค่นั้นแต่ยังเช็ดหน้าเช็ดปากให้เมื่อกินน้ำเสร็จและรอยยิ้มแห่งความสุขก็เกิดขึ้นกับทั้ง2คน เมื่อเห็นภาพเช่นนั้นก็นึกถึงคำพูดคำนึงขึ้นมาทันที “ไม่มีใครที่รัก เราจริงเท่าพ่อ-แม่ของเราหรอก...ถึงเราจะไม่เหลือใครแต่สุดท้ายยังไงคนที่คอยอยู่เคียงข้างไม่ทิ้งเราไปไหนก็คือ พ่อแม่-ของเรา”ทำให้ข้าพเจ้าถึงกับกลั้นน้ำตาแทบไม่ได้ด้วยความตื้นตันใจ

25พฤศจิกายน 2554 ครั้งที่สองของการเยี่ยมบ้านลุงบุญรอดครั้งนี้ ได้พาพี่ไผ่ไปด้วยเพื่อไปเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับพี่ไผ่ว่าเป็นมาอย่างไรพี่ไผ่ถึงเป็นแบบนี้แล้วอะไรที่ทำให้พี่ไผ่มีแรงบันดาลใจที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่เดือดร้อนใคร พร้อมกับให้กำลังใจลุงบุญรอด ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ลุงบุญรอดหันกลับมองเห็นว่าตนเองสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ วันนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของลุงบุญรอดอย่างมาก แว๊บแรกที่เห็นคือสีหน้าที่สดใสและทรงผมทรงใหม่ ลุงหันมามองพร้อมกับทักทายด้วยความดีใจและพูดคุยเล่าให้ฟังว่า “ตนเองดีขึ้นจากเดิมมากให้ตัวเอง40เปอร์เซ็นจากตอนแรกพร้อมทำให้ดูว่าตนเองสามารถยกแขนได้ขนาดไหนแล้ว บอกวิธีที่ทำให้ดีขึ้นจากคำแนะนำเมื่อครั้งก่อนโดยการใช้ขวดน้ำใส่น้ำมาทำแทนถุงทรายยกเพื่อออกกำลังกาย ได้รู้ว่ากายภาพบำบัดคืออะไรสามารถบอกต่อๆให้ญาติฟัง และปฏิบัติได้ไม่ต้องเสียเงินรักษาด้วยเครื่องแพงๆแค่ตั้งใจทำและได้กำลังใจที่ดีแค่นี้ผมก็พอใจแล้ว ผมกลับดีใจด้วยซ้ำไปที่มีแต่คนดูแลและใส่ใจผม คำพูดสุดท้ายที่ทำให้ลุงบุญรอดยิ้มไปทั้งวันคือ ขอบคุณนะครับที่ทำให้ผมดีขึ้นด้วยมือของหมอและมือของผมเองครั้งหน้าก่อนหมอจะกลับถ้ามีโอกาสที่หมอจะมาได้อีกสักครั้ง ผมจะนั่งให้หมอดู“ และนี่แหละเป็นความภาคภูมิใจตามที่ข้าพเจ้าได้ตั้งเป้าหมายไว้ คือ ทำให้ลุงบุญรอดมีอาการดีขึ้นและสามารถเอาชนะใจลุงบุญรอดได้