วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บ้านน่าอยู่

ก่อนที่จะมีการเยี่ยมสำรวจเพื่อต่ออายุการรับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาล ตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับเฉลิมพระเกียรติฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี (Re-Accreditation Survey) หลายหน่วยงานในโรงพยาบาลมีการวางแผนที่จะทำ 5 ส เพื่อความสะอาดของโซนที่ได้รับผิดชอบ ครั้งนี้เป็นของจุดบริการ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ตั้งรับสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ไปเคยปิดไม่เคยหยุด
ครั้งนี้เลยมีการจัดหนักเพราะเป็นโซนที่เปรอะเปื้อนไปด้วยสารคัดหลั่งที่กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณห้อง พนักงานทำความสะอาดได้ในเฉพาะส่วนที่เข้าถึง วันหยุดต้องเปิดรับการรักษาทั้งแบบหนักและเบาด้วย วันนี้จึงมีการระดมพลผู้ที่ปฏิบัติการในโซนER ทั้งที่ขึ้นเวรและไม่ขึ้นเวรมาช่วยกันโดยมีพนักงานทำความสะอาดคอยตั้งหน้า เสียบเข้าพื้นที่หลังจากที่มีการเคลื่อนย้ายของทุกอย่างออกจากห้องหมดแล้ว
ส่วนที่เป็นฝาผนัง โต๊ะ เก้าอี้ และส่วนต่างๆที่ไม่ใช่พื้นกองกำลังติดอาวุธ (เศษผ้า) นำโดยพี่ปุ๊ หัวหน้าER ได้กระจายกำลังโอบล้อมไปพื้นที่เพื่อเข้าประชิดและขัดๆๆ ถูๆๆ จนสะอาดตาขึ้นมา หลายคนช่วยเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่างอย่างระมัดระวังเพื่อมาให้บริการตรงหน้าห้องทัตกรรมเก่า เพื่อความสะดวกในการชำระล้างสิ่งสกปรกที่เกาะอยู่ตามพื้นตามแนวตะเข็บต่างๆ
พนักงานทำความสะอาดช่วยขัดพื้น ราดน้ำ กันอย่างขมั่กเขม่น จนเงาวับขึ้นมา มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนทั้งผู้ที่ปฏิบัติงานและผู้เข้ามามีส่วนร่วม ผู้อำนวยการยังมาช่วยเติมกำลังใจให้อีกด้วยการซื้อข้าวเหนียว ไก่ย่าง มาให้อิ่มหนำสำราญกันทั่วหน้า ไม่บ่อยนักครับที่เราจะเห็นบรรยากาศอย่างนี้ที่โซนER เพราะเป็นจุดบริการที่เปิดหมดวันหมดคืน ไม่เคยหลับเวรหลับยาม ตั้งหน้ารับอุบัติเหตุต่างๆที่จะเข้ามาโดยพร้อมเพรียง ต้องขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทำให้บ้านของเราน่าอยู่ขึ้นครับ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานทำความสะอาด ผู้ปฏิบัติงานทั้งที่ขึ้นเวรและไม่ขึ้นเวร และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้ ไม่รู้อีกเมื่อไหร่เราจะเห็นบรรยากาศเช่นนีี้อีก ขอบคุณทุกคน

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"เยี่ยมบ้านหลังเดิม"


