วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นอ มอ นม


นิเทศงาน คปสอ.นาด้วง

28 ก.ค.2554
....
วันสุดท้ายของการนิเทศงานรอบนี้สิ้นสุดที่คปสอ.นาด้วงครับ ในส่วน รพ.สต.เป้าหมายในช่วงเช้าอยู่ที่ รพ.สต.นาดอกคำครับ ตอนที่มาอบรม HOSxP PCU ให้กับอำเภอนาด้วง ใช้ที่นี่เป็นสถานที่ฝึกอบรมกันครับ เป็น รพ.สต.ที่มีความพร้อมหลายๆอย่าง ทั้งระบบอินเตอร์เนตก็ใช้ได้ดีทีเดียว
มีน้องๆเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ต่างๆ 3-4 คน รออยู่ก่อนหน้าแล้ว พวกเราจึงเริ่มพูดคุยกันไปเรื่อยๆก่อนที่จะเข้าเนื้อหาหลักๆของการมาติดตามนิเทศงาน โดยพี่แม้วเปิดรายการแนะนำวัตถุประสงค์ของการมาก่อนจะโยนไมค์ให้ต๋อง  ส่วนพี่เข้และผมปิดท้ายเช่นเคย..

เท่าที่ดูจากข้อมูล ในเรื่องของความสมบูรณ์ รพ.สต.นาดอกคำ ทำได้ค่อนข้างดีครับ ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการลงบันทึกข้อมูลที่ทำไม่ทัน ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายๆกับหลายๆพื้นที่ ที่ภาระงานในการจัดทำข้อมูลซ้ำซ้อนในงานบริการ 1 งานต้องลงข้อมูลชุดเดียวกันประมาณ 3-4 รายการ ไม่น่าแปลกครับว่าทำไมลงข้อมูลกันไม่ทัน 

ผมถามว่าทำไมไม่ลดการเขียนข้อมูลในทะเบียนและใช้วิธีการพิมพ์รายงานแทน น้องๆให้คำตอบว่าต้องเก็บข้อมูลทะเบียนต่างๆไว้ เพราะเวลาที่"ผู้นิเทศ"ออกมาติดตามจะขอดูทะเบียนรายงานต่างๆ ซึ่งถ้าไม่ลงก็ไม่ได้ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ข้อมูลบริการส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการเขียนทะเบียน และแฟ้มครอบครัวเสร็จแล้วจะเก็บไว้ลงบันทึกข้อมูลในโปรแกรม HOSxP ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายในภายหลัง  บางวันมีอัตรากำลังอยู่กันไม่กี่คน จึงต้องเก็บข้อมูลเอาไว้ลงทีหลัง ถ้าดีหน่อยก็ลงได้วัีนต่อวัน ถ้ายุ่งมากหน่อย ก็เก็บไว้รอลงวันถัดไป หรือสัปดาห์ถัดไป..



โอกาสพัฒนา
  1. อบรมเพิ่มเติมรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงบันทึกข้อมูลให้กับ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.
  2. การปรับวิธีการทำงาน และการจัดทำรายงานเพื่อแสดงผลงานแทนทะเบียนต่างๆ
  3. การประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นิเทศงานเวลาที่มาติดตามงานว่า โปรแกรม HOSxP PCU สามารถทำอะไรได้บ้าง และผู้นิเทศควรจะติดตามตรวจสอบคุณภาพของงานตนเองอย่างไร โดยไม่เป็นการไปเพิ่มภาระงานกับผู้ปฏิบัติ


13.30 น.
ช่วงบ่ายทีมเข้านิเทศงานที่ รพ.นาด้วงครับ  มีทีมงานรอรับการนิเทศหลักๆ เป็นผู้ที่เกีี่ยวข้องกับการใช้และดูแลเรื่องคุณภาพของข้อมูล ซึ่งทางทีมได้ตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานต่างๆในส่วนที่เกี่ยวข้อง และการใช้งานพบว่ายังมีปัญหาเรื่องการลงบันทึกข้อมูล


ในส่วนของผู้ป่วยนอกลงบันทึกข้อมูลได้ค่อนข้างดีครับ แต่ยังไม่ได้ใช้ออกใบเสร็จจากโปรแกรม HOSxP ทำให้ยังมีข้อมูลผู้ป่วยรอชำระเงินอยู่ในระบบ สาเหตุเนื่องมาจากระบบผู้ป่วยในยังลงข้อมูลไม่สมบูรณ์ทำให้ต้องใช้วิธีการสรุปค่าใช้จ่ายเองและออกใบเสร็จด้วยการเขียน

รพ.นาด้วง หลังจากที่อบรมและขึ้นระบบได้ไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลระบบ เนื่องจากสอบบรรจุได้ทำให้ต้องรับบุคลากรใหม่ การดูแล การประสานงาน และการสื่อสารทำความเข้าใจกับทีมงานยังทำได้ไม่ค่อยดี บางเรื่อง เช่น การอัพเดต Version ใหม่ของ HOSxP ทำให้ผู้ดูแลเลือกอัพเดตเวอร์ชั่นในบางเครื่องทำให้มีปัญหาการใช้งานเนื่องจากการใช้ Version ที่แตกต่างกัน

โดยสรุปมีประเด็นซึ่งที่ประชุมเห็นพร้อมร่วมกันที่จะต้องรีบดำเนินการในสัปดาห์หน้า คือ
  1. การอัพเดต HOSxP ให้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกัน
  2. การปรับฐานข้อมูลวัคซีนให้เป็นปัจจุบัน
  3. การทำทะเบียนรายงานนัดให้แสดงรายการวัคซีน 
ซึ่งในส่วนของทะเบียนรายงานต่างๆ คงจะต้องทำให้ครอบคลุมของ รพ.สต.ไปพร้อมๆกัน

สรุปประเด็นๆสำคัญจากการนิเทศงาน
งานที่ต้องเร่งดำเนินการ
  1. การติดตั้ง Hardware และขึ้นระบบ HOSxP ให้ รพ.ปากชม
  2. ปรับปรุงและแก้ไข Hardware และ ระบบเครือข่าย ของ สอ.เฉลิมพระเกียรติฯ หนองหิน
  3. ฝึกอบรมบุคลากรดูแลให้ รพ.ท่าลี่ ,สอ.เฉลิมพระเกียรติฯ หนองหิน
  4. ประชุมชี้แจงผู้บริหาร ผู้นิเทศงาน
  5. ปรับฐานข้อมูล และ อัพเวอร์ชั่น HOSxP รพ.นาด้วง,สอ.เฉลิมพระเกียรติฯ หนองหิน
  6. จัดทำรายงาน แบบฟอร์มต่างๆ เพื่อลดภาระงานของเจ้าหน้าที่



วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิเทศงาน คปสอ.ภูกระดึง

06.45 น.

ปั่นจักรยานออกจากบ้านตั้งแต่เช้าเข้าไปเคลียงานเอกสารบนโต๊ะทำงาน ก่อนที่จะขับรถยนต์ออกจากโรงพยาบาลโดยวันนี้ภาระกิจยังเป็นการออกนิเทศงานกับทีม ICT สสจ.เลย ระหว่างเส้นทางก่อนถึงโคกงามหมอกลงจัด อากาศข้างนอกเย็นค่อนข้างหนาว แต่ข้างในรถขับไปกลับร้อนอบอ้าวชอบกล ขนาดผมเปิดเบอร์ 5 สุดๆ แล้ว แค้แอร์ที่เปิดไว้ก็มีลม..แต่ไม่เย็น..

เมื่อวันจันทร์ขับมายังปกติดี ไม่มีปัญหา แต่ไหงวันนี้แอร์ดันมาเสียซะนี่ ด้วยความรีบผมจึงขับไปเรื่อยๆเพราะเกรงว่าจะไปถึงเมืองเลยสาย ดีแต่ว่าอากาศข้างนอกเย็น เลยเปิดหน้าต่างรับแอร์ธรรมชาติดีว่า


มาถึง สสจ.เลยทันตามกำหนดเวลา ระหว่างที่รอดับเครื่องอดไม่ได้ที่จะลองดูที่แอร์อีกครั้งว่าทำอะไรผิดพลาดหรือเปล่ามันถึงไม่เย็น ปิด เปิด ดูก็ยังเหมือนเดิม จนมาแอะใจกับปุ่ม A/C ที่ปกติมันจะมีไฟสีเขียวติด ...ชะ อุ้ย

ลองกดดูไฟเขียวติด กดอีกทีไฟเขียวดับ..เฮ้อ..ไม่น่าโง่เลยตู







08.45 น.
 