ตามคำบอกเล่าของ คุณตาสมเดช สิงห์ประเสริฐ อดีตครูใหญ่โรงเรียนด่านซ้ายและข้าราชการบำนาญ คนเก่าแก่ของพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า ด่านซ้ายอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดเลยดินแดนแห่งสัจจะและไมตรีมีพื้นที่ 1731.89 ตารางกิโลเมตร ประชากรประกอบอาชีพ เกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนส่วนมากโรคที่เกิดขึ้นจะเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยที่ว่าด่านซ้ายมีความนับถือผีโดยมีเจ้าพ่อกวนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นล้วนมาจาก ผี ไม่ว่าจะเป็น ผีปู่ ผีย่า ผีป่า ผีดง ผีโพง ผีโพงเป็นผีประเภทเดียวกับผีกระสือแต่จะไม่ถอดหัวเหมือนผีกระสือ ออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของผีโพงคือ กบ เขียด ใช้วิธีจับมาดูดเมือกกินและถ้าบ้านไหนมีการคลอดลูกก็จะมียามคอยสังเกตเนื่องจากผีโพงจะแบบคนทั่วไปแต่จะมีแสงสว่างเล็กๆอยู่ที่ปลายจมูก
สมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านจะมีหมอยาม (จับยามสามตา) ดูว่าผีตนไหนทำซึ่งจะมีหมอว่าน (หมอสมุนไพร) เป็นผู้รักษา โดยหมอว่านมีการถ่ายทอดวิชาสืบกันมาเป็นรุ่นๆในตระกูลนั้นๆ ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น เป็นโรคที่ถือว่าน่ากลัวที่สุด ชาวบ้านเชื่อว่าผีเข้า จะมีการนำสมุนไพร รากไม้มาฝนกับหิน ใส่น้ำและพ่นเข้าไปที่ตัวหรือใช้แส้เฆี่ยนเพื่อที่จะให้ผีออก ที่น่ากลัวลงมาอีกก็คือ โรคฝีใน (ไส้ติ่งอักเสบ) ใครเป็นตายอย่างเดียว และยังมีไข้สันนิบาตที่ทำให้ตัวร้อนสูง การรักษาโดยส่วนใหญ่จะใช้สิ่งที่หาได้จากธรรมชาติเนื่องจากไม่มีสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อย่างถ้าเป็น นิ่ว ก็ให้ใช้ เม็ดฝ้ายตำผสมกับโคนผักหนาม โปะตรงสะดือจะช่วยขับนิ่ว และนอกจากนี้ยังมีหมอเอ็นที่ใช้วิธีการนวดเพื่อรักษาและนวดให้อายุยืนอีกด้วย
แต่หลังจากที่มีความเจริญเข้ามาในด่านซ้าย สถานีอนามัยชั้น 2 เกิดขึ้นตามนโยบายของทางรัฐบาลในสมัยนั้นและโดยเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน คือ อนามัยอำเภอและผดุงครรภ์ ในสมัยก่อนคนที่จะมาเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยจะต้องเรียนจบ ป.6และไปเรียนสายสาธารณสุขอีก 1 ปี 6 เดือน ถึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ การรักษาส่วนมากจะเป็นการรักษาเบื้องต้นเท่านั้น ตรวจเสร็จให้ยากลับบ้าน มียาอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น ยาควินิน ใช้รักษาไข้จับสั่นโดยเฉพาะ ยากฤษณาจัน ใช้รักษาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟื้อ ท้องร่วง ชาวบ้านเริ่มมารักษาที่สถานีอนามัยเพราะรักษาดีกว่าหมอผี เห็นผลไวกว่าและส่วนมากหมอผีรักษา ตายมากกว่าอยู่ (หายยาก) มีการฉีดยาทางเส้นเลือดจนชาวบ้านบางคนถึงกับโกธรถ้าหมอไม่ฉีดยาให้ เพราะฉีดแล้วหายดีหายเร็ว เมื่อก่อนไม่มีเครื่องตรวจที่ทันสมัยอย่างทุกวันนี้จะมีก็แต่การจับชีพจรและมีเครื่องตรวจโรคก็คือหูฟังที่เอาไว้วินิจฉัยโรคต่างๆ พูดถึงโรคเบาหวานในสมัยก่อนคนยังไม่รู้จักกันเท่าไหร่ ด่านซ้ายคนที่เป็นโรคเบาหวานคนแรกชื่อ นายบ่าว พ่อเจ้าของร้านหมูย่างบ้านหัวนายูง และต้องเดินทางไปรักษาตัวที่พิษณุโลกแต่ละครั้งใช้เวลาเดินทาง 3 วันแต่ก็ไม่ได้ตกใจอะไร แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่รู้จักโรคนี้จึงไม่ได้สังเกตกันเท่าไหร่ ส่วนมากปวดฉี่ตรงไหน ก็ตรงนั้นเลยไม่ได้สังเกตว่ามดขึ้นหรือเปล่าจนทุกวันนี้ถ้าถามว่าด่านซ้ายบ้านไหนมีคนเป็นโรคเบาหวานเยอะสุดตอบได้เลยว่า บ้านหัวนายูงนี่เอง ส่วนคนที่เป็นโรคความดันก็ไม่ได้ตกใจอะไรเพราะเป็นแล้วไม่ตาย แต่ถ้ามีอาการหนักก็จะต้องส่งตัวเข้าไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 วัน และต้องไปพักค้างแรมที่อำเภอภูเรือก่อน (ระยะทางประมาณ 82 กิโลเมตร 200 กว่าโค้ง)
ต่อมาในปี พ..2508กระทรวงสาธารณสุขได้ให้งบประมาณในการก่อสร้างสถานีอนามัยชั้น 1 โดยก่อสร้างที่สถานีอนามัยชั้นสองเดิมแต่เนื่องจากไม่มีแพทย์มาประจำ จะมีแพทย์จากจังหวัดมารักษาสัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น คนด่านซ้ายเลยลงขันหาทุนส่งนักเรียนไปเรียนแพทย์ในปี พ.. 2510 แต่เนื่องจากด่านซ้ายไม่มีโรงเรียนมัธยมในขณะนั้น ทางจังหวัดจึงได้คัดเลือกและส่งนายแพทย์ สมัคร ศรีจริยา คนจังหวัดเลย นักเรียนทุนอำเภอด่านซ้ายเข้าเรียนและกลับมาใช้ทุนที่ด่านซ้ายและต่อมาได้ยกฐานะเป็นศูนย์แพทย์และอนามัยและโรงพยาบาลตามลำดับ
และในปี พ.ศ. 2520 ทางรัฐบาลได้พิจารณาสร้างโรงพยาบาลอำเภอขนาด 30 เตียง ในท้องถิ่นทุรกันดารเพื่อถวายเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรสของพระบรมโอรสาธิราชฯ นายแพทย์ยงยุทธ สัจวานิชย์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น พร้อมด้วยกรรมการ จัดหาสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้มาตรวจคัดเลือกสถานที่ก่อสร้าง เห็นว่าอำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอที่อยู่ในเขตทรุกันดาร จึงได้พิจารณาและเลือกอำเภอด่านซ้ายเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยบาลสมเด็จพระยุพราช 1 แห่งในจำนวน 21 แห่ง และสั่งให้ทางจังหวัดและอำเภอจัดหาสถานที่สร้างใหม่เพราะสถานที่เดิมไม่เหมาะสมและมีที่ดินเพียง 3 ไร่เท่านั้น
ดังนั้น นายแพทย์อุเทือง ทิพรส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลยขณะนั้น พร้อมด้วยนายอำเภอด่านซ้าย เรือตรีไพเวศ เศรษฐประนัยน์ ได้ร่วมกันจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างได้จำนวน 37 ไร่ ซึ่งเป็นที่สาธารณสุข 21 ไร่ และราษฎรบริจาคให้อีก 16 ไร่ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายในปี 2520 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2522
ผู้อำนวยการคนแล้วคนเล่าเปลี่ยนหน้ากันมาแล้วก็จากไป บ้างอยู่เพียงช่วงสั้นๆไม่มีใครอยู่ได้นานเกิน 4 ปี...
ความเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลตึกเดียวขนาด 30 เตียง เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เมื่อนายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ หรือคุณหมอจิ๋ว มารับหน้าที่ผู้อำนวยการคนใหม่ ซึ่งขณะนั้นทั้งโรงพยาบาลไม่มีหมอ เนื่องจากขอย้ายกันไปหมด จนได้ชื่อว่าเป็นแพทย์ที่อยู่นานมากที่สุด และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับโรงพยาบาลมากที่สุด
หลังจากใช้เวลาเพียง 2-3 ปีที่ด่านซ้าย ผอ.คนใหม่ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เป็นที่กล่าวขวัญถึงเมื่อได้รับรางวัลมากมาย ตลอดจนได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ในปี พ.ศ. 2548 พร้อมกับได้รับการคัดเลือกเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในปีเดียวกัน
ความสำเร็จของการทำงานด้านสุขภาพในจังหวัดเลยทุกวันนี้ เป็นการต่อยอดความพยายามของคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ที่บุกเบิกทำงานในคร้งที่ อำเภอด่านซ้าย และจังหวัดเลย เต็มไปด้วยความขลาดแคลนในด้านต่างๆ มากมาย
แต่คนทำงานบุกเบิกในยุคแรกก็ไม่ได้ย่อท้อต่อความขลาดแคลนและความยากลำบาก ผลแห่งการทำงานนั้นจึงทำให้คนรุ่นหลังเดินบนเส้นทางสุขภาพได้ยาวนานมาจวบจนวันนี้
จาก หนังสือ สุขศาลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 14 2554