ทีมงานเดินทางออกจาก สสจ.เลย จุดหมายปลายทางในวันนี้ในช่วงเช้าที่ รพ.สต.นาแปนใต้ ของ คปสอ.ภูกระดึง  ผมได้ยินแว่วๆว่า รพ.สต.แห่งนี้กำลังจะส่งประกวดอะไรซักอย่าง สภาพแวดล้อมโดยทั่วๆไปจึงกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทาสี ไล่ลงมาตั้งแต่หลังคาที่ลงทุนทาสีแดงมองเห็นโดดเด่นแต่ไกลๆ ป้ายสถานีอนามัยใหม่เอี่ยม

ทีมงานของ คปสอ.ภูกระดึงรอเตรียมพร้อม นำทีมโดย ประสงค์ ศิษย์เก่าด่านซ้าย เคยทำงานด้วยกันสมัยที่ผมยังเป็นนักวิชาการอยู่ที่ สสอ. ส่วนประสงค์รักษาการหัวหน้า สอ.กกจำปา อยู่หลายปีก่อนจะย้ายกลับมาที่ภูกระดึง  มีการกล่าวต้อนรับและแนะนำตัวกันพอเป็นพิธีก่อนที่เริ่มชี้แจงเนื้อหาสาระสำคัญของการมาติดตามงาน  ซึ่งเป็นหน้าที่ของยอดชายนายต๋องทำหน้าที่ชี้แจงเช่นเคย


ส่วนพี่เข้ และผมทำหน้าที่ในเรื่องการตอบคำถามในส่วนของการใช้ HOSxP PCU รวมถึงการตรวจสอบฐานข้อมูล จากการตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล  ซึ่งพบปัญหาใสส่วนของบัญชี 1,2 ,3 ที่ไม่สมบูรณ์ มีข้อมูลเก่าและยังไม่ถูกจำหน่ายยังมีอยู่มาก ความเข้าใจในเรื่องของการบันทึกและส่งออกข้อมูลยังเป็นประเด็นที่คลาดเคลื่อนจากที่อบรมอยู่พอสมควร 

วันนี้ไม่รู้ว่าอากาศร้อน หรือทีมนิเทศอ่อนอกอ่อนใจกับข้อมูลที่ยังมีปัญหาค่อนข้างมาก มองดูสีหน้า แววตาของคนฟัง และบรรยากาศในห้องประชุม ดูแล้วขาดชีวิตชีวายังไงชอบกล... คำถามในห้องประชุมมีไม่มากนัก ทำให้เวลาของการประชุมจบลงแบบไม่ยืดเยื้อ


    มื้อเที่ยงมีข้าวเหนียว ส้มตำ ผัดผัก เกาเหลา และตบตูดด้วยแตงโมเป็นของหวานปิดท้ายรายการ  

    เดินทางออกจาก รพ.สต.นาแปนใต้ มุ่งไปยังจุดหมายต่อไป คือ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติกิ่งอำเภอหนองหิน.. 

     แม้จะเป็นเวลาบ่ายกว่าๆ แล้ว แต่ยังมีคนไข้รอรับบริการจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จึงยังคงวุ่นวายกับการให้บริการ ทีม สสจ.และผมจึงเดินสำรวจพื้นที่ภายในอาคารตามห้องต่างๆ  ดูแล้วสารภาพตรงๆครับว่ารู้สึกเหนื่อย....ยังไงไม่รู้

    สภาพห้องเก็บ server สาย LAN ระโยงระยาง บ่งบอกสภาพระบบเครือข่ายที่วางอย่างหละหลวม หลายจุดใช้กระดาวกาวปิดแปะไว้..

    แม้จะมีสถานะเป็นสถานีอนามัย แต่ที่นี่ใช้ HOSxP แบบเดียวกับที่โรงพยาบาลใช้ เพราะมีแพทย์ พยาบาล เภสัช ห้องบัตร นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพ ทันตาภิบาล อยู่ประจำ..

    ต๋องใช้เวลาชี้แจงเรื่องปัญหา และวิธีการตรวจสอบและส่งข้อมูลไม่นานนัก ก่อนจะที่โยนไมค์ให้ผม..ร้องเพลง เอ๊ย..อธิบายต่อ

    โดยส่วนตัวแล้วผมเองวันนี้ค่อนข้างหนักใจกับปัญหาการใช้งานของที่นี่ เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าใจวิธีการลงบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องค่อนข้างมาก ระบบเครือข่ายที่ยังมีปัญหา รวมถึงระบบงานที่ยังต้องทำงานซ้ำซ้อนกันอย่างมาก.. ซึ่งไม่ใช้เรื่องง่ายที่จะแก้ไข


    ผมใช้วิธีการเรียนจากคำถาม การให้เจ้าหน้าที่ลองทำให้ดู และการสอบถาม ซึ่งหลายๆปัญหาต้องเรียนกันตามตรงครับว่าที่นี่ต้องมาฝึกอบรมบุคลากรเรื่องการใช้งาน HOSxP แบบชุดใหญ่ ปัญหาที่พบ อย่างแรกคือการใช้งาน HOSxPของเครื่องลูกข่ายมีมากกว่า 4 เวอร์ชั่้น ตั้งแต่เวอร์ชั่นปี 53ก็ยังมี และฐานข้อมูลอัพเดตล่าสุดที่เวอร์ชั่น 3.54.2.2  ส่วนการใช้งานยังทำคู่ขนานกับระบบ Manual ระบบทะเบียนรายงานยังอยู่แบบครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นทะเบียนนัด ทะเบียนส่งต่อ ฯลฯ หลายโมดูลไม่ได้ใช้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทันตกรรม การลงข้อมูลเป็นหน้าที่ของน้องเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ซึ่งแน่นอนครับว่าข้อมูลส่วนใหญ่จึงได้แค่ Dx ยา และค่าใช้จ่ายที่ไม่ครบถ้วน.. ทางทีมจึงให้แบงค์อัพสอนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอัพเวอร์ชั่นให้เป็นตัวเดียวกัน และสอนเรื่องการใช้โปรแกรม teamviewer โปรแกรม join.me เพื่อใช้ในการติดต่อสอบถามการใช้งานโปรแกรม  ในส่วนเรื่องอื่นๆผมไม่ได้ตอบคำถามมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้จะเริ่มตอบจากตรงไหนก่อนดี  และภาพจากโปรเจคเตอร์วันนี้ดูแล้วทรมานสายตามากกว่าที่จะช่วยเรื่องการนำเสนอ

    ผม...

    ขับรถกลับด้วยความรู้สึกหลายๆอย่าง..มีหลายเรื่องยังคงค้างคาใจ..แค่คิดปรุงแต่งไปว่าจะต้องทำโน้น ทำนี่ อีกเยอะแค่นี้ก็เหนื่อยแล้วครับ  หลายๆเรื่องบางอย่างก็ยากเกินไปเพราะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ความใส่ใจ ให้ความสำคัญของผู้บริหารและคนที่ทำงานเอง...




    บทส่งท้าย...

    นักดนตรีคนหนึ่ง ยืนอยู่บริเวณทางเข้า สถานีรถไฟใต้ดิน " L‘Enfant Plaza” (วอชิงตัน ดี ซี) สักพักใหญ่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในวันอันแสนหนาว เมื่อเดือน มกราคม  เขาเล่นดนตรีหลายเพลง นานถึง 45 นาทีขณะนั้น เป็นเวลา ประมาณ 8.00 น. ผู้โดยสารนับพัน นับหมื่น รีบเร่งเดินทางไปทำงาน การแสดงผ่านไป 3 นาที ชายกลางคนชลอความเร็วลง หยุดฟังไม่กี่วินาที แล้วเร่งฝีเท้าเดินจากไป เวลาผ่านไปอีก 1 นาที นักดนตรี ได้รับเงิน 1 ยูเอส ดอลล่าร์ แรก จากหญิงสาวคนหนึ่ง แต่หล่อนก็ไม่ได้หยุดฟัง เวลาผ่านไปหลายนาที

    มีผู้โดยสารคนหนึ่งหยุดดูอยู่ฝั่งตรงข้าม หลังจากเหลือบดูนาฬิกาข้อมือแล้วก็เดินจากไป สิ่งที่ทำให้ให้นักคนตรีคนนี้ประทับใจก็คือ เด็กชาย อายุ 3 ขวบ หยุดฟังการแสดงอย่างสนใจ แต่มารดา ทั้งฉุดทั้งดึงให้ลูกชายเดินต่อไปแต่เด็กชาย เดินไปพลาง เหลียวหลังหันมาดู จนเดินลับตาไป

    ตลอดเวลา การแสดง 45 นาที นั้น มีเพียง 7 คน ที่หยุดดูการแสดง
    เขาได้รับเงินจากการแสดง 32 ยูเอสดอลล่าร์
    เมื่อเขาจบการแสดง ไม่มีคนสนใจ ไม่มีใครปรบมือให้ ในจำนวนคนนับพันที่ผ่านไปมา
    มีเพียง 1 คน เท่านั้น
    ที่สนใจการแสดงของเขาจริงๆ

    ไม่มีใครรู้ว่า แท้จริงแล้ว เขาคือ Josbua Bell
    หนึ่งในนักดนตรีไวโอลินที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน

    เขาเลือกเล่นเพลงที่จัดว่าเล่นยากที่สุดในโลก มาแสดงในวันนั้น
    ที่สถานีรถไฟใต้ดิน นอกจากนั้น ไวโอลินที่ใช้เล่น
    เป็นไวโอลินอิตาลีที่ผลิตในปี ค.ศ. 1713 มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้าน 5 แสน
    ยูเอสดอลล่าร์ (ประมาณ 117 ล้าน บาท)


    ก่อนหน้าการแสดงที่สถานีรถไฟใต้ดิน 2 วัน เขาได้เข้าร่วมการแสดงดนตรีที่
    บอสตัน ถึงแม้บัตรจะราคาหลายร้อยเหรียญสหรัฐ แต่บัตรก็ขายจนหมด
    นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง