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

7 สิ่งที่ควรหยุดทำทันทีใน Facebook


เจ็ดสิ่งที่ควรหยุดทำทันทีใน Facebook

บท ความนี้เรียบเรียงจาก 7 Things to Stop Doing Now on Facebook
by Consumer Reports Magazine Wednesday, May 12, 2010
  1. ใช้รหัสผ่านแบบง่าย ๆ
    หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อธรรมดา  หรือคำทั่วไปที่สามารถหาพบได้ในพจนานุกรม หรือแม้แต่ตัวเลขที่ลงท้ายรหัสผ่านดังกล่าว ควรใช้การผสมระหว่างด้านหน้า ด้านหลังตัวอักษร ด้วยตัวเลข  หรือสัญลักษณ์ รหัสผ่านควรมีแปดตัวอักษรเป็นอย่างน้อย เทคนิคที่ดีอย่างหนึ่งคือ การเพิ่มตัวเลขหรือสัญญลักษณ์ระหว่างกลางรหัสผ่าน เช่นตัวอย่าง รหัสผ่าน  houses เป็น hO27usEs! หรือใช้คำไทยพิมพ์บนแป้นอักษรภาษาอังกฤษ จะจดจำได้ง่ายกว่า เช่น กูไม่บอก เมื่อพิมพ์จะได้ d^w,j[vd 
  2. ระบุวันเดือนปีเกิดในข้อมูลสาธารณะ 
    โจรภัยทางข้อมูลแบบเบื้องต้น ผู้ไม่หวังดีมักจะใช้ในการค้นหาข้อมูลเพิ่ม เติมเกี่ยวกับตัวคุณ เพราะมันจะมีประโยชน์อย่างมากในการเข้าถึงข้อมูล ธนาคารหรือบัตรเครดิต ถ้าคุณได้ระบุวันเกิด ให้กลับไปที่ข้อมูลส่วนตัว เข้าไปแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ระบุข้อมูลพื้นฐานคือ ไม่แสดงวันเกิดในข้อมูลส่วนตัว หรือแสดงเฉพาะวันและเดือนเกิดในหน้า ข้อมูลส่วนตัว 
    (การติดต่อสอบถามเกี่ยวกับบัตรเครดิต มักจะต้องตอบข้อมูลเรื่องนี้ด้วย)
  3. ตรวจสอบการใช้งานของข้อมูลส่วนตัว
    ข้อมูล ทั้งหมดใน Facebook คุณควรกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงของเพื่อน หรือเพื่อนของเพี่อน หรือตัวคุณเอง
    เช่น  การเข้าชมรูปภาพ วันเกิด ศาสนา และข้อมูลของครอบครัว หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณเอง เช่น ข้อมูลในการติดต่อ  เบอร์โทรศัพท์ สถานที่อยู่ ควรจำกัดสิทธิ์เฉพาะ บุคคลหรือกลุ่มที่สามารถจะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
    หรือจัดการ บล็อก (ห้าม) บุคคลบางคน หรือไม่ให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
  4. ระบุชื่อบุตรหลาน โดยมีข้อความที่อธิบายหรือตำบรรยายใต้ภาพประกอบ
    ใม่ควรระบุชื่อบุตร หลานหรือป้ายกำกับ (tags) หรือ มีคำอธิบาย/บรรยายรายละเอียดใต้ภาพ และ ถ้าได้มีคนอื่นหรือเพื่อนคุณทำเช่นว่านั้น ก็ขอให้ช่วยแก้ไขหรือลบออก พร้อมกับป้ายกำกับด้วย
    แต่ถ้าชื่อบุตรหลานของคุณไม่ได้อยู่ใน Facebook  แต่ได้มีบางคนได้ระบุข้อมูลดังกล่าวไว้ใน
    ป้ายกำกับ (tags) หรือ หรือมีคำอธิบายหรือบรรยายรายละเอียดใต้ภาพก็ขอให้เจ้าของข้อมูล ดังกล่าวแก้ไข/ลบออกด้วย
    (เป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีใช้ข้อมูล ดังกล่าว ในการก่ออาชญากรรมบางเรื่องได้ง่าย เพราะรู้ว่าเป็นลูกหลาน ของใครมีฐานะการเงินเป็นเช่นไร)
  5. การบอกว่า กำลังออกจากบ้าน
    เป็นนัยที่ สื่อความหมายว่า ไม่มีใครอยู่ในบ้าน หรือคล้ายเป็นการปิดป้ายว่า “ไม่ อยู่” ไว้ที่หน้าบ้านเช่นกัน ให้รอจนคุณกลับถึงบ้านแล้ว ค่อยบอกถึงการผจญภัยหรือความสนุกสนานในการเดินทางหรือการใช้วันหยุดพัก ผ่อน  โดยอาจจะไม่ต้องระบุวันเดือนปีที่เดินทางก็ได้ หรือระบุวันเดือนปีที่เดินทางให้คลุมเครือไม่ชัดเจน
  6. การปล่อยให้ Facebook ค้นหา พบคุณ
    เพื่อป้องกันคนแปลกหน้าเข้าถึงหน้าข้อมูลของคุณ ให้ไปที่การค้นหาของ Facebook ข้อมูลส่วนตัว และเลือกเฉพาะเพื่อนเท่านั้นของ Facebook ที่จะค้นพบข้อมูลดังกล่าว และให้มั่นใจว่ากล่องข้อมูลสาธารณะไม่ได้ระบุ ให้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
  7. อย่าให้เด็กใช้ Facebook โดยไม่ตรวจสอบควบคุม
    แม้ว่า Facebook จะไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบสามขวบ หรือยังไม่ถึงเกณฑ์ใช้งาน แต่หลายคนก็ทำการปลอมอายุเข้าไปใช้ได้ ถ้าคุณมีเด็กหรือวัยรุ่นในความปกครองใช้  Facebook วิธีการที่ดีที่สุดในการตรวจสอบและควบคุม คือ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม เพี่อนของเขา หรือให้ใช้ email ของคุณแทนในการติดต่อระหว่างบัญชีของเขา เพื่อที่คุณจะได้รับข้อความหรือตรวจสอบการใช้งานของเขา
    “เพราะสิ่งที่พวกเขาคิดว่าไม่เป็นไร ไม่มีอะไร  กลับกลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างง่ายดาย”
     

    เป็น คำกล่าวของ Charles Pavelites,  ผู้ชำนาญการพิเศษของหน่วยงาน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากอาชญากรรมทางอินเตอร์เนต

    ยกตัวอย่างเช่น มีเด็กคนหนึ่งมักจะบอกว่า "แม่กำลังจะกลับบ้านแล้ว ฉันต้องไปล้างจาน"
    มักจะบอกทุกๆ วัน ในเวลาเดิมเสมอ มันเป็นการบอกเวลาที่ชัดเจนมาก เกี่ยวกับการเดินทางไปกลับของพ่อแม่
    (บอก ช่วงเวลาที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ที่บ้าน คนร้ายอาจกะระยะเวลาก่อกรรมทำชั่ว ได้ง่ายขึ้น)

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ค่ายยุพราชสู่ชุมชน ปี54 บ้านแก่วตาว ตอนจบ

กิจกรรมช่วงบ่ายเริ่มขึ้นหลังจากที่กินข้าวกันเสร็จเรียบร้อยทั้งเด็กนักเรียน ทีมน้องใหม่ ครูพี่เลี้ยง ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม เด็กๆได้นั่งโต๊ะตัวใหม่เลยกินข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อย กินไป ยิ้มไป หัวเราะไป ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกับข้าวอร่อยหรือดีใจจนออกนอกหน้าสำหรับทีมน้องใหม่ที่เห็นเด็กๆมีความสุขในการกิน (อิ่มสบายท้อง)
ต่อเนื่องจากภาคเช้า ทีมงานส่วนหนึ่ง นำต้นรางจืดไปปลูกที่วัดและในชุมชนซึ่งกิจกรรมนี้สืบเนื่องมาจากที่เราได้ทราบผลการเจาะเลือดและการใช้สารเคมีในชุมชนที่ใช้กันมากมายแต่ไม่ป้องกันตัวเอง จึงมีการรณรงค์ให้ดื่มรางจืดขับสารพิษเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสารพิษที่สะสมในร่างกายอีกด้วยครับ สำหรับ นักสืบสายน้ำน้อย ในแต่ละกลุ่มมีการส่งตัวแทนเพื่อนำเสนอว่าเจอสัตว์เล็กน้ำจืดชนิดใดมาบ้างโดยมีการเขียนภาพประกอบ จนครูบางคนแทบไม่เชื่อว่า เด็กๆที่ไม่เคยวาดรูปทำไมถึงเขียนภาพสัตว์พวกนี้ได้ 55 เด็กๆน่าจะชอบกิจกรรมนี้ครับ ได้ลงน้ำ ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น พี่ทีมงานบางคนเรียกให้ขึ้นแล้วยังไม่ยอมขึ้นเลย (พูดยากกว่าเด็กอีก อิอิ) สรุปคือ สภาพน้ำในหมู่บ้านวัดจากสิ่งที่เราเจอและเห็น มีความน่าเป็นห่วงเพราะอยู่ในระดับที่ พอใช้ได้ เท่านั้น พี่ไกรลาศและพี่เปียให้เด็กออกมาแสดงความคิดเห็นที่จะช่วยกันทำให้ลำน้ำในหมู่บ้านดีขึ้น โดยการไม่ทิ้งขยะลงน้ำ คัดแยกขยะ และ ทำลายขยะ เบื้องต้น ขนมที่เตรียมมาให้กำลังเด็กๆในการออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นหมดไปในชั่วพริบตาและมีการให้คำมั่นสัญญาว่า เด็กๆจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะในหมู่บ้านอีกแรงหนึ่งครับ
ทีมงานส่วนหนึ่งกำลังประดับเวที รำวงชาวบ้าน กิจกรรมช่วงกลางคืนที่ทีมน้องใหม่เตรียมมาให้กับชาวบ้านได้สนุกสนานกัน เพราะ กิจกรรมที่เตรียมมาส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความรู้เลยอยากให้พี่น้องได้ผ่อนคลายกันคืนนี้และในส่วนของโรงเรียน คุณครูกำลังซ้อมการแสดงให้เด็กนักเรียนอย่างตั้งใจเพื่อเพิ่มสีสันของงานด้วยครับ เอ้า เซิ้งๆๆ ฮิ้วๆๆๆๆ ช่วงเย็นก่อนกิจกรรมจะเริ่มขึ้น หมอบอยยังสอนชาวบ้านฝึกท่าบริหารกล้ามเนื้อ ยืดเหยียด เนื่องจากอาชีพเกษตรกรรมทำให้กล้ามเนื้อแข็งตัว ได้ทั้งการนวดเพื่อสุขภาพและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ พี่น้องคงสุขภาพดีขึ้นเป็นกองเลยนะครับถ้าได้ทำทุกวันนะ
กินข้าวเย็นกันเรียบร้อย ชาวบ้านเดินทางมาร่วมงาน พี่บาสแจกบัตรเพื่อนำไปขึ้นรางวัลโดยมีตัวเลขกำกับอยู่ สนุกสนานแล้วยังมีรางวัลแจกอีกด้วย งานเริ่มขึ้นโดยการแสดงจากน้องๆโรงเรียนบ้านแก่วตาว นี้ขนาดอาจารย์บอกว่าเพิ่งซ้อมไม่ถึงสองวันนะ แต่ฝีมือไม่เบาเลยสำหรับครูผู้สอน จับปูใส่กระด้งจนกลายเป็นนางหงษ์ได้อย่างงดงามเลยครับ เอ้าๆเซิ้งๆอีกและ หลังจากขั้นรายการด้วยเสียงเพลง อสม.ประจำหมู่บ้านก็มีการแสดงเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการสะสมของสารพิษในร่างกาย ตรงใจเราจริงๆเพราะพี่น้องตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างหนักเลยครับ ^_^


การแสดงผ่านไป การร้องการเต้นความสนุกสนานตามเข้ามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ทีมนำที่ตามมาคือ
พี่เปรม พี่อ๋อยและ ทีมช่าง รพ. พี่น้อง ป๋าหงวน ซึ่งช่วงเย็นหลังจากที่มาถึง ทั้งสองท่านช่วยกันปรับปรุงระบบไฟฟ้าของโรงเรียนและกลางคืนยังมาช่วยเพิ่มสีสันของงานให้สนุกสนานมากขึ้นด้วยครับ ขอบคุณๆ ร้องไปจับแจกกันไป พี่อ๋อยยังมีอารมณ์สอนเด็กพับกระดาษอีกด้วย พอเพลงมันส์ก็ลุกขึ้นมาเต้น เอ้าฮากันเข้าไป ถึงแม้บางช่วงจะขาดๆเกินๆไปบ้างสำหรับมือใหม่ แต่ก็ทำเอาหายเหนื่อยกันเป็นแถวเมื่อเห็นรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความสุขของพี่ๆน้องๆบ้านแก่วตาว คืนนี้หลับฝันดีแน่เลยครับ ฮิ้วๆหาว

วันสุดท้ายของการออกค่ายมาถึงแล้วครับ ข้าวต้มร้อนๆจากฝืมือของ พี่ตาแม่ครัวประจำทีมของเรา อุ่นท้องดีจัง หลายคนเติมพลังช่วงเช้ากันอย่างเต็มที่ เพราะวันนี้ ต้องออกแรงกันเยอะแน่นอนครับ ทีมทันตกรรม รพ.เดินทางมาสมทบในช่วงเช้า ไม่ว่าจะเป็น พี่หมอวัฒน์ พี่เอ็ม พี่มล พี่ยุวดี (สาวไม่สร่าง) ที่มาตรวจสุขภาพช่องปากให้พี่้น้องในชุมชนด้วย ถัดมาที่สนามการแข่งเกมส์กีฬาพี่น้องหลายคนได้ร่วมแข่งขันเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในวันสุดท้าย โดยมีชื่อว่า แซม แซมเกมส์ ตามชื่อน้องใหม่ทั้งสามคนผู้คิดเกมส์ให้เราได้สนุกสนาน เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลยครับ สุดท้ายทีมน้องใหม่แข่งแชร์ลอตเตอรี่ เอ้ย แชร์บอล กับชาวบ้าน กลางโคลนจนเนื้อตัวมอมแมมไปตามๆกัน
ชาวบ้านบางส่วนยังเตรียม พานพุ่มบายศรีเพื่อรับขวัญน้องใหม่ที่มาทำกิจกรรมที่หมู่บ้าน ความสุขทางใจจริงๆครับ หลายคนตื้นตันกับสิ่งที่ชาวบ้านแสดงออกให้เราเห็นว่า เราเป็นลูกเป็นหลานของพี่น้องครับ T_Tซึ้งอ่ะ ทั้งน้องใหม่ พี่เก่า เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้อย่างมีความสุข และกินข้าวร่วมกันกับพี่น้องเป็นมื้อสุดท้ายของการออกค่ายครั้งนี้ และยังมีการมอบของที่ระลึกและของที่ได้รับสมทบมาจากน้ำใจของพี่น้องในด่านซ้ายและทางไกลที่เราประชาสัมพันธ์โครงการนี้ออกไป
สุดท้ายจริงๆ ขอขอบคุณพี่น้องบ้านแก่วตาว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อ้อ เกือบลืม ทีม เพาะกล้าตาโขนใหญ่
พี่เจมส์ พี่เอก พี่เปิ้ล พี่ต้นน้อยก็มาเล่านิทานให้เด็กฟัง และยังมีหนังสือมาให้ได้อ่านกันอย่างทั่วถึงครับ พี่ป๋อมแป๋ม และพี่บอยกล่าวขอบคุณพี่น้องบ้านแก่วตาวที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและร่วมทุกกิจกรรม และทำให้ทีมเรารู้ข้อมูลหลายอย่างของพี่น้อง เพื่อที่จะเป็นข้อมูลให้เราพัฒนาและเสริมสร้าง สุขภาวะ ที่ดีในการทำมาหากินของพี่น้อง สัญญาครับเราจะเอาทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพี่จากน้องในชุมชนมาพัฒนางานและจิตใจของพวกเราในการทำงานเพื่อสุขภาพของพี่น้องในท้องถิ่นที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการบริการทางการแพทย์ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีและเพื่อให้พี่น้องได้คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งๆขึ้นไปครับ
ปล. ขอบคุณด้วยใจ