    การที่ Joshua Bell ไปเล่นไวโอลิน ที่สถานีรถไฟใต้ดินนั้น
    ทีมงานหนังสือพิมพ์ออนไลน์วอชิงตัน จัดทำขึ้น วัตถุประสงค์
    เพื่อทดสอบพฤติกรรมของคน ในการรับรู้ รสนิยม และ ปฎิกิริยา

    เพื่อต้องการคำตอบที่ว่า ขณะที่คนเราอยู่ในที่สาธารณะ
    อยู่ในเวลาที่รีบเร่ง คนเราจะยังสามารถรับรู้ความสุนทรีย์รอบข้างได้หรือไม่
    เราสามารถหยุด เพื่อรับรู้ความสวยงามเหล่านี้ได้หรือไม่
    เราสามารถค้นพบอัจฉริยะในสภาพแวดล้อมที่รีบเร่งหรือไม่

    อาจจะมีบทสรุปคือ .....
    หากคนเราคิดว่า ไม่มีเวลาที่จะหยุดลงสักครู่
    เพื่อฟังดนตรีที่บรรเลงโดยนักดนตรีที่มีความสามารถเล่นเพลงที่แต่งอย่างสละสลวย
    ไม่รู้ว่า.... ยังมีคนอีกมากมายเท่าไร
    ที่พลาดสิ่งดีๆรอบตัวไปอย่างน่าเสียดาย ....
    คัดลอกจาก วินบุ๊คคลับ


    วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

    Love is not designed


    คำว่า "เข้าใจที่พูดหรือเปล่า" เป็นคำตอบที่พอจะบอกได้ว่าเธออยากให้เขาคิดอย่างไร
    แต่บางอย่างที่อยู่ในความรู้สึกของเขาเองมันกำลังบอกว่าเขาไม่ได้แค่อยากรักเธอนะ

    แต่เขาอยากที่จะดูแลเธอไปทั้งชีวิตเลย อีกอย่างคือเธอคนนี้มีแฟนที่คบกันมาหลายปีแล้ว
    เขาเก็บทุกอย่างไปนอนคิดมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและถามตัวเองว่าจะไปยังไงต่อดี

    สิ่งหนึ่งที่เขาคิดขึ้นมาได้ ถ้า...คำว่า "รักคือการให้และไม่หวังสิ่งตอบแทน" มันมีอยู่จริงเขาจะทำมันได้ไหม

    หลายวันต่อมาเขาทำทุกอย่างเหมือนเดิมคือ ดูแลเธอเท่าที่จะทำได้ ให้กำลังใจเธอในยามที่เธอท้อในเรื่องงานและหาเรื่องตลกๆมาเล่าให้เธอฟังทุกวัน

    ยามใดที่เธอไม่มีเวลาไปทานข้าวเขาก็จะจัดหามาให้ตามแต่ที่ตัวเองจะมีกำลังไม่ได้ทำให้มากไปกว่าคนที่เป็นแฟนกันเพราะคิดเสมอว่าเธอให้เป็นได้แค่พี่ชายเท่านั้น...

    สิ่งที่เขาทำทุกๆวันคือ ยิ้มให้เธอทุกเวลาที่เดินผ่านถึงแม้บางที่เขาจะผ่านงานหนักมาจนแทบจะไม่อยากยิ้มให้ใคร แต่...ถ้าเป็นเธอเขาทำได้ จนบางอย่างได้บอกกับเธอว่า เขาทำให้เธอมากเกินไป

    วันนึงเธอก็เดินไปหาเขาและบอกว่า ขอบคุณมาก สำหรับทุกอย่างแต่บางอย่างก็เกรงใจแต่...ถ้าไม่รับไว้ก็กลัวจะเสียใจ

    ในสายตาของเธอเขาเป็นคนดีมากๆปรึกษาได้ทุกเรื่องและให้กำลังใจเธอมาตลอด
    จนบางทีคนที่เห็นอาจจะคิดว่าเป็นแฟนกัน เธอเลยถามเขาว่า "เข้าใจที่เธอพูดหรือเปล่า"

    เขาบอกว่าเขาเข้าใจแต่บางอย่างในหัวใจมันบอกว่า เขาอยากดูแลเธอให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ
    เขามีความสุขที่ได้ทำเพื่อเธอและบอกว่าเธอไม่ต้องกังวลว่าเขาจะคิดแย่งเธอมาจากเขาคนนั้น

    เขาไม่มีความคิดเลยเพราะถ้าคำว่า "รักคือการให้และไม่หวังสิ่งตอบแทน" มันมีจริงเขาจะทำโดยไม่หวังสิ่งใดจากเธอเล

    นอกจากรอยยิ้มที่มีความสุขของเธอเท่านั้นตัวเขาจะเป็นอย่างไรอย่าไปแคร์เขามีความสุขที่ได้ทำอย่างนี้

    เขาพูดและยิ้มๆให้กับเธอจนเธอบอกว่าขอบคุณค่ะ "พี่ชายที่แสนดี"

    คืนนั้นผู้ชายคนนั้นนอนร้องไห้แทบทั้งคืนและเฝ้าถามตัวเองว่ามีประโยชน์อะไรที่เขาทำอย่างนี้แน่ใจหรือว่า...ไม่อยากได้เธอมาครอง แน่ใจหรือว่าจะทำอย่างนี้ได้ตลอดไป

    แล้ววันนึงถ้าเธอคนนั้นเดินจากไปโดยไม่ได้หันมามองเขาเลยเขาจะอยู่ได้ไหมโดยที่ไม่มีเธอ ..
    มีบางอย่างที่เธอคนนั้นไม่ได้บอกกับเขาว่าเธอเองก็รู้สึกดีกับเขาเหมือนกันแต่หลายคนก็อาจจะมองว่าเธอมีแฟนอยู่แล้วยังมายุ่งกับเขาคนนี้อีก...

    ความรักกำลังเล่นตลกกับคน 2 คนนี้หรือเปล่า และจะเป็นอย่างไรต่อไปไม่มีใครรู้ คุณจะทำให้มันจบได้หรือไม่ เพราะถ้า คุณเป็นเขา และ เธอเป็นคุณ เราจะทำอย่างไร?

    วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

    นิเทศงาน คปสอ.ท่าลี่

    วันนี้ผมมีโปรแกรมออกไปนิเทศงานร่วมกับทีม ICT ของจังหวัดเลย เดินทางออกจากด่านซ้ายตั้งแต่หกโมงครึ่งกะว่าจะเบิ่งรถไปให้ทันเคารพธงชาติเวลาแปดนาฬิกา..แต่พอวิ่งเลยผ่านตำบลสานตม ฝนก็เทกระหน่ำสร้างบรรยากาศพิศวงราวกับว่าขับรถเข้าสู่แดนสนธยา จึงต้องค่อยๆคืบคลานขับรถด้วยความเร็ว ประมาณ 40-50 กม./ชม.

    นานมากแล้วครับที่ไม่เคยมา สสจ.แต่เช้าอย่างนี้ จนรู้สึกแปลกๆที่มีจอดรถเหลือเฟือให้เลือกช่องจอดได้สบายๆมีเวลาทักทายกับพี่ๆหลายท่าน จนกระทั่งทีมมาพร้อมกันล้อรถจึงเริ่มหมุนออกจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย..

    ทีมที่ไปด้วยกันวันนี้มีพี่จ๋อย พี่แม้ว พี่เข้ ผม ต๋อง และแบงค์ ระหว่างทางที่นั่งรถตู้มีเรื่องราวมากมายที่พูดคุยกันไปตั้งแต่เรื่องเบาๆอย่างแชร์ลอตเตอรี่จนถึงเรื่องหนักๆอย่างเรื่องการบ้านการเมือง.. ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอท่าลี่ประมาณ 40 กม.กว่าๆ ใช้เวลาไม่นานนัก พวกเราไปถึงที่ รพ.สต.บ้านเมี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการนิเทศงานกันในช่วงเช้า...


    เริ่มต้นรายการโดยต๋องชี้แจงเิ่รื่องของคุณภาพการส่งออกข้อมูลในภาพรวมของจังหวัด และแยกรายอำเภอ โดยเฉพาะข้อมูลของอำเภอท่าลี่ ที่ยังมีปัญหา error อยู่บ้าง จริงๆจะว่าไปภาพรวมของข้อมูลในระดับ รพ.สต.ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี เพียงแต่เทคนิควิธีการคีย์ข้อมูล การตรวจสอบ และการส่งออกที่ยังคงต้องเพิ่มเติมกันอีกสักหน่อย

    ในส่วนของ สสอ.ท่าลี่ มีอาคมเป็นทีม Admin ที่ยังคงไว้ใจได้ และมีบทบาทอย่างมากในสมัยที่ยังใช้งานโปรแกรม HCIS  จากการสังเกตและพูดคุย พบประเด็นที่น่าสนใจที่คงต้องช่วยกันคิดต่อครับ


    ข้อชื่นชม

    1. ข้อมูลส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างดีครับ ถ้าให้คะแนนแบบกะด้วยสายตาน่าจะมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งหากตรวจสอบในรายละเอียด วิธีการลงบันทึก และส่งออกอีกนิดหน่อยคงจะเฉียดๆ ร้อยได้สบายๆ
    2. ระบบ internet ใช้ได้ดี เหมาะแก่การประชุมทางไกล และการรีโมท
    3. การสำรองข้อมูลทำแบบ Auto ทุกวัีนครับ ถือว่าทำได้ดี
    โอกาสพัฒนา
    1. Server ยังใช้ระบบปฏิบัติการเป็น Windows server ด้วยเหตุผลและความจำเป็น แต่เป็นประเด็นที่น่าจะแก้ไขโดยด่วน
    2. การลงบันทึกข้อมูลส่วนใหญ่ ใช้วิธีการลงย้อนหลัง และรูปแบบการทำงานเดิมๆ.. แต่มีเหตุผลเด็ดๆที่ทีมงานของ รพ.สต.พูดไว้ คือ "ไม่ไว้(วาง)ใจระบบคอมพิวเตอร์" ซึ่งนี้เป็นเรื่องที่ำสำคัญเพราะถ้าหากใดที่คนใช้ยังไม่ไว้ใจโอกาสที่จะเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานจะยังอยู่ในรูปแบบเดิมๆ
    3. ข้อมูลที่สำรองไว้ ผมไม่แน่ใจว่าเคยเอามาทดสอบหรือเปล่าว่ามันใช้ได้จริง..เพราะบางทีมันอาจจะใช้ไม่ได้..ใครจะไปรู้ ถ้าไม่ลองนำมาใช้ restore ดู
    4. ใช้ HOSxP PCU ที่ไม่อัพเดตครับ ทำให้ไม่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นใหม่ๆได้..
    ช่วงท้ายๆรู้สึกว่าคำถามคำตอบกำลังได้ที่เริ่มมันส์..ทำให้กว่าจะได้กินข้าวเที่ยงกันปาเข้าไปเกือบบ่ายโมง หลังจากอิ่มหนำสำราญด้วยอาหารกล่อง ลำใย และเงาะสถานีอนามัย(ที่อร่อยกว่าเงาะโรงเรียน) พวกเราจึงมุ่งหน้าไปต่อที่โรงพยาบาลท่าลี่..

     

    ระหว่างทางผ่านสถานที่กำลังก่อสร้างพระพุทธ เลยใช้มือถือ แชะ เก็บภาพแบบด่วนๆ


     

    โรงพยาบาลท่าลี่..เท่าที่ทราบยังไม่มี Admin ประจำเป็นของตัวเอง มีแต่ฝาก..และฝังไว้กับทีมงานบางคนให้ช่วยดูแลระบบคอมพิวเตอร์แบบห่างๆอยู่..

    ผ่านห้องฟาร์ม Server แว๊ปๆ นึกว่าโชว์รูมขายคอมพิวเตอร์มือสอง เพราะมองเห็นเคสวางเรียงราย ในขณะที่ใช้เครื่องสำรองไฟ(UPS)อยู่ไม่กี่เครื่อง ซึี่งผมไม่ค่อยแน่ใจว่าถ้าไฟดับมันจะคงยังทำหน้าที่ได้อย่างห้าวหาญ..ต่อสู้กับ Server ไำด้หลายเครื่องพร้อมๆกัน.ได้หรือเปล่า

    เนื่่องจากยังขาดแคลน admin ทำให้การประสานงานเรื่องนิเทศงานยังติดขัดทำให้ไม่ีมีสัญญานตอบรับจากหมายเลขที่เรียก แต่ก็โชคดีทีี่ท่าน ผอ.สั่งการ ตามทีมงานหลักๆ เข้ามาร่วมประชุมพร้อมกันโดยใช้เวลาไม่นานนัก..

    ทีมงาน รพ.ท่าลี่และทีม สสจ.แลกเปลี่ยนพูดคุยประเด็นปัญหากันในหลายๆเรื่อง ในส่วนของข้อมูล PP พบว่าการส่งออกเป็น 0 ซึ่งทีมงานยืนยันว่าลงข้อมูลจริงแท้แน่นอน.. ทำให้ต้องช่วยกันตรวจสอบว่าปัญหาเกิดจากอะไร


    จากการตรวจสอบข้อมูลในโปรแกรม HOSxP รพ.ท่าลี่ใช้ 3.54.2.22 และมีห้องแลปใช้เวอร์ชั่น 3.53.7.18 ที่ยังแอบโบ..อยู่เพียงเครื่องเดียว ผลการตรวจสอบข้อมูลในส่วนบัญชี 1 พบว่ายังมีปัญหาเรื่อง CID และการเชื่อมข้อมูลด้วย patient link ในส่วนบัญชี 2-3 มีการลงบันทึกข้อมูลครบถ้วนครับ แต่ไม่บังคับส่งออกทำให้ข้อมูล MCH และ PP ไม่มีข้อมูลออกไป และการส่งออก 18 แฟ้ม ก็ส่งออกแบบ "รพ." ไม่ได้เลือก "รพ.+PCU" ทำให้ผลงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

    ในส่วนของฐานข้อมูลยังมีปัญหาอยู่หลายตาราง รวมถึงวิธีการบันทึก และ FLOW การทำงานที่น่าจะต้องทำความเข้าใจและปรับกันพอสมควร..
      

    ช่วงสุดท้ายของการประชุม ผู้อำนวยการเข้ามาร่วมรับฟังปัญหา และรับปากเรื่องที่จะช่วยเร่งพลักดันการสนับสนุนต่างให้โดยเร็วซึ่งผมขอสรุปประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ครับ

    1. ปัญหาใหญ่ที่สุดของ รพ.ท่าลี่ ในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องการขาดผู้ดูแลระบบ ทำให้การช่วยประสานงานและแแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิคต่างๆให้กับทีมงาน ซึ่งผู้อำนวยการรับปากจะให้ผู้ที่ดูแลอยู่ในขณะนี้มาทำงานเต็มเวลา และในตำแหน่งงานเดิมจะจ้างคนมาทดแทน ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งทีมจังหวัดเองต้องจัดอบรมความรู้ให้กับ Admin ใหม่โดยด่วน
    2. ปัญหาเรื่อง Network  ที่จะต้องมีการรื้อและวางระบบใหม่เพื่อให้บริหารจัดการเครือข่ายมีความเสถียรและความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งจำเป็นที่ต้องใช้ทีมชุดใหญ่มาช่วยกันทำเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งทำโดยเร็วเช่นกัน
    3. ปัญหาเรื่องการแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด ในระยะสั้นสามารถใช้ tools ของ DsHOS แก้ไขได้บางส่วนแต่ในระยะยาวคงต้องอบรมชี้แจงทีมงานของ รพ.ท่าลี่เพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการลงบันทึกข้อมูล โดยเฉพาะ รพ.ที่อยู่ติดชายแดนและมีผู้ป่วยจาก สปปล.มาใช้บริการ ซึ่งได้แนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาดังนี้ครับ
      • ใช้เครื่องอ่าน smartcard มาช่วยในการตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเข้ารูปและลายนิ้วมือ
      • ในส่วนของผู้ป่วย สปปล.ให้สแกนลายนิ้วมือทุกราย
      • เร่งเคลียปัญหา CID ซ้ำซ้อนซึ่งมีประมาณ 800 กว่า
    4. การตรวจสอบข้อมูลและส่งออก คงต้องฝึกอบรมและทำความเข้าใจกับทีมงานอีกพอสมควร ซึ่งอาจจะยังคงมีปัญหาอีกหลาย รพ. ที่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการตรวจสอบ และการส่งออกข้อมูล
    5. การปรับปรุง FLOW และวิธีการทำงานของ รพ.ท่าลี่ คงต้องมาวิเคราะห์กันอีกครั้งให้เหมาะสมตามบริบทขององค์กร
    สี่โมงเย็นกว่าๆ..
    พวกเราร่ำลาทีมงาน รพ.ท่าลี่ และเดินทางออกจาก รพ.ท่าลี่ ท้องฟ้าในยามนี้สว่างสดใสไม่เหมือนกับเมื่อเช้าที่อึมครึมเต็มไปด้วยเมฆและสายฝน ระหว่างขากลับพวกเราพูดคุยกันอย่างสบายๆปัญหาหลายอย่างรู้ว่ามันเป็นปัญหาและรู้วิธีแก้แล้ว ส่วนตัวผมมีเรื่องที่น่าพอใจอย่างแรกคือ ผมเห็นผู้บริหารอย่างพี่จ๋อย พี่แม้ว ออกมาร่วมนิเทศงานด้วย เพราะหลายๆเรื่องมันไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์กับโปรแกรม HOSxP มันยังมีเรื่องการจัดการหลายๆ อย่างที่ทำได้ในเชิงบริหารซึ่งทั้งสองท่านจะต้องช่วยพลักดัน อย่างที่สองได้เห็นคุณหมอนิ่ม..ผอ.รพ.ท่าลี่ ซึ่งเข้ามาร่วมรับฟังสรุปและรับปากในการที่จะช่วยผลักดันในการแก้ไขปัญหาตามที่ทีมงานเสนอ..ส่วนจะช้าหรือเร็วก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป..