  1. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทีมน้องใหม่
  2. องค์การบริหารส่วนตำบลที่เอื้อเฟื้อในด้าน แสง สี เสียง
  3. คุณครูที่ร่วมเป็นพี่เลี้ยงร่วมทุกกิจกรรมของเรา
  4. ทีมนำรพร.ที่ทำให้พวกเรารู้ว่า เราเก่งกันพอตัว 55
  5. น้องๆนักเรียนที่ทำให้พี่ๆได้คิดถึงบรรยากาศเก่าๆนะ
  6. ทีมทัตกรรม ทีมเพาะกล้า พี่น้องช่างตัดผม พี่อาร์ต พี่แดง มือเชื่อมโต๊ะทานข้าวและอีกหลายคน
ไม่รู้ครับว่าในทีมน้องใหม่จะอยู่ที่นี่ไปด้วยกันอีกนานไหมหรือไปตามหนทางของแต่ละคน แต่ความทรงจำดีๆมันจะยังอยู่ในสมองเราตลอดไป
ขอบคุณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายกับประสบการณ์ดีๆครับ

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ค่ายยุพราชสู่ชุมชน ปี54 บ้านแก่วตาว ตอน 2

ช่วงบ่ายกิจกรรมเริ่มขึ้นโดยทีมงานส่วนหนึ่ง แยกเด็ก ป.1-ป.3 ออกมาทำกิจกรรม เพาะกล้าตาโขนน้อย โดยมีเกมส์สนุกๆและหนังสือนิทานให้เด็กๆอ่านด้วย ต้องบอกว่าสนุกกันมากมายวัดได้จากเสียงหัวเราะ ที่ดังขึ้นเรื่อยๆซึ่งนำทีมโดย พี่ป๋อมแป๋ม พี่น้ำหวาน แหม สนุกสนานกันดีจริงๆ (ให้ข้อยเล่นนำเด่)


ส่วนน้องๆ ตั้งแต่ป.4 ขึ้นไป ทางทีมงานอีกส่วนหนึ่งก็เอามาเรียนรู้เกี่ยวกับการนวดแผนไทย นำทีมโดย พี่ไพโรจน์ (นักการแพทย์แผนไทย) พี่นุช พี่พิมพร พี่ชิต พี่นก พี่ไอซ์ และ กลุ่ม "ต้นกล้าภูมิปัญญาไทย"ซึ่งพี่ไพโรจน์บ่มเพาะนักนวดเยาวชนให้เรียนรู้การนวดแผนไทยและส่งเสริมให้เรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้าน จนตอนนี้ชำนาญในระดับหนึ่งเลยทีเดียวแต่พี่ๆของเราก็ไม่เบาเพราะก่อนมาก็ได้เรียนรู้เบื้องต้นกับพี่ไพโรจน์มาแล้ว โดยพี่น้องบ้านแก่วตาวมาร่วมเรียนรู้การนวดไปพร้อมกันโดยมีพี่ๆเป็นพี่เลี้ยงให้แบบถึงเนื้อถึงตัวกันเลยทีเดียว อาชีพเกษตรกรต้องบอกว่าหนักเอาการเลยทีเดียวเพราะส่วนมากที่ไปรพ. จะปวดหลัง ปวดเอว กันซะส่วนใหญ่ พี่น้องบอกว่าสบายเลยที่นี้นวดให้กันเองได้และ ลูกนวดให้พ่อ พ่อนวดให้แม่ เพื่อนนวดให้เพื่อน พี่นวดให้น้องและอื่นๆอีกมากมาย แหมๆนวดกันใหญ่เชียวนะ
และทีมงานอีกส่วนหนึ่งยังไปร่วมกับชาวบ้านช่วยกันก่ออิฐถือปูนสร้างกำแพงโรงอาหารให้กับเด็กนักเรียนพร้อมทั้งยังมีโต๊ะและเก้าอี้ที่พี่บาสออกแบบไว้ให้เด็กได้รับประทานอาหารอีกด้วย ตัวใหญ่มาก 2 ตัว เด็กเห็นแล้วยิ้มกันแก้มปิ พรุ่งนี้หนูๆจะได้นั่งโต๊ะกินข้าวที่ทำจากเหล็กใช้กันเป็นปีไม่มีทรุดแน่นอน หันมาดูทางทีมนวดเรียกว่าสอนกันทุกกระบวนท่าจริงๆเพื่อพี่น้องบ้านแก่วตาวแต่ยังๆไม่พอครับ ทางพี่ไพโรจน์ได้
เตรียมอปกรณ์ที่ใช้เจาะเลือดเพื่อตรวจสอบสารพิษในร่างกายเนื่องจากพี่น้องในชุมชนใช้สารเคมีในเกษตรกรรม (ทุกบ้าน) โดยสามารถที่จะรู้ผลภายในวันนั้นเลยที่เดียว พี่น้องส่วนใหญ่ที่เจาะจะเป็นวัยกลางคนจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ เนื่องจากวัยแรงงานยังไม่กลับจากไร่ รวมที่เจาะวันนี้ 88 คนครับ และหน้าใจหายจริงกับผลที่ออกมา ปลอดภัย 6 คน ไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยง 82 คน คืนนี้เราเลยต้องมีการจัดหนักในส่วนของการให้ความรู้และต้องให้พี่น้องได้ตระหนักถึงโรคที่จะเกิดจากการใช้สารเคมีในการเกษตรซะแล้วครับ
หลังจากกินข้าวแลง (ข้าวเย็น) กันเสร็จเรียบร้อย หมอบอย และ พี่ไกรลาศ ฝ่ายเวชปฎิบัติครอบครัวและกรรมการสิ่งแวดล้อมที่ตามมาสมทบในช่วงเย็น ก็เริ่มพูดคุยในส่วนของปัญหาในชุมชนที่คณะสำรวจได้ลงมาเก็บข้อมูลในพื้นที่ 2 ครั้ง ก่อนมาออกกิจกรรม มีเรื่องของขยะและสารเคมี ที่ต้องบอกว่าพี่น้องในชุมชนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้าแน่นอนถ้าไม่ป้องกันและดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ มีการเชิญ ตัวแทน อบต. ครู ผู้ใหญ่บ้าน มารับฟังปัญหาและให้พี่น้องช่วยกันออกความเห็นร่วมกัน หลายคนที่ได้รู้ผลการเจาะเลือดที่ผ่านมาในช่วงเย็น มีความวิตกกันอย่างเห็นได้ชัด โดยมีพี่ไกรลาศและพี่นก ทำหน้าที่พิธีกรอย่างเข้มแข็ง หมอบอยคอยช่วยเสริมและปลุกใจชาวบ้านให้เห็นถึงสิ่งที่ชุมชนต้องช่วยกันจนเวลาล่วงเลยมาพอสมควรจึงแยกย้ายกันไป ส่วนทีมน้องใหม่มีการสรุปกิจกรรมและถึงเวลาพักผ่อนซักที อิอิ หาวแล้วก็หาว กัน แบบเพลียๆครับ
ช่วงเช้าของวันที่สอง 29 ส.ค. 54 หลังจากที่เราเคารพธงชาติและสวดมนต์ไหว้พระกันเป็นที่เรียบร้อย (บรรยากาศเก่าๆดีจัง) กิจกรรมนักสืบสบายน้ำน้อยก็เริ่มขึ้นโดยเราแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 2 ทีม โดยมีพี่เลี้ยงในทีมและคุณครู ร.ร.บ้านแก่วตาวเข้าร่วมดูแลเด็กและเรียนรู้ร่วมกัน โดยพี่ไกรลาศ พาเด็กๆไปสำรวจสายน้ำในหมู่บ้าน ส่วนพี่เปียสำรวจอยู่ที่โรงเรียน เพื่อดูสัตว์เล็กน้ำจืดที่อาศัยอยู่ และนำเป็นผลลัพธ์เพื่อดูว่าน้ำในชุมชนอยู่ในระดับที่น่าพอใจหรือไม่ เด็กๆเข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างสนุกสนานเนื่องจากเพิ่งมีโอกาสได้ทำครั้งแรกทำเอาพี่สนุกสนานไปตามๆกัน อธิบายขั้นตอนและวิธีทำต่างๆ สำคัญก็คือ สัตว์ที่ขึ้นมาเราต้องเอาเขากลับสู่น้ำอย่างปลอดภัยนะครับ สอดแทรกเรื่องราวต่างๆได้อีกมากมายเลยครับกิจกรรมนี้ เอ้าส่องกันเข้าไป
อีกกิจกรรมที่ควบคู่ไปกับนักสืบสายน้ำก็คือ หนังสือเล่มแรกของหนู หรือ bookstart ซึ่งทางทีมได้เชิญแม่เด็กตัวเล็ก ตัวน้อยมาทำความเข้าใจกับกิจกรรมที่เป็นการปลูกผังให้เด็กรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์และฝึกพัฒนาการโดยมีคุณแม่เป็นคนอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง โดยเด็กที่ยังเล็กจะเป็นหนังสือภาพสีเรียกความสนใจของเด็กๆได้ดีทีเดียว เด็กๆจะได้คุ้นเคยกับหนังสือไงครับ อิอิ พร้อมกันนี้ยังมอบหนังสือให้คุณแม่แต่ละท่านไปไว้อ่านที่บ้านด้วยนะครับ น่ารักทั้งคนสอนคนเอาไปอ่านเลย อิอิ