    บทส่งท้าย..
    น้องที่เข้าร่วมประชุมที่ รพ.สต.บ้านเมี่ยง ถามผมประโยคหนึ่งที่น่าสนใจว่า "ทำครั้งนี้แล้วมันจะจบไหม๊"  และสะท้อนถึงความในใจของผู้ปฏิบัติที่ต้องทำข้อมูลซ้ำๆ ตั้งแต่ยุคบัญชี 1-10 เปลี่ยนมาเป็น HCIS และ HOSxP PCU ซึ่งหลายปีที่วนเวียนทำกับฐานข้อมูลเดิมๆ

    ..................

    ผม : พรุ่งนี้ออกนิเทศที่ไหนครับ
    ต๋อง : อ.ปากชมครับพี่
    พี่จ๋อย : พรุ่งนี้พี่รออยู่ที่เดิมนะ
    พี่เข้ : ส่วนพี่จะรออยู่นาอ้อ
    ผม : งั้น..ผมก็จะรออยู่ด่านซ้ายละกันครับ (มุกๆ)
    ที่ม : ฮา..
    พี่จ๋อย : โอเคเลย งั้นพี่จะส่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับ (ฮิ้ว)
     
    ผม : !!! เอ่อ..ขอบคุณครับ งั้นผมว่า ผมขับรถมาเองดีกว่าครับ
    ทีม..ฮา...


    19.00 น. ถึงบ้าน..หิวข้าวสุดๆ เยยย..

    วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

    การประชุมวิชาการ "กระดูกพรุน ผุ พัง"

    14:00 น. ณ. ห้องประชุมผีตาโขน คุณหมอบอย คุณหมอ สันทัด สูตินรีเวช คุณต่าย นัก

    กายภาพบำบัด คุณหมอไพโรจน์ แพทย์แผนไทย น้องฮอล นักโภชนากร ร่วมกันให้ความรู้ในเรื่อง โรค

    กระดูกพรุนหรือ โรคกระดูกเปราะบางที่มักจะพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คนที่มีรูปร่างผอมบาง ขาด

    แคลเซี่ยมและวิตามินดี สูบบุหรี่และขาดการออกกำลังกาย


    โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทุพพลภาพ การสูญเสียทางเศรษฐกิจและการสูญเสียชีวิต เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการแบบทันทีทันใด อาการแสดงจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ซึ่งการที่จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อกระดูกมีความหนาแน่นในระดับสูงสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูดพรุน ผู้สูงอายุดังต่อไปนี้

    1. การบริโภคอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง

    เนื่องจากแคลเซียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างเนื้อกระดูกและป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูก การเก็บหรือซ่อมแซมการสูญเสียกระดูกจะไม่เกิดขึ้นถ้าร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ และมีรายงานการศึกษาพบว่าแบบแผนการบริโภคอาหารของคนไทยจะได้รับแคลเซียมจากอาหารต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ควรได้ในแต่ละวัน คือ เฉลี่ยวันละ 384 มก./วัน ขณะที่ปริมาณที่ควรได้รับคือ 800 มก./วัน ทำให้มีแคลเซียมสะสมอยู่เนื้อกระดูกน้อยอยู่แล้วดังนั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น จึงยิ่งจำเป็นที่จะต้องรักษาปริมาณแคลเซียมนั้นไว้ให้ดีที่สุด ดังนั้นในผู้สูงอายุจึงต้องรับประทานอาหาร ที่มีปริมาณแคลเซียมสูงเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความความหนาแน่นของเนื้อกระดูกและป้องกันการเกิดโรคกระพรุน

    สำหรับแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต เป็นต้น ในน้ำนมจะมีปริมาณแคลเซียมสูง คือ 240 มิลลิกรัมต่อปริมาณของน้ำนม 200 มิลลิลิตรและแคลเซียมในน้ำนมจะอยู่ในรูปที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที ส่วนแคลเซียมในอาหารจะจับกับสารอาหารอื่น ๆ ทำให้สัดส่วนการดูดซึมลดลง ผู้สูงอายุบางรายอาจไม่สามารถบริโภคนม เนื่องจากไม่มีเอ็นไซม์สำหรับย่อยนม ทำให้มีอาการท้องเดิน สามารถรับประทานอาหารอื่นๆ ที่มีแคลเซียมสูงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย ได้แก่ นมถั่วเหลือง ปลาเล็กปลาน้อย ปลาไส้ตัน กุ้งฝอย กะปิ กุ้งแห้ง เต้าหู้ ถั่วเหลือง งาดำ ผักคะน้า มะเขือพวง ใบยอ เป็นต้น

    การเพิ่มการบริโภคแคลเซียม ควรเป็นการเพิ่มการบริโภคโดยใช้อาหารเป็นหลักไม่แนะนำให้บริโภคในรูปสารสังเคราะห์ยกเว้นการอยู่ในความดูแลแพทย์ เพราะอาจเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ได้กรณีที่ได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณที่มากเกิน คือ มากกว่า 2000 มิลลิกรัมต่อวัน อาจก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการขาดน้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึม หมดสติ เกิดนิ่วในไตผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ท้องผูก แน่นท้องเป็นต้น

    2. การบริโภคอาหารที่มีวิตามินดี

    เนื่องจากวิตามินดีเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อกระดูก ช่วยสร้างโปรตีนในการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้การดูดซึมของแคลเซียมเป็นไปโดยปกติและช่วยในการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น ในคนสูงอายุมีโอกาสขาดวิตามินดีค่อนข้างมากเนื่องจากรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีในปริมาณน้อยและได้รับแสงแดดน้อยเกินไป ซึ่งโดยปกติร่างกายควรได้รับวิตามินดี 600-800 IU/วัน เมล็ดธัญญาพืชทั้งเปลือก ขนมบัว มาการีนและจากแสงแดด เป็นต้น ดังนั้นเพื่อการมีกระดูกที่แข็งแรงร่างกายควรได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ทุกวันอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที/วัน

    3. การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่

    3.1 การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์จำนวนมาก เนื่องจากสารกลูคากอนที่เกิดจากการเผาผลาญจากสารอาหารโปรตีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นการรับประทานอาหารเหล่านี้จำนวนมากจึงทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น

    3.2 การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคอาหารรสเค็มจัด เนื่องจากอาหารรสเค็มมี

    โซเดียมเป็นส่วนประกอบ เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมจะทำให้ร่างกายขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้นและขับแคลเซียมตามออกมาด้วย จึงทำให้การสูญเสียแคลเซียมจากร่างกายทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

    3.3 การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

    เนื่องจากน้ำชา กาแฟ มีส่วนประกอบของคาเฟอีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

    3.4 การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคน้ำอัดลม เนื่องจากมีส่วนผสมของ

    ฟอสฟอรัสสูงฟอสฟอรัสจะรวมตัวกับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเสียสมดุล ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ได้ตามปกติ จึงทำให้แคลเซียมในร่างกายลดลงได้

    3.5 การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคสุรา เนื่องจากแอลกอฮอล์จะขัดขวางการ

    ดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณมากนั้นจะทำให้แคลเซียมลดต่ำลง

    3.6 การหลีกเลี่ยงหรืองดสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตีนในบุหรี่ขัดขวางการนำ

    แคลเซียมไปใช้ ทำให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้ลดลง

    3.7 การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดในกระเพาะ

    อาหารที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยาบางประเภท เช่น ยาสเตรียรอยด์ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาป้องกันอาการชัก ฮอร์โมนธัยรอยด์ เฮพาริน มีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลงและทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงในที่สุด

    การที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ประกอบกับการที่ผู้บริโภคยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะเผลอตัวไปกับกระแสสังคมที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วจนทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องอาหารการกินเท่าที่ควร ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ไม่พึงประสงค์ มีการกินอาหารบางอย่างมากเกินไป บางอย่างน้อยเกินไปทำให้ได้รับคุณค่าอาหารที่ไม่สมดุลเป็นผลให้เกิดปัญหาสุขภาพโดยไม่รู้ตัว การกินอาหารมิใช่จะเป็นเพียงการกินเพื่อให้อิ่มหรือเพื่อให้ยังชีพ แต่จำเป็นที่ต้องกินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง ไม่เป็นโรค และมีจิตใจแจ่มใสเพื่อให้มีหลักของการบริโภคอาหารที่ดี กระทรวงสาธารณสุขโดยกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้มีข้อแนะนำการบริโภคอาหาร เพื่อสุขของคนไทย (Food Based Dietary Guidelines)

    9 ข้อ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่มีความเหมาะสมและง่ายต่อการปฏิบัติและมีความยืดหยุ่นในตัวที่แต่ละคนสามารถปรับให้เหมาะสมกับตัวเองได้ โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้ คือ

    1. กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว

    ข้อแนะนำนี้เป็นข้อแนะนำหลัก ยึดอาหารหลัก 5 หมู่ และเพิ่มความสำคัญของการกิน

    อาหารแต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ไม่จำเจอยู่เพียงอาหารไม่กี่ชนิด น้ำหนักตัวเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างง่ายถึงภาวะสุขภาพ ในผู้ใหญ่ที่กินอาหารได้เหมาะสม จะมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมและค่อนข้างคงที่ มีรูปร่างที่ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป หากสังเกตเห็นว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากน้ำหนักปกติ แสดงให้เห็นว่าเริ่มกินอาหารมากเกินไปแล้วควรจะต้องหันมาควบคุมลดปริมาณให้น้อยลง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เสื้อผ้าคับก่อนที่เริ่มรู้สึกตัว เพราะเสื้อผ้าสมัยใหม่มักนิยมใช้สายยืดเพื่อให้สวมใส่สบายดังนั้น ควรหมั่นชั่งน้ำหนักตัวอย่างน้อยเดือนละครั้ง