กิจกรรมนักสืบสายน้ำน้อยดำเนินไปพร้อมกับหนังสือเล่มแรกของหนู แต่ในส่วนของทีมงานอีกกลุ่มหนึ่งก็กำลังขมักเขม่นร่วมกับชาวบ้านในชุมชนช่วยกันขนดินบ้าง ขุดดินบ้าง และก่ออิฐเพื่อทำแปลงผักให้กับโรงเรียนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในโครงการอาหารกลางวัน จนเวลาล่วงเลยมาถึงเที่ยงกิจกรรมก็พักชั่วขณะเพื่อกินข้าวเติมพลังให้กับพี่ๆทีมงานที่เรียกว่าหนักเอาเบาสู้กันจริงๆ โดยในช่วงบ่ายเรายังต้องมีการจัดสถานที่เพื่อรองรับพี่น้องที่จะมาร่วมกิจกรรมกลางคืนและมีสรุปกิจกรรมนักสืบสายน้ำในช่วงบ่ายของวันที่สอง
ติดตามตอนสุดท้ายนะครับ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายสำหรับการไปออกค่ายน้องใหม่ปีนี้ พบกันอีกทีตอนสุดท้ายครับผม (กินแล้วก็นอนพักผ่อนกายา อิอิ)

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรียนรู้จากคนนอก



อาจารย์ คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล จากหนังสือ หมอชาวบ้าน อาจารย์เป็นนักเขียนให้หมอชาวบ้านมาตั้งแต่พ.ศ. 2528 (โห) เดินทางมาสัมภาษณ์ นายแพทย์ ภักดี สืบนุการณ์ เกี่ยวกับกิจกรรม Book start และ เรื่อง จักรยาน โดยหัวข้อที่ว่า "การเรียนรู้จากวิถีคนใน"และนำสิ่งที่ได้รับรู้ข้อมูลมาทำกิจกรรมต่างๆเพื่อคนด่านซ้าย โดย ผอ. บอกว่ามันมาจากการพูดคุยกับผู้สูงอายุในท้องถิ่นที่เล่าถึงสมัยก่อนว่าด่านซ้ายเป็นอย่างไร โดยการแพทย์ที่ยังไม่ทันสมัยเหมือนยุคปัจจุบันและเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในชนบทนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินและโดยส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากการอ่านหนังสือ บทความที่เขียนจาก อาจารย์แพทย์หลายๆท่านจากหนังสือ หลายเล่ม รวมถึง หนังสือหมอชาวบ้านที่มาสัมภาษณ์ในวันนี้ด้วย จนได้รับรางวัลแพทย์ชนบทในปีนี้



โดย ผอ.ได้ให้ อาจารย์คมส์ธนนท์ ไปสัมภาษณ์ หลายคนในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็น พี่หนุ่ย เยาวพา ที่ริเริ่มโครงการ Book start ที่ให้รายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้น จนตอนนี้มีการตื่นตัวที่จะดูแลไปถึงกลุ่มเด็กที่มีปัญหาในการอ่านและพัฒนาการร่วมกับโรงเรียนในด่านซ้ายและโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ส่งนักศึกษาแพทย์ปีนี้ทั้ง 8 รุ่นมาเก็บข้อมูลทำวิจัยเกี่ยวกับเด็กและให้ข้อมูลการสรุปแก่ อาจารย์คมส์ธนนท์ เพื่อนำไปประกอบการเขียนด้วย หลังจากนั้นจึงเดินทางไปสัมภาษณ์บุคคลที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังจากได้มาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลุงติ่ง พนักงานครัว ทีขี่จักรยาน จากน้ำหนักตัวเกือบ 100 กิโล ที่หายไปเกือบครึ่งและไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียนเลยตั้งแต่รู้จักกับเจ้าสองล้อเมื่อไม่กีปีนี้เอง และอีกท่านหนึ่งคือ ลุงตุ๋ยหรือครูตุ๋ย แฟนป้าแน่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัว ที่เมื่อก่อนว่างไม่ได้เป็นต้องสังสรรค์กับเพื่อนฝูงทุกเย็น แต่หลังจากเริ่มขี่จักรยานกิจกรรม "ดื่มเพื่อความสุข"(ทุกข์ทีหลัง) ก็ลดหายไปโดยมีความแข็งแกร่งของร่ายกายและจิตใจเข้ามาแทนที่พร้อมกับความภูมิใจของครอบครัวโดยเฉพาะลูกสาว (น้องเนย) ที่ชื่นชมในตัวคุณพ่อมากๆ ลุงตุ๋ยบอกว่ามันเปลี่ยนแปลงหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ กาย ใจ และเงิน ที่แทบจะไม่เคยมีเก็บ เนื่องจากหมดไปกับขวดแก้วหลายยี่ห้อครั้งละหลายบาทเลยทีเดียวรวมถึง อุ้ม เจ้าของร้าน มอเตอร์ไซค์ในด่านซ้ายที่เมื่อก่อนเป็นทั้งนักแข่งรถวิบากและนักดื่มตัวยงที่หันมาขี่จักรยานจนได้รับการยอมรับในการขับขี่ที่พิสูจน์ได้จากถ้วยรางวัลภายในบ้านจนแทบไม่มีที่จะเก็บ อุ้มบอกว่าประหยัดไปเยอะ ถึงแม้จะดื่มอยู่บ้างแต่ไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากต้องเอาเวลาไปซ้อมเพื่อแข่งขันในอีกหลายสนาม และที่ได้รับกลับมาคือสุขภาพดีๆ และจะขี่จนกว่าไม่มีแรงปั่นเลยละกัน พร้อมกับนำจักรยานคันละแสนกว่าบาทคู่ใจมาให้ถ่ายภาพเนื่องจากอาจารย์นักเขียนบอกว่าไม่ถ่ายไม่ได้แล้ว (คันละเป็นแสน)
ช่วงเย็นอาจารย์คมส์ธนนท์ได้ไปสัมภาษณ์อีกครอบครัวหนึ่งที่ใช้หนังสือในการฝึกพัฒนาการให้กับลูกสาวตั้งแต่ยังคลานต้วมเตี้ยมจนเดี๋ยวนี้อยู่ชั้นอนุบาลแล้ว คุณแม่ของน้องบอกว่าลูกสาวมีสติปัญญาที่ดีมากกว่าเด็กในวัยเดียวกันและกล้าแสดงออกจนเป็นที่รักและเอ็นดูของหลายคนที่ได้เห็นจน คุณปู่ คุณย่า ปลื้มใจเอามากๆกับหลานคนนี้ รวมถึงลูกสาวคนโตอีกคนหนึ่งด้วย
จากการที่ได้เห็นการทำงานตลอดจนพูดคุยกับอาจารย์คมส์ธนนท์ อาจารย์บอกว่าเราต้องเตรียมข้อมูลในการออกไปทำงานในแต่ละครั้งโดยศึกษาเอาจากสื่อที่ออกมา เท่าที่ผมสังเกตุ อาจารย์ให้เกียรติในทุกคำตอบและจินตนาการให้เห็นภาพ สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากอาจารย์คมส์ธนนท์ คือ เราต้องเป็นนักฟังที่ดีและมีความ กระตือลือล้น สนใจ ในทุกคำตอบ โดยใช้ดวงตาแสดงความชื่นชมและอยากรู้ในสิ่งที่เขาพูดออกมาอย่างตั้งใจฟัง ขอบคุณครับอาจารย์

เครื่องมือนักเขียน (นักสัมภาษณ์)
  1. กล้องถ่ายภาพ
  2. เครื่องอัดเสียง 2 ตัว (กันเสีย 1 ตัว)
  3. สมุดจดบันทึก
  4. ปากกา
  5. ความอยากรู้อยากเห็น (อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวครับ)
จบข่าว

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภาพเขียน พุทธประวัติ

ความหมายของภาพเขียนเรื่อง พุทธประวัติ ตอน ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน
ประสูติ วันวิสาขบูชา ใต้ต้นรัง ณ สวนลุมพินี ทรงดำเนิน ๗ ก้าว ดอกบัว ๗ ดอกผุดรับ และทรงตรัสว่าเราจะเป็นใหญ่ในโลก
ได้ชีวิต ได้ความเป็นหนึ่ง ได้ความก้าวหน้า


ตรัสรู้ พอรุ่งอรุณรังษี รัตติกาล คือ วิสาขมาศ ทรงตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ สมุททัย นิโรธ มรรค ก่อนใครๆในโลก ณ ต้นศรีมหาโพธิ์ เมืองพุทธคยา
ได้ปัญญา ได้ความรู้แจ้ง ได้ชัยชนะที่ไม่กลับไปแพ้


ปฐมเทศนา ณ เมืองสารนาถ ทรงแสดงธรรมธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ คือ โทรการทรมานตน และกามคุณ ๕ กับ อริยสัจจ์  ๔
ได้บริวาร ได้ความไม่วุ่นวาย ได้ดวงตาเห็นธรรม


ปรินิพพาน ณ เมือง กุสินารา ใต้ต้นสาละคืนวันวิสาขมาศประทานปัจฉิมโอวาสโปรดนายสุภัททะ ปริพาชก ให้สำเร็จมรรคผลเป็นคนสุดท้าย
ได้อายุ ได้ทรัพย์สินมรดก ได้พ้นเครื่องเสียดแทง


อ.ปราโมทย์ ศรีพรหม ช่างเขียนท้องถิ่น
เทคนิค สีอะคริลิคผสมทองคำเปลวบนผ้าใบ
ขนาดภาพ  ๒๙๖x๑๕๖ ซม.
เขียน ปี ๒๕๕๔

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ค่ายยุพราชสู่ชุมชน ปี54 บ้านแก่วตาว ตอน 1





โดยเรานัดกันไว้ที่ 07:00 น. แต่กว่าจะรวมพลได้จริงก็เลยมาเกือบหนึ่งชั่วโมง หลังจากที่จัดสัมภาระและอุป

กรณ์ต่างๆขึ้นรถเรียบร้อย ผู้อำนวยการ รพร. ด่านซ้าย หมอภักดี (หมอจิ๋ว) ได้บอกกับพวกเราก่อนเดินทาง

ทุกครั้งหรือทุกรุ่น (เผอิญเป็นน้องใหม่แทบทุกปี) คืออยากให้เราไปทำความรู้จักกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีการใช้

ชีวิตในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองและมองให้เห็นถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่แตก