    2. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ

    เพื่อเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของคนไทย จึงให้ความสำคัญกับการกินข้าวเป็นอาหารหลัก

    ถ้าเป็นไปได้ ควรกินข้าวซ้อมมือ เพราะอุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีนและใยอาหารมากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาวส่วนอาหารแป้ง เช่น ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ให้กินเป็นบางมื้อ อาหารแป้งเป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูป ใยอาหารจะมีน้อยกว่าในข้าว

    3. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ

    อาหารหลัก 5 หมู่ ของไทยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การจัดแยกพืชผัก

    และผลไม้เป็นอาหารหลักคนละหมู่เนื่องจากประเทศไทยมีพืชผักและผลไม้อุดมสมบูรณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคได้ตลอดปี พืชผักและผลไม้ให้สารอาหารที่สำคัญหลายชนิด คือ วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร และให้สารอื่นที่มิใช่สารอาหารเช่น สารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยไม่ให้อนุมูลอิสระทำลายเนื้อเยื่อและผนังเซลล์ ช่วยชะลอการเสื่อมสลายของเซลล์ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูสดใสไม่แก่เกินวัยนอกจากนี้ยังให้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรที่ช่วยรักษาสุขภาพ

    4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ

    เป็นการกินอาหารที่ให้โปรตีน โดยเน้นปลาและอาหารประเภทถั่วเมล็ดแห้ง เช่น เต้าหู้

    ชนิดต่าง ๆ สำหรับเนื้อสัตว์ให้เลือกที่ไม่ติดมัน หรือที่มีมันน้อย ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ควรกินเป็นประจำ เด็กควรกินวันละฟอง ผู้ใหญ่ภาวะปกติควรกินวันเว้นวันหรือสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง ส่วนคนที่มีปัญหาภาวะโคเลสเตอรอลสูงในเลือดควรลดปริมาณลง

    5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย

    บางคนอาจมองเห็นว่าน้ำนมเป็นอาหารของต่างชาติ ไม่ควรส่งเสริมการบริโภค น่าจะให้

    คนไทยไปบริโภคอาหารอย่างอื่นจะดีกว่า อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาโดยรวม จะเห็นได้ว่าน้ำนมเป็นอาหารที่มีประโยชน์สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของโปรตีน แคลเซียม วิตามินบี 2 และแร่ธาตุต่าง ๆ นอกจากนี้น้ำนมเป็นอาหารที่รับประทานง่าย ราคาไม่แพงเกินไป มีหลายชนิดหาได้ทั่วไป จึงเป็นการสะดวกที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับคนทุกวัยในกรณีที่ห่วงว่าดื่มนมมาก ๆ อาจทำให้อ้วน ผู้บริโภคสามารถเลือกดื่มนมพร่องไขมันได้ปริมาณที่แนะนำคือ เด็กควรดื่มวันละ 1-2 แก้ว ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรดื่มวันละ 1 แก้ว

    6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร

    ถึงแม้ไขมันจะเกี่ยวข้องกับปัญหาโภชนาการ เช่น โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูงที่

    นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดได้ แต่ร่างกายต้องการไขมันเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกันเพียงแต่จะต้องควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันที่จะบริโภคให้เหมาะสม ลดอาหารที่มีไขมันมากเช่น หมูสามชั้น ขาหมูพะโล้และอาหารที่ใช้น้ำมันหรือกะทิจำนวนมากในการประกอบอาหาร

    7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด

    ส่วนประกอบสำคัญของอาหารหวานจัดและเค็มจัด ได้แก่ น้ำตาลและเกลือแกง ซึ่ง

    ส่วนประกอบทั้ง 2 ชนิด เมื่อบริโภคมากเกินไปพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอ้วนและโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีรสหวานจัดและเค็มจัด ควรพยายามรับประทานอาหารที่มีรสธรรมดา ไม่ควรที่จะต้องเติมน้ำตาลหรือเกลือเพิ่มเติมในอาหารที่ปรุงแล้ว หรือหันมากินอาหารแบบไทยเดิม ที่มีกับข้าวหลายชนิดเพื่อให้เกิดรสชาติที่หลากหลายแทนการบริโภคอาหารรสจัด

    8. กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน

    การกินอาหารที่สะอาดนับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดอันตรายจากสิ่งปนเปื้อน

    ต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นเชื้อโรค พยาธิ สารพิษ สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ผู้บริโภคควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้และมีการผลิตที่ถูกต้อง รวมทั้งมีการเก็บรักษาที่เหมาะสม อาหารสำเร็จรูปควรบรรจุในภาชนะที่เหมาะสม สะอาด ฉลากที่ถูกต้อง บอกวันหมดอายุ ส่วนประกอบ ชื่ออาหาร สถานที่ผลิตนอกจากนี้ผู้บริโภคควรมีสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร เช่น การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การใช้ซ้อนกลางหรือใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารมากกว่าการใช้มือ

    9. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

    เมื่อดื่มมาก จะมีผลให้การทำงานของระบบสมองและประสาทช้าลง ทำให้เกิดการขาด

    สติได้ง่าย อันจะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคตับแข็งและการขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิดดังนั้นควรลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด


    คุณหมอสันทัด ให้ความรู้ในเรื่องการใช้ยากับผู้ป่วยอย่างละเอียดและคุณไพโรจน์กับน้องฮอลแนะนำในส่วนของปริมาณแคลเซี่ยมที่อยู่ในอาหารที่เราทานเข้าไปทุกวันโดยมีค่าเฉลี่ยทีร่างกายต้องได้รับเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ คุณต่ายแนะนำการออกกำลังกายยืดเหยียดโดยการปฎิบัติที่ไม่ยากสำหรับผู้ที่เข้าประชุม
    หมอบอยพูดปิดท้ายในฐานะผู้นำทีม ว่าเราสามารถที่จะเอาทุกอย่างที่ได้รับในวันนี้กลับไปบอกญาติพี่น้องที่บ้านและผู้ป่วยที่มารับการรักษา พวกเรามีส่วนช่วยป้องกันโดยเฉพาะคนแก่เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บในรพ.ของเราได้รวมถึงให้ความรู้กับญาติที่พามาว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดโรคนี้กับทุกๆคน

    โดยสรุปแล้ว เพื่อให้ร่างกายได้ประโยชน์สูงสุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจึงควร

    รับประทานอาหารให้ครบทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ รวมทั้งน้ำ ทั้งนี้ต้องรับประทานอาหารให้ถูกส่วน ในกรณีที่มีอายุมากควรลดปริมาณอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายโดยต้องพิจารณาถึงเพศ วัย น้ำหนักส่วนสูง และอาชีพของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ต้องมีการออกกำลังกายในรูปแบบที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
    ด้วย ควรมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักโภชนาการ

    ผอ.ภักดี สรุปว่า พรุ่งนี้จะให้ทุกคนในรพ.ไปดื่มนมที่ร้านขายถูกโดยลงบัญชี ผอ. เพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซี่ยมในร่างกายของทุกคนในเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนแต่มีข้อแม้ว่าต้องดื่มให้หมดภายในร้านนะครับทุกคน ทราบแล้วเปลี่ยน (พรุ่งนี้ผมจะเอาเก้าอี้น้อยไปด้วยครับ 55)

    วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

    ความเข้าใจท้องถิ่นอย่างคนใน..โดย หมอจิ๋ว


    การเห็นคุณค่าความรู้ในตัวคนและการนำมาใช้ในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม
    ด้วยความเข้าใจท้องถิ่นอย่าง “คนใน”

    การทำงานในท้องถิ่น หมายถึง การแสวงหาวิถีทางที่จะเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับท้องถิ่นอย่างแท้จริง พร้อมกับทำกิจกรรมด้านสาธารณสุขร่วมกับชาวบ้านด้วย
    การดำเนินกิจกรรมสาธารณสุขที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลและความรู้ ความคิด จากคนภายนอกท้องถิ่น(กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ) ที่เปรียบได้เสมือน”นก” ลักษณะการมองของนกล้วนมองจากที่สูงและมองได้อย่างกว้างๆ หาแลเห็นสิ่งที่เป็นรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนไม่ ดังเห็นได้ว่าเวลาจะพูดอะไรเสนออะไรก็พูดได้รวมๆ และหยิบยกสิ่งเด่นๆ มาอย่างมีการวิเคราะห์ตีความด้วยกรอบความรู้และแนวคิดทฤษฎี แต่ถ้าได้มีการพัฒนาการได้รับข้อมูลและความรู้ ความคิดจากคนภายในท้องถิ่น ก็เปรียบได้เหมือนกับ”หนอน” นั้นคือ การเข้าใจพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นแผ่นดินเกิดมาตั้งแต่เล็กจนโต อยู่กันอย่างเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชนที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดบ้านช่องที่อยู่อาศัย การทำมาหากินร่วมกันในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมีสถาบันทางศาสนาและความเชื่อ และรวมไปถึงระบบการดูแลสุขภาพกันเองภายในท้องถิ่น จะก่อให้เกิดกิจกรรมที่มีลักษณะของการบริการที่มีหัวใจของการเป็นมนุษย์มากขึ้น
    ท้องถิ่นเป็นพื้นที่ซึ่งคนในสังคมท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดและสร้างอะไรต่ออะไรในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน จึงเป็นเรื่องของคนจากภายในที่จะรู้ความเป็นมาและขอบเขต ตลอดจนการขนานนามของสถานที่และพื้นที่สาธารณะ เช่น ป่า เขา ทุ่ง หนอง คลอง และแม่น้ำ รวมไปถึงบรรดาโบราณสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การกำหนดท้องถิ่นจากคนภายในดังกล่าวมานี้ ทำให้แตกต่างไปจากพื้นที่ทางราชการ ที่มีการสร้างขึ้นมาจากรัฐและส่วนกลาง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งมีการมุ่งหมายเพื่อการบริหารและการปกครองเป็นสำคัญ

    ท้องถิ่นที่เป็นการสร้างขึ้นโดยคนภายใน จึงเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เป็นธรรมชาติ เพราะเกิดมาจากความต้องการที่จะอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่เป็นเหล่าของมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์สังคม ในขณะที่ท้องถิ่นที่เกิดจากการบริหารการปกครองที่มาจากภายนอกนั้น เป็นการจัดตั้งและบังคับที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้คนในสังคมท้องถิ่น ไม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของการรวมกลุ่มของมนุษย์ แต่ปัจจุบันคนทั่วไปยังเข้าใจผิดว่า บรรดาหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของคำว่า “ ชุมชน ” และ “ ท้องถิ่น ” กัน

    ความแตกต่างระหว่างท้องถิ่นที่มาจากการกำหนดของคนในสังคมท้องถิ่น กับท้องถิ่นที่กำหนดจากทางราชการที่มาจากภายนอก ก็คือ “โครงสร้างทางสังคม” (social structure) โครงสร้างสังคมของท้องถิ่นที่เกิดจากภายใน จะมีลักษณะเป็นแนวนอนที่แสดงถึงความเสมอภาค คือ ผู้คนในท้องถิ่นมีสถานภาพเท่าเทียมกันหมด ความเหลื่อมล้ำจะมีก็อยู่ที่เรื่องของอาวุโสและความรู้ความสามารถของบุคคลที่สังคมยกย่อง ในขณะที่โครงสร้างสังคมของท้องถิ่นทางราชการ จะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปีรามิด ที่มีลำดับความสำคัญสูงต่ำลดหลั่นกันลงมา เพราะเป็นสิ่งที่ผูกพันกับอำนาจการปกครองของรัฐ ทำให้เกิดความแตกต่างกันในเรื่องของสถานภาพ ผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลและชี้แนะจากองค์กรที่จัดตั้งโดยทางราชการ แทบไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและริเริ่มแต่อย่างใด

    ถ้าหากผู้มีอำนาจในองค์กรเป็นคนที่มาจากที่อื่น ก็อาจใช้ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์และเร่งรัดเอาเปรียบผู้คนในชุมชนได้ อย่างไรก็ตาม ในกระแสของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ครอบงำประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะสร้างทัศนคติที่เป็นปัจเจกให้แก่ผู้นำและผู้มีสถานภาพในองค์กรที่จะคิดจะทำอะไรเพื่อตัวเองและพรรคพวกมากกว่าการจะทำให้กับส่วนรวม ยิ่งกว่านั้น การดำรงอยู่ขององค์กรชุมชนที่จัดตั้งโดยทางราชการนี้ กำลังสร้างความเหลื่อมล้ำและแปลกแยกกับผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่กินลึกลงไปจนถึงระบบครอบครัวและญาติพี่น้อง นั่นคือ ทำให้เกิดคนสองพวกขึ้นในเวลาเดียวกัน

    พวกแรกคือ คนที่มีชีวิตอยู่ตามแบบประเพณีเดิม ไม่โลภ และคิดอะไรยังสัมพันธ์กับการอยู่รวมกันอย่างเสมอภาค ส่วนพวกหลังคือพวกมีสำนึกเป็นปัจเจก รอบรู้ ทันโลก มักเป็นพวกที่มีโอกาสฉวยโอกาสสร้างความร่ำรวยและมีอำนาจในทางที่เอารัดเอาเปรียบพวกแรก ซึ่งกลายเป็นคนด้อยโอกาสไป โดยเหตุนี้เมื่อทางรัฐมีการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ เช่น ผันเงินไปช่วยชาวบ้านหรือจัดทำโครงการในการพัฒนาใดๆ ผลประโยชน์มักตกไปอยู่กับบุคคลประเภทหลัง ดังได้กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น

    ทำนองตรงข้าม โครงสร้างสังคมที่เกิดขึ้นจากการอยู่รวมกันและคนรวยในท้องถิ่นตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้น เป็นโครงสร้างที่ไม่มีการให้อำนาจเด็ดขาดแก่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดในองค์กรชุมชน และผู้ที่เป็นสมาชิกขององค์กรก็ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความเป็นผู้รู้และผู้มีคุณธรรม มักประกอบด้วยบุคคลหลายประเภทที่มีบทบาทในสังคมท้องถิ่น อันได้แก่พระสงฆ์ ผู้เฒ่าผู้อาวุโส ผู้มีความรู้ในอาชีพต่างๆ แล้วจึงมาถึงผู้ที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครูโรงเรียนและคนรุ่นหนุ่มสาว ที่รักจะทำอะไรเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะพระสงฆ์นั้นสำคัญมาก มักได้แก่พระสงฆ์ที่เป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดของชุมชนและเป็นพระอุปัชฌาย์แก่คนในท้องถิ่นที่เป็นผู้ชาย ส่วนผู้อาวุโสก็จะได้แก่ผู้รู้ในเรื่องประเพณีพิธีกรรม ประวัติความเป็นมาของชุมชนหรือผู้ที่มีฐานะดี ประสบความสำเร็จในอาชีพและหน้าที่การงาน บุคคลเหล่านี้ เป็นที่รู้จักยอมรับกันในด้านการมีคุณธรรมและศีลธรรม ไม่มีความโลภทางวัตถุอันใด อยู่ในฐานะที่ชี้แนะและสั่งสอนให้ความรู้และทิศทางที่ดีแก่ผู้คนในสังคมได้ตลอดเวลา

    ในขณะที่ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน ก็มักเป็นคนในท้องถิ่นที่มีสำนึกในเรื่องของส่วนรวม มักไม่ถือตัวว่ามีอำนาจและมีหน้าที่ทางราชการ คนเหล่านี้มารวมตัวกันเป็นองค์กรที่จะทำอะไรเพื่อส่วนรวมและความยั่งยืนของผู้คนในชั้นลูกชั้นหลาน ไม่มีใครมีอำนาจเต็มในองค์กร แต่จะประชุมปรึกษาหารือร่วมกันและตัดสินใจร่วมกันเป็นสำคัญ องค์กรชุมชนจากโครงสร้างสังคมที่มาจากการอยู่ร่วมกันของคนภายในของท้องถิ่นดังกล่าวนี้ อยู่ในสภาพที่เสื่อมถอย เพราะการรุกล้ำของอิทธิพลการจัดการทางเศรษฐกิจการเมืองที่ผ่านเข้ามาทางองค์กรชุมชนที่รัฐจัดตั้งขึ้น

    การหายไปหมดไปขององค์กรชุมชนธรรมชาติและโครงสร้างสังคมที่เน้นความเสมอภาคอันมีมาแต่เดิมนั้น ย่อมเป็นอันตรายแก่ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะในกระแสของความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกที่เป็นโลกาภิวัตน์นั้น จะไม่มีอะไรที่เป็นกลไกในการปรับระดับสังคมให้เกิดการดำรงอยู่อย่างมีดุลยภาพและเข้มแข็งแก่คนทั่วไปที่ด้อยโอกาสได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ “กระบวนการท้องถิ่นวัฒนา” (localization) ที่สามารถปรับเปลี่ยนสังคมท้องถิ่นให้ทันโลกทันสมัยจะไม่มีวันเกิดขึ้น

    ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน หาขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปตามโครงสร้างชุมชนทางราชการที่รัฐเป็นผู้กำหนดและจัดตั้งขึ้นเท่านั้นไม่ เพราะจะทำให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบและแตกแยกทางสังคมระหว่างคนฉวยโอกาสและคนด้อยโอกาสลงไปจนถึงชุมชนท้องถิ่นในระดับรากหญ้า หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นและสนับสนุนให้ชุมชนในท้องถิ่นได้พัฒนาตัวเองจากภายในให้เกิดมีสำนึกท้องถิ่นและองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่มีมาแต่เดิม มาเป็นกลไกที่จะสร้างดุลยภาพกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองที่มาจากภายนอก