ต่างกันไปตามความสลับซับซ้อนของภูมิประเทศในด่านซ้าย และให้เกิดความเข้าใจประกอบกับการเรียนรู้

ร่วมกันอันจะก่อให้เกิดการมองในหลายมิติสุขภาพของคนในชนบท




หลังจากนั้นการเดินทางก็เริ่มขึ้น หลายคนมีสีหน้าที่อิดเอียนอย่างเห็นได้ชัดก่อนการเดินทาง

เนื่องจากเมื่อคืนต้องจัดเตรียมของทุกอย่างที่จะไปออกค่ายไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าและสิ่งของที่เตรียมไว้เพื่อทำ

กิจกรรมกับพี่น้องในชุมชน ระยะทาง 42 กิโลเมตรไม่ไกลเลยสำหรับพื้นผิวที่ราบในเมืองใหญ่ แต่... ที่เราจะ

ไปนั้นต่างกันโดยวัดจากพาหนะที่เราวิ่งแซงมาหลังจากเลี้ยวขวาออกจากถนนใหญ่ทางเข้าหมู่บ้านที่เราไป





ถึงแม้จะเดินทางไปสำรวจมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่หลายคนก็มีอาการเมารถอย่างห็นได้ชัด นั่ง

หลับตา นั่งทางใน พยายามกลั้นความรู้สึกในลำคอที่สามารถจะทยานออกมาให้อีกหลายคนได้ทำตาม

แต่...เราก็ผ่านพ้นมาได้ไม่อายใคร อิอิ จนถึงบ้านแก่วตาว บ้านที่ระยะทางไม่น่าเป็นอุปสรรคแต่จากที่พี่น้อง

ในชุมชนบอกว่ามีเด็กหลายคนคลอดในรถหลายครั้งก่อนจะไปถึงรพ.

ถึงแล้ว...ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมที่เราเตรียมมา ทางโรงเรียนบ้านแก่วตาว ได้มีการต้อนรับอย่างเป็นทาง

รู้สึกตัวเองสำคัญยังไงยังงั้น โดยผู้อำนวยการโรงเรียนได้กล่าวแนะนำตัวบุคลากรประจำโรงเรียน ผอ.และ

นักการภารโรง เป็นผู้ชาย ที่เหลือเป็นครูผู้หญิงทั้งหมด 4 คน โดยมีนักเรียนทั้งหมด 40 กว่าคน สอนตั้งแต่

ก่อนวัยเรียนจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ปีนี้ไม่มีเด็ก ป.6 ซักคน หลังจากนั้นทีมน้องใหม่ก็เริ่มแนะนำตัวเอง

และถึงวัตถุประสงค์การมาออกค่ายในครั้งนี้โดยมีการส่งตารางกิจกรรมมาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว








หลังจากการต้อนรับเราก็นำของทุกอย่างเก็บรวมไว้ที่โรงเรียนก่อนเพื่อที่จะเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับ

คนในหมู่บ้านโดยใช้ความ ช่างเจรจา รอยยิ้ม สองมืออ่อนๆ และ คำว่า "หมอ" เพื่อบอกกับเขาว่าเรามาทำ

อะไร เพื่อใคร ทำไม แต่ตอนนี้ใกล้เที่ยงแล้วครับ เราลงความเห็นกันว่า "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง" เพราะ

ฉะนั้น ขณะนี้ถึงเวลาอร่อยแล้วซิ





บทความครั้งหน้าผมจะพาท่านรู้จักหน้าค่าตาน้องใหม่และกิจกรรมต่างๆที่เราไปทำกันแต่ตอนนี้ผมขอ

เวลาไปสวาปาม (จัดหนัก) กับเพื่อนร่วมทีมก่อนนะคร้าบ

ปล. ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ติดตามงาน



เริ่มต้นสัปดาห์วันนี้มีนัดหมายติดตามงานกับทาง รพ.นาด้วงครับ ในช่วงเช้า อิ๊ด Admin รพ.เอราวัณโทรมาปรึกษาเรื่องข้อมูล OPPP ที่ทาง ICT จังหวัดนำเสนอในที่ประชุม กวป. ในหลาย รพ.ยังมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานครับ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามแก้ไขกันต่อไป ในส่วนของ รพ.ผมคิดว่าน่าจะต้องตรวจสอบก่อนส่งให้ สปสช. แต่จะประสานงานกันอย่างไรเรื่องส่งข้อมูลให้ตรวจสอบคงต้องให้ทางทีมจังหวัดช่วยเป็นผู้ประสานงานให้อีกที


ในส่วนของ รพ.เอราวัณ ปัญหาเกิดจากการส่งข้อมูลผิดพลาดในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เดือนเดียวเท่านั้นครับ ทำให้มีผลต่อคุณภาพของข้อมูลในภาพรวม



ในช่วงบ่ายแจ้งยกเลิกการจัดประชุม HOSxP PCU ของ  รพ.สต.ในเขตอำเภอเชียงคาน เนื่องจากรถยนต์ที่ผมจองไว้ยังไม่ได้ครับ ช่วงนี้เลยค่อนข้างลำบาก เดิมทีคิดว่าจะได้ภายในต้นเดือนนี้แต่ทางเซลล์แจ้งมาว่ายังไม่ได้คงต้องร้องเพลงรอไปก่อน โชคดีที่น้องๆ ก็ไม่สะดวกด้วยเพราะตรงกับช่วงเลือกตั้ง นายก อบจ. 

ในส่วนของ รพ.นาด้วง อามิน ติดตามงานดีมากครับ ตรงเวลาที่นัดหมายกันไว้ วันนี้มีการแก้ไขข้อมูลวัคซีนให้เป็นปัจจุบัน และสอนการใช้งานแก้ไขทะเบียน ANC บัญชี 2 และบัญชี 1  โดยผมขอให้รีบดำเนินการแก้ไขภายใน 1เดือน ก่อนส่งออกคงต้องขอตรวจสอบข้อมูลกันก่อน และวันพรุ่งนี้อามินจะอัพเวอร์ชั่น HOSxP เป็น 3.54.7.30 ในส่วนของทะเบียนนัดที่จะให้แสดงข้อมูลกิจกรรม ให้ อ.อาร์มทำแล้วครับ พร้อมกับทะเบียนรับบริการของ รพ.สต.ด้วย ซึ่งภายในสัปดาห์นี้น่าจะเสร็จเรียบร้อย
  1. การอัพเดต HOSxP ให้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกัน............กำลังดำเนินการ
  2. การปรับฐานข้อมูลวัคซีนให้เป็นปัจจุบัน..................ดำเนินการแล้ว
  3. การทำทะเบียนรายงานนัดให้แสดงรายการวัคซีน....กำลังดำเนินการ
เดือนสิงหาคม รพ.ทุกแห่งจะต้องเริ่มพิมพ์แบบฟอร์มของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยลงชื่อรับทราบทุกรายที่มีสิทธิเบิกจ่ายตรง ไม่รู้ทุกแห่งเริ่มทำกันหรือยังนะครับ เพราะมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 เดือนสิงหาคม เป็นต้นไป