    ความเข้าใจท้องถิ่นอย่างคนใน จะทำให้การทำกิจกรรมสาธารณสุขร่วมกับกับชาวบ้านเป็นไปอย่างธรรมชาติ ที่หลากหลายในกิจกรรม เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ และมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ซึ่งก่อให้เกิดการสื่อสารที่เป็นธรรมชาติ ระหว่างผู้คนในท้องถิ่นกับคนที่จะไปทำงานในในท้องถิ่นนั้น ทั้งหมดจะกลายเป็น “ทุนทางสังคม” ที่มีคุณค่ามากกว่าทุนทุกประเภท


    หมายเหตุ
    ปรับปรุงจาก รายงานการวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาบ้านด่านซ้าย นาเวียง และนาหอ ลุ่มน้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย” เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พ.ศ.2548 หัวหน้าโครงการ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษา รศ.ดร.มรว.อคิน ระพีพัฒน์ รศ.ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช รศ.ปรานี วงษ์เทศ หัวหน้าคณะวิจัย นพ.ภักดี สืบนุการณ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เลย

    เรื่องน่าเศร้าของ ดรัมเมเยอร์และบัณฑิต ตัวน้อย ๆ


    ท่ามกลางแสงไฟจากแฟลชกล้องถ่ายรูป รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความชื่นชมยินดี ทั้งของเด็กและผู้ปกครองในงาน "บัณฑิตน้อย" น่าแปลกที่ฉันกลับได้ยินเสียงร้องไห้และมองเห็นแววตาแสนเศร้าของเด็กที่ไม่มีช่อดอกไม้ในวงแขน ไม่ได้ทำผม แต่งหน้าสวยหล่อเหมือนเด็กคนอื่นๆ ฉันลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราสามารถได้ยินเสียงในใจของผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ได้ คงจะร้องไห้เสียงดังไม่แพ้ลูกหลาน แต่ก็ยังต้องฝืนยิ้มท่ามกลางช่องว่างทางสังคมที่เราเองเป็นผู้ทำให้มันกว้างขึ้นทุกที...ทุกที

    ฉันย้อนกลับไปนึกถึงงานวันกีฬาสีเมื่อเกือบ 20ปีที่แล้ว ฉันสนุกสนานกับการถ่ายภาพดรัมเมเยอร์ตัวน้อย ที่แต่งตัวน่ารักสมวัย แต่ปัจจุบันนี้ฉันมองเห็น ดรัมเมเยอร์ที่ตัวน้อยเหมือนเดิมแต่ใบหน้าถูกแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอาง จนฉันแทบจำไม่ได้ว่าเป็นลูกหลานใคร ใช่เด็กใสซื่อบริสุทธิ์ที่เราเคยรู้จักรึเปล่านะ เด็กๆ เหล่านี้ใส่ชุดที่ฉันเรียกเอาเองว่า"ชุดนักร้อง"ฟูฟ่อง สายเดี่ยว โชว์ไหล่ โชว์หลัง โชว์ขา แล้วบรรดาผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายก็พากันถ่ายรูปพร้อมกับเอ่ยปากชมว่า สวย น่ารัก ไม่ขาดสาย ทั้งเด็กทั้งครูก็ยิ้มกันแก้มปริ ฉันอยากรู้จังว่าถ้าเด็กๆ เหล่านี้โตขึ้น แล้วแต่งตัวแบบเดียวกันนี้ ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะยังคงชื่นชมยินดีกันอยู่รึเปล่านะ ฉันนึกภาพเด็กที่ควรได้นอนเต็มอิ่ม ต้องแหวกม่านขี้ตาตั้งแต่ตีสี่ตีห้าเพื่อไปร้านเสริมสวย ฉันนึกถึงผู้ปกครองที่ต้องไปหาเช่าชุดนักร้องให้ลูกหลาน ถ้าผู้ปกครองเหล่านี้มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายค่าทำสวยเหล่านี้ได้ก็คงไม่เดือดร้อน แต่หากผู้ปกครองที่มีรายได้เพียงหาเช้ากินค่ำไปวันๆ ล่ะ เขาจะทำอย่างไรนะเมื่อได้ยินคำรบเร้าหรือเสียงร้องไห้จากลูกหลาน ด้วยเหตุผลตามประสาเด็กว่า "หนูอยากสวยเหมือนเพื่อนคนอื่น" เขาคงไปยืมเงินมาเป็นค่าแต่งหน้า ทำผม เช่าชุด ให้ลูกหลานด้วยเหตุผลเดียวคือ "ความรัก" นั่นเอง

    ฉันไม่ได้ไปถ่ายรูปในงานวันกีฬาสีนานหลายปีแล้ว คงเป็นเพราะเมื่อนึกถึงเบื้องหลังของดรัมเมเยอร์น้อย ๆ เหล่านี้ นึกถึงแววตาของเด็กที่ไม่ได้เป็นดรัมเมเยอร์ นึกถึงอนาคตของเด็กด่านซ้ายที่เติบโตท่ามกลางกระแสทุนนิยมอันเชียวกราก มันเศร้าเกินไปที่ฉันจะฝืนใจกดชัตเตอร์บันทึกภาพได้

    "เด็ก" เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และเติบโต เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่รายล้อมให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้

    "สอน" คำนี้มิได้มีความหมายเพียงการสอนในห้องเรียนเท่านั้น หากทุกคน ทุกสิ่ง ทุกเหตุการณ์ เป็นครูของเด็กๆทั้งสิ้น

    ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่อย่างเราพากันสร้างกระแสทุนนิยมให้เกิดขึ้นกับเด็กโดยไม่รู้ตัว ทุกอย่างต้องใช้เงินเกือบทั้งสิ้น นอกจากกระแสทุนนิยมแล้ว เรายังสร้างช่องว่างระหว่างคนรวย คนจน ให้ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น ทุกวัน ทุกวัน และเราก็กำลังถลำลึกลงไปเรื่อยๆ ในหลุมพรางที่เราขุดขึ้นเอง

    ฉันไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับงาน"วันกีฬาสี"และ"วันบัณฑิตน้อย"นะแต่ฉันคิดว่าเราจัดงานอย่างสร้างสรรค์ที่ปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็กๆ ได้

    "งานวันกีฬาสี" คุณครูต้องกล้าหาญที่จะบอกกับเด็กๆว่าไม่ต้องแต่งหน้านะเด็กๆที่ไม่แต่งหน้าน่ะ น่ารัก สวย บริสุทธิ์ ที่สุด ผมก็เพีงแค่หวี มัดให้เรียบร้อยจะถักเปียให้ดูน่ารักขึ้นก็ได้ดรัมเมเยอร์ คือ เด็กที่ความประพฤติดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เด็กที่ผู้ปกครองมีฐานะดีพอที่จะจ่ายค่าแต่งหน้า ทำผม เช่าชุดได้ เด็กที่เป็นดรัมเมเยอร์เค้าจะได้ภูมิใจในความดีของตัวเอง ไม่ใช่ภูมิใจในความงามซึ่งเป็นสิ่งภายนอก หากทางโรงเรียนจะมีชุดดรัมเมเยอร์เท่ๆเก๋ๆสมวัยสำหรับให้เด็กดีแต่ฐานะยากจนยืมใส่ จะยิ่งยอดเยี่ยมมากๆ



    "งานบัณฑิตน้อย" วัตถุประสงค์ของงานน่าจะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กที่เค้าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ มีความอดทน อดกลั้น และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆผู้จัดงานควรให้ความสำคัญกับการแสดงความสามารถของเด็กๆ ที่เหมาะสมกับวัยให้ความสำคัญกับเด้ฏที่มีความประพฤติดี มีน้ำใจ ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับการใส่ชุดครุย แต่งหน้า ทำผม มอบช่อดอกไม้ ถ่ายรูปซึ่งเด็กๆ รับรู้เพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้นคือได้แต่งหน้า ทำผมได้แต่งตัวสวยได้ถ่ายรูป ฉันอยากเห็นบรรยากาศของการร้องเพลงหมู่ของเด็กๆ อยากได้ยินเด็กพูดว่าโตขึ้นเค้าอยากทำความดีอะไรเพื่อเมืองด่านซ้ายของเรา อยากเห็นการแสดงความรักในครอบครัวผ่านการโอบกอด หอมแก้ม กล่าวชื่นชมยินดี มากกว่าการมัวแต่ถ่ายภาพและบอกให้ "ยิ้มสิลูก" "ยิ้มหน่อยค่ะ" ทั้งๆที่ในใจของเด็กๆนั้นอยากตะโกนบอกผู้ใหญ่ว่า "หนูเหนื่อย" "หนูร้อน""หนูอยากให้พ่อแม่กอดหนู"

    บทความนี้ ฉันเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกเป็นห่วงเด็กๆเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกว่าครอบครัวเมืองด่านซ้ายที่ฉันรักกำลังเดินหลงทาง โดยรู้ไม่เท่าทันกระแสทุนนิยมที่หลั่งไหลมาอย่างรวดเร็วและทุกทิศทางฉันอยากให้บทความนี้ตั้งคำถามให้"ผู้ใหญ่ด่านซ้าย" ช่วยกันตอบว่า

    "กิจกรรมเพื่อเด็กด่านซ้าย จะเดินตามรอยเดิม หรือแผ้วถางทางใหม่ร่วมกัน?"
    ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นได้ที่ darinaoy@gmail.com